Skip to main content
sharethis

น.พ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ ทำงานในภาคประชาสังคม หรือที่เขายอมรับอย่างแข็งขันว่า “ผมเป็นเอ็นจีโอ” แม้จะอยู่ในตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)แล้วก็ตาม เขาถือว่าการทำงานในฐานะกสม. ก็คือเอ็นจีโอระดับชาติที่มีกฎหมายรองรับ และมีเครื่องไม้เครื่องมือทางกฎหมาย

ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือน พฤษภาคม 2535 น.พ.นิรันดร์พร้อมคณะทำงานในอนุกรรมการชุดสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีผู้ได้รับผลกระทบ ถูกจับกุม คุมขัง หลังการสลายการชุมนุม ขณะที่ชื่อเสียงของกสม. คณะนี้ ก็ดิ่งเหวลงเรื่อยๆ ด้วยความล่าช้าและท่าทีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างกรรมต่างวาระ

ชื่อน.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เพิ่งถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีโดยนายวัชระ เพชรทอง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ จากการเข้าไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม “ปฏิญญาหน้าศาล” โดยไปเป็นวิทยากรในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและให้ความเห็นพร้อมตอบคำถามในการทำงานเกี่ยวกับประเด็นนักโทษการเมือง

เขายังถูกโจมตีด้วยว่า การยอมรับว่าเมืองไทยมี “นักโทษการเมือง” นั้นไม่เหมาะสม ขณะที่ตัวเขาเองก็ยังยืนยันว่าเมืองไทยมีนักโทษการเมือง

ประชาไทสัมภาษณ์น.พ.นิรันดร์ ถึงนิยามของคำว่า “นักโทษการเมือง” พร้อมเปิดใจถึงการทำงานในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้เป็นประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำลังดำเนินการศึกษาผลกระทบจากการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ควบคู่ไปด้วย

 

อนุฯ ของคุณหมอในเรื่องมาตรา 112 และการสลายชุมนุมฯ ยังไม่แสดงบทบาทสักเท่าไหร่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอย่างไรบ้าง

ในเรื่องมาตรา 112 ผมคิดว่าผมก็ทำงานอย่างสม่ำเสมอตลอด แต่การทำงานประเด็นมาตรา 112 ภายใต้ความขัดแย้งก็เป็นเรื่องยาก ต้องแยกระหว่าง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีความเห็นไม่ตรงกันออก ผมทำงานโดยยึดหลักการ กรณีมาตรา 112 เรื่องที่ร้องเรียนมาก็อยู่ในความรับผิดชอบของผม ผมก็ไปตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณสมยศ  พฤกษาเกษมสุข กรณี อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือผู้ชุมนุมที่อยูในเรือนจำซึ่งภายหลังถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112  ผมตรวจสอบทุกกรณี บางกรณีไม่ถึงศาลผมก็เชิญพนักงานสอบสวนมาแล้วก็พยายามทำให้เกิดมาตรการทำความเข้าใจกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเองไม่ได้ออกมาสื่อต่อสาธารณะแต่เจ้าตัวที่ผมทำงานด้วยเขาก็รับรู้ว่ากระบวนการในการตรวจสอบก็ทำให้หน่วนงานของรัฐเข้าใจ แม้แต่ในส่วนของตำรวจเองเขาก็มีคณะกรรมการกลั่นกรองและตรวจสอบกรณี 112 เราก็ไปคุยกับเขา หรือแม้กระทั่งคนที่ถูกจับเป็นผู้ต้องหา ผมก็เข้าไปเยี่ยม

ล่าสุดผมก็ไปเยี่ยมคุณสมยศ คุณสุรชัย และอีกห้า-หกคนที่เหลืออยู่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราทำงานทั้งตรวจสอบและติดตาม ฉะนั้นคดี 112 เราเลยตั้งคณะทำงานในการศึกษาและวิเคราะห์ว่ามาตรา 112 ที่มีการประกาศใช้มันมีปัญหาที่ทำให้คนมาร้องเรียนอย่างไร และเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิในการแสดงความเห็นพราะไปพ่วงกับพรบ. คอมพิวเตอร์ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา

เราก็ต้องดูว่ามาตรา 112 มีปัญหาในการบังคับใช้อย่างไร มีปัญหาในตัวบทอย่างไร เราก็ตั้งคณะกรรมการศึกษา และย้อนหลังไปสิบปียี่สิบปีเพื่อดูว่ามีมูลเหตุอะไรที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ถูกต้องบ้าง เพื่อให้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่รักษาพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ได้ ไม่มีใครดูหมิ่นหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย แต่ก็ไม่มีใครเอากฎหมายไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันในทางการเมือง

การทำงานขณะนี้ ก้าวหน้าไปพอสมควรและจะทำโฟกัสกรุ๊ป แต่การทำงานภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งฝักฝ่ายผมเองก็ถูกลากไป หรือถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายนี้ไม่เข้าข้างฝ่ายนั้น ซึ่งผมก็อยากจะบอกกับสังคมว่า เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มันไม่ควรจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดแนวทางในการตัดสินว่าใครถูกใครผิดด้วยการใช้กำลัง  แต่มันควรเป็นเสรีภาพที่เรารับฟังกันและดูว่ามันมีทางออกอย่างไรบ้าง

และสิ่งที่ผมจะเสนอออกมาก็ต้องมีเหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการและข้อเท็จจริงเพราะผมศึกษาไม่ใช่คิดเอาเอง แต่ผมมีกรณีร้องเรียน มีข้อเท็จจริง มีความรู้ทางวิชาการและสรุปประสบการณ์จากต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศเราสามารถเป็นประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ได้ เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจในหลักการนี้ ไม่มองว่าผมเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือมากล่าวหาว่าผมต้องการล้มสถาบันเพราะผมไม่เคยมีประวัติแบบนั้นมาก่อน ก็อยากให้เข้าใจ

ส่วนเรื่องอนุฯ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องยอมรับว่าอนุฯ รับผิดชอบเฉพาะกรณีหลังการสลายการชุมนุม 19 พ.ค. ส่วนกรณีที่เกิดเกิดวันที่ 19 พ.ค. ก่อนหน้านั้นอยู่ในการดูแลของอนุฯ แต่หลังจากนั้นเป็นมติกสม. ให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งส่วนอนุฯ ชุดของผมก็เข้าไปติดตามตรวจสอบในเรือนจำต่างๆ ที่อิสานและภาคเหนือ หลังจากนั้นด้วยกระบวนการตรวจสอบก็ได้ไปคลี่คลายสานการณ์ที่เชียงรายในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กและเยาวชน

บางอย่างเรายอมรับว่าไม่สามารถไปก้าวล่วงได้เพราะเป็นเรื่องคำวินิจฉัยของศาล แต่เราก็ไปติดตามประเด็นอื่นๆ เช่นสิทธิประกันตัว สิทธิผู้ต้องหา แต่ก็ยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้มีเรื่องการเมืองอยู่ด้วย ฉะนั้นการคลี่คลายก็ทำโดยการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เช่นกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเอาเงินทุนไปประกันแต่บางครั้งกรมคุ้มครองฯ เอาเงินไปประกันแต่ศาลไม่ให้ประกันเราก็ทำอะไรไม่ได้

หรือบางทีเราติดต่อสภาทนายความไปช่วยในการดำเนินคดี แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เอาทนายจากสภาทนายความเพราะไม่เชื่อถือเพราะเป็นรื่องคนละสี คนละฝ่ายกันเราก็ไปก้าวล่วงสิทธิของผู้ต้องหาเหล่านั้นไม่ได้เพราะเขาติดในเรื่องความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง แต่เราก็พยายามไปคลี่คลายในกรณีต่างๆ ตามลำดับไปและก็ยังติดตามอยู่


คณะทำงาน 112 ในอนุฯ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะมีข้อเสนอและข้อสรุปอะไรหรือไม่

แน่นอน คณะทำงานเราทำงานเพื่อยุทธศาสตร์เชิงนโยบาย เรื่อง 112 คือดูเรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายว่าจะมีข้อเสนออะไร เมื่อมีการร้องเรียนเรื่อง 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550) ที่มีการละเมิดโดยข้าราชการโดยผู้ใช้กฎหมาย เราก็ต้องมาดูว่าจริงหรือไม่ และถ้าจริงมีข้อเสนอในการแก้ไขอย่างไร และเรามีทั้งมาตรการแก้ไขระยะสั้นข้อเสนอเชิงนโยบาย

คนที่ติดคุกอยู่ตอนนี้กสม. ดำเนินการอย่างไร

คนที่เป็นผู้ต้องหาขณะนี้มีเหลืออยู่ประมาณ 6 คน ที่เรือนจำพิเศษ มี 2 คนที่ไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ เราก็ยังไปดูแลเรื่องสิทธิการประกันตัว แต่ล่าสุดคุณสมยศศาลก็ไม่อนุมัติ และศาลจะตัดสินอีกไม่นานนี้ อีกสี่คนได้ขอพระราชทานอภัยโทษ เข้าใจว่าคงค่อยๆ ลดหย่อน เราก็ต้องไปติดตามว่าเขามีปัญหาอย่างอื่นไหม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ไปพูดคุย และก็เราจะทำเรื่องสิทธิในการได้รับการดูแลด้านสุขภาพ

คดีการเมืองและนักโทษการเมืองในบ้านเราที่มีความเห็นทางการเมืองจริงๆ ควรจะเป็นนักโทษไหม หรือไม่ควรจะถูกฆ่าอย่างกรณีสี่รัฐมนตรี หรือกรณีฮัจยีสุหลง กรณี 112 พูดง่ายๆ คือมองว่าคดี 112 เป็นนักโทษการเมือง

เพราะฉะนั้น เราก็มาขยายต่อมาศึกษานโยบายเรื่องการดูแลสุขภาพของนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ และคดีนักโทษการเมือง เราก็ขยายบริบทในการศึกษาต่อ เพื่อที่จะมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และข้อเสนอของเราไม่ใช่ลอยๆ นะ จะต้องส่งให้รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาและจะต้องตอบเราด้วย ข้อเสนอเหล่านี้จะต้องเสนอต่อรัฐสภา นอกจากเสนอต่อภาคประชาชน และต้องเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิสุขภาพอย่างกรณีอากงว่ามีปัญหาอย่างไร ก็ต้องเสนอต่อราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย คือเราเป็นหน่วยงานที่สามารถประสานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รัฐบาล และรัฐสภา

ช่วยอธิบายคำว่า “นักโทษการเมือง” ได้ไหม เพราะมีคนบอกว่าบางคนติดคุกเพราะไปเผาศาลากลาง หรือใช้ความรุนแรงในการชุมนุม หรือคนที่โดน 112 จะให้เป็นนักโทษการเมืองได้ยังไง เพราะไปใช้ถ้อยคำรุนแรงกับพระมหากษัตริย์

ในทัศนะผม นักโทษการเมือง ก็คือนักโทษที่มีความคิดต่างทางการเมือง ซึ่งในระบบประชาธิปไตยต้องยอมรับความเห็นต่างทางการเมืองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และต้องมี ถ้าเห็นไปทางเดียวกันหมดก็เป็นเผด็จการ

ประชาธิปไตยต้องมีความคิดที่หลากหลาย เพียงแต่ว่าสังคมไทยเรา การจัดการความคิดที่หลากหลายและไม่ตรงกัน จัดการด้วยวิธีการที่ผิดมาตลอด ก็คือใช้อำนาจ อย่างเช่น ประวัติศาสตร์เรา ผมอยู่อีสานมา 30 ปี 4 รัฐมนตรีอีสานถูกกล่าวหาว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน แล้วก็ถูกฆ่าตาย จนป่านนี้ยังไม่เปิดเผยด้วยซ้ำไป

ทางภาคใต้ ฮัจยีสุหลงมีความคิดที่ต้องการให้เห็นถึงการปกครองที่นึกถึงเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ก็ถูกฆ่าถ่วงน้ำเหมือนกัน หรือกระทั่งเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างในเรื่องของความที่เกิดความไม่เป็นธรรม

ฉะนั้น การชุมนุมทางการเมือง หรือคดี 112 ก็เป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองที่หลากหลายในสังคม เพียงแต่สังคมไทยไม่มีวิธีจัดการ แต่ว่าใช้วิธีจัดการโดยอำนาจรัฐทีผิด เช่น ยัดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ยัดข้อหาแบ่งแยกดินแดน สามจังหวัดภาคใต้ก็ใช้กฎหมายความมั่นคง คือใช้วิธีจัดการที่ไม่ถูกต้อง มีจัดการถูกต้องอยู่อันเดียวคือเรื่องคอมมิวนิสต์ที่ใช้นโยบาย 66/23 แต่ว่ากรณีเสื้อสีขณะนี้ก็ใช้นโยบายที่ไม่ถูกต้อง

การชุมนุมที่ผ่านมาก็ยังใช้ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง มันก็เลยทำให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจที่ไปละเมิดสิทธิต่างๆ อย่างที่เราต้องมาดูแลอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น นั่นหมายความว่าการจัดการกับนักโทษการเมือง เราไม่ใช้วิธีการทางการเมือง เราใช้วิธีการโดยใช้อำนาจจัดการกับคนที่มีความคิดตรงข้าม

เราต้องพยายามทำให้สังคมได้สรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ว่า ทำอย่างนี้มันแก้ปัญหาไม่ได้ ยิ่งทำให้ปัญหาหมักหมมและบานปลายมากขึ้น เราต้องจัดการด้วยวิธีการทางการเมืองด้วยสันติวิธีด้วยการพูดคุย และหาทางออกร่วมกัน และยอมรับการทำงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้เสียงข้างมากในการเป็นตัวแทนเข้าไปบริหาร แต่ว่าคนเหล่านี้ก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นด้วย

นี่ต่างหากที่เราต้องสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้น นักโทษการเมืองจึงจะไม่ถูกละเมิดหรือถูกจัดการโดยวิธีการใช้อำนาจหรือความรุนแรงถึงกับเสียชีวิต เหมือนที่ผ่านมาในระบบประชาธิปไตย

ในมุมของคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายจากความเห็นต่างทางการเมืองอาจจะเข้าใจ แต่กับคนที่มองจากขั้วสีที่แตกต่างอาจมองว่า คุณหมอกำลังเสนอว่านักโทษเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือเปล่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ถ้ามองในแง่คนที่ใช้อำนาจ ใช้กฎหมาย เขาก็จะมองว่าเขาจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อเข้าไปจัดการสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เราต้องรู้ว่านักโทษการเมือง หรือการชุมนุมทางการเมืองของภาคประชาชน ไม่เคยเป็นคนที่ริเริ่มความรุนแรงขึ้นก่อนเลย ไม่ว่าเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาก็ตาม

ประชาชนหรือการชุมนุมของชาวไร่ชาวนาหลัง 14 ตุลา สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาก็ถูกฆ่าตาย เพราะความกลัวเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์หรือสงครามเย็น อาจารย์ในสมัยนั้นก็ถูกฆ่าตาย เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ก็คือ เราต้องดูประวัติศาสตร์ของการมีความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะจากนักวิชาการหรือจากประชาชน ไม่เคยใช้ความรุนแรง แต่วิธีการจัดการของรัฐต่างหากที่ไปกระตุ้นความรุนแรงให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เรื่องคอมมิวนิสต์ถือเป็นเรื่องปรกติในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป แต่สำหรับประเทศไทยมันมี พรบ.คอมมิวนิสต์ แล้วบอกว่าไอ้นี่ผิดกฎหมายไง

เรื่องสามจังหวัดภาคใต้ จริงๆ คือเรื่องของความไม่เป็นธรรม พอคุณประกาศตรงนั้น ปัง ปั๊บ ก็คือต้องใช้กำลังมาต่อสู้กันเพราะว่าใช้กำลังทหารเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะทหารเอาไว้ใช้ในสงคราม พอคุณใช้ทหารเข้าไป หรือสมัยทักษิณใช้ตำรวจเข้าไป แล้วก็ใช้อำนาจทำให้เกิดมีคดีคุณสมชาย นีละไพจิตร ที่อุ้ม หรือ 4 ผู้ต้องหา จากการปล้นปืนเผาโรงเรียนตั้งแต่ตอนแรกเมื่อมกราปี 47 ตอนนี้คดียังไม่จบเลยนะ เราก็พบว่าเป็นการที่เขาถูกซ้อมทรมาน และถูกยัดเยียดข้อหาทั้งสิ้น

การทำอย่างนี้คือการใช้อำนาจ เราก็ยอมรับว่าสามจังหวัดป่านนี้ปัญหายังไม่จบ ความถี่อาจจะลดลงแต่ความรุนแรงอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำไป และอาจจะขยายเป็นปัญหาระดับสากลตามความต้องการของผู้ที่ไม่หวังดีก็ได้

ในยุคของพลเอกเปรม ท่านเข้าใจในเรื่องของการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ท่านก็ใช้นโยบายการเมือง เราก็บอกว่าเราก็มีประสบการณ์ที่ดีมาแล้ว แต่ว่าเราไม่สรุปบทเรียนและแก้ปัญหาด้วยแนวทางการเมืองนำหารทหารอย่างถูกต้องต่างหาก

นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสังคมต้องสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็เป็นประชาธิปไตยที่ย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักเกณฑ์ของต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและยอมรับมติของประชาชนเป็นใหญ่ และยึดหลักความเป็นธรรมคือยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วยนะ

เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงปวงชนเป็นใหญ่ แต่ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย นี่คือสิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้ตราไว้เมื่อ 2475 เพียงแต่ว่าไปๆ มาๆ มันหดสั้นลงทุกที สิทธิมนุษยชนก็ตัดทิ้งไป มติปวงชนเป็นใหญ่ก็หดเหลือแค่เสียงข้างมากเป็นใหญ่ มันก็เลยกลายเป็นการทำลายเสียงข้างน้อย เอาเสียงข้างมากเป็นตัวกฎเกณฑ์ ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด

กรณีพ.ค. 53 เป็นปัญหาการเมืองระดับประเทศ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสังคมจับตามอง ซึ่งก็เห็นได้ว่าท่าที ของกสม. แม้แต่การออกแถลงการณ์ ก็ล่าช้า กสม. คุยกันอย่างไร

ช่วงพ.ค. เป็นการทำงานโดยกสม. ทุกคณะ แต่ก็ยอมรับว่ามันมีอุบัติเหตุที่ทำให้กระบวนการติดขัด เช่น คณะทำงานนั้น คนที่รับผิดชอบก็ไม่ใช่กรรมการฯ แต่เป็นเป็นสำนักงานและเลขาธิการ กสม. ซึ่งที่ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นการดำเนินการโดยอนุฯ ผมก็จะตรวจสอบเชิญมาชี้แจง แต่อย่างที่บอก ช่วงเวลาชุมนุม เป็นส่วนที่อยู่ในกรรมการและคณะทำงานที่ผมอยูในตอนแรกแต่ผมถอนตัวออก ก็ยอมรับว่าการทำงานไม่ได้เข้มข้น ก็เป็นปัญหาความน่าเชื่อถือ

สอง คือมีเรื่องรายงานข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ของอนุฯ ด้วยซ้ำที่รั่วออกไปและทำให้เกิดมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อถือและเชื่อมั่น และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการรั่วออกไปอีกทั้งๆ ที่ไม่ได้ตรงกับควาเป็นจริงอย่างที่ออกไปเมือร่วมเดือนที่ผ่านมา และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงด้วยว่ามีอนุฯ 9 ชุด เรามีแค่อนุฯ เดียว และรายงานก็ไม่ตรงกับที่กรรมการได้อ่าน ก็ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดในเรื่องการตรวจสอบและมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่รั่ว การล่าช้าที่ไม่ได้ใช้อำนาจตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะผมก็บอกว่าชาวบ้านที่ถูกละเมิดเขาไม่ได้หวังให้เราตรวจสอบ แต่เขาหวังให้เรามีมาตรการคุ้มครองเยียวยาปัญหาที่เกิดจากการละเมิดสิทธิ ส่วนแถลงการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องที่เป็นผลออกมาที่หลัง

ก็ต้องยอมรับและมีปัญหาเรื่องการที่ข่าวสื่อออกไปและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งผมเข้าใจว่านี่คงเป็นประเด็นการเมืองที่พยายามลากกรรมการสิทธิไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ ก็ต้องเร่งทำงานรายงานการชุมนุมให้เร็วที่สุดโดยไม่ได้ขึ้นกับว่ามันจะเข้ากับฝ่ายใดสีไหน

เราจะได้อ่านรายงานสถานการณ์ พ.ค. 53 โดยกสม. ในอนาคตอันใกล้หรือไม่
ก็ต้องทำให้เร็วครับ ท่านอ.อมรา (พงศาพิชญ์) ก็พยายามเร่ง เพราะร่างฯ รายงานสุดท้ายก็ต้องให้กรรมการอีกหกท่านดู และเรามีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและสื่อมาช่วยดูอีกครั้งและคงจะออกมาได้

 

การทำงานของคุณหมอ 3 ปีที่ผ่านมา ให้คะแนนการทำงานของตัวเองและคณะทำงานอย่างไรบ้าง

ถ้าถามว่าพอใจไหม ผมพอใจ เพราะความพอใจของผม ผมคิดว่าได้ทำงานกับชาวบ้าน ได้ทำอะไรให้กับชาวบ้าน เพียงแต่ว่าทางสังคม หรือจากที่พี่จรัล (ดิษฐาอภิชัย) พูดก็จะมองว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิพลเมืองและการเมือง ผมก็อยากทำความเข้าใจว่า สิทธิชุมชนที่ผมทำอยู่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสิทธิชุมชนอย่างเดียว ต้องทำด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองด้วย

ยกตัวอย่างเรื่องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เราเข้าไปเพราะสิทธิชุมชนเขาถูกละเมิด แต่ขณะเดียวกันเขาต้องลุกขึ้นมาพูดให้รัฐได้เข้าใจด้วย ปรากฏว่ากะเหรี่ยงทางภาคเหนือ พฤ โอ่โดเชา ที่เป็นลูกพ่อหลวงจอนิ ลงไปช่วยพูดคุยให้ชาวบ้านได้รู้ว่าเขาถูกละเมิดยังไงบ้าง และเขาจะต้องพูดคุยกับหัวหน้าอุทยาน ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไงบ้าง ขณะนี้เกิดโครงการที่จะพัฒนาดูแลกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และยอมรับว่ากะเหรี่ยงแก่งกระจานไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ได้ค้ายาเสพติด

เพราะฉะนั้น คำว่าสิทธิชุมชน ไม่ใช่แค่ว่าเรื่องการดูแลทรัพยากร การมีชีวิตอยู่หรือมีสิทธิในการตัดสินใจ แต่ต้องบวกเรื่องสิทธิการเมืองและพลเมืองเข้าไปด้วย หรือเรื่องสถานะบุคคลต้องบวกสิทธิพลเมืองเข้าไปด้วย ไม่อย่างนั้นเขาจะกลายเป็นแค่ถูกละเมิดอย่างเดียว หรือกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส

เวลาเรามอง เราไม่ได้มองแยกส่วน ผมถึงมองว่าการทำงานของผมใน 4 อนุกรรมการ เราคุยกันครั้งสุดท้ายเป็นการประชุมของ  4 อนุฯ ในทุกปี เราก็มองว่าทั้ง 4 อนุฯ ต้องทำงานเชื่อมโยงในภาพรวม และต้องทำให้สิทธิพลเมืองการเมืองอยู่ในสิทธิชุมชน และต้องขับเคลื่อนไปถึงการแก้ไขและสร้างความเป็นธรรมได้ อันนี้ผมพอใจ

ผมทำงานอยู่ 3 อย่างในช่วง 3 ปี คือ หนึ่ง) ตรวจสอบและพยายามให้การคุ้มครอง และประสานหน่วยงานของรัฐ สอง) ผมพยายามทำงานในการเสริมสร้างศักยภาพของภาคประชาชน ผมก็พยายามเข้าไปสร้างอาสาสมัครสิทธิมนุษยชนในการให้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวในการทำงานต่อสู้และการสร้างสิทธิให้กับตัวเอง ได้มีความเข้าใจ ขณะเดียวกันเขาก็สามารถที่จะทำงาน เช่น สามารถลุกขึ้นมาฟ้องร้องได้ สามารถขึ้นมาตรวจสอบได้ในฐานะพลเมืองและมีสิทธิทางการเมือง

อันที่สาม ผมพยายามเข้าไปทำงานในการเสนอเชิงนโยบายและกฎหมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ประมงพื้นบ้าน หรือเข้าไปดูในนโยบายเรื่อง 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือในเรื่องของผู้อพยพต่างๆ ก็พยายามผลักดัน

ผมคิดว่าใน 3 ส่วนนี้ ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคงวัดไม่ได้ เพราะผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในฐานะกรรมการสิทธิ ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องแก้ไขได้หมด แต่ผมได้เปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนและสังคมได้รับรู้ แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ มันเป็นเชิงระบบโครงสร้าง นโยบาย บางอย่างมันแก้ง่าย ก็สามารถแก้ไขไปในตัว แต่เรื่องยากๆ ที่เป็นต้นตอปัญหามาตลอด 80 ปีมันก็ต้องใช้เวลา มีพัฒนาการในการแก้ไข

อีก 3 ปีที่เหลือ วางแนวทางในการทำงานไว้ยังไง

ผมต้องขอเรียนว่าไม่เคยทำงานที่คลุกวงในแบบนี้ เพราะการเป็นกรรมการสิทธิ มันต้องทำงานในเชิงการบริหารจัดการ ทำงานหลายส่วน ใน 3 ส่วนอย่างที่ผมบอก ตอนเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ได้ทำมากขนาดนี้ ตอนเป็นหมอก็ไม่ได้ทำมากขนาดนี้

ผมคิดว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมตั้งหลักได้พอสมควร อีก 3 ปีที่เหลือ เราก็คุยกันใน 4 อนุฯ คือ อนุกรรมการที่มาจากภายนอกและเจ้าหน้าที่ เมื่อกี้ก็คุยกับเจ้าหน้าที่ทุกคน ประมาณ 20-30 ชีวิต กับอนุกรรมการอีก 40 คนว่า เราต้องตั้งธงในการทำงานใน 3 เรื่องใหญ่ๆ  หนึ่ง) การตรวจสอบ และมีกระบวนการตรวจสอบที่สามารถให้การคุ้มครอง และมีรายงานที่มีคุณภาพ ต้องทำให้เกิดรายงานที่รวดเร็วและแก้ปัญหา ถ้ารายงานยังไม่เสร็จ ก็ต้องมีมาตรการในการแก้ไขหรือนำเสนอหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เราอาจจะมีจดหมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการชี้แนะหรือข้อเสนอ เช่น กรณีคนไทยพลัดถิ่น พอมีกฎกระทรวงออกมา ตั้งกรรมการออกมา แต่พอเราเห็นปัญหาในกฎกระทรวง เราก็มีจดหมายแสดงความคิดเห็นไปที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ต้องมีมาตรการยังไง และต้องประสานกับหน่วยงานของรัฐ ก็คืออธิบดีกรมการปกครอง และนักวิชาการ ขณะนี้ก็มีเรื่องของการลงทะเบียน เราก็ให้มีอนุกรรมการไปลงพื้นที่ เหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอีก 3 ปีที่เหลือ

อันที่สองก็คือ อยากทำเรื่องของภาคสังคมให้ความเข้มแข็งเรื่องของสิทธิ ผมคิดว่าสังคมไทยช่วงนี้มีพัฒนาการในทางการเมืองภาคประชาชน และเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิที่แหลมคมมากขึ้น คำว่าแหลมคมมากขึ้น หมายความว่า มันเป็นพัฒนาการที่สื่อให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาคประชาชนในเรื่องสิทธิพลเมืองสูงมาก แต่ว่าทางออกจะไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างมโหฬาร หรือว่าทำให้เกิดความคลี่คลายในทางสร้างสรรค์

ผมคิดว่า ช่วงปีสองปีนี้ เรามีเรื่องความคิดที่ออกมาสู่ภาคสังคมเยอะ ในการหาทางออกโดยสันติภาพหรือสันติวิธี เพียงแต่ว่าอาจต้องใช้เวลาให้สังคมได้เรียนรู้ ถ้ามันผ่านสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านได้ มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายยึดสิทธิมนุษยชน เอาบทเรียนของความเจ็บปวดมาเป็นพื้นฐาน ผมคิดว่าเราจะฝ่าข้ามไปโดยที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนได้ แล้วก็สามารถที่จะเสนอแก้นโยบายกฎหมายต่างๆ ที่ผมได้ไล่เลียงแล้ว แต่ตรงนี้คงไม่ได้ทำคนเดียว คงต้องเชื่อมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องเราก็ทำงานร่วมกันอยู่ เช่น เรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเราจะมีการเสนอเรื่อง พรบ.สิทธิชุมชนออกมา และมีการทำงานร่วมกับภาคประชาชนด้วย 3 ปีที่เหลือ น่าจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในแต่ละเรื่องได้เท่าที่ได้คุยกันไว้ในเจ้าหน้าที่และอนุกรรมการทั้ง 4 อนุฯ

มีอันหนึ่งที่ขณะนี้มีปัญหา คือปัญหาที่มันบานปลายมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คดีของภาคประชาชน คดีของคุณจินตนา แก้วขาว (แกนนำชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด) คดีที่ดินลำพูน คดี 112 คดีการชุมนุมทางการเมือง เหล่านี้เราทำให้เห็นว่ามันมีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย ทำให้เราต้องตระหนักว่าสังคมอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่อันตราย

ถ้าหากว่าภาคประชาชนหรือสังคมหมดที่พึ่ง ฝ่ายบริหารหรือรัฐสภาก็เป็นการเมืองที่ล้มเหลว ฝ่ายตุลาการหรือระบบยุติธรรมก็ไม่ได้เป็นที่พึ่ง แล้วประชาชนจะพึ่งใคร เมื่อถึงตอนนั้นจะเกิดปัญหาทันที อย่างที่เราบอกว่าตอนนี้ไม่มีระบบอะไรที่เป็นที่เชื่อถือเลย คนที่ขณะนี้ไม่เชื่อถือ ไม่เป็นไร ผมว่ามันแสดงให้เห็นว่าคนมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ผมคิดว่าผมยอมรับได้ และเป็นสิ่งที่ดี

แต่ถ้าไม่เชื่อในระบบ ตรงนี้จะมีปัญหา เพราะจะทำให้ต้องหาทางออกด้วยความรุนแรงทันที เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาที่เราเห็นชัดเจนมากขึ้น ที่เราต้องทำให้เห็นใน 3 ปีนี้ ให้เห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้เห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนนยังเห็นความไม่เป็นธรรม และนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ว่าต้องแก้ในทางนโยบายและกฎหมายอย่างไร

นี่คือสิ่งที่คิดว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่ว่าการขับเคลื่อนตรงนี้จะเกี่ยวพันกับหลายองค์กร ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ นิติวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นการทำงานตรงนี้ก็ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่พูดมาทั้งหมด แต่เนื่องจากว่ากรรมการสิทธิ เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ เราจะใช้ความเป็นเพื่อนของความเป็นระบบตุลาการ ทำให้เกิดการยอมรับในข้อมูล ข้อเท็จจริง ในองค์ความรู้ที่เราได้ศึกษาได้อย่างไร อันนี้ก็ต้องวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็มีเรื่องตรงนี้จะต้องให้ความสำคัญ

แล้วตัวองค์กรกรรมการสิทธิเอง จากการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา คุณหมอมองว่ามีอะไรที่จะต้องปรับเปลี่ยนไหม ในโครงสร้างหรือกลไกการทำงาน

ผมคิดว่ากรรมการสิทธิชุดนี้จะต่างกับกรรมการสิทธิชุดแรก อันแรกคือที่มาของกรรมการสิทธิ ที่เราได้คุยกันในกรรมการสิทธิแล้วว่า มันก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างกฎหมายคือรัฐธรรมนูญ ต้องเรียนว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไขในเรื่องการสรรหากรรมการสิทธิ เพราะเราก็เห็นความแตกต่างของกรรมการชุดนี้ที่มาจากการสรรหาของกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วย ส่วนใหญ่ 5 ใน 7 ท่านมาจากตุลาการ เพราะฉะนั้นตรงมีก็ทำให้มีผลกระทบต่อลักษณะการทำงานของกรรมการสิทธิที่ต่างจากชุดที่แล้วค่อนข้างชัดเจน

ประการที่สอง คือการลดจำนวนกรรมการสิทธิลงจาก 11 คน เหลือ 7 คน ต้องยอมรับว่าบ้านเรา การละเมิดสิทธิยังเยอะอยู่ จะไปเทียบกับในยุโรป ในออสเตรเลีย ที่กรรมการสิทธิแค่ศึกษาองค์ความรู้อย่างเดียว แค่ทำงานส่งเสริมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบ้านเราการละเมิดยังเยอะมาก มันต้องใช้เวลาในการสั่งสมตรงนี้

เพราะฉะนั้น มันเหมือนหมอที่ยังไงก็ต้องดูแลคนไข้ เพราะคนป่วยในบ้านเรายังเยอะอยู่ ถ้าจะทำงานป้องกัน ส่งเสริมอย่างเดียว คนป่วยมาไม่ดูแลไม่ได้ ดังนั้นผมก็เปรียบกรรมการสิทธิเหมือนหมอ การดูแลเรื่องเรื่องคนป่วย กรรมการสิทธิจาก 11 คนเหลือ 7 คน มันในช่วงขณะนี้มันน้อยไปดูแลไม่ไหว ถ้าหากลดลงแล้วสังคมมีความเข้าใจเรื่องสิทธิดีขึ้น มีพัฒนาการดีขึ้น ผมก็ไม่ว่าอะไร เหลือ 3 คนอย่างออสเตรเลียก็พอแล้ว แต่สังคมไทยยังเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนกับหมอ ถ้าลดลงแล้วใครจะดูแลคนไข้

อันที่สาม ผมคิดว่าในรัฐธรรมนูญ คนที่คิดรัฐธรรมนูญปี 50 มีแนวคิดในเรื่องกรรมการสิทธิที่ไม่เหมือนผม และผมคิดว่ามีปัญหาในเชิงหลักการ เขาอาจจะมองกรรมการสิทธิว่าเหมือนกับบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ (หัวเราะ) คือไม่ต้องลงมาในเรื่องของการตรวจสอบ ไม่ต้องลงมาทำงานกับภาคประชาชน เหมือนกับบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ดูแลเฉพาะนโยบาย แล้วให้สำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ รัฐธรรมนูญอำนาจต่างๆ ในมาตรา 257 ให้ต่อกรรมการสิทธิ แล้วคณะกรรมการสิทธิให้ต่อกรรมการแต่ละคนในการตั้งอนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการออกแบบดีแล้ว คือประกอบด้วย กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก คือ ภาคประชาสังคม หรือข้าราชการก็ได้ที่เข้าใจ ผมว่าสัดส่วนนี้ดีแล้ว แต่ว่าผมว่าการทำงานตรงนี้จะทำให้เกิดระบบการตรวจสอบอย่างไร ระบบที่จะทำงานเชื่อมโยงยังไง จะเสนอนโยบายยังไง ซึ่งนี่ตรงนี้คือวิธีการทำงาน

อนุกรรมการชุดนี้ก็แบ่งตามกฎหมาย คือ อนุฯ ชุดสิทธิพลเมืองและการเมือง กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แล้วก็มีประเด็นเฉพาะของเราบ้าง เรื่องเด็ก สตรี การศึกษา

ผมเข้าใจว่า คนที่ร่างรัฐธรรมนูญมองว่ากรรมการสิทธิเหมือนบอร์ด จึงลดจำนวนลง และบอกว่าให้ตุลาการเป็นคนมาเลือกละกัน จะได้เลือกคนที่หลากหลาย ซึ่งเจตนารมณ์ของเรา ต้องการกรรมการสิทธิที่เข้าใจจุดยืนและวัฒนธรรมด้านสิทธิมนุษยชน คำว่าสิทธิมนุษยชนสามารถที่จะมีจุดยืนที่รักษาความเป็นธรรมและผลประโยชน์ของประชาชน

บางคนบอกว่า กรรมการสิทธิเข้าข้างประชาชน ก็สิทธิเป็นเรื่องของประชาชน (หัวเราะ) เหมือนหมอดูคนไข้ ก็ต้องเข้าข้างคนไข้ จะไปเข้าข้างเชื้อโรคได้ไง ถ้าเข้าข้างเชื้อโรค คนไข้ก็ตาย ถึงยังไงกรรมการสิทธิก็ต้องเข้าข้างชาวบ้านก่อน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ มีการทำสิ่งที่เกินเลยไป แต่ว่าสังคมต้องเรียนและทำความเข้าใจได้

เวลาเราตรวจสอบ เราต้องตรวจสอบหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่มาละเมิดประชาชน เพราะสิทธิเป็นเรื่องประชาชนนะ สิทธิไม่ใช่เรื่องหน่วยงานของรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องมาปกป้องสิทธิ อันนี้ต้องเข้าใจ และเป็นปัญหาที่รัฐธรรมนูญ 50 ได้ลดจำนวนกรรมการสิทธิลง และทำให้การสรรหามาจากภาคตุลาการเหมือนอย่างองค์กรอิสระอื่นๆ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาด รัฐธรรมนูญปี 50 ต้องแก้ไขเรื่องการสรรหา

อันที่สองคือ ตัว พ.ร.บ.กรรมการสิทธิ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 42 ขณะนี้มีปัญหาว่ากรรมการสิทธิเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ตัวสำนักงานเป็นข้าราชการ กรรมการสิทธิมีแค่ 7 คน แต่จริงๆ สำนักงานมีความสำคัญมาก เพราะเป็นฝ่ายที่ส่งเสริมสนับสนุน ถ้าระบบในสำนักงานยังเป็นราชการอยู่ มีปัญหาทันที เพราะระบบราชการค่อนข้างแข็งตัว การทำงานแบบราชการมันไม่คล่องตัวกับการทำงานกับภาคประชาชน ผมเจอปัญหาอย่างนี้แม้กระทั่งในรัฐสภาด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น ขณะนี้กรรมการสิทธิมี พ.ร.บ.กรรมการสิทธิที่สำนักงานยังเป็นราชการอยู่ เลขาธิการต้องเป็นซี 11 มันหมดโอกาสแล้ว เพราะข้าราชการที่ตำแหน่งสูงๆ ต้องยอมรับว่าในระบบการเมืองอย่างนี้ หาคนยากมากที่จะนึกถึงภาคประชาชนสักเท่าไหร่ เพราะจะเป็นระบบเส้นสายไต่เต้าโดยเฉพาะทางการเมืองมากกว่า

ขณะเดียวกัน การทำงานด้านสิทธิต้องมีจุดยืน มีประสบการณ์ด้านนี้พอสมควร ตรงนี้ทำให้ลักษณะกฎหมายกรรมการสิทธิที่ให้สำนักงานเป็นระบบราชการ ทำให้มีปัญหาในการทำงาน การสร้างระบบต่างๆ ที่จะมาเชื่อมโยงกันกับกรรมการมีปัญหามาก เรื่องการเงิน งบประมาณต่างๆ ในการทำงานแต่ละอย่าง ต้องการกฎหมายที่ต่างหากไป ซึ่งผมไม่ได้เรียกร้องว่าเป็นกฎหมายที่พิสดารอะไร เหมือนอย่าง พอช. หรือ สสส.ที่มีกฎหมายของตัวเอง เขาทำงานได้คล่องตัวเยอะกว่ากรรมการสิทธิหรือสำนักงานกรรมการสิทธิอีก

อันที่สาม ในกฎหมายกรรมการสิทธิฉบับใหม่ที่ร่างขณะนี้อยู่ที่สภาในอันดับ 7หรือ 8 มีปัญหาว่าเรามีของแถมที่กรรมการสิทธิชุดที่แล้วไม่ได้เติม แต่สำนักงานกฤษฎีกาเติมให้ เข้าใจว่าเป็นมาตรา 42 การไม่ให้กรรมการสิทธิเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์การทำงานของกรรมการสิทธิ เพราะกรรมการสิทธิเป็นองค์กรที่ต้องบอกสัจจะความจริงต่อสังคม เราจะไม่บอกได้ 2 เรื่องคือ ความลับส่วนบุคคล และเรื่องความมั่นคง อันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายมาปิดปากเรา

ผมคิดว่ากฤษฎีกา เขาให้เหตุผลมาว่า ข้อมูลการตรวจสอบของกรรมการสิทธิเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเข้าใจผิด ที่เราตรวจสอบเป็นข้อมูลสาธารณะหมด ถ้าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเป็นใครมาชี้แจง เราจะไม่เปิดเผยออกไปเลย ขนาดเขามาขอรายงานการประชุม ผมจะให้กับเฉพาะตัวผู้ที่มาชี้แจง แต่คนอื่นผมจะไม่ให้ ถ้าของเอกชนเรายิ่งระมัดระวังมากขึ้นที่จะไม่ให้ออกไปด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เราระวังตัวอยู่แล้วเพราะเราต้องถือรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ เวลาที่เราจะพิจารณากรณีร้องเรียน ต้องยึดรัฐธรรมนูญ เราต้องบอกว่าเป็นการละเมิดสิทธิข้อไหน มาตราไหน อย่างไร ปฏิญญาสากลข้อไหน ละเมิดอนุสัญญาข้อไหน ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ เราทำงานภายใต้การยึดหลักกฎหมาย เพราะฉะนั้นมาตราที่ว่าด้วยไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลจะเป็นการล้มเจตนารมณ์ และล้มเรื่องการทำงานของกรรมการสิทธิ อันนี้ก็จะเป็นปัญหาหลักๆ ในร่าง พ.ร.บ.กรรมการสิทธิ ซึ่งกำลังจะเสนอในรัฐสภา

 

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะกสม.  รับผิดชอบอนุกรรมการ 4 อนุกรรมการด้วยกัน ก็คือ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, อนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล, อนุกรรมการสิทธิชุมชน โดยดูแลด้านทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติ ล่มน้ำ ทะเล ชายฝั่ง และสินแร่ และอนุฯ ชุดสี่คืออนุที่ดินและป่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net