Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาสังคมในตูนีเซียไม่พอใจเมื่อศาลเรียกตัวสตรีที่ถูกข่มขืนไปรับฟังข้อกล่าวหา 'กระทำอนาจาร' หลังถูกฝ่ายตำรวจที่ข่มขืนเธอฟ้องกลับ นัดชุมนุมประท้วงหน้าศาลสัปดาห์หน้า ส.ส. พรรคซ้าย-กลางประกาศเลิกสนับสนุนพรรครัฐบาลตูนีเซียเพื่อประท้วงเหตุการณ์นี้

 
27 ก.ย. 2012 - ประชาสังคมตูนีเซียออกมาชุมนุมแสดงการสนับสนุนเยาวชนสตรีนางหนึ่งที่ถูกตำรวจข่มขืนและถูกฝ่ายตำรวจเองฟ้องข้อหากระทำอนาจาร ซึ่งฝ่ายผู้ประท้วงบอก่าเป็นการทำร้ายสิทธิมตรีในวงกว้างจากฝ่ายเคร่งศาสนา
 
มีความไม่พอใจอย่างมากเมื่อเหยื่อที่ถูกข่มขืนอายุ 27 ปี ถูกตุลาการไต่สวนเรียกตัวเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมาเพื่อรับฟังคำร้องในข้อหา 'กระทำอนาจาร' จากผู้ฟ้องคือชายสองคนที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนเธอ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นวิธีการที่ผู้มีอำนาจพยายามข่มขู่เธอ
 
สมาคมสตรีตูนีเซียเพื่อประชาธิปไตย และสหพันธ์สิทธิมนุษยชนตูนีเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อในตูนีเซีย รวมถึงกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ ได้ รวมตัวตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานงานโครงการรณรงค์ช่วยเหลือสตรีดังกล่าว
 
ไฟซา สกันดรานี ประธานองค์กรเสมอภาคและเท่าเทียมกล่าวว่าคดีนี้มีความสำคัญสองอย่าง คือมันเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงที่แจ้งเหตุถูกข่มขืนโดยตำรวจได้รับการนำคดีสู่ชั้นศาล และมันเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามทำให้ผู้หญิงได้รับความอับอายต่อศาธารณชนเพื่อให้มีการยกฟ้องคดี
 
"ตุลาการไต่สวนเปลี่ยนเธอจากเหยื่อให้กลายเป็นผู้ต้องหาเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพ้นผิด" ไฟซากล่าว "ฉันเคยได้ยินคดีที่คล้ายกันในปากีสถาน แต่นี่เป็นครั้งแรกในตูนีเซีย ต่อไปพวกเขาจะตั้งข้อหาว่าเธอค้าประเวณี"
 
 
นัดประท้วง
 
นักกิจกรรมวางแผนประท้วงนอกศาลในวันอังคารหน้า (1 ต.ค.) ในตอนที่ตำรวจต้องมารับการไต่สวนข้อหาข่มขืน
 
มีเพจของเฟสบุ๊คที่สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ เรียกร้องให้คู่แต่งงานชาวตูนีเซียออกมารณรงค์ด้วยป้ายที่เขียนไว้ว่า "พวกเรารักกัน ข่มขืนพวกเราสิ" มีประชาชนราว 1,200 คนยืนยันว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการประท้วงตามเวลาที่เขียนไว้ นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานโดยสตรีในกลุ่มคนทำงานภาครัฐบาลด้วย
 
ชาวตูนีเซียจำนวนมากแสดงความเป็นหนึ่งเดียวผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วยการเขียนว่า "ข่มขืนเธอแล้วก็ตัดสินเธฮ" บนหน้าเฟสบุ๊คของรัฐมนตรี ซึ่งข้อความได้ถูกลบออกไปในเวลาที่เขียน
 
ความไม่พอใจในครั้งนี้ไม่ได้มีต่อรัฐบาลร่วมโดยตรง แต่รัฐมนตรีมหาดไทยของตูนีเซียถูกชาวตูนีเซียโดยมากมองว่าเป็นมรดกสืบทอดจากการปกครองแบบเผด็จการของซีเน อัล อบีดีน เบน อาลี และข้าราชการจำนวนมากจากรัฐบาลเก่าก็ยังคงดำรงอิทธิพลเดิมไว้ได้
 
อัลจาร่ารายงานว่า หลังจากชาวตูนีเซียสามารถโค่นล้มเบน อาลี ลงได้ในเดือน ม.ค. 2011 ก็มีความก้าวหน้าเรื่องการปฏิรูปหน่วยงานรักษาความสงบของรัฐ หรือเรื่องการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยมาก มีรายงานเรื่องตำรวจใช้อำนาจในทางที่ผิดกับประชาชนทั่วไปจำนวนมาก รวมถึงการกล่าวหาว่าผู้หญิงค้าบริการเพื่อพยายามรีดไถเงิน
 
คาเลด ทารูช โฆษกมหาดไทยบอกว่ารัฐมนตรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการในคดีของสตรีผู้ถูกข่มขืนเลย และย้ำว่าการตัดสินใจเรียกตัวเธอมาจากผู้พอพากษา
 
 
'การต่อสู้ทางวัฒนธรรม'
 
คาริมา ซูอิด ส.ส. จากพรรคซ้าย-กลาง เอ็ดตาคาโตล ประกาศเลิกสนับสนุนรัฐบาลเพื่อประท้วงกระบวนการศาลที่กระทำต่อเหยื่อผู้ถูกข่มขืน
 
นักกิจกรรมมองคดีนี้ว่าเป็นคดีที่สำคัญเพราะว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มผู้ที่ต้องการให้ตูนีเซียอยู่ในตำแหน่งประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกอาหรับ กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมศาสนา
 
เหตุการณ์ข่มขืนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ในชานเมืองกรุงตูนิส เมื่อหญิงสาวและคู่หมั้นของเธอถูกตำรวจขอเข้าจับกุม ขณะที่ทั้งคู่อยู่ในรถ
 
ตำรวจเรียกเงินจากฝ่ายชายแล้วจับฝ่ายชายใส่กุญแจมือไว้ จากนั้นนำฝ่ายหญิงไปที่หลังรถแล้วข่มขืนเธอ
 
 
ที่มา
 
Tunisia rape victim accused of 'indecency', Aljazeera, 27-09-2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net