Skip to main content
sharethis

นศ.เผยจัดเวที หวังสร้างโอกาสการเรียนรู้  ด้าน ‘อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์’ ชี้ ระบบอำนาจทางการศึกษาไทยไม่เปิดโอกาสให้คนได้คิด หลักสูตรยังติดอยู่กับระบบหลัก คือ "ปฏิรูปคนให้เป็นลูกจ้าง" 

 

 
เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ย.55 เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายนักกิจกรรมกลุ่มแตกหน่อซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาชวนตั้งคำถามภายใต้หัวข้อ “รื้อ นโยบายเรียนฟรี กับ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ณ ห้องประชุม คณะสังคมศาสตร์ 04107 ห้อง 04-003 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการ นักกิจกรรม ตลอดจนนักศึกษาจากทั้งภายใน-นอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพูดคุย-แลกเปลี่ยนภายใต้หัวข้อต่างๆ อาทิ การศึกษาที่นำมาสู่ความเลื่อมล้ำในสังคมไทย ความรับผิดชอบของภาครัฐกับการศึกษาไทย นักศึกษากับบทบาทภายใต้สังคมไทย และระบบการศึกษาไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
"การศึกษาไทย ผูกขาดระบบที่ไม่เปิดโอกาสให้คนคิด" รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
 
รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวถึงระบบอำนาจทางการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้คนได้คิดเป็นกับตำราแบบเรียนที่ถูกวางไว้เป็นระบบภายใต้หลักสูตรที่ยังติดอยู่กับระบบหลัก คือ "ปฏิรูปคนให้เป็นลูกจ้าง" จากประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาที่สอนมา รศ.ดร.อรรถจักร์ ระบุว่าสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นคณะมีความล้มเหลวที่สุดในการสร้างนักศึกษา เพราะไม่สามารถผลักดันให้เด็กสามารถคิดเป็นในระบบการเมืองปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดอยู่กับเพียงระดับอุดมศึกษา ยังส่งผลไปถึงหลักสูตรของ กศน.ที่ยังติดอยู่กับระบบหลัก 
 
ศ.ดร.อรรถจักร์ ยังกล่าวว่า งบประมาณที่สนับสนุนวงการศึกษาในแต่ละปีก็แค่เพียงการอุ้มชูเฉพาะกลุ่มก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์กลุ่มพวกพ้อง ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ของประชากรที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงกลับไม่ได้อะไรเลยเป็น70 % ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ตามต่างจังหวัด ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณจะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ประถมตลอดจนระดับอุดมศึกษา ปัญหาหลักๆ ต้องยอมรับว่า เกิดจากสภาพสังคมไทยที่เกิดความเหลื่อมล้ำมาเป็นเวลานานจากการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาแห่งชาติที่ล้มเหลว 
 
อีกทั้งปัญหาด้านครูผู้สอนยังเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่าง ชาย-หญิงเพราะในสถานศึกษาส่วนใหญ่เต็มไปด้วยครูอาจารย์ที่เป็นผู้หญิง จึงขาดจิตวิทยากับตัวนักเรียนชายเกิดเป็นช่องว่างในการปลูกฝังความคิด ในเชิงของเด็กผู้ชายอีกส่วนหนึ่ง
 
"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคำถามกับทุกระดับการศึกษา  ก็ได้แต่หวังว่าในวันหนึ่งหวังว่าสังคมจะเยียวยาซึ่งกันและกัน ส่วนทางออกของปัญหา ผมเองก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปาก"รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว
 
ด้านนางสาว กนกวรรณ มีพรหมเครือข่ายนักกิจกรรม กลุ่มแตกหน่อ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า ประเด็นแรก คือเราเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการศึกษามาก่อนอย่างอื่น เชื่อเรื่องรากฐานของคนถ้าได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพจะได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งจะทำให้เขาได้รับโอกาสในสังคมมากขึ้น ส่วนตัวทำงานกับแนวร่วมนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ 
 
“ดิฉันเองเป็นผู้ประสานงานภาคเหนือ และตนเองเคยค้าน ม.นอกระบบเมื่อปี 2549 มาก่อน ตอนนั้นเรียนอยู่ ปี 2 สมัย มช.กำลังออกนอกระบบ ทำให้มีความสนใจในประเด็นปัญหาการศึกษา สำหรับเวทีนี้อาจเป็นการทดลองจัดครั้งแรกของ มช.แต่คิดว่าคงต้องมีเวทีแบบนี้บ่อยๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน” ผู้จัดงานกล่าว
 
ส่วนนาย ปกรณ์ อารีกุล คณะทำงานข้อมูลแนวร่วมนิสิต นักศึกษา คัดค้าน ม.นอกระบบ กล่าวว่า ม.เชียงใหม่ออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2551 เวทีนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ลองสรุปบทเรียนเบื้องต้น ในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อดี-ข้อเสีย หลังจากการนำม.เชียงใหม่ออกนอกระบบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรืองที่แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านม.นอกระบบพยายามทำอย่างรอบด้าน เพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย
 
“อันที่จริง ประเด็นม.นอกระบบ หรือปัญหานระดับอุดมศึกษาไทยนั้น เป็นเหมือนระเบิดเวลาในระบบการศึกษา ที่ถูกวงาตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา หรืออนุบาล และตั้งเวลาให้ระเบิดปัญหาออกมาเมื่อเราเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้น แก้ปัญหาการศึกษาไทย ผมคิดว่าเราต้องแก้ทั้งระบบ โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย” นายปกรณ์กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net