Skip to main content
sharethis

หลังรัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษอีก 514 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ เรียกร้องรัฐบาลจัดตั้งกลไกทำงานด้วยความช่วยเหลือจากยูเอ็นและภาคประชาสังคม เพื่อทบทวนคดีทั้งหมด

(18 ก.ย.55) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงกรณีรัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษเพิ่มเติมอีก 514 คน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. โดยระบุว่า เชื่อว่ายังมีบุคคลจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และต้องไม่ลืมบุคคลเหล่านี้ พร้อมเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกทำงานด้วยความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม เพื่อทบทวนคดีทั้งหมดและเพื่อจำแนกเหตุผลที่นำไปสู่การจับกุมตัวนักโทษเหล่านี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ในบรรดาผู้ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 ก.ย. บางส่วนเป็นชาวต่างชาติ และมีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 90 คน รวมทั้งขิ่นจี (Khin Kyi) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ซินมินอ่อง (Zin Min Aung) ที่ผ่านมาแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าเขาเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก ขิ่นจีเป็นสมาชิกกลุ่ม Generation Wave และถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปีเมื่อปี 2551 ฐานจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างสงบ มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวและเป็นตัวเลขที่มีการยืนยันเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แถลงการณ์ระบุว่า คำสั่งอภัยโทษของประธานาธิบดีเป็นไปตามมาตรา 204(ก) ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 401(1) ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เป็นการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข แต่ยังให้อำนาจทางการที่จะควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้อีกครั้งโดยไม่ต้องมีหมายจากศาล และให้นำตัวไปขังจนครบกำหนดโทษเดิมได้กรณีที่ทางการเชื่อว่า บุคคลเหล่านี้ได้ละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัว ในอดีตและเมื่อเร็วๆ นี้ นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวมักต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง รัฐบาลต้องประกันว่าบรรดาผู้ได้รับการปล่อยตัว จะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิมนุษยชนของตนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม

นอกจากนั้น บรรดาผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวเพียงเพราะจัดกิจกรรมอย่างสงบ จะต้องได้รับความคุ้มครองให้มีเสรีภาพในการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งพม่าจะต้องริเริ่มการสอบสวนที่มีประสิทธิผล เป็นอิสระ และไม่ลำเอียงต่อข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้ได้รับการปล่อยตัว ผู้ต้องสงสัยว่าทำการทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนควรถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ตามกระบวนการไต่สวนที่เป็นธรรมในมาตรฐานสากล ส่วนผู้เสียหายจากการละเมิดเหล่านี้ก็ควรได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net