ศาสวัต บุญศรี: 6 ตุลา 2519 อย่าลืมฉัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในแวดวงภาพยนตร์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกระแสหลัก นอกกระแสหรือสายภาพยนตร์สั้น ประเด็นเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นก็ไม่ได้ต่างออกไปจากความสนใจของมนุษย์ชาวไทยคนอื่น ๆ  ที่ต่างหลงลืมและไม่เห็นความสำคัญ แถมยังจับไปผสมปนเปกับเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ชนิดแยกไม่ออกว่าวันไหนเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรกันแน่ 

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่นานนัก กระแสหนังแนวขวาจัดถูกผลิตขึ้นต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างหนักหน่วง อาทิ ภาพยนตร์บู๊ล้างผลาญเรื่อง “3 นัด” ผลงานของเสนีย์ โกมารชุน ที่เผยแพร่ในปี 2520 มีคำโปรยหนังว่า “มันเกิดมาไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องตายด้วยมือกู!” (ดูโปสเตอร์ได้ที่ http://www.thaifilm.com/imgUpload/reply265101_01.jpg) แต่ไม่ถึงสามปีหลังจากนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง ไม่มีใครกล้าออกหน้าเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ ไม่มีใครกล้าแสดงตัวรับความดีความชอบ บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังพยายามทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาถูกลืมเลือนเพราะแนวโน้มดูท่าจะออกมาว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนเหล่านั้นผิดจริง พวกเขาทำกับว่าเหตุการณ์เหล่านั้นควรลืม ๆ กันได้ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ควรมารื้อฝอยหาตะเข็บ เราไม่เคยฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์และมีวัดพระแก้วเป็นฉากหลัง คนไทยเรารักกัน

ไม่นานนักเราก็แทบไม่เห็นหนังที่พูดถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เลย จนปัจจุบันหนังที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยก็แทบไม่เคยแตะต้อง 6 ตุลาคม 19  อาจจะมีบ้างเรื่องสองเรื่องแต่ก็ทำออกมาแง่ตลกขบขันและไม่ได้ให้รายละเอียดที่สมจริงเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดีใช่ว่าคนทำหนังไทยจะเพิกเฉยต่อประเด็น 6 ตุลา กันไปเสียหมด หนึ่งในผลงานคลาสสิคสายภาพยนตร์สั้นไทยเรื่อง “อย่าลืมฉัน” ถูกผลิตขึ้นมาด้วยต้องการประกาศก้องต่อชาวโลกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้นเคยเกิดขึ้นจริง มันเป็นเหตุการณ์รุนแรงอันแสนน่ากลัว เป็นเหตุการณ์ที่มนุษย์กระทำร้ายต่อกันโดยมีรอยยิ้มอย่างมีความสุขเปรอะเปื้อนเต็มใบหน้า ทว่ามันกลับเป็นเหตุการณ์ที่มีแต่คนอยากลืม และทำเสมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น จงลืม จงลืม จงลืม!!! 

มานัสศักดิ์ ดอกไม้ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ตะโกนบอกผ่านหนังของเขาว่าอย่าลืมความโหดร้ายนี้ อย่าลืมการกระทำอันป่าเถื่อนนี้ แม้ในเรื่องจะไม่มีการเรียกร้องให้รัฐออกมาชำระความจริงให้ถูกต้อง แต่ก็เชื่อเถอะว่าแท้ที่จริง เขาก็ปรารถนาเฉกเช่นเดียวกันให้ความจริงกระจ่าง

ผลงานของมานัสศักดิ์เรื่องนี้ผลิตขึ้นด้วยต้นทุนและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด (และหนังทุกเรื่องของเขาจะเป็นในเชิงทดลองที่ใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยมาก ๆ บางเรื่องอยู่ในระดับหลักสิบ) โชคดีที่มานัสศักดิ์ทำงานที่หอภาพยนตร์ เขาจึงมีโอกาสได้พบเจอกับฟุตเตจในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จำนวนมากที่ถูกบันทึกไว้ เขาจึงได้นำภาพฟุตเตจเหล่านั้นมารื้อสร้างโครงเรื่องแล้วประกอบสร้างใหม่ โดยใช้เสียงบรรยายในสารคดีการไปเจอผีตองเหลืองของสยามสมาคม

ในอย่าลืมฉัน เราจึงเห็นภาพตลอดทั้งเรื่องเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ แต่เสียงบรรยายและซับไตเติลกลับกลายเป็นเรื่องราวของผีตองเหลืองที่สยามสมาคมไปพบเจอ ดูเริ่มแรกแล้วย่อมรู้สึกว่ามันคนละเรื่องเดียวกัน ทว่าแท้จริงแล้วมานัสศักดิ์ใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ประเภทยั่วล้อ แม้เสียงและภาพทางตรงจะไม่ตรงกัน แต่ความหมายโดยนัยแล้วมันแทบจะหลอมรวมเป็นเรื่องเดียว อาทิ บทคำบรรยายกล่าวถึงความงดงามของป่าเขาลำเนาไพร มานัสศักดิ์ก็จัดเรียงภาพอาคารที่กระจกแตก เก้าอี้พัง ให้ตรงกับคำบรรยายช่วงนั้น หรือคำบรรยาย “ทางสยามสมาคมได้นำสิ่งของที่คิดว่าพวกผีตองเหลืองต้องการได้” เมื่อหันมาดูภาพก็พบตำรวจตระเวนชายแดนกำลังยิงปืนต้านอากาศยานเข้าไปในธรรมศาสตร์พอดี

เทคนิคเฉกเช่นนี้มิใช่ของใหม่ในโลกภาพยนตร์ แต่มานัสศักดิ์ใช้และทำได้อย่างทรงประสิทธิภาพ การยั่วล้อนั้นมักส่งผลให้คนดูเกิดการถอยห่างออกมาจากหน้าจอและฉุกคิดต่อเหตุการณ์ที่เห็นในเฟรมภาพมากขึ้น คนดูย่อมตั้งคำถามเบื้องแรกในเชิงเทคนิคว่าเล่าเรื่องอย่างไรกันแน่ และเมื่อภาพที่เห็นในหนังยังคงวนเวียนในหัว คนดูจะพยายามปะติดปะต่อเรื่อง รวมถึงตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้พบเห็นว่านี่คือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนที่อ้างว่าเป็นเมืองพุทธจริงหรือ และก็มีคนดูไม่น้อยที่ไม่เคยรู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาก่อนได้ออกไปหาคำตอบเพิ่มเติมว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

อย่าลืมฉัน ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี (รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมสายบุคคลทั่วไป) จากมูลนิธิหนังไทยเมื่อปี 2546 และเป็นหนังที่จริงจัง (น่าจะ) เพียงเรื่องเดียวที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวไทยอย่างเรา ๆ อย่าได้ลืมเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งนี้ เรียกร้องให้อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืม!!! และนับแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายก็ได้ทำให้คนไทยไม่น้อยไม่เคยลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกเลย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท