Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปัญญาชนเป็นบุคคลสาธารณะ ความคิดและความรู้ที่ปัญญาชนสร้างขึ้นเป็นสมบัติสาธารณะ และสมบัติสาธารณะจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะต้องได้รับการประเมินคุณค่าและการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์และ “ต่อยอด”  ให้เกิดสมบัติสาธารณะใหม่ที่มีคุณค่าหรือประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น การตีพิมพ์หนังสือรวมบทความของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ 4 เล่ม (ถกความคิดสังคมศาสตร์ในสังคมไทย, ทวนคลื่นความคิดกึ่งศตวรรษไทยศึกษา, เจ้าที่และผีปู่ย่า, จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย) และการจัดงานประชุมทางวิชาการในโอกาสอาจารย์อานันท์มีอายุครบ 65 ปี ที่ใช้ชื่องานว่า “สะท้อนย้อนคิดสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่” ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2555 จึงเป็นการกระทำที่ควรแก่การสรรเสริญ

บทความนี้มิได้ต้องการวิพากษ์ผลงานของอาจารย์อานันท์ เพียงแต่ต้องการเสนอว่า ความรู้ที่อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์สร้างขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมานั้น เป็น “ความรู้แบบปลดปล่อย” (emancipatory knowledge) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชุดความรู้ “ไทยศึกษา” ที่สร้างโดยปัญญาชนกระแสหลักมาเนิ่นนาน การท้าทายของความรู้ที่มาจากวิธีคิดใหม่หรือมุมมองใหม่ในอดีต เช่น ความรู้ที่สร้างโดยปัญญาชนฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย ยังไม่มีพลังมากนัก ส่วนความรู้ที่สร้างจากมโนทัศน์ “วัฒนธรรมชุมชน” แม้ว่าจะดีกว่าความรู้เกี่ยวกับชาวบ้านที่สร้างโดยปัญญาชนกระแสหลักอย่างมาก ในแง่ที่ไม่ได้เน้นการแบ่งชนชั้นว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาหรือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เน้นความเสมอภาคในชุมชน และต้องการให้ชุมชนชาวบ้านเสมอภาคกับชนชั้นกลาง แต่ก็เป็นมโนทัศน์ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตของสังคมชาวบ้าน  

อาจารย์อานันท์สร้าง “ความรู้แบบปลดปล่อย” เพราะตระหนักถึงผลร้ายที่สังคมได้รับจาก “ความรู้แบบครอบงำ” และเพื่อจะสร้าง “ความรู้แบบปลดปล่อย” ได้อย่างมีพลังอาจารย์อานันท์จึงแสวงหาความรู้กว้างขวางไม่จำกัดสาขาวิชา หากดูจากหนังสือต่างๆ ที่อาจารย์อานันท์วิพากษ์วิจารณ์และอ้างอิงก็จะเห็นรายชื่อหนังสือนับพันเล่มซึ่งเป็นความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แทบทุกแขนง  เมื่อประกอบกับอาจารย์อานันท์มีความรักในความรู้อย่างยิ่ง ต้องการแสวงหาความรู้อย่างไม่สิ้นสุด อาจารย์อานันท์จึงศึกษาเล่าเรียนมาแล้วหลายสาขาวิชา ทั้งรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยาแบบนีโอมาร์กซิสต์ ซึ่งแต่ละสาขาวิชาก็ให้วิธีคิดบางอย่างแก่อาจารย์อานันท์ และในที่สุดอาจารย์อานันท์ก็เป็นคนที่ศึกษาแบบข้ามสาขาวิชาอย่างที่จะหาคนอื่นมาเทียบเคียงได้ยาก

ความรู้ในผลงานของอาจารย์อานันท์เป็น “ความรู้แบบปลดปล่อย” เพราะอาจารย์อานันท์ได้ชี้ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าความรู้ทุกแบบที่ได้รับการสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะโดยนักคิด/นักวิชาการตะวันตก หรือไทย หรือญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งสิ้น ยังไม่มีความรู้ใดที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ที่สมควรจะยึดมั่นเอาไว้ตลอดไป  

อาจารย์อานันท์เตือนอยู่เนืองๆ ว่าเราจะต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการสร้างความรู้ อยู่เสมอ อย่ายึดติดกับความรู้แบบใดแบบหนึ่งตายตัว ทฤษฎีที่ใช้ในวงวิชาการก็ยังไม่มีทฤษฎีใดที่ดีที่สุด แต่ละทฤษฎีล้วนมีข้อจำกัด เพราะสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง จึงต้องแสวงหาวิธีคิดและแนวการวิเคราะห์ใหม่ๆ และจะต้องพิจารณาบริบทของปรากฏการณ์ทางสังคมที่ตนศึกษาอย่างละเอียดชัดเจนเพื่อจะเข้าใจความซับซ้อนและลักษณะเฉพาะของปรากฏการณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทเฉพาะ และจะต้องใช้ “วิธีคิดเชิงซ้อน” คือมองเห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากกว่าความสัมพันธ์แบบที่ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งบอกเอาไว้ จินตนาการใหม่จึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าขาดจินตนาการก็จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนทะลุกรอบทฤษฎี และผลงานที่เขียนออกมาก็จะมีความหมายเพียงแค่การพิสูจน์ทฤษฎีที่คนอื่นสร้างไว้เท่านั้น

ในด้านมุมมองในการศึกษา อาจารย์อานันท์ก็เน้นว่าจะต้องฝึกมองจากแง่มุมที่หลากหลาย ทำให้ต้องรู้ทฤษฎีต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วจึงเลือกสรรบางทฤษฎีมาใช้ให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะศึกษา โดยที่คำตอบในงานวิจัยจะต้องมาจากการตีความข้อมูลและพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกับบริบท ไม่ใช่มาจากทฤษฎีที่ตายตัว จะต้องให้ความสำคัญแก่ทฤษฎีในแง่ที่เป็นเพียง “ตัวช่วย” เท่านั้น และหากจะยกระดับความรู้ใหม่ที่ค้นพบขึ้นมาเป็นทฤษฎี ก็จะต้องถือเป็นทฤษฎีชั่วคราวที่เป็น “ตัวช่วย” เช่นกัน    

กล่าวได้ว่า “ความรู้แบบปลดปล่อย” ที่อาจารย์อานันท์สร้าง มุ่งปลดปล่อยวิธีคิดของนักวิชาการ นักศึกษา และสังคมไทยโดยรวม ไม่ให้ยึดติดกับพื้นฐานความคิดหรือทฤษฎีใดๆ อย่างตายตัว ให้เปลี่ยนมาใช้ “วิธีคิดเชิงซ้อน” อยู่เสมอ พร้อมกันนั้นอาจารย์อานันท์ก็พยายามปลดปล่อยนักวิชาการ นักศึกษา และสังคมไทยโดยรวม ให้หลุดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้ “กับดักคู่ตรงข้าม” ด้วย เพราะทุกๆ เรื่องมีความซับซ้อนเกินกว่าจะมองในลักษณะคู่ตรงข้าม

ในผลงานทางวิชาการทั้งหลาย นอกจากอาจารย์อานันท์จะประเมินสถานภาพของความรู้เชิงทฤษฎี วิธีคิด วิธีการศึกษา และข้อสรุปสำคัญๆ ในวงวิชาการสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไว้อย่างครอบคลุมแล้ว ความรู้สำคัญประการหนึ่งที่อาจารย์อานันท์สร้างขึ้นมาก็คือความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสังคมไทย ซึ่งความรู้ทางวัฒนธรรมที่อาจารย์อานันท์สร้างขึ้นมานี้ มีส่วนช่วยปลดปล่อยสังคมไทยให้หลุดพ้นจากทัศนะครอบงำเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมไทย” ว่ามีแบบเดียว อาจารย์อานันท์แสดงให้เห็นว่า “วัฒนธรรมไทย” เป็นพหุวัฒนธรรม และยังเน้นด้วยว่าส่วนที่สำคัญของวัฒนธรรมทุกๆ วัฒนธรรมก็คือ “ความหมาย” ของปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นๆ ซึ่งมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท และความหมายที่เกิดขึ้นยังเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งมีพลวัตเช่นกัน เพราะกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบก็สามารถเปลี่ยนสถานภาพทางอำนาจของตนในระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้ตลอดเวลา

การปลดปล่อยความหมายของ “วัฒนธรรมไทย” มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะการยึดติดกับความหมายเดิมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน กล่าวคือ นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500  ทำให้โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมไทยในความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่กลับมีการปรับเปลี่ยนความหมายของ “วัฒนธรรมไทย” ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมน้อยมาก   ตรงกันข้าม ยังคงมีการสร้างความรู้ไทยศึกษาและมีการใช้ระบบการศึกษาที่เป็นทางการตลอดจนสื่อมวลชนนานาชนิดเพื่อทำให้คนไทยเชื่อว่า “ความเป็นไทย” หรือ  “วัฒนธรรมไทย”   ทำให้ “เมืองไทยนี้ดี” คือ ทำให้สังคมไทยมีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า เมื่อใดก็ตามที่คนไทยละทิ้งหรือหลงลืมวัฒนธรรมอันดีงามของไทยก็จะต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม

ในปัจจุบัน “คนชั้นกลางเก่า” ส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับวิธีคิดเดิมที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเขตเมืองและชนบทที่ต้องเผชิญกับความเสียเปรียบและความผันผวนในชีวิต พากันเห็นว่าที่จริงแล้ว “เมืองไทยนี้ไม่ดี” คนในเขตเมืองและชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้เป็น “ชนชั้นกลางใหม่” ที่การผลิตและวิถีชีวิตแบบใหม่ของพวกเขาทำให้เกิดความต้องการที่จะเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างสะดวกและเสมอภาคกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมทั้งต้องการความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ในบริบทที่เครือญาติและชุมชน รวมทั้งวัดและพระสงฆ์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นที่พึ่งที่ดีได้อีกต่อไป และสถาบันทางการเมืองใหม่ ๆ เช่น องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนระบบประกันสังคม ยังไม่ได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากพอที่ “ชนชั้นกลางใหม่” ทั้งหลายจะเข้าไปกำกับควบคุมและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง  พวกเขาจึงมีความรู้สึกรุนแรงต่อ “ความไม่เสมอภาค” และสภาวะ “สองมาตรฐาน” ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย และเชื่อถือคำอธิบายง่าย ๆ ที่ว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดจาก “พวกอำมาตย์” ที่พยายามผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ในมือตลอดไป “ชนชั้นกลางใหม่”  เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่สนใจความซับซ้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงในชีวิตของคนไทยทุกชนชั้น ทุกชาติพันธุ์ และทุกท้องถิ่นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

การแก้ไขปัญหาของฝ่ายที่เชื่อว่า “วัฒนธรรมไทยดีงาม” หรือเชื่อว่าแท้ที่จริง “เมืองไทยนี้ดี” เน้นไปที่การหาทางทำให้คนไทยหันกลับมายึดมั่นในวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการสอนศีลธรรมไทย โดยไม่ตระหนักว่า “วัฒนธรรมไทย” นั้นมีความแตกต่างหลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนตลอดมา  แม้แต่ “ความจริง ความดี ความงาม” ในทัศนะของคนไทยก็แตกต่างหลากหลายอย่างมาก นอกจากจะขึ้นอยู่กับชนชั้น ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น เพศ และวัยแล้ว  ในระยะหลังยังเกิดสภาวะสังคมแยกย่อย (fragmented society)  และเกิดสังคมข้อมูลข่าวสาร (information society) ที่ทำให้ไม่มีใครในสังคมไทยสามารถจะผูกขาดอำนาจในการนิยามความหมายของ “ความจริง ความดี ความงาม” ได้อีกต่อไป   จึงเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะทำให้ “ความเป็นไทย”  หรือ “วัฒนธรรมไทย” ในความหมายเดิมดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างมั่นคง โดยแกล้งทำเป็นลืมว่า “วัฒนธรรมไทย” ที่เน้นการแบ่งชั้นทางสังคมนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย

จะเห็นได้ว่าเมื่อมาถึงปัจจุบัน  “ชนชั้นกลางใหม่” จำนวนมหาศาลได้กลายมาเป็น “คนเสื้อแดง” ที่ถูกทำให้เชื่อว่า “เมืองไทยนี้ไม่ดี”  เพราะการใช้อำนาจนอกระบบของ “พวกอำมาตย์” ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดสภาวะ “สองมาตรฐาน” และทำให้  “ไม่มีความยุติธรรมในสังคม” ส่งผลให้ “พวกไพร่” ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับ “พวกอำมาตย์” เพื่อนำสังคมไทยเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  จึงจะทำให้ “เมืองไทยนี้ดี” ขึ้นมาได้

 กล่าวได้ว่า  ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบันเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่เห็นว่า “เมืองไทยนี้ดี” (แม้ว่าจะมีส่วนที่ยังไม่ดีอยู่บ้างก็สามารถจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ถ้าทุกคนยึดมั่นใน “ความเป็นไทย” หรือวัฒนธรรมไทย) กับฝ่ายที่เห็นว่า “เมืองไทยนี้ไม่ดี” เพราะมีการใช้อำนาจนอกระบบของพวกอำมาตย์ โดยแต่ละฝ่ายประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายและซับซ้อนขึ้น

พวกที่เห็นว่า “เมืองไทยนี้ดี” ได้แก่กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “อำมาตย์” และ “ศักดินาล้าหลัง” ซึ่งฐานทางสังคมของกลุ่มนี้ประกอบด้วยชนชั้นนำเก่า (พลังอนุรักษ์นิยม), ชนชั้นกลาง และฝ่ายซ้ายบางส่วนที่ระแวงและต่อต้านอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในระบบทุนนิยมที่มีอำนาจขึ้นมาจากการเลือกตั้ง

พวกที่เห็นว่า “เมืองไทยนี้ไม่ดี” (มีความไม่เสมอภาค ขาดความยุติธรรม สองมาตรฐาน) ได้แก่กลุ่มที่เรียกกันว่า “ทุนสามานย์” และ “ไพร่” ซึ่งฐานอำนาจของกลุ่มนี้ประกอบด้วยกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดธุรกิจการเมือง, ชนชั้นกลางระดับล่าง, และฝ่ายซ้ายบางส่วนที่เจ็บแค้นและเห็นว่าอำนาจนอกระบบของอำมาตย์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย

ทัศนะที่มองว่า “เมืองไทยนี้ดี” และ “เมืองไทยนี้ไม่ดี” ล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น

การมองว่า “เมืองไทยนี้ดี”   สร้างความภูมิใจใน “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมามาก  เพราะทำให้เห็นว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องชอบธรรมและไม่ยอมรับความหมายของ “ความเป็นไทย”  ในแบบอื่น อีกทั้งยังเห็นว่า คนที่คิดต่าง หรือคนที่ไม่ยอมรับว่า “เมืองไทยนี้ดีเพราะมีความเป็นไทย”  เป็นคนไม่รักชาติ และที่สำคัญก็คือ การมองว่า “เมืองไทยนี้ดี” ทำให้มองข้ามรากฐานทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญของความตึงเครียดและความขัดแย้ง  ขาดความสามารถในการอธิบายหรือการเข้าใจความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  ต้องการสงวนรักษา “วัฒนธรรมไทย” ให้ดำรงอยู่ตลอดไปโดยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน “วัฒนธรรมไทย” ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญแต่เฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่อง ๆ โดยไม่ใส่ใจอย่างจริงจังต่อการกระจายอำนาจทางการเมือง หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งไม่สนับสนุนการปฏิรูปต่าง ๆ อย่างจริงจัง  ยังคิดอยู่เสมอว่าชนชั้นนำเท่านั้นที่มีความรู้และคุณธรรมมากพอที่จะปกครองและตัดสินใจแทนประชาชน  

 ส่วนกลุ่มคนที่มีทัศนะว่า “เมืองไทยนี้ไม่ดี”  ก็มักเน้นว่าเมืองไทย “ไม่มีความเสมอภาค” “ไม่มีความยุติธรรมทางสังคม” “ไม่มีเสรีภาพทางความคิด”  และโจมตี “พวกอำมาตย์” กับการรัฐประหารที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยมองข้ามอำนาจผูกขาดการเมืองของกลุ่มทุนและปัญหาโครงสร้างของทุนนิยม  นอกจากนี้ส่วนใหญ่ของกลุ่มคนที่คิดว่า “เมืองไทยนี้ไม่ดี” ยังมอง “ความเป็นประชาธิปไตย” เฉพาะในแง่ของการเลือกตั้งระดับชาติเท่านั้น  ไม่สนใจ กระบวนการใช้อำนาจของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล (good governance) หรือไม่  กลับหวังพึ่ง “ผู้นำ” ที่ใช้นโยบายประชานิยม  โดยไม่สนใจการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง และไม่ใส่ใจต่อการเสริมสร้างอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งเกษตรพันธสัญญาซึ่งเกษตรกรเสียเปรียบกลุ่มทุนเป็นอย่างมาก

อาจกล่าวได้ว่า การมอง “เมืองไทย” แตกต่างกัน ระหว่างฝ่ายที่เชื่อว่า “เมืองไทยนี้ดี” กับฝ่ายที่เชื่อว่า “เมืองไทยนี้ไม่ดี” รวมทั้งการอธิบายปัญหาต่างกัน ทำให้ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาของสองฝ่ายแตกต่างกัน และต่างฝ่ายต่างก็เลือกหนทางในการแก้ปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น  

 แท้ที่จริงแล้ว การมองว่า “เมืองไทยนี้ดี” และ “เมืองไทยนี้ไม่ดี” ล้วนแต่เป็น “มายาคติ” และเป็นการมองอย่างสุดโต่ง  ที่ทำให้เข้าใจสังคมไทยคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาด อีกทั้งทำให้ความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยขยายลึกและกว้างยิ่งขึ้น เพราะการมองว่า “เมืองไทยนี้ดี” และ “เมืองไทยนี้ไม่ดี” ล้วนเป็นการมองเพียงด้านเดียว หรือมองเพียงส่วนเดียว และมองเป็นภาพนิ่ง เป็นการมองแบบคนที่ตกอยู่ภายใต้ “กับดักคู่ตรงกันข้าม” การมองแบบสุดโต่งนี้ทำให้แต่ละฝ่ายต่างก็รับรู้ข้อมูลข่าวสารเฉพาะที่สอดคล้องกับกรอบมโนทัศน์ของตน ปฏิเสธข้อมูลข่าวสารและการอธิบายปัญหาจากแง่มุมอื่น ๆ ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะเข้าใจคนกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน เกิดความเกลียดชังกัน จนยากที่จะต่อรองและประนีประนอมกันฉันมิตร และยากที่จะร่วมมือกันในการปฏิรูปประเทศ

“ความรู้แบบปลดปล่อย” สำคัญมากสำหรับทุกคนและทุกฝ่ายในสังคมไทย ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในกรอบความหมาย “ความเป็นไทย” กระแสหลัก ซึ่งไม่เอื้อต่อการปรับตัวของสังคมไทย และฝ่ายที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแต่ยังมีอคติอยู่ไม่น้อยในการมองและอธิบายปัญหาต่างๆ การปลดปล่อยจากกระบวนทัศน์ครอบงำและปลดปล่อยจากอคติที่ยึดถืออย่างเหนียวแน่นจะช่วยสร้างความรู้ที่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดสติปัญญามากขึ้น และ “ความรู้แบบปลดปล่อย” ที่อาจารย์อานันท์สร้างจึงสำคัญมากสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมั่นคง

“ความรู้แบบปลดปล่อย” สำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพราะจะนำไปสู่วัฒนธรรมทางความรู้แบบใหม่ ที่ช่วยให้มีทัศนะวิพากษ์ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เคารพวัฒนธรรมอื่นๆ ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ต่างก็มีพลังสร้างสรรค์และมีพลังที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เช่น การที่อาจารย์อานันท์แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านและผู้หญิงมีสถานภาพทางอำนาจต่ำลงและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจึงได้พยายามต่อสู้โดยอาศัยความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ซึ่งความรู้ชุดนี้ช่วยปลดปล่อยให้ผู้อ่านหลุดพ้นจากทัศนะครอบงำที่ว่า “ชาวบ้านโง่ จน เจ็บ” เพราะเกิดความเข้าใจใหม่ว่าการนับถือผีและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเป็นอุดมการณ์อำนาจ หรือเป็น “ภูมิปัญญา” ของชาวบ้าน มิใช่เป็นความโง่งมงาย เช่นเดียวกับการสร้างความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าคนทุกชาติพันธุ์มิได้ยอมรับสภาวะที่ต่ำต้อย หากแต่มีการปรับตัวท่ามกลางความสัมพันธ์และความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท รวมทั้งการปรับตัวในเชิงอัตลักษณ์เพื่อเปลี่ยนสถานภาพและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ด้วยการแสวงหาความรู้และการสร้างสรรค์ความรู้อย่างจริงจัง อาจารย์อานันท์ได้แสดงให้เห็นถึงสถานภาพและความเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าของความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมทั้งความรู้ “ไทยศึกษา” ทั้งในด้านทฤษฎี วิธีคิด แนวการวิเคราะห์ วิธีการศึกษา และความรู้ใหม่ในด้านเนื้อหา ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ใครสนใจทฤษฎีใด วิธีคิดใด ประเด็นใด และวิธีการศึกษาแบบใด ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจชัดเจนขึ้น แล้วนำไปปรับใช้ หรืออาจผสมผสานหลายๆ วิธีคิดวิธีการศึกษา กลายเป็นวิธีใหม่ก็ได้

ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันสร้าง “ความรู้แบบปลดปล่อย” เช่นเดียวกับอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ แทนการสร้างวาทกรรมเกลียดชัง (hate speech) เพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นความขัดแย้งและความรุนแรงในเร็ววัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net