Skip to main content
sharethis

จี้บริษัทจัดหางานจ่ายค่าจ้าง แรงงานเก็บเบอร์รีป่าสวีเดน

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มแรงงานไทยจำนวนกว่า 100 คน เดินทางไปเก็บผลเบอร์รีป่าในประเทศสวีเดน ร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทนายหน้าว่า ได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) เรียกบริษัทที่จัดส่งแรงงานชี้แจง ได้ข้อสรุปว่า แรงงานที่ร้องเรียนมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวนกว่า 70 คน เดินทางไปสวีเดนโดยผ่านบริษัท เค เค วาย บิสซิเนส จำกัด โดยได้รับเงินค่าจ้าง 2 งวดแรกจากบริษัทแล้ว เหลือเพียงค่าจ้างงวดสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายค่าจ้างงวดสุดท้ายภายในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ประมาณ 120 คน เดินทางไปสวีเดนผ่านบริษัท ทีเอสลอร์ แอนด์ บิสซิเนส จำกัด คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะดำเนินการจ่ายค่าจ้างงวดสุดท้ายให้กับแรงงานแล้ว เสร็จ อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำชับกับ กกจ.ให้สื่อสารกับคนงานว่าหากนายจ้างผิดสัญญาสามารถมาร้องเรียน เพื่อให้ กกจ.ออกคำสั่งให้ทั้ง 2 บริษัทปฏิบัติตาม

"นอกจากนี้ ยังมอบให้ กกจ.ศึกษารูปแบบการเดินทางไปเก็บผลเบอร์รีป่าที่ประเทศสวีเดน ว่าการเดินทางไปโดยบริษัทจัดส่งแรงงานกับการที่แรงงานไทยเดินทางไปเองโดยใช้ วีซ่านักท่องเที่ยว หรือเรียกว่าการเดินทางแบบมาดามนั้น รูปแบบใดที่มีความคุ้มค่ามากกว่ากัน ทั้งนี้ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้แรงงานเดินทางไปทำงานในครั้งต่อไป" นายเผดิมชัยกล่าว และว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้จะแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ 1 ชุด ทำหน้าที่แก้ปัญหาข้อร้องเรียนให้แก่แรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เช่น ทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง ฯลฯ และว่าไม่ได้มีความคิดจะปิดกั้นบริษัทจัดหางานไม่ให้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ต่างประเทศ แต่อยากให้บริษัทจัดหางานดูแลแรงงานไทยและเก็บค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรม เพื่อให้แรงงานไทยมีเงินเหลือส่งกลับมาให้ครอบครัว ไม่ใช่ไปแล้วต้องไปทำงานใช้หนี้จนไม่มีเงินเหลือเก็บ

(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 3-10-2555)

เตรียมขึ้นค่าจ้างพาร์ทไทม์นักศึกษา 37.5-40 บาท/ชม.

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางวันที่ 3 ต.ค. หารือถึงการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยมีตัวเลขที่กำลังพิจารณา 2 อัตรา คือ ชั่วโมงละ 37.5 บาท และ 40 บาท นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางกฎหมายว่าคณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจบังคับผู้ประกอบ กอบการให้จ่ายค่าจ้างพาร์ทไทม์ตามอัตราที่กำหนด หรือทำได้เพียงประกาศเป็นอัตราค่าจ้างแนะนำเท่านั้น

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองไปศึกษาประเด็นดัง กล่าวเพิ่มเติม และจะมีการหารือสรุปอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาปัจจุบันอยู่ที่ 30 บาท/ชั่วโมง โดยภาคเรียนปกติให้ทำงานได้ไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง หากปิดภาคเรียนไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง รวมแล้วไม่เกินสัปดาห์ละ 36 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ลักษณะงานที่ทำ ต้องเป็นงานที่มีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงอันตราย ไม่ใช่สถานที่ที่ห้ามนักเรียนนักศึกษาทำงาน เช่น สถานที่เล่นการพนัน สถานที่เต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง ตลอดจนสถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติ ลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนนอนหลับหรือมีบริการนวดแก่ลูกค้า ซึ่งนักศึกษาที่ทำงานต้องแต่งกายเครื่องแบบนักศึกษา หรือแบบฟอร์มที่มีสัญลักษณ์แสดงตนว่าเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ทำงานชนิดไม่ เต็มเวลา

(โพสต์ทูเดย์, 3-10-2555)

ชง ครม.ประกาศค่าจ้าง 300 บ.ทั่วประเทศไม่เชื่อโพลบอกตกงาน 1.2 ล้านคน มั่นใจจ้างงานขยายตัว

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางว่า ที่ประชุมมีมติรับรองการประชุมครั้งที่ผ่านมา เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด ในวันที่ 1 มกราคม 2556 และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ รวมทั้งกระทรวงแรงงานจะเสนอมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบแพคเกจให้แก่ธุรกิจ ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย โดยจะติดตามสถานการณ์ของสถานประกอบการว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และจะเน้นพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่สถานประกอบการ คาดว่าจะเสนอประเด็นทั้งหมดเข้า ครม.ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

นพ.สมเกียรติกล่าวถึงกรณีที่มีโพลของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งคาดการณ์ ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ จะทำให้มีแรงงานตกงานกว่า 1.2 ล้านคน คิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งที่ผ่านมา ทำให้การจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์ตไทม์ในสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการได้เสนอผลการศึกษาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ดังกล่าว 2 อัตรา ได้แก่ 37.50 บาทต่อชั่วโมงต่อคน และ 40 บาทต่อชั่วโมงต่อคน โดยกำหนดเงื่อนไขทำงานนอกเวลาเรียนไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง ช่วงปิดเทอมไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และแต่งกายด้วยชุดนักเรียน นักศึกษา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน

(มติชนออนไลน์, 4-10-2555)

สมานฉันท์แรงงานไทยรวมพล 7 ต.ค. รณรงค์วันงานที่มีคุณค่า

ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กทม. นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท.ร่วมกับคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล "World Day for Decent Work" ในวันที่ 7 ตุลาคม 2555 ณ หน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ทั้งนี้ จะมีกิจกรรมรณรงค์ เปิดเวทีปราศรัย และยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยด่วน 2.การยกเลิกการจ้างงานระยะสั้นทุกประเภทที่ทำให้ลูกจ้างทุกระดับขาดความมั่น คง รวมถึงการจ้างงานผ่านบริษัทนายหน้า ผ่านผู้รับเหมาช่วง ตลอดจนการจ้างงานที่ไม่มีความแน่นอน 3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรก เข้าทำงานเท่านั้น และค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัว หลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการพิจารณาถึงกลุ่มแรงงานนอกภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในสถาน ประกอบการ หรือผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการปรับค่าจ้างหรือไม่มีค่าจ้างจากการ จ้างแรงงาน และการปฏิรูประบบประกันสังคม 4.การยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 5.การสนับสนุนการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ 6.การจัดการด้านสุขภาพอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย

นายชาลี กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีแรงงานไทยไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบ รวมถึงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ยังห่างไกลจากคำว่างานที่มีคุณ ค่า ปัญหาหลักที่ทำให้แรงงานทุกกลุ่มยังเข้าไม่ถึงการจ้างงานที่มีคุณค่า คือ ข้อจำกัดของกฎหมาย รวมถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนความไม่กล้าหาญของรัฐบาลไทยในการยอมรับหลักการและสิทธิพื้นฐานในการทำ งานที่เป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ จึงทำให้คุณค่าของแรงงานบางกลุ่มถูกประเมินต่ำเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่เปราะบางและเข้าไม่ถึงโอกาส เช่น แรงงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง เป็นต้น

"การที่รัฐบาลสามารถสร้างให้เกิดงานที่มีคุณค่าให้แก่คนทำงานได้อย่าง ทั่วถึง จึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการคุ้มครองแรงงานและการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานใน การทำงานเท่านั้น เพราะเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนได้ทำงานที่มีคุณ ค่า เพื่อการมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี"ประธาน คสรท.กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 3-10-2555)

"สหภาพชาร์ป"เฮ! นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน หลัง กสร.เคลียร์ปมข้อพิพาท

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายอาทิตย์ อิสโมอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานกรณีนายจ้างบริษัท เฟดเดอรัล อิเลคตริค (จำกัด) เลิกจ้างประธานและกรรมการสหภาพแรงงานรวม 10 คน ว่า กรณีดังกล่าวทางฝ่ายนายจ้างได้ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ให้ ประธานและกรรมการสหภาพซึ่งถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานได้ตามปกติในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่น สภาพการจ้างงาน เงินโบนัส เบี้ยขยัน ค่าอาหารนั้น ทางบริษัทยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

นายอาทิตย์กล่าวว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจำนวน 11 ข้อ แต่ทางบริษัทชี้แจงว่าจะไม่มีการเจรจา เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมยังมีผลบังคับใช้อยู่ จึงทำให้ทางสหภาพแรงงานไม่พอใจและยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งได้นัดรวมตัวชุมนุมกันอยู่ที่หน้าบริษัทในวันที่ 18 กันยายนเป็นต้นมา และจะมีการนัดหยุดงานในวันนี้ (4 ตุลาคม) เพื่อกดดันบริษัท

“ผมเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายจึงได้สั่งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทเข้าไป เจรจา ไกล่เกลี่ย และได้เรียกตัวแทนทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งการเจรจาก็เป็นไปด้วยดี” อธิบดี กสร.กล่าว  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เฟดเดอรัล อิเลคตริค (จำกัด) ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนยี่ห้อ SHARP (ชาร์ป) มีลูกจ้าง 964 คน และมีลูกจ้างเหมาค่าแรง 1,200 คน โดยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 500 คน

(มติชน, 5-10-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net