Skip to main content
sharethis

แม่ผู้เสียชีวิตดีใจศาลให้ความเป็นธรรม เผยกฎหมายผู้บริโภคใช้ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน ไม่นานอย่างที่คิด เผยขอเป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ตรวจสอบสภาพรถโดยสารให้พร้อมก่อนใช้ 

 
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นได้มีพิพากษาคดีบัณฑิตยสาวคณะสาธารณสุขศาสตร์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จากการโดยสารรถประจำทางร่วม บขส.สาย นครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ พลิกคว่ำโดยมีสาเหตุมาจากยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด จนไม่สามารถควบคุมรถได้ เสียหลักตกท้องร่องกลางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ให้คนขับรถโดยสาร,เจ้าของรถ และ บขส. ชดเชยเงิน 1.9 ล้าน ให้กับมารดาผู้เสียชีวิต
 
คดีนี้ นางปุ่น ชุ่มพระ แม่ของ นางสาวภัทราพร ชุ่มพระ บัณฑิตยเกียรตินิยม จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทองใบ ศรีโนรักษ์ คนขับรถร่วม บขส. บริษัทประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส.และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยฐานผิดสัญญารับส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 
 
จากกรณีที่นางสาวภัทราพร ชุ่มพระ ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) ของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทาง สาย นครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายได้เกิดระเบิดขึ้น จึงทำให้คนขับไม่สามารถบังคับรถได้ เสียหลักตกลงตกลงไปในร่องกลางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก 
 
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ในคดีอาญานายทองใบ ศรีโนรักษ์ ให้การรับสารภาพ และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลย ขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ ตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัยควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ 
 
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1,3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบพิพากษาให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ร่วมกันจำนวน 1,370,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 240,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงวันพิพากษา และให้ร่วมจ่าย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ จำเลยที่ 1,3 และ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 10,000 บาทให้แก่โจทก์ด้วย รวม เป็นเงิน 1,621,080 บาท 
 
โดยก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ทางบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 5 ได้ตกลงยินยอมจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 350,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ โจทก์จึงถอนฟ้องไปก่อน ส่วนด้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ของ บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าปลงศพให้เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท หลังเกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด 
 
แม่ของนางสาวภัทราพร กล่าวว่า ดีใจที่ศาลให้ความเป็นธรรม และระยะเวลาก็รวดเร็วไม่นานอย่างที่ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการบางแห่ง ที่ได้บอกกับตนไว้ก่อนยื่นฟ้อง ว่าต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี และก็อาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆอีกด้วย แต่หลังจากที่ตัดสินใจดำเนินการฟ้องร้องก็พบว่า กฎหมายผู้บริโภคใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 7 เดือนเท่านั้น ก็มีคำพิพากษาแล้ว
 
“แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา และจะไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย ขอให้เป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถ ก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันเองก็มีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้ เพราะลูกคือความหวังของชีวิต” นางปุ่น กล่าว 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net