Skip to main content
sharethis
 
หลังจากที่ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ เซ็นสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในปี 2548 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยผ่านการสู้รบนองเลือดกันมากว่า 30 ปี จากสาเหตุความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ทรัพยากร และอำนาจการปกครอง จังหวัดอาเจะห์ ซึ่งเป็นดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยน้ำมันและแร่ธาตุมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย ก็ได้รับสถานะการปกครองพิเศษที่มีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองได้มากขึ้น สามารถตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนชาวอาเจะห์ และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตามคำเรียกร้องของผู้นำขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ 
 
แต่ถึงกระนั้น สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ ก็มิได้ราบรื่นไร้ปัญหา ประชาชนชาวอาเจะห์ยังคงเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดจากกฎหมายชารีอะห์ พร้อมกับตำรวจชารีอะห์ที่นำมาบังคับใช้เมื่อปี 2546 ความยากจนที่เลวร้ายลงหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มในปี 2547 ซากเดนของการใช้กฎหมายความมั่นคง และระบอบทหาร โดยเฉพาะสตรีที่มักจะตกเป็นเหยื่อในความรุนแรงดังกล่าว 
 
บทบาทของสื่ออิสระ "ออนไลน์" ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในสภาพสังคมที่มีความขัดแย้ง และมีสาธารณูปโภคที่ห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อาคารบ้านเรือน ไม่ต้องพูดถึงอินเทอร์เน็ต จะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความเข้าใจระหว่างฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้ง มาคุยกับผู้ก่อตั้งสื่อใหม่ในอาเจะห์อย่าง "อาเจะห์ ฟีเจอร์" กับ "ลินดา คริสแตนตี้"
 
 
เล่าให้ฟังหน่อยว่า เว็บไซต์อาเจะห์ ฟีเจอร์เริ่มขึ้นมาได้อย่างไร 
 
ฉันเดินทางมาที่อาเจะห์เมื่อเดือนตุลาคม 2548 หรือเพียง 2 เดือนหลังจากที่ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ และรัฐบาลอินโดนีเซียเซ็นสัญญาเจรจาสันติภาพที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก่อนหน้านั้น ฉันอาศัยอยู่ที่กรุงจาการ์ตา เจ้านายของฉัน ที่เคยทำงานให้กับทำงานให้กับสถาบันด้านข้อมูลข่าวสาร ต้องการให้มีคนที่ประจำอยู่ที่อาเจะห์ให้เขา ซึ่งมีหน้าที่ผลิต feature หรืองานเขียนสารคดี เป็นผู้ให้บริการเนื้อหาในอาเจะห์ โดยก่อนที่จะไปทำงานในอาเจะห์ ฉันทำงานอยู่ที่คอมมอนกราวนด์ อินโดนีเซีย เขียนละครวิทยุเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะวิธีการการแก้ปัญหาระหว่างชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนา เพราะในอินโดนีเซีย เรามีหลายกลุ่มชาติพันธ์ุและศาสนา ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้าง
 
ตอนที่ฉันเดินทางไปถึงอาเจะห์ในตอนนั้น ก็ตกใจมาก เพราะเจ้านายฉันได้บอกว่า มีอาคารสำนักงานที่ดีมากให้ แต่เมื่อเปิดตึกนี้เข้าไป ก็ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือเตียงให้นอน ไม่มีอะไรเลย ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการโทรหาคนรู้จัก ซึ่งเป็นคนที่เคยเขียนคอลัมน์ให้ตอนที่ฉันเคยทำงานอยู่ที่สำนักข่าวที่หนึ่ง จึงไปอาศัยอยู่กับเขา จากนั้นก็ค่อยๆ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าไป เป็นตึกสองชั้น ชั้นที่แรกว่าง ชั้นที่สองเป็นสำนักงาน และชั้นที่สามเป็นห้องนอนของเรา เนื่องจากเป็นช่วงหลังความขัดแย้งใหม่ๆ บางทีก็จะมีผู้ชายเดินเข้ามาไถเงินบ้าง ถามเรื่องงานบ้าง บางทีเขาอาจจะเป็นคนที่เคยอยู่ในขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ ก็อาจจะเป็นได้ 
 
แถมออฟฟิศของฉันอยู่ติดกับที่พักของทหารเลย ทำให้ช่วงแรกตกใจมาก เพราะตอนนั้นความกังวลจากสงครามก็ยังมีอยู่ทั่วไปแพร่หลาย โดยในช่วงสี่เดือนแรกของการตั้งอาเจะห์ ฟีเจอร์ ฉันเป็นคนต้องเขียนเนื้อหาเองทั้งหมด และตอนนั้นก็รู้จักคนอาเจะห์มากขึ้น ก็เริ่มได้คอนทริบิวเตอร์ในช่วง 2-3 เดือนแรก ก็เขียนเกี่ยวกับอาหาร การเมือง สังคม วัฒนธรรม 
 
คุณเป็นสื่อออนไลน์ แต่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเจะห์ตอนนั้นมีอยู่น้อยมากๆ ?
 
ใช่ มันค่อนข้างจะแย่มาก เคยมีบางวันที่ไฟฟ้าในออฟฟิศดับมากกว่าสิบครั้ง และอินเทอร์เน็ตไวไฟ ก็ไม่ได้ดีมากด้วย บางทีต้องไปนั่งอยู่ร้านกาแฟสำหรับชาวต่างชาติ เพราะฉันต้องเขียนงาน และต้องใช้ไฟฟ้า เพราะในออฟฟิศเราไม่มี หรือบางทีฉันก็ต้องไปร้านกาแฟเพื่อที่จะใช้เน็ต เราเผชิญกับปัญหานี้มากว่า 5-6 ปี และตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่
 
นอกจากนี้ในตอนแรก มีปัญหาบ้างเพราะเงินที่สามารถจ่ายให้นักเขียนมีน้อย ก็เลยเริ่มไปหาความช่วยเหลือที่มหาวิทยาลัย State Islamic University Ar-Raniry ในบานดา อาเจะห์ ผู้อำนวยการสถาบันนั้น ก็เลยเสนอให้ฉันมาสอนวิชาวารสารศาสตร์ และในทางกลับกัน ก็จะได้นักศึกษาอาเจะห์มาช่วยเขียนงานให้ นอกจากนี้ก็ยังมีคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและนักข่าวมาร่วมเขียนให้ด้วย 
 
คิดว่าตนเองแตกต่างจากสื่อกระแสหลักอื่นๆ อย่างไร? 
 
สื่อกระแสหลักอื่นๆ เขาพยายามอยู่ใน "เซฟโซน" เขาไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์กองทัพอินโดนีเซีย พวกเขามักจะอ้างแหล่งข่าวจากทางการหรือกองทัพอินโดนีเซียเท่านั้น และไม่ค่อยไปสัมภาษณ์พยานหรือชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ เพราะพวกเขามีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับความบาลานซ์และความแฟร์  
 
เขาเข้าใจว่า ความบาลานซ์คือ หากคุณสัมภาษณ์ทหารอินโดและสัมภาษณ์ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ นั่นแหละคือความบาลานซ์ แต่นั้นไม่ใช่ความจริง คุณควรจะต้องสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่สองด้านเท่านั้น อาจต้องห้าด้านเลยก็ได้ นั่นแหละคือความบาลานซ์ 
 
ฉันคิดว่าเราต้องพูดความจริง เราต้องเขียนไม่เพียงแค่มุมมองด้านเดียวหรือสองด้านเท่านั้น แต่เราต้องสัมภาษณ์ ไม่เพียงแค่ทางการอินโดหรือทหารอินโด หรือฝ่ายขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ แต่เราต้องสัมภาษณ์หลายๆ ด้านอย่างที่บอกไป และเราก็เช็คตรวจสอบให้ดี สื่อกระแสหลักทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเช็คและตรวจสอบแหล่งที่มา พวกเขาตีพิมพ์ข่าวลือ ซึ่งข่าวลือจะยิ่งทำให้เกิดสงครามและความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
 
มีคนเคยบอกฉันว่า เฮ้ ลินดา ถ้าคุณพูดความจริง อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งอันใหม่ขึ้นก็ได้ เพราะคุณเปิดแผลใหม่ๆ ที่อาจทำให้คนไม่สบายใจ หรือเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทำให้เขานึกถึงความเจ็บปวดในอดีตขึ้นมาอีก แต่ฉันก้บอกว่าไม่หรอก ถ้าคุณพูดความจริง คุณก็ทำให้ได้รู้ในรายละเอียดว่ามีอะไรเกิดขึ้น และเขาก็จะร่วมกันหาทางออกหรือเรียนรู้จากอดีต เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะความรุนแรงต่อมนุษยชาติและความรุนแรงต่อสตรี 
 
 
ได้ข่าวว่าสำนักข่าวนี้มีผู้หญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหม?
 
ส่วนใหญ่นักเขียนประจำและนักเขียนคอนทริบิวเตอร์เป็นผู้หญิง มีสตาฟคนหนึ่งชื่อดอนน่า เธอถูกจับสองครั้งแล้วโดยตำรวจชารีอะห์เพราะไม่ได้ใส่ผ้าคลุม ฉันเองก็ไม่ใส่ ฉันบอกว่า ให้บอกตำรวจชารีอะห์ไปเลยว่าเราไม่ใส่เพราะไม่ใช่วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมุสลิมอาเจ๊ะห์หรืออินโดนีเซีย มันเป็นสไตล์อาหรับต่างหาก 
 
ในช่วงแรกๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องผู้หญิงเป็นพิเศษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้เขียนเกี่ยวกับผู้หญิงมากขึ้น เราตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับสตรีที่ถูกตำรวจชารีอะห์จับเพราะไม่คลุมผ้าฮิญาบ เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมุสลิมของสตรี และเราก็บอกว่า จิลบาบ (ชุดแต่งกายสตรีมุสลิมที่คลุมหน้าคลุมตัว) ไม่ใช่วัฒนธรรมสมัยนี้ แต่มันเป็นการแต่งกายตั้งแต่สมัยในสมัยฮัมบูราบีแล้ว และนั่นก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับสังคมอาเจะห์ 
 
นอกจากเรื่องตำรวจชารีอะห์แล้ว สตรีที่อาเจะห์เผชิญกับปัญหาสำคัญๆ อะไรอีกบ้าง? 
 
 ก็ยังมีเรื่องความรุนแรงในครอบครัว สามีตบตีภรรยา เกิดขึ้นบ่อยมากในอาเจะห์ ฉันได้เคยไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนแห่งหนึ่ง เขาก็บอกว่าความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาอันดับหนึ่งในชุมชน นอกจากนี้ ผู้หญิงในอาเจะห์ส่วนใหญ่เป็นผู้หาเลี้ยงดูที่หาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วย และในบ้าน ก็ต้องรับใช้ปรณนิบัติสามีเป็นธรรมเนียมในสังคมของอาเจะห์   
 
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีความขัดแย้ง อินโดนีเซียก็ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก และนี่ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของความรุนแรงต่อมนุษยชาติและสตรี ทำให้เกิดการซ้อมทรมาน การสังหารนอกระบบ การข่มขืน และภายหลังสงคราม พวกเขาก็ใช้กฎหมายชารีอะห์ นี่ก็เป็นต้นตอของความรุนแรงต่อสตรีและมนุษยชาติเช่นเดียวกัน กฎหมายชารีอะห์ให้ความชอบธรรมแก่ตำรวจในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยเฉพาะสตรี 
 
มีอยู่ช่วงหนึ่ง เหล่าทหารอินโดนีเซียมีที่พักหลังพิเศษที่เรียกกันว่า "รูมาห์ กาดองห์" มีผู้หญิงอยู่ในนั้นหลายคน มีการข่มขืนและซ้อมทรมานเกิดขึ้นในบ้านหลังนั้น ฉันเคยได้สัมภาษณ์สตรีที่อาศัยอยู่ที่บ้านข้างๆ หลังนั้น เธอบอกว่า สามีของเธอเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้า เพราะทุกวันทุกคืน พวกเขาจะได้ยินเสียงร้องของผู้หญิงออกมาจากบ้านหลังนั้น ทั้งกรีดร้องและตะโกนออกมาว่า "ช่วยด้วยๆ" และบางที เธอเห็นสตรีที่ถูกฆาตกรรมโดยการใช้ถุงพลาสติกครอบหน้า ปรากฏว่า สามีของเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า หลังจากที่บ้านหลังนั้นถูกปิดลงไม่กี่เดือนต่อมา "รูมาห์ กาดองห์" ดำเนินอยู่ระหว่างช่วงปี 2541 จนถึงราวปี 2548 ก่อนที่รัฐบาลอินโดนีเซียเซ็นสัญญาสันติภาพที่กรุงเฮลซิงกิ 
 
ในเขตลังซา ทางตะวันออกของอาเจะห์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เคยมีรายงานว่าตำรวจชารีอะห์สามคนข่มขืนผู้หญิง เนื่องจากเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้ เธอ สามีและแฟนของเธอ ถูกจับกุม และนำตัวมาที่สถานีตำรวจ ตำรวจก็ให้แฟนและสามีกลับบ้านไปก่อน จากนั้นก็รุมข่มขืนเธอ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามีการเฆี่ยนสตรีสองคนที่ขายข้าวในตลาดช่วงเดือนถือศีลอด (รอมดอน) ตอนนั้นเธออยู่ที่ร้านและอยู่กับลูกๆ ก็มีตำรวจมาถามขอให้ขายข้าวให้หน่อย แต่ผู้หญิงที่ขายข้าวก็บอกว่า ไม่สามารถขายให้ได้ แต่ตำรวจชารีอะห์ก็ยังยืนกราน ในที่สุดเธอก็ขายข้าวให้ แต่ก็บอกให้ตำรวจเข้ามากินหลบๆ ข้างใน เพราะเดี๋ยวจะเกิดปัญหา แต่ทันใดนั้น ในขณะที่ผู้หญืงสองคนนั้นทำกับข้าวอยู่ เธอก็ถูกจับโดยตำรวจกลุ่มนั้นและถูกส่งไปที่สถานีตำรวจ และถูกเฆี่ยนด้วยหลายครั้ง จะเห็นว่า พวกเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้กับกฎหมายนี้
 
นอกจากนี้ แม้แต่ชาว "พังก์" ก็ยังถูกจับด้วยตำรวจธรรมดา ไม่ใช่ตำรวจศาสนาด้วยซ้ำ โดยเขาบอกว่า การแต่งตัวแบบนี้ ไม่ใช่สไตล์อิสลาม แต่เป็นสไตล์ตะวันตก และก็จับพวกเขาไปลงโทษด้วยการจับลงไปอยู่ในบ่อน้ำให้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อดัดนิสัย 
 
คิดว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับสื่ออิสระอย่าง อาเจะห์ ฟีเจอร์ คืออะไรบ้าง? 
 
แน่นอนว่า เราไม่สามารถมีทุน มีเครื่องมือต่างๆ ไปแข่งออกอากาศกับสื่อกระแสหลักใหญ่ๆ ได้ แต่เราสามารถให้การศึกษาคนที่อยู่ฝั่งเดียวกับเรา หรือคนที่ทำงานเขียนให้รุ้เรื่องมากขึ้นเกี่ยวกับสังคม ซึ่งพวกใหญ่เขาก็เป็นนักเขียน นักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน หรือคนที่ทำงานในองค์กร ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ พวกเขาไม่ใช่คนรากหญ้า แต่เขาเป็นผู้มีอำนาจบทบาทตัดสินใจต่างๆ ในสังคม ฉะนั้นฉันคิดว่านี่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา สำหรับอาเจะห์ฟีเจอร์ และสื่อทางเลือกแบบเรา เราไม่ได้ตีพิมพ์เฉพาะสิ่งที่แย่ๆ เท่านั้น แต่เรายังตีพิมพ์เรื่องวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยวด้วย 
 
ฉะนั้นถ้าเราตีพิมพ์เรื่องราวที่เกี่ยวกับอาเจะห์ในทางนี้ เขาก็ได้รู้เกี่ยวกับสังคมอาเจะห์มากขึ้น และเมื่อพวกเขาโตไปเป็นรัฐมนตรีหรือคนที่มีบทบาทต่อไปในรัฐบาล หรือผู้อำนวยการองค์กรต่างๆ พวกเขาก็จะมีบทบาทที่สำคัญ เพราะพวกเขาเป็นชนชั้นนำในสังคม ซึ่งจะแตกต่างจากชนชั้นล่างหรือคนรากหญ้า พวกเขาไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถซื้อหนังสือพิมพ์ได้มากนัก และนิยมการดูโทรทัศน์หรือวิทยุมากกว่า 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net