ศาลปกครองยกฟ้อง คดีบริษัทไฟฟ้าฟ้อง กฟผ.เปิดสัญญาซื้อขายไฟ ยืนยัน ปชช.มีสิทธิรู้ข้อมูล

 

ชาวบ้านเฮ! หลังรอมานานร่วม 5 ปี ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง คดีบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยฯ-กฟฝ.เปิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ศาลชี้ข้อมูลเปิดเผยไม่เสียหายรายแรง ไม่ละเมิดสิทธิเรื่องความลับทางการค้า
 
วันนี้ (24 ก.ย.55) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1970/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 1708/2555 ที่บริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด หรือบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปเพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ที่มีมติให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งทำกับบริษัทฯ แก่เครือข่ายภาคประชาชน 4 เครือข่าย อันได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว และเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ผู้ร้องสอดเข้าไปเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 และเพิกถอนคำสั่งของ กฟผ.ที่เห็นควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
 
สืบเนื่องจากรณีที่ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.51 เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ ได้มีการชุมนุมและยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยสัญญา ที่กฟผ.ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 3 ราย จาก 3 โครงการ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ในพื้นที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง 2.โรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ 3.โรงไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยที่ขณะนั้นโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ของ บริษัท ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ยังไม่มีการเซ็นสัญญา
 
 
 
 
ต่อมา กฟผ.พิจารณาและเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ขอ แต่บริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า คือ บริษัทสยามเอ็นเนอจี (ผู้ฟ้องคดี 1970/2552) และกับบริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด (ผู้ฟ้องคดี 1971/2552) ได้คัดค้านการเปิดเผยข้อมูลสัญญา และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขอ ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 (ความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้า) และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 (ค่าพลังงานไฟฟ้า)
 
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองที่ยืนยันตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งให้คัดถ่ายเนื้อหาสัญญาดังกล่าวได้ โดยให้ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจดูได้เท่านั้น 
 
 
หวังคำตัดสินสร้างบรรทัดฐานการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน
 
กนิษฐ์ พงษ์นาวิน เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานสำคัญในการรับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐในกรณีการทำสัญญาต่างๆ ไม่ว่ากรณีการซื้อขายไฟฟ้าทำกันอย่างไร หรือโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเกิดขึ้นได้อย่างไร ถือเป็นการรับรองสิทธิทางกฎหมายซึ่งจะเป็นที่พึ่งทางหนึ่งของประชาชนได้ต่อไป
 
ขณะที่ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความประจำโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า คำพิพากษาในคดีดังกล่าว ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางราชการของประชาชน ซึ่งจะรวมไปถึงสัญญาทางปกครองอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและจะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมด้วย ขณะนี้ชาวบ้านถือเป็นผู้ชนะคดีแต่คาดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จะมีการยื่นอุทธรณ์และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดเผยข้อมูลสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวด้วย
 
ส่วนกรณีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1971/2552 ที่บริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย ฟ้องคดีในกรณีเดียวกัน ซึ่งจะนัดฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.55) สงกรานต์ แสดงความคาดหวังว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาไม่แตกต่างกัน
 
 
คำตัดสินชี้ข้อมูลเปิดเผยไม่เสียหายรายแรง ไม่ละเมิดสิทธิเรื่องความลับทางการค้า
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษายกฟ้องของศาลปกครอง สรุปความได้ว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง เว้นแต่การเปิดเผยนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐต้องจัดหาให้แก่ผู้ขอ 
 
อีกทั้ง มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หลายรายยินยอมให้เปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกับ กฟผ.โดยยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 แสดงว่าหากเปิดเผยไปก็ไม่ได้มีผลกระทบให้ผู้ฟ้องคดีเกิดความเสียหายอย่างรายแรง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น ต้องพิจารณาจากผลกระทบ ซึ่งกรณีนี้ไม่ถึงกับส่งผลกระทบเช่นนั้น
 
ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าถือเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ได้กำหนดความหมายของคำว่าบุคคลไว้เป็นการเฉพาะโดยไม่รวมถึงนิติบุคคล จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้  
 
ส่วนการอ้างถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งกำหนดให้คู่สัญญารักษาความลับของข้อมูลในสัญญานั้น เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว การใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลย่อมชอบด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการเปิดเผยดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสิทธิในเรื่องความลับทางการค้า เนื่องจากการขอข้อมูลข่าวสารของผู้ร้องสอด มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน และเพื่อตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า 
 
นอกจากนี้ ผู้ร้องสอดยังเป็นประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยในบริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่ง ซึ่งได้รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยอ้างว่าอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต และต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มเนื่องจากสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อคุ้มครอง รักษาสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย หรือคุณภาพชีวิตของตนตามหลักสิทธิชุมชน ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ
 
 
5 ปี รอดูสัญญาซื้อขายไฟ โครงการเดินหน้าเพียบ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งในขณะนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (เอชไอเอ) หลังจากที่รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านการพิจารณาแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ถูกคัดค้านอย่างหนักโดยชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา พร้อมอนุมัติเพิ่มค่าไฟฟ้าใหม่อีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย
 
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านเดินหน้าฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎกระทรวงออกตามกฎหมายโรงงาน อีกทั้งในพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมซึ่งตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท