(ร่าง) คำไว้อาลัย 36 ปี 6 ตุลา 2519 โดย ‘หมอมิ้ง’ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภารกิจสืบสานเจตนารมณ์ต่อต้านเผด็จการ
สร้างสรรค์ประชาธิปไตยยังไม่เสร็จสิ้น

 

เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลาดวิชา สัญญลักษณ์แห่งเสรีภาพทางปัญญา ได้แปรเปลี่ยนเป็นทุ่งสังหารอันหฤโหด  ที่เข่นฆ่าทำร้ายผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการกว่า 3,000 คน โดยกองกำลังทหารตำรวจอาวุธครบมือ ระเบิด กระสุนปืน และแก๊สน้ำตา ได้ถาโถมสาดใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่ปรานี ตั้งแต่ 5.30 น. จวบจนแดดเริ่มจะแก่กล้าเมื่อเวลา 9.00น. 

ยังผลให้วีรชนผู้กล้าเสียชีวิตจากอาวุธสงครามอย่างโหดร้ายทารุณ บ้างก็ถูกทุบตีและแขวนคอตาย บ้างก็ถูกราดน้ำมันจุดไฟเผาทั้งที่ยังไม่สิ้นใจ บางรายก็ถูกลิ่มตอกอก หรืออวัยวะส่วนอื่นจนสิ้นใจ เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นหลายสิบราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยราย ส่วนที่เหลือก็ถูกจับกุมคุมขัง โดยจับถอดเสื้อผ้าทั้งชาย-หญิง เหลือเพียงกางเกง-เสื้อชั้นใน ถูกต้อนขึ้นรถบรรทุก รถบัส ไปคุมขังเยี่ยงอาชญากรที่มีโทษอุกฉกรรจ์  โดยผู้ชุมนุมถูกใส่ร้ายป้ายสี ด้วยการแต่งเติมภาพกิจกรรมระหว่างการเคลื่อนไหวชุมนุม นำลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ กล่าวหาผู้ชุมนุมว่ามุ่งร้ายต่อองค์รัชทายาท แล้วปฏิบัติการล้อมปราบผู้ร่วมชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธสงคราม ติดตามด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าในวันเดียวกัน

หลังจากนั้นก็ติดตามกวาดล้างพวกที่เหลือ ด้วยการยัดข้อหา"ภัยสังคม" ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องหลบซ่อน อำพรางตัว บ้างก็หลบหนีเข้าเขตป่าเขา ต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมยังดำรงอยู่อีกหลายปี จนรัฐบาลต่อๆ มาต้องประกาศใช้นโยบาย 66/2523 นิรโทษกรรม ให้โอกาสผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่ถูกข้อหา "ขบถ" ทะยอยกลับออกมาดำเนินชีวิตเยี่ยงปกติชน

ตุลาคม 2539 หลังชัยชนะของการต่อสู้หลั่งเลือดเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพฤษภาคม 2535 และบรรยากาศเริ่มเปิดกว้างให้พลังประชาธิปไตย เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่รอดชีวิตจากยุค 6 ตุลาคม 2519 ได้ร่วมจัดงาน"20 ปี 6 ตุลาคม" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง และประสบผลสำเร็จในการกอบกู้พลิกภาพลักษณ์ของ "วีรชนและวีรกรรม 6 ตุลาคม 2519" จาก "ขบถ" เป็น"วีรชนประชาธิปไตย" และเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนจะยังไม่จบสิ้น หากแต่พัฒนาต่อเนื่องเหมือนสายธารแห่งประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475, การจัดสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, การต่อสู้คัดค้านเลือกตั้งสกปรก 2500, เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535   จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสร้างอนุสรณ์สถานแห่ง"การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ในรูปงานศิลปะที่สะท้อนการต่อสู้ที่ต่อเนื่องเป็นสายธารดังได้เห็นอยู่นี้

ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2555, 80 ปีหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, 39 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 36 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 20 ปีหลังพฤษภาคม 2535  การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านอำนาจเผด็จการที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนยังไม่เสร็จสิ้น  ประชาชนที่เชื่อมั่นในพลังประชาธิปไตยได้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าร่วมต่อสู้ต่อไป

การยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยที่ผลพวงของการรัฐประหารยังดำรงอยู่  ได้เร่งเร้าให้ประชาชนที่ยึดมั่นประชาธิปไตยเข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างอาจหาญเมื่อเดือนเมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ต่างกันที่ครั้งนี้วีรชนคนกล้าฝ่ายประชาชนแตกต่างออกไปจากในอดีต ผู้เข้าชุมนุมไม่จำกัดเฉพาะปัญญาชนคนหนุ่มสาวเหมือนเมื่อ 36 ปีที่แล้ว แต่ขยายขอบเขตออกไปถึงผู้คนตามท้องไร่ท้องนาที่มีการส่งตัวแทนสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่วมชุมนุม ทั้งยังร่วมติดตามการเคลื่อนไหวผ่านสื่อทุกรูปแบบ ในขอบเขตทั่วประเทศและทั่วโลก ขณะเดียวกัน คุณภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เยาวชนนักเรียนนักศึกษาไม่ต้องปลุกระดมชาวไร่ชาวนาให้เห็นปัญหาดังเช่นในอดีตอีกแล้ว เพราะพวกเขากลับเป็นผู้รู้คุณค่าจากเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เขาเคยลิ้มลองและได้รับความสุขด้วยตนเอง จนเกิดเป็นความหวงแหนเมื่อถูกแย่งชิงไป นักศึกษาปัญญาชนต่างหากที่ต้องไปเรียนรู้จากพวกเขา 

พวกเขาต้องการเลือกที่จะมีเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร เสรีภาพในการตัดสินใจสร้างรายได้เพิ่มจากทุกโอกาสที่อำนวยให้ เสรีภาพที่จะเลือกลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากทุนของเขาเอง เลือกโอกาสที่จะได้รับบริการที่ดีจากรัฐที่เก็บภาษีไปจากเขา จึงตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฏรของตนไปแย่งชิงอำนาจรัฐเพื่อทำประโยชน์ให้กลุ่มตนได้อย่างแท้จริง ตามวิถีทางประชาธิปไตย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า คุณค่าการเสียสละของเหล่าวีรชนประชาธิปไตยที่สั่งสมกันไม่เคยสูญเปล่า  แต่ฝ่ายนิยมเผด็จการต่างหากที่ไม่อาจเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ และยังคงฝืนรักษาอำนาจตามวิถีเดิมๆ เลือกใช้กลไกอำนาจรัฐที่ใช้อาวุธหรือใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ข่มเหงและปราบปรามประชาชนต่อไป โดยไม่รู้ว่านั่นคือการใส่ปุ๋ยเร่งความเติบโตของพลังประชาธิปไตย ภารกิจสืบสานเจตนารมณ์ต่อต้านเผด็จการ สร้างสรรค์ประชาธิปไตยจึงยังไม่เสร็จสิ้น

ขอเราจงร่วมกันไว้อาลัย รำลึกวีรกรรมของวีรชน 6 ตุลา และวีรชนประชาธิปไตยอื่นๆ ที่เสียสละชีวิตหรือพิการจากวีรกรรมต่างๆ ด้วยการสืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อประชาธิปไตย สร้างสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ยุติธรรม นิติธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สร้างโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ยึดมั่นในประโยชน์สุขของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 

 

...................................................

 

กำหนดการ

สัปดาห์รำลึก 36 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน

ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

0 0 0
 
วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555 ณ สวนประวัติศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่
07.00 น.- 07.30 น. พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป 
07.30 น.- 09.30 น. พิธีวางพวงมาลา ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519
               อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน
               พิธีกร ( อมธ.) เชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆกล่าวไว้อาลัยโดย
               - นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดชตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา
               - คุณพ่อจินดา ทองสินธุ์ ญาติวีรชน 6 ตุลา 2519
               - อาจารย์สุชีลา ตันชัยนันท์ ตัวแทน 18 ผู้ต้องหา
               - ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
               - บุญเลิศ ช้างใหญ่ ตัวแทนคนตุลาสายสื่อมวลชน
               - ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา
               - ประธานมูลนิธินิคม จันทรวิทุร
               - ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานศูนย์กลางแห่งประเทศไทย
               - จิตรา คชเดช ตัวแทนองค์กรกรรมกร 
               - สมบุญ ศรีคำดอกแค ตัวแทนสมัชชาคนจน
               - ศราวุฒิ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชน
               - อมธ. สภานักศึกษา สนนท.
               - วัฒน์ วรรลยางกูร ตัวแทนเครือข่ายเดือนตุลา
               - ตัวแทนกลุ่มโดมรวมใจ 
               - องค์กรร่วมจัดงาน ฯลฯ
 
09.30 น. - 10.00 น. กวี และนาฏลีลา รำลึกวีรชน 6 ตุลา
 
ณ หอประชุมศรีบูรพา 
10.00 น. - 11.30 น. ปาฐกถาพิเศษ 
               6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา 
               โดย ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
 
13.30 น. - 16.30 น. เสวนา " 6 ตุลา กับ ทิศทางการเมืองไทย ” 
               ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 
               ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย
               ไท ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข 
               พัชณีย์ คำหนัก องค์กรเลี้ยวซ้าย 
               ตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ 
               ดำเนินรายการโดย ใบตองแห้ง บรรณาธิการข่าว อาวุโสวอยส์ทีวี 
 
16.30 น. - 18.00 น. ละครใบ้ และบทกวี
18.00 น. - 20.30 น. ดนตรีวงไฟเย็น และวัฒน์วรรลยางกูร
 
 
20.30 น. - 20.40 น. ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
               กล่าวเปิดการแสดงละคร "จันตุลา" 
 
20.40 น. - 21.40 น. ละคร “ จันตุลา” 
               โดยการกำกับของคุณภรณ์ทิพย์ มั่นคง
               เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่หัวหน้าครอบครัวพยายามจะลืมว่าเคยมีลูกชายที่เสียชีวิตในวันที่ 6ตุลาคม 2519 
 
 
 
วันที่ 5-14 ตุลาคม
นิทรรศการ
การแสดงดราม่าประวัติศาสตร์ รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 
ผู้ร่วมจัดงาน 
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
โครงการกำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 
มูลนิธินิคม จันทรวิทุร
คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
เครือข่ายเดือนตุลา 
และ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 
 
------------------------------------------------------------------------------
อยากรู้ความจริงเรื่อง 6 ตุลา คลิก www.2519.net 
------------------------------------------------------------------------------
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท