Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในวันหยุดสุดสัปดาห์ของแต่ละคนหรือครอบครัวหากกล่าวไปแล้วทุกคนถ้าไม่พักผ่อนอยู่บ้านก็คงต้องหากิจกรรมต่างๆ ทำเป็นแน่ในวันหยุด บ้างก็ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด บ้างก็เดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า ทานข้าว ดูหนัง ฟังเพลง และอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เสมือนหนึ่งการย้อนเวลาหาหาอดีตที่ถวิลหาแต่ละคนที่มีนั่นก็คือ การท่องเที่ยวตลาดน้ำ นั่นเอง

หากกล่าวถึงตลาดน้ำในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หรือหากเปรียบแล้วก็คงไม่ต่างอะไรกับการขยายกิจการของห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นและกระจายไปทั่วหัวระแหง ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบและก็ลองจินตนาการว่า ทำไมล่ะเราถึงกลับมานิยมอะไรแบบนี้ มันเกิดจากอะไรกันแน่ ที่อยู่ๆ สิ่งเก่าๆ อย่างนี้ที่ถูกมองข้ามไปแล้วกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และทำให้เราถวิลหามันอย่างที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เขียนก็นึกขึ้นได้ว่า มีงานเขียนที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะนำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี งานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เรื่อง รัฐชาติกับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่ ได้ทำให้ผู้เขียนอยากลองอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดน้ำขึ้นมา เอาเข้าจริงหากมองให้ลึกซึ้งการเกิดขึ้นของตลาดน้ำเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องส่งเสริมเพราะอย่างน้อยก็เป็นส่วนช่วยอย่างยิ่งที่ทำให้รัฐเองต่อสู้กับโลกโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบันได้อีกทางหนึ่ง หรืออีกทางหนึ่งก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดแล้ว วัฒนธรรม ประเพณี ต่างๆในอดีตคงเป็นเพียงสิ่งที่นำมาแสดงเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าการนำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นได้

ความกระชับแน่นระหว่างเวลากับสถานที่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวโดยสรุปรวบยอดตามความเข้าใจของผู้เขียนคือ ปัจจุบันหลายคนกล่าวว่าเป็นยุคแห่งโลกาภิวัตน์สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากอันเนื่องมากจากสิ่งนี้ กล่าวคือ หากเรามองถึงสมัยก่อนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควรเลยทีเดียว อาทิเช่น การแต่งกายของคนต่างประเทศในสมัยก่อนนั้นเราจะทราบแนวทางการแต่งกายเหล่านี้ก็คงรับรู้จาก รูป หรือเห็นจริงโดยชาวต่างประเทศที่มาติดต่อค้าขายเท่านั้น หากมันจะเข้าถึงสังคมหนึ่งๆได้ก็ต้องใช้เวลานานมากทีเดียวประหนึ่งราวกับว่าคงใช้เวลาเท่ากับการเดินเรือจากทวีปหนึ่งมาอีกทวีปหนึ่งก็เป็นได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป

แต่หากเทียบกับปัจจุบันแล้ว การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมของโลกเราสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วภายใต้โลกโลกาภิวัตน์ เราสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้พร้อมหรือช้ากว่าประเทศต้นแบบเพียงเสี้ยววินาทีอาจจะโดย โทรภาพ Internet เป็นต้น ทำให้การรับรู้การเปลี่ยนแปลงจากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่งย่นเวลาจากที่เสมือนใช้เวลาเท่ากับการเดินเรือข้ามมหาสมุทรสู่การใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีผ่านปลายนิ้วสัมผัส

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใช่ว่าจะเป็นช่วงๆ เท่านั้นที่เราสามารถรับรู้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถรับรู้ได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโทรภาพ เช่น Fashion Chanel เป็นต้น ที่เราสารถดูได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้

ดังนั้นกล่าวได้ว่าปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาสิ่งที่ตามมาก็คือว่า แล้วมันส่งผลกระทบอะไรกับตัวเราเมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นมันเร็วขนาดนี้ สิ่งที่เกิดและกระทบกับตัวเรามากที่สุดก็คือ การระวังตัวอยู่ตลอดเวลาระวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การต้องอยู่กับภาวะความไม่มั่นคงในชีวิต นั่นเอง ทำไมถึงกล่าวอย่างนั้น อันที่จริงแล้วเมื่อทุกอย่างมันเร็วและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การกำหนดนโยบายหรือเตรียมการล่วงหน้าในระยะยาวนั้นก็เป็นไปได้ยากดังนั้นคนจึงมองแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น มองสั้นๆเท่านั้น

เมื่อการมองเกิดขึ้นในลักษณะสั้นก็เท่ากับว่าการทุกคนก็มักจะหวังประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น เกิดการแสวงหากำไรกันอย่างไม่เป็นที่สิ้นสุด เกิดการแข่งขันกันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองเพื่อให้ขายสินค้าได้ ใช้การโฆษณาเป็นหลักเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง โดยไม่ได้สนใจในส่วนของคุณค่า ที่มา คุณภาพ ของสินค้า เท่ากับ การโฆษณาสินค้าให้คนเชื่อถือเพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง

โดยเฉพาะหากกล่าวถึงเรื่องเงินตราก็เป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจนถึงความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ กล่าวคือ ปัจจุบันค่าเงินสามารถผันผวนได้ตลอดเวลาดังนั้นหากคุณมีเงิน 100 บาท วันนี้ถือว่าเป็นคนรวยแต่พรุ้งนี้เงิน 100 ที่คุณมีอาจจะไม่มีค่าเลยก็ว่าได้ ดังนั้นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้คนนิยมที่จะสะสม ทองคำ ที่ดิน มากกว่าที่จะเก็บเงินสดไว้ เพราะอย่างน้อยมันก็มั่นคงต่อชีวิตตนเองมากกว่าการเก็บเงินสด

เท่ากับว่าเมื่อสภาวะของโลกปัจจุบันเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องเป็นก็คือต้องอยู่กับความไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไป ทุกคนอาศัยอยู่ด้วยความระวังตนมากที่สุด ดังนั้น ความมั่นคงในชีวิตแบบเดิมจึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปถวิลหาอย่างมากในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นการนำสิ่งเก่ามาเล่าใหม่ก็คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีเวลาที่ได้พบเห็น การแสดง สิ่งของ สถานที่ หรือแม้แต่ศาสนา เป็นต้น สิ่งเก่าเหล่านี้ถูกนำมาให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่า ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงหยุดลงชั่วขณะเมื่อได้อยู่กับสิ่งเก่าเหล่านี้

ตลาดน้ำ จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากนำมาอธิบายและสนับสนุนงานวิจัยข้างต้น เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในชีวิต ผู้คนมักจะถวิลหาความมั่นคง ถวิลหาเวลาสถานที่แห่งอดีตที่ทำให้รู้สึกว่า เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงหยุดลงชั่วขณะ ตลาดน้ำ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันเมื่อเข้าไปเดินแล้วรู้สึกผ่อนคลายและหยุดความวุ่นวายในใจไปชั่วขณะ พร้อมกับอาจมีเสียงบ่นมาว่า อยากมีบ้านอย่างนี้ อยากขายของพายเรืออย่างนี้ ก็เป็นได้และเมื่อกลับไปแล้วก็มีความนึกถึงมันอยู่ตลอดเวลาเวลาที่เราทำอะไรที่เร่งด่วนในปัจจุบัน เช่น เมื่อทานก๋วยเตี๋ยวในร้านดังในห้างสรรพสินค้า ก็มักจะไม่ได้บรรยากาศเท่ากับการนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดน้ำก็เป็นได้

ความถวิลหาได้สร้างสิ่งเก่ามาเล่าใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นก็อย่างเพิ่งดีใจไปเมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเอาเข้าจริงการเกิดขึ้นของตลาดน้ำไม่ได้มีนัยยะที่บ่งชี้ว่าวิถีชีวิตเก่าๆ กำลังจะกลับมาโลกาภิวัตน์กำลังจะสิ้นใจ การเกิดสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่การหยิบประวัติศาสตร์มาสร้างมูลค่าเท่านั้น ผู้เขียนมีความเห็นด้วยกับงานวิจัยที่กล่าวว่า การทำสิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดสินค้าชนิดใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรมากกว่าการหยิบของเก่ามาแสดงเพื่อการค้าเท่านั้น แต่หากกล่าวในแง่ดีก็สมประโยชน์ทั้งคู่เช่นกันระหว่าง ผู้ประกอบกิจการกับผู้ชม

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดน้ำเองก็เป็นผลผลิตที่เกิดจากผลของโลกาภิวัตน์นั่นเอง เพียงแต่ว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้รู้สึกดีเมื่อได้เห็น ผ่อนคลายชีวิตที่เร่งรีบลงเมื่อได้เที่ยว และอย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าการใช้ชีวิตในแบบเดิมคงทำให้มั่งคงกว่าปัจจุบันถึงแม้ว่าการจะกลับมาสู่อดีตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม

หากมองในแงมุมของ รัฐ รัฐเองมีความปวดหัวเป็นอย่างมากเมื่อตกอยู่ในสภาพของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขนาดนี้ สิ่งที่รัฐพยายามมากที่สุดก็คือ การใช้วิธีการที่ทำให้คนหันมาสนใจบ้านเมืองของตัวเองให้มากที่สุดและอย่าเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนั้นเพื่อช่วยให้รัฐสามารถดำเนินนโยบายได้ เช่น การใช้วิธีชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม หรือแม้แต่ศาสนาเพื่อช่วยให้เกิดการควบคุมได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นการกำหนดนโยบายต่างๆของรัฐแทบจะทำไม่ได้เลยหากให้โลกาภิวัตน์เข้ามามีบทบาทมากไป รัฐจึงต้องอาศัยสิ่งนี้เพื่อสู้กับโลกาภิวัตน์ ดังงานวิจัยใช้คำว่า หากมองตามฐานคิดแบบ รัฐชาติ ก็คงกล่าวได้ว่านี่คือความขัดแย้งระหว่าง โลกาภิวัตน์กับท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม หรือแม้แต่ศาสนา

ดังนั้นหากกล่าวถึง ตลาดน้ำ รัฐเองก็ถือว่าอย่างน้อยนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้คนไหลไปตามสายธารของโลกาภิวัตน์ อย่างน้อยสิ่งนี้ก็เป็นตัวฉุดกระชากความคิดของคนในสังคมไม่ให้ถูกทำลายโดยโลกาภิวัตน์นั่นเอง ดังนั้นในมุมของผู้เขียนเอง การมีอยู่ของตลาดน้ำจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาในสังคม และตลาดน้ำเองก็ดำเนินอยู่ได้เพราะดำเนินแนวทางได้โดยการสนับสนุนแนวทางของรัฐนั่นเอง ไม่ว่าใครจะมองว่า ตลาดน้ำเกิดขึ้นมาในแง่ไหน แง่ธุรกิจ แง่วัฒนธรรม หรืออย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นว่า โลกาภิวัตน์ก็อย่าได้ทะนงตัวว่า คุณจะชนะการรบในประเทศไทยอย่างง่าย เพราะคุณยังมี “ตลาดน้ำดำเนิน (นโยบายเพื่อ) รัฐ” เป็นคู่ต่อสู้อยู่นั่นเอง

          

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net