Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทนายความของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ได้ยื่นอุทธรณ์คดี หลังจากศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ลงโทษจำคุก 1 ปี  ปรับ 30,000 บาท ให้ความร่วมมือลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี  ตาม ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 1 ปี

โดยในคำอุทธรณ์ สรุปเหตุผลได้ความว่า  พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาข้อความทุกข้อความที่มีการโพสต์ ทั้งยังไม่มีกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานใดในการกำกับดูแลเนื้อหาข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้ผู้ให้บริการได้ทราบโดยแน่ชัดถึงขอบเขตหน้าที่ ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงมาตรการในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป อันเป็นมาตรฐานวิชาชีพได้

แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่ามาตรฐานภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เองโจทก์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์  จำเลยก็ขอเรียนศาลอุทธรณ์ว่า จะต้องพิจารณาถึงมาตรฐานที่ผู้ให้บริการถือปฏิบัติกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาการให้บริการอินเตอร์เน็ตแพร่หลายมาก่อน เนื่องจากการให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ผู้ให้และผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันในทางสากล และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนส่วนใหญ่ ภาระค่าใช้จ่ายและความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ ตลอดจนข้อจำกัดทางเทคโนโลยี

คำอุทธรณ์ยังหยิบยกกรณีการนำสืบ นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ดูแลเว็บไซต์พันทิป ดอทคอม ที่ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการมีมาตรการในการคัดกรอง ปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสมอยู่แล้ว และให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้ช่วยแจ้งเตือน แต่หากกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบเนื้อหาในทุกข้อความก็จะเป็นภาระแก่ผู้ให้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และก่อให้เกิดผลกระทบด้านธุรกิจเว็บไซต์ และความไม่สะดวกต่อผู้ใช้งาน ธุรกิจเว็บไซต์ในประเทศไทยก็จะเสียเปรียบต่างประเทศในแง่ต้นทุนการบริหารจัดการ และอาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้ใช้บริการที่จะหันไปใช้บริการเว็บไซต์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่มีเซิฟเวอร์ในต่างประเทศมากขึ้นเพราะไม่อยู่ในกรอบกฎหมายไทย

ขณะที่โจทก์ได้แถลงรับข้อเท็จจริง กรณีจำเลยจะนำสืบพยานปาก พิรงรอง รามสูตร ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ที่ทำวิจัยเรื่องการกำกับเนื้อหาในอินเตอร์และสรุปข้อเสนอว่าควรให้หลัก “แจ้งให้ทราบแล้วเอาออก” สร้างวัฒนธรรมการรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังระบุว่า เมื่อปี 2551 หลังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์บังคับใช้แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงไอซีทีก็เคยเชิญผู้ดูแลเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงผอ.ประชาไท เข้าประชุมเพื่อหารือการตรวจสอบเนื้อหาผิดกฎหมาย มีการสรุปแนวทางร่วมกันว่า หากผู้ดูแลเว็บไซต์พบข้อมูลไม่เหมาะสมให้อยู่ในวิจารณญาณของผู้ดูแลในการระงับการเผยแพร่ ส่วน สตช. และไอซีทีนั้นหากพบข้อความใดเข้าข่ายทำผิดกกฎหมายจะประสานงานกับผู้ดูแลเว็บไซต์ให้ทำการปิดกั้น จึงถือได้ โดยหลักการแล้วเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าผู้ให้บริการเว็บบอร์ด มีฐานะเป็นเพียง “ตัวกลาง” จึงไม่ต้องรับผิดชอบในข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายซึ่งโพสต์โดยบุคคลอื่น ยกเว้นผู้ให้บริการรับทราบหรือได้รับการแจ้งเตือนแล้วไม่ระงับการเผยแพร่

ในกรณีผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบเองก็ทำการปิดกั้น และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากไอซีที ก็ตรวจสอบและปิดกั้นทันทีมาโดยตลอด รวมทั้งได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลอย่างสมควรแก่เหตุ ภายใต้หลักการและมาตรฐานที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปตาวิสัยที่ผู้ให้บริการที่รับผิดชอบต่อสังคมพึงกระทำ

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา การโพสต์แลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มปริมาณสูงมาก มีจำนวนกระทู้ใหม่วันละ 300 กระทู้ และมีข้อความแลกเปลี่ยนกันวันละประมาณ 28,000 ข้อความและผู้โพสต์ที่จะกระทำผิดมักใช้ภาษาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของระบบ การตรวจสอบจึงไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจและเห็นว่าการปล่อยอยู่ในระบบนานถึง 20 วันถือว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ในคดีอาญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานมานำสืบให้เห็นถึงมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ให้บริการต้องพึงปฏิบัติ รวมทั้งไม่ได้นำสืบว่าการดูแลเว็บบอร์ดของจำเลยไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการยินยอมโดยปริยายให้มีความผิดเกิดขึ้นเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่พยานหลักฐานโจทก์อันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา อีกทั้งกรณีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบด้วยว่าจำเลยเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 15

นอกจากนี้คำอุทธรณ์ยังหยิบยกคำเบิกความของ แดนนี่ โอไบรอัน สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่พูดถึงมาตรฐานสากลว่า ในยุโรปกำหนดให้ผู้ให้บริการอยู่ในฐานะตัวกลาง ไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาตราบเท่าที่ไม่รู้ว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอยู่ และได้พยายามลบเนื้อหานั้นทันทีที่ได้รับทราบ ส่วนในสหรัฐอเมริกา ตัวกลางจะได้รับการคุ้มครองจนกระทั่งได้รับการแจ้งเตือนว่ามีเนื้อหาที่ผิดแล้วจึงลบ ไม่มีข้อผูกพันเป็นการทั่วไปที่จะต้องทำหน้าที่สอดส่องกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในเครือข่าย

ในกรณีผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบเองก็ทำการปิดกั้น และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากไอซีที ก็ตรวจสอบและปิดกั้นทันทีมาโดยตลอด รวมทั้งได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลอย่างสมควรแก่เหตุ ภายใต้หลักการและมาตรฐานที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปตามวิสัยที่ผู้ให้บริการที่รับผิดชอบต่อสังคมพึงกระทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net