สะท้อนย้อนคิดฯ: มอง "สำนักเชียงใหม่" 360 องศา

ในระหว่างวันที่ 21 - 22 กันยายน ที่ผ่านมา ในการประชุมวิชาการ "สะท้อนย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่" ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสำนักพิมพ์คบไฟนั้น

ในการประชุมวันแรก มีการเสวนาหัวข้อ “มอง "สำนักเชียงใหม่" 360 องศา” ผู้อภิปรายประกอบด้วย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และ อ.ดร.อรัญญา ศิริผล จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการและร่วมเสวนาโดย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง โดยมีการอภิปรายโดยลำดับ ดังนี้

 

อรัญญา ศิริผล

 

การอภิปรายโดยอรัญญา ศิริผล (รับชมแบบ HD)

จากยุคศึกษาตอบสนอง “ความมั่นคง” สู่งานข้ามพรมแดนหลังสงครามเย็น

โดย อรัญญา ศิริผล อภิปรายว่า จะสำรวจสถานภาพความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า "สำนักเชียงใหม่" มีจริงอย่างที่ภายนอกมองหรือไม่ และอะไรเป็นแรงผลักในการก่อรูปสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ และมีคุณูปการในการมีอิทธิพลต่อสังคมภายนอกอย่างไร หลักสูตรการเรียนการสอนมีจุดเน้นอย่างไร

ทั้งนี้ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการปรับปรุงหลักสูตรแล้ว 4 ครั้งในปี พ.ศ. 2507, 2518, 2531 และ 2549 โดยในการก่อตั้งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาช่วงต้น พ.ศ. 2507 - 2517 มีอย่างน้อย 4 ปัจจัยที่เป็นแรงผลักได้แก่ 1.วิชาการในประเทศจากศูนย์กลางมาสู่ภูมิภาค มีอาจารย์จากธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาสอนที่เชียงใหม่ ซึ่งมาพร้อมๆ กับการตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. บริบทของประเทศ ที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการพัฒนาที่วางแผนมาจากส่วนกลาง มองว่าการพัฒนาจะลงสู่ชนบทได้อย่างไร

3. องค์กรวิชาการต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ส่งอาจารย์ที่ได้ทุนฟุลไบรท์มาเป็นอาจารย์ช่วยสอนมาตั้งแต่ตั้งภาควิชา

4. คหบดีท้องถิ่น เช่นไกรศรี นิมมานเหมินท์ มีความสนใจงานวิชาการมานุษยวิทยา

ต่อมาในปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 2 ยังไม่แบ่งหมวดหมู่วิชา แต่เริ่มมีอาจารย์ใหม่ๆ เข้ามา มีการเพิ่มวิชาสาขาย่อยทางมานุษยวิทยา บริบททางการเมืองเปลี่ยน บรรยากาศที่นักศึกษาสนใจการเมืองและเป็นซ้าย ส่งผลต่อการเรียน 2 ด้าน

ด้านแรก เพิ่มวิชาด้านท้องถิ่นนิยมและชาติพันธุ์มากขึ้น ด้านที่สอง ไม่เปลี่ยนชื่อวิชา แต่เปลี่ยนสาระ เช่น วิชาสถาบันการเมือง วิชาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่อาจารย์ประจำวิชาเอาทฤษฎีมาร์กซิสต์มาถกเถียงปัญหาแทนฐานเดิม

การปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่สาม เน้นการพัฒนาสังคมเกษตรกรรม วิเคราะห์ปัญหาในสังคมภาคเหนือ หวังว่าจะไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกระบวนการพัฒนา ทำให้เกิด เรียนให้ลึกขึ้น และแบ่งกาเรียนออกเป็น 5 สาขาวิชา

ล่าสุดในการปรับปรุงครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549 เปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรและเนื้อหา ลดสาขาวิชาลงมาเป็น 2 สาขา คือสายวิชาการ และสายวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับทฤษฎีที่ประยุกต์มากขึ้น ให้ความสำคัญกับสหสาขาวิชามากกว่า และต้องการเพิ่มความหลากหลายในแนวคิดทฤษฎีของการศึกษาวิเคราะห์สังคมมากขึ้น ส่วนของวิชาการ วิธีวิทยา และการศึกษาเชิงพื้นที่ ได้ขยายไปสู่ภาคเหนือไปเป็นลุ่มน้ำโขง คือเน้นอาณาบริเวณศึกษามากขึ้น

ส่วนหลักสูตรปริญญาโทเริ่มในปี 2532 ปรับปรุง 2 ครั้งในปี 2535 และ 2542 โดยพยายามตอบโจทย์สังคมในภูมิภาค โดยมองว่าสถาบันการศึกษาที่อื่นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ยังขาดการศึกษาเรื่องการพัฒนาสังคมด้านเกษตรกรรม ในส่วนของหลักสูตรไม่ได้เน้นเรื่องผลผลิต รายได้ แต่เน้นการพัฒนาอย่างเท่าเทียม จัดการที่ดิน แรงงาน น้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีวิทยานิพนธ์เรื่อง "ดิน น้ำ ป่า" ออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ส่วนที่เป็นวิธีวิทยาเป็นแบบสหสาขา ด้านวิชาเรียนแยกสองส่วน คือ สังคมเกษตรในชนบทกับการจัดการทรัพยากร และการจัดการเชิงโครงสร้างสถาบัน

ต่อมามีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 2 ทำให้วิชานิเวศวิทยาสังคม เป็นตัวบังคับเพราะเน้นเรื่องสังคมเกษตรในภาคเหนือ จึงเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์มากขึ้น

ในปรับปรุงหลักสูตรปริญญาโทครั้งที่สาม พ.ศ. 2542 จากเดิมที่เน้นเรื่องการจัดการทรัพยากรและสังคมเกษตรภาคเหนือ ไปสู่ประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น มีมิติที่มากขึ้น ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศาสนาและระบบความเชื่อ การขยายตัวของเมือง ความเป็นพลเมือง กลุ่มคนชายขอบในสังคมสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ตามความถนัดและความสนใจของคณาจารย์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ในการเปิดหลักสูตรปริญญาโท 22 ปี มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา 100 คน มีวิทยานิพนธ์ 100 เล่ม โดยวิทยานิพนธ์ในช่วงปี 2532 - 2541 ประเด็นจะเป็นเรื่องดินน้ำป่า นิเวศวิทยาวัฒนธรรม เรื่องความขัดแย้ง ยุคหลัง 2542 จะเริ่มมีวิทยานิพนธ์ที่มีเนื้อหาเรื่องคนชายขอบ ความสัมพันธ์ทางอำนาจและอำนาจในการต่อรอง ส่วนสถานภาพของหลักสูตรในปัจจุบัน มีการปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาการพัฒนาสังคมไปตั้งแต่ปี 2554 แต่เปิดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแทน

 

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

การอภิปรายโดยปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (รับชมแบบ HD)

 

สงครามเย็นและการบูรณาการแห่งชาติ สู่แนวการศึกษาแบบขัดขืนต่อรองอำนาจ

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เริ่มอภิปรายว่า เมื่อปี 2529 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเรื่อง "สถานภาพสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทย" และมีการสรุปรวบรวมประเด็นจากการประชุมแล้วตีพิมพ์ในเวลาต่อมา โดยโจทย์เมื่อปี 2529 จากการอ่านคำนำของหนังสือดังกล่าวที่เขียนโดยฉลาดชาย รมิตานนท์คือจะทำอย่างไรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยจะสลัดตัวเองออกจากความคิด "พวกฝรั่ง"

ขณะที่ในปีนี้ ได้กลับมามองสิ่งที่เรียกว่า "สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทย" อีกครั้งหนึ่ง แต่ตัวตั้งตอนนี้เป็นเรื่อง "ประกันคุณภาพ" ที่รัฐไทยพยายามใช้ควบคุมอุดมศึกษาไทย

โดยสิ่งที่ สวนกระแสหรือทิศทางระบบประกันคุณภาพ ด้วยการเสนอวิธีมองคุณภาพที่ต่างไป และเป็นมิติที่ไม่เคยถูกมองในวิธีคิดกระแสหลัก ตัวชี้วัดในระบบการศึกษาปัจจุบัน มักใช้คำว่า "ใบสั่ง" มากกว่า "อรรถาธิบาย" เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงงานผลิตปลากระป๋อง แต่ผลิตสร้างความรู้และสร้างคน

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่สะท้อนการสร้างคน จะคุณภาพที่ต่างจากกรอบคิดกระแสหลักอย่างไร นั้น จะต้องตอบโจทย์ให้มากกว่า 4 ข้อ หนึ่ง พลังทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อะไรที่ก่อรูปสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยในแต่ละยุคสมัย สอง ในฐานะศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาใช้เครื่องมืออะไรในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งในแง่ทฤษฎีและวิธีวิทยา และเครื่องมือดังกล่าวนำไปสู่การสร้างความรู้ประเภทใด สาม แต่ละยุคสมัย สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้มีส่วนก่อรูปสังคม หรือการรับรู้ของสาธารณชนต่อสังคมและวัฒนธรรมที่ตนศึกษาอย่างไรบ้าง และ สี่ บุคคลประเภทใด เป็นผลผลิตของศาสตร์ในสายสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

โดยปิ่นแก้ว ได้เริ่มอภิปรายว่า กำเนิดของมานุษยวิทยาไทย เป็นผลผลิตของสงครามเย็น ในทศวรรษ 1950 นักมานุษยวิทยาจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า กำเนิดของมานุษยวิทยาเชื่อมโยงโดยตรงกับความต้องการของสหรัฐอเมริกาในการเข้าใจภูมิภาคอันจะเป็นฐานต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งความต้องการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐไทยในสมัยเดียวกันที่จะผนวกชนบทเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาติผ่านสถาบันการศึกษา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีการตั้งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา พร้อมกับมหาวิทยาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่

ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "Master Narrative" หรือโครงเรื่องหลักของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยคือ "คนในท้องถิ่นเรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยในล้านนา" แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในนโยบายการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพื่อสร้างปัญญาชนแก่ชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการ "National Integration" หรือนโยบายบูรณาการแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มองชนบทว่ามีภัยความมั่นคง มีภาวะการด้อยพัฒนา โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนแรกคือพระยาศรีวิสารวาจา องคมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือจอมพลถนอม กิตติขจร

ผู้มีบทบาทในการวางแผนหลักสูตรคณะสังคมศาสตร์ และภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นนักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าภาควิชาคนแรกคือ อานนท์ อาภาภิรม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. ยุคแรกจึงประกอบไปด้วยการเมืองยุคสงครามเย็นมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก การใช้มหาวิทยาลัยเชื่อมต่อท้องถิ่นและรัฐส่วนกลาง และกระแสท้องถิ่นนิยมที่ต้องการให้ล้านนามีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเอง

บทบาทของสหรัฐอเมริกาในการสร้างภาควิชามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในยุคแรกที่อาจารย์มีอย่างจำกัด สหรัฐอเมริกาได้ส่งอาจารย์มาสอนในวิชาสำคัญๆ 14 ปี ผ่านโครงการทุนฟุลไบรต์ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยอื่นมีสัญญาเดียวกันนี้หรือไม่ โดยอาจารย์ชาร์ล เอฟ คายส์ (Charles F. Keyes) บอกว่า ในยุคที่ไม่มีตำรา ในห้องสมุดไทยยุคนั้นไม่มีหนังสือเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การบรรยายของอาจารย์ในยุคนั้นสำคัญมากในการถ่ายทอดวิทยาการความรู้ และความคิดให้กับนักศึกษาในยุคนั้น การบรรยายของอาจารย์จึงก่อรูปความคิดของนักศึกษา

สหรัฐอเมริกามีบทบาทในการให้ทุนทำวิจัยต่อเนื่องจนถึงยุคปลายสงครามเย็น บทบาทของแหล่งทุน ที่มีส่วนในการก่อรูปทุนการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในสังคมไทย ยังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนศึกษาอย่างจริงจัง แม้ในต่างประเทศหัวข้อดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่มีการศึกษาในเชิงวิพากษ์อย่างกว้างขวาง

ในยุคแรก มูลนิธิฟอร์ด มูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ จัดประชุมร่วมกันและมีข้อถกเถียงว่า สหรัฐอเมริกาจะต้องเริ่มเข้าไปในภูมิภาคส่งเสริมงานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า การศึกษาแบบอาณาบริเวณศึกษา การนำทฤษฎีความทันสมัยเข้ามาสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้น

พลังจากการเมืองยุคสงครามเย็น การสร้างชาติภายใต้อุดมการณ์ความทันสมัย มีส่วนสำคัญในการก่อรูปสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ยุคต้น งานวิชาการยุคต้นตอบสนองโจทย์รัฐชาติ การเมืองระหว่างประเทศ และความมั่นคงเป็นสำคัญ มุ่งเน้นการอรรถาธิบายโครงสร้างประชากรกลุ่มชนต่างๆ มากกว่าสนใจความเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์อันซับซ้อนของกลุ่มชนกับรัฐไทย งานทางวิชาการในปี 2507 เป็นต้นมา การศึกษาประชากรในมิติต่างๆ มีความสำคัญมาก เช่น เรื่องการเติบโตประชากร ภาวะการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว

ในยุคต่อมา ขบวนการนักศึกษาและขบวนการเรียกร้องประชาชน มองสังคมไทยในมิติที่มีความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลง นักศึกษาตั้งคำถาม และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของคณาจารย์ และเนื้อหาในการสอนในบางวิชา โดยอาจารย์ชาร์ล เอฟ คายส์ ซึ่งเข้ามาสอนช่วงนั้นให้ข้อมูลว่า นักศึกษามีกิจกรรมเยอะมาก นักศึกษาเองเป็นตัวกระตุ้น ตั้งคำถามในวิชาที่สอน มีการจัดสัมมนา "การศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในประเทศไทย" ที่นักศึกษาจัดที่ค่ายอนุชน (ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน 2516) มีการตั้งคำถามกับคุณค่าของสังคมวิทยาและมานุษยาไทย มีอาจารย์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเข้าร่วม และมีอาจารย์บุญสนอง บุญโยทยาน มาร่วมด้วย เนื้อหาการสัมมนาก็น่าสนใจมาก

ในยุคนี้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ให้ข้อมูลว่า เกิดพลวัตในภาควิชา เดิมสอนแต่ทฤษฎีของพาร์สันส์ (Talcott Parsons - สำนักหน้าที่นิยม) เรื่องสังคมจะปรับตัวอย่างไร ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคนั้นได้ตั้งคำถามขึ้นมา ทฤษฎีมาร์กซิสต์เริ่มมีการนำมาใช้ในภาควิชา ทั้งที่ก่อนหน้านี้แนวคิดที่ใช้เป็นหลักคือเรื่องประชากรศาสตร์

ในยุคถัดมาทิศทางการศึกษาเรื่องพื้นที่สูงและพื้นที่ราบที่เริ่มในทศวรรษ 2530 ซึ่งเป็นอานิสงส์จากมูลนิธิฟอร์ด ซึ่งให้ทุนสนับสนุนเยอะมาก ชุมชนวิชาการ ประสานตัวเองเข้ากับขบวนการทางสังคมและการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งพลวัตที่เกิดขึ้นไปไกลเกินการคาดคิดของมูลนิธิฟอร์ด โดย agenda (วาระ) ในการสนับสนุนวิจัยของมูลนิธิฟอร์ดคือต้องการให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น

ทั้งนี้ภาคเหนือเป็นพื้นที่ขัดแย้งแหลมคมระหว่างรัฐกับประชาชน ก่อให้เกิดการเรียกร้องงานวิชาการที่ตอบสนองต่อโจทย์ทางสังคมในการทำความเข้าใจต่อเงื่อนไขความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทั้งในระนาบปรากฏการณ์และอุดมการณ์ ยุคนี้อาจเป็นยุคทองของมโนทัศน์ว่าด้วยเรื่องการต่อรอง ขณะที่คำถามทางวิชาการก่อนหน้านี้ว่าด้วยเรื่องแนวคิดการปรับตัวเข้าหารัฐและสังคม อาจจะเรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคมองหาการต่อรองและขัดขืน ระหว่างรัฐและคนชายขอบ

ยุคนี้เป็นยุคที่ อาจารย์เคร็ก (Craig J. Reynold) และอาจารย์คายส์เรียกว่าเป็นยุค "Socially Engaged Sociology and Anthropology" เป็นมานุษยวิทยาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคม ขณะเดียวกันในภาควิชาเกิดการขยายตัวของประเด็นในการศึกษาออกนอกกรอบคิดรัฐเป็นศูนย์กลาง

 

หลังสงครามเย็น:สู่ยุค สกว. สสส. สวรส.

ในยุคปัจจุบันตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา การเปิดพรมแดนประเทศ การล่มสลายของอุดมการณ์การเมืองที่เคยแบ่งโลกในยุคก่อน ไม่เพียงได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงความหมายของพรมแดนธรรมชาติ หากแต่ยังก่อให้เกิดการลากเส้นเขตแดนทางวิชาการของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาขึ้นใหม่ เรียกร้องให้แสวงหาความรู้นอกพรมแดนสังคมไทย คือไม่เพียงแต่เกิดวิชา "ข้ามพรมแดน" ในหลักสูตร แต่งานวิจัยชายแดนกลายเป็นประเด็นที่คึกคักอย่างยิ่ง และกลายเป็น trademark (เครื่องหมายการค้า) ให้สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. ปัจจุบัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 สหรัฐอเมริกาได้ยุติบทบาทลงอย่างสิ้นเชิงในการสนับสนุนการศึกษาในไทย โดยเฉพาะเรื่องสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เช่นเดียวกับทุนจากญี่ปุ่น แหล่งทุนที่เข้ามาแทนที่คือ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ) สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) บทบาทของแหล่งทุนไทยที่มีอิทธิพลต่อทิศทางความรู้ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การวิเคราะห์และศึกษาอย่างยิ่ง

โดยการศึกษาของสังคมวิทยาและมานุษวิทยาเชียงใหม่ ได้ก่อรูปทางความคิดในเรื่อง หนึ่ง การเปิดมิติการเข้าใจสังคมชาวนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนา ในความสัมพันธ์กับรัฐไทย และกับระบบทุนนิยม สอง การเปลี่ยนวิธีคิดในการมองเรื่องสิทธิ ที่มองแต่เรื่องรัฐและเอกชน มาสู่ข้อเสนอเรื่องสิทธิชุมชน สาม การท้าทายมายาคติกระแสหลักว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง สังคมชายแดน และสังคมชายขอบทั้งหลาย และสี่ การเปิดให้เห็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างของปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นในสภาวะการปิดล้อมทางทรัพยากร

 

นลินี ตันธุวนิตย์

คลิปการอภิปรายโดยนลินี ตันธุวนิตย์ และการอภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยผู้เข้าร่วมการเสวนา (รับชมแบบ HD)

 

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่: การถูกอ้างถึงเมื่อมองจากฝั่งธรรมศาสตร์

ด้านนลินี ตันธุวนิตย์ ได้อภิปรายแบ่งออกเป็นสามประเด็น โดยประเด็นแรก กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นที่สอง นักวิชาการ นักพัฒนา นักเคลื่อนไหว และพัฒนาการของสังคมศาสตร์สาธารณะ และประเด็นที่สาม ตัดต่อขอยืมทางวิชาการของสำนักท่าพระจันทร์ และสำนักเชียงใหม่

โดยประการแรก นลินี ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ บริบททางวิชาการที่คล้ายๆ กัน แต่มีทิศทางของพัฒนาการต่างกันเพราะต่างมีเงื่อนไขเฉพาะ

ประเด็นที่สอง พัฒนาการของสังคมศาสตร์สาธารณะ จุดพีคของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น่าจะอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2530 - 2540 เริ่มมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชนจากที่ต่างๆ ในประเทศมาเรียนปริญญาโทที่นี่ ด้วยเหตุผลทั้งการหาทางเลือกใหม่ในการทำงาน รวมไปถึงมาเรียนเพราะรู้จักอาจารย์มานุษยวิทยาที่เชียงใหม่อย่างเช่นรู้จักอานันท์ กาญจนพันธุ์

ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจก็คือ งานวิชาการสังคมศาสตร์ที่นี่ไม่ได้เป็นอะไรที่ตัดขาดจากเรื่องราวที่เกิดรอบๆ มหาวิทยาลัย  และเป็นส่วนสำคัญมากในการก่อรูป สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เชียงใหม่ และด้วยบริบทของท้องถิ่นทำให้ อาจารย์หลายคนที่นี่นอกจากสอนหนังสือยังมีส่วนเคลื่อนไหวอย่างสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งนี้การทำงานในพื้นที่ การลงชุมชน การร่วมเคลื่อนไหวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม คิดว่าเป็นเสน่ห์หนึ่งของสำนักเชียงใหม่

ประการที่สาม เมื่อกลับมามองวิทยานิพนธ์ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าการขอหยิบขอยืมการอ้างอิงทางวิชาการมาจากสำนักเชียงใหม่ เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้เยอะมากในช่วงปี 2529-2530 และแนวการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาธรรมศาสตร์ ยังใช้กรอบการศึกษาเชิงจิตวิทยาทางสังคม กระทั่งต่อมาในปี 2530 เริ่มมีงานศึกษา 3 เล่มที่อ้างอิงงานของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ จนกระทั่งปี 2534 มีการเชิญ อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โดยถือเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกๆ ที่มีอาจารย์นอกมหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษา และมีการอ้างงานจากสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่เยอะมาก

และต่อมาในช่วง 2540 เริ่มมีการอ้างอิงงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม ชาวบ้าน ดินน้ำป่า จะพบว่างานทางวิชาการจากสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นงานอันดับต้นๆ ที่ถูกอ้างถึงเยอะมากถ้าดูในบรรณานุกรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท