Skip to main content
sharethis

รายงานข่าวแจ้งว่า พรุ่งนี้ (11 ต.ค.) เวลา 13.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีเข้าสู่สารบบและกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาตามคำฟ้องหรือไม่

กรณีนี้นายอนุภาพได้ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง โดยกล่าวหาว่าการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications: IMT) ย่าน 2.1 GHz ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 เพราะไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการที่ครอบคลุมถึงพื้นที่และระยะเวลาที่จะให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 100% ไม่มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรวมถึงอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้

โดยนายอนุภาพได้ขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษา โดยให้ กสทช. ยุติการประมูลไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดทำประกาศ ระเบียบ และหรือมีมติเพื่อประโยชน์สาธารณะใน 3 ประเด็น ได้แก่ การกำหนดพื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้บริการ กำหนดคุณภาพในการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้ รวมถึงกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ และสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

 

คำฟ้อง ฉบับสมบูรณ์

 

คำฟ้อง  คดีหมายเลขดำที่ ๒๖๓๕/๒๕๕๕
ศาลปกครองกลาง
วันที่ ๑๐ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

ข้าพเจ้า นายอนุภาพ ถิรลาภ เกิดวันที่ ๒๘ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อายุ ๕๖ ปี อาชีพ นักวิชาการอิสระ มีความประสงค์ฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ที่ ๘๗ ถนนพหลโยธิน ซอย ๘ (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

ข้าพเจ้าเป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข ๐๘xxxxxxxx  หมายเลข ๐๘xxxxxxxx และหมายเลข ๐๘xxxxxxxx ได้ใช้และมีความประสงค์จะใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจี (ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถสื่อสารด้วยข้อมูลความเร็วสูงรวมทั้งภาพเคลื่อนไหว) และจากข้อมูลที่เปิดเผยที่เกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นความถี่

สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน ๒.๑GHz จากเว็บไซต์ของ กสทช. ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗ ที่กำหนดว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ..ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ..การดำเนินการ.. ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น”

ด้วยกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดในลักษณะต่างๆ ที่จำกัดทางเลือกและอำนาจการต่อรองในการใช้บริการของผู้ใช้บริการโดยตรง และที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม เช่น การใช้และครอบครองความถี่วิทยุที่มีอยู่อย่างจำกัด (และไม่อาจจะสร้างเพิ่มได้ใหม่) การมีผู้ให้บริการโครงข่ายน้อยราย (อันเนื่องจากทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัดและการลงทุนขนาดใหญ่) และความซับซ้อนและเข้าใจยากของการให้บริการ (เช่นอัตราในการเชื่อมต่อข้อมูลสำเร็จ ราคาต่อกิโลบิตต่อวินาที) ดังนั้นในกิจการโทรคมนาคมในประเทศต่างๆ จึงมีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อกำกับดูแลการดำเนินกิจการและการประกอบการของผู้ให้บริการในกิจการนี้ในทุกประเทศ เพื่อเป็นการลดผลกระทบในทางลบและก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกแก่ผู้ใช้บริการโดยตรงและต่อประชาชนโดยรวม การปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลจึงมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนโดยรวม ดังนั้นผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ใช้บริการโดยตรงและเป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของ กาทช. ในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑GHz เพื่อการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจี ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึงระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถให้บริการการสื่อสารด้วยข้อมูลความเร็วสูง รวมทั้งภาพเคลื่อนไหว นอกเหนือจากการบริการด้วยเสียงเช่นเดียวกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิมที่ผ่านมา

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กสทช. พึงจะต้องออกอากาศระเบียบ มติ และ/หรือมติอื่นใดตามกฏหมาย ในจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑ GHz ที่อย่างน้อยครอบคลุมถึงประเด็นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนดังต่อไปนี้

๑. พื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการ ที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้บริการ

ในประเด็นนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน๒.๑GHz พ.ศ.๒๕๕๕ กสทช. เพียงแต่กำหนดว่าผู้ที่ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุจะต้องให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด โดยครอบคลุมประชากรร้อยละ ๒๐ และ ๕๐ ภายใน ๒ ปี และร้อยละ ๓๐ และ ๘๐ ภายใน ๔ ปีสำหรับผู้ที่ได้รับการจัดสรรความถี่ขนาด ๒x๑๐ และ ๒x๕ MHz ตามลำดับ ซึ่งหากการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน๒.๑GHz เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด จะต้องมีพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยไม่ได้รับการบริการอย่างน้อยร้อยละ ๒๐ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๔ ปี ซึ่งประชาชนเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ยากจนและอยู่ห่างไกลในชนบท อีกทั้งผู้ใช้บริการโดยทั่วไปก็ไม่อาจใช้บริการได้ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการลดทอนประโยชน์อันพึงมีพึงได้ประการสำคัญจากเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะสามารถติดต่อสื่อสารได้ในทุกพื้นที่

ในข้อเท็จจริงในปัจจุบัน การติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถติดตั้งโครงข่ายให้ใช้บริการได้ภายใน ๖ เดือนในแต่ละพื้นที่ (เช่นในแต่ละจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดไกล้เคียง) และจะสามารถติดตั้งได้รวดเร็วเพิ่มขึ้นอีกในกรณีที่พื้นที่นั้นๆ มีโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมอยู่แล้ว เช่นในกรณีของประเทศไทย เนื่องจากการติดตั้งจะเน้นไปที่การติดตั้งระบบอุปกรณ์โครงข่ายวิทยุและซอฟต์แวร์เป็นหลัก ดังนั้นความครอบคลุมในการให้บริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน จึงขึ้นอยู่กับการลงทุนและแผนงานการบริหารการติดตั้งให้มีจำนวนชุดผู้ติดตั้งที่มากพอ มิใช่ความเป็นไปได้ทางเทคนิค ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจี (FOMA) เป็นประเทศแรกเมื่อกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา สามารถเปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ ๙๐ ในปีแรก และร้อยละ ๑๐๐ ในปีที่ ๓

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น กสทช. ต้องกำหนดพื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการ ที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้เป็นการล่วงหน้าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑GHz ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดดังกล่าว อาจทำให้ กสทช. ได้รับเงินจากการประมูลน้อยลง (เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่เพิ่มขึ้น) แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

๒. คุณภาพในการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้

ในประเด็นนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕) กสทช. ได้กำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการ โดยไม่ได้กำหนดค่าร้อยละของระยะเวลาที่ไม่สามารถให้บริการผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Network Unavailability) โดยเพียงให้รายงานค่าทุกไตรมาสโดยไม่มีการกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำ ซึ่งหากการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน๒.๑GHz เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด ผู้ใช้บริการก็จะมิได้รับความคุ้มครองจากความเสถียรของโครงข่ายการสื่อสาร

กล่าวคือ การใช้บริการอาจจะไม่สามารถใช้บริการได้เป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ได้ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียผลประโยชน์อันเป็นสาระสำคัญจากการใช้บริการการสื่อสาร ผู้ใช้บริการจะไม่มีหลักประกันใดว่า จะสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา (หรือเกือบตลอดเวลา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีความจำเป็น เร่งด่วน หรือฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วยร้ายแรงหรือเฉียบพลัน ไฟไหม้ ตลอดจนการทำธุรกรรมใดๆ ทางการเงินที่โอกาสทางการสื่อสารจะหมายถึงชีวิตหรือทรัพย์สินที่มีค่า                                            

นอกจากนั้นผู้ใช้บริการจะยังเสียผลประโยชน์จากการที่ กสทช. เพียงกำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการดาวน์โหลด มีความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลของ FTP(FTP mean data rate) สำหรับ 3G ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ Kbps (ร้อยละ ๙๐ ของ Peak bit rate ของ UMTS R99) สำหรับร้อยละ ๗๕ ของการรับส่ง FTP ที่สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด (Timeout) อีกทั้งไม่มีการกำหนดค่าขั้นต่ำสำหรับบริการภาพเคลื่อนไหว กล่าวคืออัตราส่วนจำนวนครั้งที่สามารถเข้าถึงบริการสตรีมมิ่ง(Streaming service accessibility) อัตราส่วนจำนวนครั้งการแสดงวิดีทัศน์แบบสตรีมมิ่งได้อย่างสมบูรณ์ (Streaming reproduction success ratio) ซึ่งเป็นการลดทอนประโยชน์อันพึงมีพึงได้ประการสำคัญจากเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจีที่เป็นระบบที่สามารถให้บริการการสื่อสารด้วยข้อมูลความเร็วสูงรวมทั้งภาพเคลื่อนไหว

ในข้อเท็จจริงการกำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการของประเทศต่างๆ ทุกประเทศมักจะอ้างอิงข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) โดยกำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการตนเอง โดยคำนึงถึงความเป็นได้ทางเทคนิคและประโยชน์สงสุดที่ประชาชนจะได้รับจากข้อกำหนดเหล่านั้น ดังตัวอย่างเช่น หน่วยงานกับกิจการการสื่อสารในประเทศอูกานดา (Uganda Communications Commission) ได้อ้างอิงข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย (ITU-TE.800) ได้กำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิคและประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ โดยกำหนดให้ความสามารถในการให้บริการของโครงข่าย (Network Availability) ต้องมากกว่าร้อยละ ๙๙ และ ๙๕ สำหรับโครงข่ายหลักและโครงข่ายกระจายตามลำดับ กล่าวในทางกลับกันคือค่าร้อยละของระยะเวลาที่ไม่สามารถให้บริการผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Network unavailability) จะต้องร้อยกว่าร้อยละ ๕ (ในขณะที่ กสทช. ไม่ได้กำหนดค่าขั้นต่ำ) และโดยทั่วไปมาตรฐานความเร็วในการรับข้อมูล(download) ของโครงข่ายสามจีแบ่งออกเป็นความเร็วในการสื่อสารในขณะเดินหรือยู่กับที่ (walking or stationary) ที่ความเร็ว ๒๐๔๘ Kbps และขณะขับรถ (car moving) ที่ความเร็ว๓๔๘ Kbps (ในขณะที่ กสทช. กำหนดไว้ที่ ๓๔๕ Kbps เพียงค่าเดียว)

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและผู้ให้บริการ กสทช. ต้องกำหนดคุณภาพในการให้บริการซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้เป็นการล่วงหน้าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT) ย่าน ๒.๑GHz ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดดังกล่าวอาจทำให้ กสทช. ได้รับเงินจากการประมูลน้อยลง (เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องลงทุนในการติดตั้งโครงข่ายเพิ่มขึ้น) แต่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการในอัตราสูงสุดตามมาตรฐานทางเทคนิค

๓.อัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้บริการจะเรียกเก็บได้ รวมทั้งสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๔๙

ในประเด็นนี้ กสทช. มิได้มีข้อกำหนดใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่และไม่เคยมีการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริการทางด้านข้อมูลใดๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งหากการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz  เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนดผู้ใช้บริการก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองทางด้านราคาจากการที่มีผู้ให้บริการน้อยรายโดยเฉพาะในตลาดที่ยังมีลักษณะกึ่งแข่งขันผูกขาดเช่น ในประเทศไทยที่ยังคงมีผู้ให้บริการหลักเพียงสามราย (และมีแนวโน้มจะเพียงสามรายต่อไปอีก ๑๕ ปีข้างหน้า)

ในข้อเท็จจริงใน กสทช. ได้ยินยอมให้มีการให้บริการสามจีในประเทศไทยแล้วโดยมิได้ออกใบอนุญาตหรือระงับการบริการของผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตในการให้บริการ การบริการที่ผ่านมาผู้ให้บริการได้กำหนดอัตราและเงื่อนไขในการบริการโดยลำพังโดยมิได้ขออนุญาตหรือกำหนดภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับใดๆ โดยเฉพาะอัตราค่าบริการและเงื่อนไขในการบริการทางด้านข้อมูล โดยที่ กสทช. ก็มิได้มีการตรวจสอบว่าอัตราค่าบริการและเงื่อนไขในการบริการมีความถูกต้องเหมาะสมหรือเป็นธรรมแต่อย่างไร หรือมีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างไร ดังนั้นในตลาดที่ยังมีลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดเช่นประเทศไทยที่ยังคงมีผู้ให้บริการหลักเพียงสามราย ผู้ให้บริการก็ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันทางด้านราคาหรือเงื่อนไขในการให้บริการมากนัก โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยที่ไม่มีอำนาจต่อรองยกตัวอย่างเช่น ราคาขายปลีกสำหรับบริการทางด้านข้อมูลของผู้ใช้บริการรายย่อยในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่อัตรา๑๐บาทต่อ MHz ทังที่น่าจะเป็นที่อัตรา ๑ บาทต่อ MHz หรือต่ำกว่า (เมื่อเปรียบเทียบราคาระหว่างผู้ใช้บริการรายใหญ่และรายย่อยโดยเฉลี่ย) อีกทั้งราคาบริการทางด้านเสียงซึ่งสามารถลดลงได้จากเทคโนโลยีที่สามารถส่งสัญญาณได้เร็วเพิ่มขึ้นว่า๑๐เท่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิมที่ผ่านมาก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด

ในกรณีที่ กสทช. จะกำหนดอัตราบริการขั้นสูงในภายหลังการประมูลเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ นั้นหมายความว่าเงินที่ผู้ให้บริการจะต้องชำระในการประมูลความถี่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดอัตราค่าบริการดังนั้นหากผู้ให้บริการมีต้นทุนในการใช้ความถี่สูงเท่าใด อัตราค่าบริการจะสูงไปด้วยตามต้นทุนในการครอบครองความถี่ ในกรณีนี้ประชาชนก็จะกลายเป็นผู้รับภาระของการใช้ความถี่ของผู้ให้บริการ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและผู้ใช้บริการ กสทช. จะต้องกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุดที่ผู้ให้บริการจะเก็บได้ รวมทั้งสัญญาตามมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาณให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นการล่วงหน้าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT) ย่าน ๒.๑ GHz ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดดังกล่าวอาจทำให้ กสทช. ได้รับเงินจากการประมูลน้อยลง (เนื่องจากผู้ให้บริการจะได้รับค่าบริการน้อยลงและมีต้นทุนในการบริการเพิ่มขึ้น) แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจาดอัตราค่าบริการและเงื่อนไขในการให้บริการที่เป็นธรรม

กล่าวโดยสรุป กสทช.ยังมิได้จัดทำตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT) ย่าน ๒.๑ GHz ที่กำหนดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริการโดยตรงและประชาชนทั่วไป ให้เป็นสำคัญและเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนและครบถ้วยก่อนการจัดสรรความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในข้อเท็จจริง กสทช.ซึ่งถูกจัดตั้งตาม พรบ. องค์กรจดสรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ (ซึ่งได้ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗) มิได้มีเจตนารมณ์ให้ กสทช. เป็นหน่วยงานเพื่อแสวงหารายได้เพื่อนำส่งเข้ารัฐ จึงมิใช่เป็นการกระทำตามเจษตนารมณ์ของกฎหมายและมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ตามกฎหมายดังนั้น กสทช. จึงพึงจะต้องมุ่งเน้นการกำหนดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนโดยทั่วไปให้ชัดเจนก่อนการประมูลเพื่อให้เป็นเงื่อนไขและเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงจัดในการจัดสรรคลื่นความถี่ การกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล (Reserve price) รวมทั้งการแข่งขันทางด้านราคาในการประมูล จึงจะเป็นส่วนเพิ่มในการกำหนดว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายใดจะได้รับจัดสรรความถี่หรือไม่มากน้อยเพียงใด

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กสทช. จะต้องจัดทำตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่กำหนดผลประโยชน์อันพึงมีของผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนทั่วไป ให้เป็นสาระสำคัญและเป็นกำหนดที่ชัดเจนและครบถ้วนก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว

ข้าพเจ้าจึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

๑. สั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗

๒. สั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จัดทำตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz ที่กำหนดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนโดยทั่วไป ให้เป็นสำคัญและเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนและครบถ้วนก่อนการจัดสรรความถี่อย่างน้อยในประเด็นต่อไปนี้

๒.๑ พื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้

๒.๓ อัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้รวมทั้งสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙                                  

๓.  สั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมานาคมแห่งชาติ(กสทช.) ยุติการจัดสรรความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz ไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดทำประกาศ ระเบียบและมติใดตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗ และตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่ในข้อ ๒ จะแล้วเร็จและ/หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์ 1, 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net