Skip to main content
sharethis

 

ประณามหนังหมิ่นศาสนาและการทารุณชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพม่า ยันอิสลามเป็นปรปักษ์กับการก่อการร้ายที่อ้างศาสนา ปฏิเสธความสุดโต่งที่พาดพิงอิสลาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ดร.อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลมุห์สิน อัล-ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม

 

 

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 17 กันยายน 2555 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร สันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League -MWL) หรือ รอบีเฏาะฮ ในภาษาอาหรับ ร่วมกับสภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดโครงการสัมมนานานาชาติ เรื่อง ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยมี ศ.ดร.อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลมุห์สิน อัล-ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาถรสมาคม เจ้าคณะหนเหนือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกิยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา พระราชวราจารย์ ประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย และผู้นำทางศาสนาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน  คณะกรรมการสภาศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย นักวิชาการสันติวิธีและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 200 คน

ดร.อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลมุห์สิน อัล-ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษว่า สันนิบาตโลกมุสลิมขอประมาณอย่างที่สุด ต่อหนังดูหมิ่นต่ออิสลาม และขอปฏิเสธต่อการใส่ร้ายต่ออิสลาม ต่อท่านศาสนาทูตมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมและต่อคัมภีร์อัลกรุอาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลก สถาบันต่างๆ และองค์การสิทธิมนุษยชนระดับโลก ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ออกมาแถลงประกาศถึงความผิดของการใส่ร้ายศาสนาต่างๆ และสัญลักษณ์ทั้งหลายของศาสนาเหล่านั้น และห้ามมิให้กล่าวอ้างถึงสิทธิเสรีภาพและการสื่อสาร ในรูปแบบที่บ่อนทำลายบรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกันและความมั่นคงระดับโลก

ดร.อับดุลลอฮ์ กล่าวต่อไปว่า สันนิบาตโลกมุสลิมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งและขอปฏิเสธต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาในประเทศเมียนมาร์ คือการกดขี่ทารุณอย่างโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิม และขอเรียกร้องให้คืนสิทธิแก่ชนกลุ่มน้อยเหล่นนี้และหยุดการขดขี่ทารุณ

ดร.อับดุลลอฮ์ กล่าวว่า ไทยถือว่าเป็นแหล่งบรรจบระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ เช่น จีน อินเดีย และอิสลาม วันนี้เห็นแนวโน้มที่ดีที่ไทยเปิดกว้างและเอาใจใส่ต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงและความสันติสุขในสังคม และเพิ่มสถานะความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมอาเซียน รวมถึงยกระดับบทบาทของไทยในการสนับสนุนการเสวนาและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ อีกด้วย เพื่อเป้าหมายในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนจุดรวมแห่งมนุษยธรรม

“การเผยภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของอิสลาม และแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างอิสลามกับรูปแบบความสุดโต่งต่างๆ ที่ถูกนำมาพาดพิงกับอิสลามโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยความสะเพร่า พร้อมๆ กับการรณรงค์ว่า การก่อการร้ายที่ปะทุขึ้นจากบางคนในกลุ่มชาวมุสลิมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยบทบัญญัติอิสลามแต่อย่างใด และเป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธ อิสลามเป็นปรปักษ์กับวิธีการนั้นด้วย” ดร.อับดุลลอฮ์ กล่าว

ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ในฐานะประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวในการเปิดงานว่า ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งที่มีความสัมพันธ์ทางตรงหรือทางอ้อมกับศาสนาหรือศาสนิกในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบในปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสร้างความไม่ไว้วางใจกันในหมู่ศาสนิก

ดร.อิสมาอีลลุตฟี กล่าวว่า สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เกิดขึ้นโดยการรวมตัวกันของผู้นำศาสนา 5 ศาสนา คือ อิสลาม พุทธ คริสต์ ซิกข์ และฮินดู ถือเป็นเวทีและสะพานเชื่อมระหว่างผู้นำศาสนาและประชาชนทั่วไปในการนำหลักการศาสนาที่ถูกต้องมาใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้แต่ละศาสนาในพื้นที่ เสนอทางออกในมิติของการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุข

ดร.อิสมาอีลลุตฟี กล่าวว่า หลักการดังกล่าวเป็นเหตุผลของการจัดการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำศาสนาต่างๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำตัวอย่างที่ดีและประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งทางศาสนาหรือความขัดแย้งอื่นๆ ที่สามารถใช้หลักการและกระบวนการทางศาสนาเข้าไปเยียวยา อันจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพอันยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประเทศ แต่ประเทศไทยสามารถอยู่ร่วมกันศาสนิกอื่นๆ อย่างราบรื่นมาช้านาน ในโอกาสที่จะประเทศไทยจะเข้าร่วมกับประเทศอาเซียน อาตมาเห็นว่าความสำคัญของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความเข้าใจระหว่างศาสนา อันเป็นหนึ่งของเนื้อหาที่สำคัญของประชาคมอาเซียนและวัฒนธรรม

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวอีกว่า แม้ภูมิภาคอาเซียนมีอัตลักษณ์และความหลากหลายในประเด็นต่างๆ ศาสนาทั้งหลายก็อาจมีความสัมพันธ์กันในด้านคำสอนบางข้อที่คล้ายคลึงกัน มีคุณค่าบางประการร่วมกัน เช่น การสอนเรื่องความรัก ความเมตตา และความยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีความเชื่อที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาตมามั่นใจว่า ทั้งความเหมือนและความแตกต่างในเรื่องศาสนาของเรานั้นเป็นสิ่งที่งดงามและท้าท้ายการเรียนรู้ซึ่งและกันอย่างยิ่ง

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดงานว่า กระบวนการในทางศาสนาถือเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม ตนคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า เนื่องจากไทยได้เปิดโอกาสให้ทุกศาสนิกมีโอกาสเท่ากันในการเข้ามาบริหารประเทศ

นายยงยุทธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยมีผู้บริหารระดับประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา อดีตประธานรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่นับถือศาสนาอิสลาม ในการแก้ปัญหานั้นรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาทางออกร่วมกันของนักการเมือง ซึ่งในวันที่ 18 กันยายน 2555 รัฐบาลและฝ่ายค้านจะหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net