อียูยกธงขาว FTA เลิกกดดันอินเดียรับทริปส์พลัส เอ็นจีโอไทยรอพิสูจน์กึ๋นผู้เจรจาไทย

กมธ.อียู เผยแพร่บทความในนิตยสาร Government Gazette ของอังกฤษระบุ อียูต้องใส่ใจความต้องการและความห่วงใยของคนจนในอินเดีย เกษตรกรขนาดเล็ก และประชาชนที่พึ่งพิงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสม

 

(กรุงเทพฯ-ลอนดอน/3 ต.ค.55) นายคาเรล เดอ กุช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปซึ่งกำลังเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับอินเดีย แต่เกิดความชะงักงันมากว่าครึ่งปีสาเหตุจากที่ฝ่ายอินเดียไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้อินเดียปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ได้เขียนบทความลงนิตยสาร Government Gazette ของอังกฤษฉบับเดือนตุลาคมว่า สหภาพยุโรปควรต้องใส่ใจความต้องการและความห่วงใยของคนจนในอินเดีย เกษตรกรขนาดเล็ก และประชาชนที่พึ่งพิงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสม

“เราจึงเตรียมตัวที่จะยอมรับว่า อินเดียจะไม่สามารถยอมรับข้อตกลงที่ทะเยอทะยานเช่นที่ฝ่ายยุโรปต้องการในหลายประเด็นอ่อนไหวได้ โดยเฉพาะประเด็นยาชื่อสามัญ เราปรารถนาที่จะแสดงการยอมรับอย่างเต็มที่ถึงบทบาทของอินเดียในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยาชื่อสามัญที่สำคัญ ดังนั้น ในความเห็นของผม นี่คือผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย จากเหตุผลนี้และเพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสมทั้งที่อินเดียและที่อื่นๆทั่วโลก เราจะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้”

ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์กล่าวว่า ต้องชื่นชมนักเจรจาและรัฐบาลอินเดียที่เข้มแข็งในการปกป้องประชาชนไม่ให้ผลประโยชน์ทางการค้าระยะสั้นๆมากระทบกับชีวิตและสังคมในระยะยาว ซึ่งต้องดูว่า นักเจรจาฝ่ายไทยจะมีความฉลาดและความกล้าหาญทางจริยธรรมเท่านี้หรือไม่

“เมื่อวานจากการได้พูดคุยกับนางพิรมล เผ่าเจริญ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่ ซึ่งตอนพูดต่อผู้ชุมนุมก็มีท่าทีดี เข้าอกเข้าใจ รับจะไปพิจารณาให้รอบคอบ แต่พอไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแย่มากๆ เรายอมรับว่าอธิบดีมาใหม่ แต่เมื่อไม่มีความรู้ ไม่ทำการบ้าน ก็ควรไปศึกษาก่อน ไม่ใช่เที่ยวมาหาว่าประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทั้งที่ประชาชนเขารู้ทุกอย่างเกาะติดมาเป็นสิบปีแล้ว อย่าดูถูกภูมิปัญญาประชาชน เปิดหูเปิดตาเสียบ้าง ประชาชนมีข้อมูลมากกว่ากรมเจรจาฯด้วยซ้ำ อย่าฟังข้อมูลจากข้าราชการบางคนที่รับใช้นายทุนฝ่ายเดียว ประชาชนไม่เคยพูดว่า ไม่ให้เจรจา แต่เราเสนอให้กรอบการเจรจาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเข้าถึงยาและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อย่าเอาประโยชน์ของคนไม่กี่ตระกูล ไม่กี่คนไปแลกกับชีวิตประชาชน นักเจรจาฝ่ายไทยควรแสดงกึ๋นให้ประชาชนเห็น รักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน”

นางสาวสุภัทรากล่าวเพิ่มเติมว่า การที่อธิบดีกรมเจรจาฯคนใหม่อ้างว่า ขยายอายุสิทธิบัตรและการผูกขาดข้อมูลทางยาไม่ได้ทำให้ยาแพงขึ้น แต่แค่ระยะเวลายาวขึ้น แสดงถึงการไม่มีเข้าใจในเรื่องนี้ ขอให้ฟังข้อมูลจาก สำนักงาน อย.และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะทั้งสองหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงระบุว่า มีผลกระทบแน่ๆ อีกทั้งการที่อ้างว่า การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำซีแอลนั้น ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า กรมนี้ไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่ไปเจรจาเลย

“พูดมาได้อย่างไรว่า อ.ย.กับองค์การเภสัชก็คนเดียวกัน โดยอ้างว่าองค์การเภสัชไม่ต้องขึ้นทะเบียนยานั้น หากใช้ช่องทางกฎหมายนี้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะการประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐหรือ government use เท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาการประกาศบังคับใช้สิทธิในรูปแบบอื่นๆที่อยู่ในกฎหมายเรียกโดยรวมว่า Compulsory licensing ได้ นอกจากนี้ ผลได้จากจีเอสพีตามที่ศูนย์ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์เคยประเมินไว้อยู่ที่ 70,000 กว่าล้านบาท แต่หากเราต้องยอมรับเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยาแค่เรื่องเดียว ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ล้านบาท นักเจรจาฝ่ายไทยควรฉลาดและกล้าหาญให้ได้อย่างของอินเดีย ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท