Skip to main content
sharethis

จวกรัฐเร่งผลักดันขณะร่างกฎหมายฉบับประชาชนอยู่ในขั้นตรวจรายชื่อ ชี้ร่าง ก.วัฒนธรรมมีลักษณะที่จะจับผิดสื่อมากกว่าการสร้างมุมมอง จินตนาการใหม่ๆ ให้ประชาชน ทั้งกรรมการกองทุนมีอำนาจที่ซ้ำซ้อนกับ กสทช.

 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 ก.ย.55 ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับของรัฐบาลจะถูกผลักดันขึ้นเป็นเรื่องด่วนโดยกระทรวงวัฒนธรรม ขณะที่ร่างกฎหมายฯ ของภาคประชาชนยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจรายชื่อตามกระบวนการการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเร่งรีบเสนอร่างกฎหมายทั้งๆ ที่รู้ว่าภาคประชาชนได้ยื่นรายชื่อต่อสภาครบแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นการปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว
 
“การนำร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งรีบโดยไม่รอร่างประชาชน สะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำมาตลอดว่าให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้น ยังไม่เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ มีการบัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ แต่ภาครัฐกลับมองข้าม" นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้แทนเครือข่ายในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนกล่าว
 
นางสาวเข็มพร กล่าวเน้นว่า การนำร่างกฎหมายภาคประชาชนมาประกบกับร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเพื่อพิจารณาร่วมกันจะทำให้กฎหมายนี้สมบูรณ์ขึ้น นอกจากนั้นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วม เพื่อนำมาซึ่งการใช้กองทุนนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ
 
ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 52(5) กำหนดให้ กสทช.ต้องจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ มาสนับสนุนกฏหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมี พ.ร.บ.กองทุนสื่อมารองรับ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้มีการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนที่กำลังตกเป็นเหยื่อของการครอบงำโดยสื่อที่เน้นการบริโภคฟุ่มเฟือย หรือการบริโภคที่ไม่มีคุณภาพ นำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งความรุนแรง เรื่องเพศ ฯลฯ
 
นางสาวเข็มพร กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีปัญหาทางสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พื้นที่สื่อถูกจับจองโดยภาคธุรกิจเพื่อบันเทิงและค้ากำไร โดยพื้นที่สื่อที่มีคุณภาพเพื่อเด็กและเยาวชนแทบไม่มีอยู่เลย และขาดการสนับสนุนมายาวนาน เพราะถูกจำกัดทุนสนับสนุน และถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์
 
"ขณะนี้ไม่มีพื้นที่สื่อสารของสื่อชุมชนของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่จะร่วมกันพัฒนาเด็กพัฒนาชุมชน เพราะสื่อโดนครอบงำโดยทุนในระบบสังคมบริโภค” นางสาวเข็มพร กล่าว 
 
ผู้แทนเครือข่ายในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน ให้ข้อมูลด้วยว่า หลายประเทศทั่วโลกได้จัดตั้งกองทุนที่เป็นอิสระให้มีความคล่องตัว ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ง่ายโดยสนับสนุนโดยรัฐ แต่รัฐบาลไทยกลับจะเอากองทุนนี้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการกระทรวงเดียว คือกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเราก็มีบทเรียนมามากแล้วว่ากองทุนที่อยู่ภายใต้ราชการก็จะมีข้อจำกัดมากมายและมีมุมมองที่คับแคบในเรื่องสื่อ
 
“เห็นได้จากร่างของกระทรวงที่กำลังจะเข้าพิจารณานี้มีลักษณะที่จะจับผิดสื่อมากกว่าการสร้างมุมมองและจินตนาการใหม่ๆ ให้ภาคประชาชน โดยมีให้กรรมการกองทุนมีอำนาจ ออกกำหนดว่าสื่อใดไม่ปลอดภัยไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอำนาจที่ซ้ำซ้อนกับ กสทช.” นางสาวเข็มพรขยายความ
 
นางสาวเข็มพร กล่าวต่อมาว่าในหลายๆ ประเทศหันมาเน้นการสร้างชาติที่มีคุณภาพโดยเริ่มจากเด็ก เน้นที่การสร้างสื่อคุณภาพในการพัฒนาเด็กเยาวชน ในประเทศเกาหลีเรื่องการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการจัดการกองทุนสื่อแบบก้าวหน้า มีการดึงหลายหน่วยงานมาร่วมกันอย่างจริงจัง มีทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไม่ใช่จัดให้กองทุนนี้มีหน่วยงานไหนมาเป็นเจ้าของ จึงไม่น่าแปลกใจที่สื่อจากประเทศเกาหลีกลายเป็นสื่อประสบความสำเร็จอย่างมากมายและได้รับความนิยมในต่างประเทศ
 
ด้าน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันสื่อพัฒนาภาคประชาชน กล่าวว่าหากกองทุนสื่อต้องตกไปอยู่ภายใต้หรือการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานนั้นก็ต้องตอบกับสาธารณชนให้ได้ว่าแล้วมันจะมีความแตกต่างจากการบริหารจัดการกับระบบราชการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม การทำงาน ซึ่งกองทุนนี้ต้องทำงานบนความหลากหลาย โดยคำนึงถึงการมีสื่อที่รับประกันได้ว่าจะดูแลสังคมและประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนได้เป็นอย่างดี 
 
ดร.เอื้อจิต กล่าวด้วยว่า ในเรื่องนี้มันจะเป็นเรื่องของมิติอำนาจและเป็นเรื่องของการผูกขาดอำนาจ ในขณะที่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกองทุนสื่อนั้นต้องการให้เกิดพลังของสังคมในการร่วมรับรู้ร่วมรับผิดชอบ และเป็นพลังของสังคมที่จะสื่อสารกับภาคสื่อและภาครัฐอีกด้วย
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net