Skip to main content
sharethis

เสวนา 'สามัญชนบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง' ในมุมมองเอเชียอาคเนย์ 'ปวิน' ชี้ บรรทัดฐานเดิมๆ เช่น ความคลั่งชาติ กำลังจะถูกท้าทาย ขณะที่การสร้างอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียนที่เป็นตัวแทนประชาชนเป็นเรื่องยาก แต่จำเป็นต้องได้มาด้วยการต่อสู้

 
วันที่ 8 ต.ค. 55 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุมมนัส ชัยสวัสดิ์ คณะวิเทศศึกษา (Faculty of International Studies) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้มีการเสวนาหัวข้อ “สามัญชนบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง: มุมมองร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้เข้าร่วมการเสวนา และชี้ประเด็นสำคัญว่า บรรทัดฐานเก่าที่ฝังรากของอาเซียนซึ่งกีดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยและอำนาจประชาชนได้ถูกท้าทายอย่างต่อเนื่อง  ความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันก็เป็นผลส่วนหนึ่งจากที่ “คำอธิบาย” ที่ชนชั้นปกครองสร้าง ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป
 
งานเสวนาโดยคณะวิเทศศึกษา ได้รับความสนใจจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักศึกษาในวงกว้าง โดยมีเป้าประสงค์ในการชี้ให้เห็นถึงพลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากประชาชน นอกจาก ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์แล้ว ผู้เสวนาท่านอื่นประกอบด้วย อ.อรพรรณ ลีนะนิธิกุล อาจารย์ประจำคณะวิเทศศึกษา ผู้แปลหนังสือ East Timor: The Price of Freedom และ อ.พงศ์นรา ช่วยชัย อาจารย์ประจำคณะวิเทศศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน โดยมี ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาไทยและอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
 
“อาเซียนมี Norm บางอย่างที่ฝังรากอยู่ในชาติของตน ที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนา เช่น ความคลั่งชาติ การยินยอมรับคำสั่งจากผู้มีอำนาจ และวัฒนธรรมการเชื่อฟังผู้ใหญ่เมื่อสังคมเผชิญวิกฤติ ประชาชนมิได้รับการเปิดโอกาสให้จัดการปัญหาเหล่านี้ด้วยตนเอง” ปวิน พิจารณาถึงปัญหาเริ่มแรกของการพัฒนาประชาธิปไตยในอาเซียน
 
“แต่สิ่งที่ต้องเน้นคือ อัตลักษณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่มีประวัติศาสตร์ชาติไหนหรอกที่เขียนให้ประเทศตัวเองห่วย ถ้าจะห่วยก็ให้ห่วยแบบน่าสงสารถูกรังแก แต่ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ประวัติศาสตร์เหล่านี้เขียนขึ้นมาเพื่อใครแล้วถูกใช้ทำอะไร มันเป็นการให้ความชอบธรรมชนชั้นปกครองที่จะทำอะไรในนามของชาติและประชาชน แต่จริงๆแล้วข้ออ้างเหล่านี้มันเป็นเรื่องประดิษฐ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนแต่อย่างใด”
 
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโตยังชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากที่จะสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของอาเซียนที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อทดแทนอัตลักษณ์เผด็จการอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกมานาน และการต่อสู้เรียกร้องก็เป็นเรื่องจำเป็น อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างประเทศที่ปัจจุบันประชาธิปไตยกำลังเติบโตอย่างมาก แต่ทั้งหมดนี้มิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหากแต่มีการต่อสู้เรียกร้องอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ได้มีนักวิชาการจากคณะเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ถามถึงประเด็นความมั่นคงทางพลังงานระหว่างไทยและกัมพูชาซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อน ดร.ปวิน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้นในทางปฏิบัติเหนือพื้นที่ที่มีปัญหาในทะเลห่างไกล นี้ไม่มีชาติใดที่นิยมอ้างสิทธิ์เพียงผู้เดียว มักลงเอยด้วยการลงทุนร่วมกันและแบ่งตามสัดส่วนหรือเลี่ยงที่จะพูดถึงเพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เป็นหนึ่งในกลไกการสร้างความชอบธรรมของนักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่พยายามเอาประเด็นชาตินิยมเป็นข้ออ้างมากกว่า
 
 
ผู้เสวนาคนถัดมา อ.อรพรรณ ลีนะนิธิกุล ผู้แปลหนังสือ East Timor: The Price of Freedom ได้ชี้ให้เห็นถึงกลไกการเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน อันเป็นรัฐชาติเกิดใหม่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระบบโลก 
 
“ติมอร์เป็นเกาะห่างไกล แต่ไม่ไกลเกินไปในแง่การแสวงหาประโยชน์ ชาติต่างๆ พยายามเลี่ยงที่จะพูดถึงความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับติมอร์ตะวันออก ด้วยเงื่อนไขที่มีผลประโยชน์ร่วมในธุรกิจหลายอย่างที่ผูกขาดโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย”
 
อ.อรพรรณได้ชี้ให้เห็นว่า เงื่อนไขการตายและการสูญเสียมิใช่เงื่อนไขที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงทันที การต่อสู้ใช้เวลาหลายสิบปี กระทั่งความชอบธรรมของรัฐบาลอินโดนนีเซียเริ่มหมดไป หลังจากการพยายามล้างสมองและโฆษณาถึงชีวิตที่ดีซึ่งเคยไม่เคยเกิดขึ้นจริง ภาพเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อปัญหาปากท้อง และการว่างงานขยายตัวอย่างมาก
 
“รัฐบาลภูมิภาคนี้มักอ้างถึงอัตลักษณ์ของตนที่จะละเลยบางอย่าง และอ้างว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการครอบงำจากตะวันตก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มิได้ผิดเสียทีเดียว แต่ขั้นต่ำของการอยู่รวมกันในสังคมอารยะคือเรื่องของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในประเด็นนี้” ผู้แปลหนังสือ The Price of Freedom ทิ้งท้าย
 
ผู้เสวนาท่านสุดท้าย อ.พงศ์นรา ช่วยชัย ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการขยายตัวของอำนาจตุลาการในสังคมไทย ซึ่งนอกจากผิดแผกในประเด็นด้านความชอบธรรมในการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติที่มีที่มาจากอำนาจประชาชนแล้วในแง่ทางเทคนิค ตุลาการภิวัตน์เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในระบบกฎหมายไทย
 
“นักวิชาการด้านกฎหมายมักจะอ้างว่าเรื่องตุลาการภิวัตน์ เป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นการพูดเหมารวมโดยละเลยเงื่อนไขด้านระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่นอังกฤษที่มาของกฎหมายคือคำตัดสินศาล และใช้คำสั่งศาลเป็นแนวจารีตประเพณียึดถือปฏิบัติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อเท็จจริง แต่ในกรณีไทยมันไม่ใช่ ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออกกฎหมาย ศาลเป็นผู้ตัดสินตามแนวทางที่นิติบัญญัติวางไว้ ซึ่งนัยยะคือมติของประชาชนที่ไม่สามารถก้าวล่วงได้”
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนคณะวิเทศศึกษายังทิ้งท้ายว่า ตุลาการภิวัตน์ เป็นการเพิ่มอำนาจฝ่ายตุลาการอย่างมาก ซึ่งอาจนำสู่นำสู่การเสียสมดุลของระบบการเมืองได้ นำสู่เรื่องการตั้งคำถามประเด็นความชอบธรรมจากประชาชนทั่วไปอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
 
อนึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการเสวนาต่อเนื่องของคณะวิเทศศึกษา (Faculty of International Studies) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net