Skip to main content
sharethis

รัฐบาลอิหร่านอ้างภาพยนตร์อื้อฉาวล้อเลียนมุสลิม ปิดกั้นเว็บค้นหาของ Google และบริการ Gmail ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมเห็นว่ารัฐบาลอิหร่านแค่ใช้ภาพยนตร์เป็นข้ออ้างแสดงอำนาจต่อสหรัฐฯ ชาวเน็ตบางส่วนหวั่นรัฐรุกคืบควบคุมอินเทอร์เน็ตเบ็ดเสร็จ

24 ก.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่าทางการอิหร่านได้ปิดกั้นการเข้าถึงจีเมล ซึ่งเป็นบริการอีเมลของกูเกิล และระบบค้นหาของกูเกิล โดยที่แต่เดิม firewall ก็ทำให้ชาวอิหร่านเข้าเว็บไซต์ตะวันตกจำนวนมากไม่ได้อยู่แล้ว

BBC รายงานว่า การดำเนินการครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ชาวมุสลิมทั่วโลกรวมถึงในอิหร่านพากันประท้วงต่อต้านภาพยนตร์ล้อเลียนศาสนาอิสลามที่โพสต์ลงในเว็บไซต์ยูทูป ที่มีเจ้าของคือ กูเกิล

อับดุล ซามัด โครามาบาดี ที่ปรึกษาทนายของรัฐประกาศผ่านโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่านเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าจะมีดการปิดกั้นการเข้าถึงกูเกิลและจีเมลทั้งประเทศ จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป

ประกาศดังกล่าวมีการส่งผ่านข้อความของโทรศัพท์มือถือด้วย อย่างไรก็ตาม BBC รายงานว่าเวอร์ชั่นที่ไม่ได้ถูกควบคุมความปลอดภัย ซึ่งง่ายต่อการถูกดักสืบข้อมูลยังคงใช้งานได้

BBC กล่าวว่า "เว็บไซต์หาข้อมูลของกูเกิลยังคงใช้งานได้ แต่ไม่ทำงานตามปกติ บริการของกูเกิล ซึ่งต้องการโปรโตคอลที่เพิ่มความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูล (Secure Socket Layer หรือ SSL) ไม่สามารถทำงานได้ในอิหร่าน"

"การพยายามเข้าสู่บริการเว็บไซต์ทำให้ผู้ใช้อยู่ในช่วงระยะการรอ (waiting phase) อย่างไม่จบไม่สิ้น แต่ไม่มีสิ่งใดปรากฏขึ้นหน้าจอ" BBC กล่าว

ผู้ใช้จีเมลในอิหร่านสามารถเข้าใช้บัญชีจีเมลของตนผ่านระบบเครือข่ายเสมือนส่วนตัว (VPNs) ซึ่งอนุญาตให้ใช้เว็บได้ภายใต้ระบบป้องกัน firewall ที่แน่นหนามาก

มาห์มูด ทาจาลี เมห์ร ที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมชาวอิหร่านที่อาศัยในเยอรมนีกล่าวว่า ชาวอิหร่านจำนวนมากใช้ระบบ VPNs ในการเข้าชมเว็บตะวันตกที่ถูกรัฐบาลบล็อคอยู่แล้ว

"นี่คือมาตรการของรัฐบาลอิหร่านในการควบคุมระบบที่เรียกว่าอินทราเน็ตทั่วประเทศจากภายนอก และเจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่าพวกเขาจะนำมันมาใช้ในราว 3 ปีข้างหน้า"

"แต่เด็กนักเรียนทุกคนยังรู้วิธีฝ่าฝืนการปิดกั้นด้วย VPNs เลย มันเป็นเรื่องปกติมากในอิหร่าน" มาห์มูดกล่าว

 

ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลอิหร่านบล็อคบริการของกูเกิล ในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เดือน มี.ค. ทั้งบริการค้นหาข้อมูลของกูเกิลและจีเมลก็ถูกปิดกั้นเช่นเดียวกัน

มาห์มูด ทาจาลี เมห์ร ให้ความเห็นว่าการบล็อคในครั้งนี้คงไม่กินเวลานาน "มันเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อที่แสดงให้เห็นว่าอิหร่านสามารถทำอะไรกับสหรัฐฯ ได้ แต่คงกินเวลาไม่กี่วัน"

มาห์มูด บอกอีกว่า ปัญหาเรื่องภาพยนตร์ล้อเลียนศาสนาก็ช่วยให้รัฐบาลหาข้ออ้างในการโฆษณาชวนเชื่อครั้งนี้ "รัฐบาลบอกว่าประชาชนขอร้องให้ปิดกั้นบริการพวกนี้โดยอ้างเรื่องภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ได้เห็นการประท้วงที่ใหญ่ขนาดในปากีสถานและที่อื่นเลย มีเพียงแค่กลุ่มจัดตั้งกลุ่มเล็กๆ โดยส่วนตัวผมถึงรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์"

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลองนึกว่า ยูทูปเคยถูกบล็อคมาแล้วบางครั้ง" มาห์มูดกล่าว

เว็บไซต์ยูทูปถูกเซ็นเซอร์มาตั้งแต่กลางปี 2009 ในช่วงที่มีการประท้วงกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง หลังจากที่อามาดิเนจัดถูกเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

เว็บไซต์ตะวันตกหลายแห่งถูกบล็อคในอิหร่าน และเว็บอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ก็มักจะถูกเซ็นเซอร์

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ออกคำสั่งให้มีการจัดตั้งสภาสูงจัดการพื้นที่เสมือนจริง (Supreme Council of Virtual Space) เพื่อวางนโยบายและประสานงานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต

 

ความเห็นของชาวเน็ตอิหร่าน

แม้รัฐบาลอิหร่านจะอ้างว่าประชาชนเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์ แต่หลายคนบอกกับ BBC ว่า พวกเขารู้สึกไม่พอใจต่อการปิดกั้นเว็บ

BBC รายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในอิหร่านพากันประท้วงหรือล้อเลียนการตัดสินใจของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็แสดงความกลัวว่า "นี่จะเป็นก้าวแรกสู่การจัดตั้งระบบอินทราเน็ตแห่งชาติ"

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งชื่อ ฮาดี เคซรียัน กล่าวทวีตว่าการบล็อคกูเกิลในอิหร่าน เป็นเหตุการณ์ที่วางแผนไว้ล่วงหน้า รัฐบาลต้องการทำมันมานานแล้ว และในตอนนี้พวกเขาก็มีข้ออ้างในการกระทำ

ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายชื่อ เนสฟาฮานี เขียนว่า "นักเรียนและนักธุรกิจใช้บริการของกูเกิลมากที่สุด พวกที่อ้างตัวเองเป็นมหาอำนาจพวกนี้กลัวดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และจิตสำนึกของประชาชน"

แต่ก็มีชาวอิหร่านบางส่วนที่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเว็บ

"กูเกิลเอาชื่ออ่าวเปอร์เซียออกจากแผนที่ และแบนผู้ใช้ในอิหร่านไม่ให้เข้าใช้บริการหลายอย่างเนื่องจากการคว่ำบาตร" ผู้ใช้ชื่อฟารามาส แสดงความเห็น

"การปิดกั้นบริการอาจทำให้กูเกิลสูญเสียได้บ้าง แม้จะไม่มากมายนัก ฉันเห็นด้วยกับการปิดกั้น"

ผู้อ่านเว็บไซต์ BBC ชื่อ อะเมียร์ กล่าวว่า "มันโอเค เพราะผู้คนไม่ควรจะเข้าถึงภาพยนตร์ที่ดูถูกศาสนาได้"

 
 
ที่มา
Google Search and Gmail censored in Iran, BBC, 24-09-2012 http://www.bbc.com/news/technology-19700910

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net