Skip to main content
sharethis

(1 ต.ค.55) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่า ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การแบ่งสัดส่วนคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

สาระสำคัญของหลักเกณฑ์กำหนดให้แบ่งสัดส่วนคลื่นความถี่สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในช่วงการออกอากาศแบบคู่ขนานในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอล ออกเป็น บริการชุมชนไม่น้อยกว่า 20% บริการสาธารณะประมาณ 20% และบริการธุรกิจประมาณ 60% และในช่วงหลังจากยุติระบบแอนะล็อกและให้บริการระบบดิจิตอลอย่างเดียว จะแบ่งสัดส่วนคลื่นความถี่ออกเป็นบริการชุมชนไม่น้อยกว่า 20% บริการสาธารณะประมาณ 30% และธุรกิจประมาณ 50%

พ.อ.นที กล่าวว่า ทั้งนี้ ในช่วงการออกอากาศแบบคู่ขนานในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลจะมีช่องรายการ Digital Tv จำนวน 48 ช่องรายการ แบ่งเป็น ช่องรายการที่เป็นการบริการชุมชน 12 ช่องรายการแบบ Standard Definition (หรือ SD) ช่องรายการที่เป็นการบริการสาธารณะ 12 ช่องรายการแบบ SD ช่องรายการที่เป็นการบริการธุรกิจ 24 ช่องรายการ ซึ่งจะจัดแบ่งย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว 5 ช่องรายการ กลุ่มที่ 2 ช่องรายการสำหรับข่าวสาร และสาระประโยชน์ 5 ช่องรายการ กลุ่มที่ 3 ช่องรายการทั่วไปแบบ SD 10 ช่องรายการ กลุ่มที่ 4 ช่องรายการทั่วไป แบบ High Definition (หรือ HD) 4 ช่องรายการ

การดำเนินการหลังจากนี้ จะนำหลักเกณฑ์นี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

พ.อ.นที กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการโครงข่าย และดิจิตอลทีวีในกลุ่มช่องบริการสาธารณะ จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคม 2556 จึงเปิดให้มีการประมูลช่องรายการในกลุ่มธุรกิจ และในกลุ่มช่องบริการชุมชนในเดือนพฤศจิกายนปี 2556 ซึ่ง กสท.ยังได้ให้คณะอนุกรรมการศึกษาในเรื่องของการกำหนดอัตราถือครองช่องรายการขั้นต่ำของผู้ประกอบการ โดยจะทำการประเมินจากศักยภาพด้านการดำเนินงานของผู้ประกอบการ

พ.อ.นที กล่าวว่า ส่วนราคาตั้งต้นของการประมูล ขณะนี้กำลังรอผลการศึกษาจากทีมอนุกรรมการ แม้ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะสามารถรู้ผลเมื่อไร แต่คาดว่าราคาที่ออกมาได้จะไม่สูงมากนัก เนื่องจากต้องการให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนไปใช้ในการสร้างเนื้อหารายการดีๆ มากกว่าเอามาใช้ลงทุนประมูล ทั้งนี้ในการศึกษาการกำหนดราคาจะใช้วิธีการประเมินมูลค่าคลื่นเช่นเดียวกับการคิดมูลค่าในกิจการโทรคมนาคม

พ.อ.นที กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของเนื้อหารายการหากผู้ประกอบการจะนำช่องรายการที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสนับสนุนเสื้อสี หรือกลุ่มพรรคการเมือง ในเบื้องต้น กสท.สามารถอนุญาตให้ทำได้ แต่ห้ามฝ่าฝืน ม.37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ว่าด้วยการไม่เผยแพร่รายการที่ออกอากาศจะต้องไม่กระทบกระเทือนหรือดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ แสดงออกโดยจงใจก่อให้เกิดการเหยียดหยามประเทศชาติ รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกลุ่มชนใด ลบหลู่ศาสนา ปูชนียบุคคล ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ หรือกระทบต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมอันดีงาม กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ ยั่วยุกามารมณ์หรือลามกอนาจาร รวมทั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พรรคการเมืองห้ามเป็นเจ้าของสื่อ

 

 

ที่มา: บางส่วนจากมติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net