นักข่าวพลเมือง: วิกฤตเบอร์รี่ปี 2555 ปัญหาคนงานเบอร์รี่ยังไม่จบง่ายๆ

รายงานพิเศษจาก "ฟินแลนด์" โดย "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" งานเสวนา “คนงานต่างชาติชาวเอเชียที่ฟินแลนด์” ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จัดโดย “เวทีประชาชนเอเชียยุโรป (AEPF) ปัญหาคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย “แรงงานทาสยุคใหม่” ในวีซ่า “นักท่องเที่ยว”

เทปบันทึก ภาพการนำเสนอปัญหาแรงงานทาส “คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่แลปแลนด์” และตามด้วยการแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ที่ดำเนินรายการโดยปลัดกระทรวงการจ้าง งานและ เศรษฐกิจของฟินแลนด์

* * * * * * * *

ฟินแลนด์สัมมนา “คนงานต่างชาติชาวเอเชียที่ฟินแลนด์”

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 มีงานเสวนาที่สำคัญมากเรื่อง “คนงานต่างชาติชาวเอเชียที่ฟินแลนด์” ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จัดโดย “เวทีประชาชนเอเชียยุโรป (AEPF) ที่ร่วมนำเสนอและร่วมฟังโดยองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานจนเต็มห้องประชุม

จรรยา ได้นำเสนอเกี่ยวกับ “คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่แลปแลนด์” ทั้งนี้แลปแลนด์เป็นชื่อตอนเหนือของฟินแลนด์ที่เป็นเขตเบอร์รี่ป่า

คำว่าแลปแลนด์ ช่างพาให้คิดถึงเมืองลับแล จริงๆ คือลับจากสายตาผู้คน และแลหาความช่วยเหลือจากใครไม่มี และก็คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง

คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย “แรงงานทาสยุคใหม่” ในวีซ่า “นักท่องเที่ยว” จะถูกพาจากสนามบินไปยังแคมป์ที่พักทันทีที่เครื่องลงจอด และจะถูกพาจากแคมป์ แวะซื้อเสื้อผ้ามือสองระหว่างทางมาสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย โดยที่พวกเขาไม่เคยได้รับอนุญาตหรือสามารถทำตัวเป็น “นักท่องเที่ยว” ที่แท้จริงได้เลย อีกทั้งไม่เคยเห็นหรือเที่ยวดูแม้แต่เมืองหลวง “เฮลซิงกิ” ที่รถบัสพวกเขาวิ่งผ่านรอบนอก ทั้งขาไปและขากลับสนามบิน ด้วยข้ออ้างจากพวกบริษัทนายหน้าว่า “ยุ่งยาก ในการจัดการ”

พวกคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยจึงเหมือนกับ “ผี” ที่คนฟินแลนด์ไม่เคยเห็นตัว รู้แต่เพียงว่ามีจำนวน “นักท่องเที่ยว-จ้างงานตัวเอง-คนงานเก็บเบอร์รี่” 3,000 คน เดินทางจากประเทศไทยมาเก็บเบอร์รี่ แต่ไม่รู้ว่ารูปร่างหน้าตาและสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานเป็นอย่างไร จะไปพบเจอได้ที่ไหนบ้าง

คนฟินแลนด์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแคมป์คนงานอยู่ ตรงไหนกันบ้าง เพราะบริษัทเบอร์รี่ ไม่เปิดเผยชื่อแคมป์ต่อสาธารณะ แม้แต่นักข่าวจะเข้าไปถ่ายทำสภาพปัญหา ก็ต้องขออนุญาต และขอที่อยู่จากบริษัท

เวลาจะเข้าแคมป์ต้องบอกว่า “เราไม่ใช่ NGOs” เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าหัวหน้าแคมป์ (พวกสายและนายหน้า) รวมทั้งธุรกิจเบอร์รี่ไม่ชอบคนวิจารณ์และโยนความผิดให้ NGOs รับไปเต็มๆ

คนที่เข้าไปถึงแคมป์และได้คุยกับคนงาน ต่างเล่าว่า เวลาคุยกับคนงาน จะอยู่ในสายตาที่จับจ้องของหัวหน้าแคมป์ และถ้าคุยนานก็จะเข้ามายืนฟัง และคอยสอดแทรกคำว่า “ไม่จริง” “ไม่ขาดทุน” เมื่อคนงานเปิดปากถึงสภาพปัญหาต่างๆ

คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยช่างดูประหนึ่ง “แรงงานทาส” เป็นนักโทษในค่ายกักกันแรงงานเสียเหลือเกิน

เมื่อพวกเขาเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยพร้อม เรื่องราวความเจ็บปวดและสูญเสีย แดดสีทองแห่งมหานครเมืองเทพอมรดินแดนสุวรรณภูมิ ที่พวกเขาย่างเหยียบ ก็เผาสลายพวกเขา ราวกับแวไพร์ยามต้องแสงอาทิตย์

เมื่อไม่มีใครพยายามที่จะฟังความจริง พี่แมวพูดจับใจทุกคนว่า
“เรื่องเล่าแห่งความสวยงาม ก็เป็นได้แต่เพียงเรื่องเล่าแห่งความสวยงาม”

วิกฤตเบอร์รี่ปี 2555

คน ไทยหลายพันคนเดินทางมาถึงตอนเหนือของสวีเดนภายใต้วีซ่าทำงานชั่วคราว – เพื่อเก็บเบอร์รี่ สวีเดนให้สิทธิสาธารณะกับใครก็ได้ที่จะเก็บเบอร์รี่ป่า แม้แต่ในพื้นที่ของเอกชน ในปีที่ผลิตผลดี (ซึ่งไม่น่าจะใช่ปีนี้) ป่าจะเต็มไปด้วยบลูเบอร์รี่และเบอร์รี่สีแดง มีคนสวีเดนเหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังยอมทำงานหนักเช่นงานเก็บเบอร์รี่ แต่ความต้องการเบอร์รี่ก็เพิ่มสูงขึ้น เบอร์รี่ป่าเป็นที่ต้องการสูงมากของอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ: สี่ในห้าของเบอร์รี่ที่เก็บได้ส่งออกไปขายต่างประเทศ

ผลประโยชน์ ที่ตามมายังเป็นข้อกังขาทั้งในประเทศบ้านเกิดและต่างแดน บริษัทเบอร์รี่หันมาใช้แรงงานคนเอเชียกว่าสิบปีแล้ว คนไทยเดินทางมาในฤดูกาลเก็บ ปีนี้มีการอนุมัติวีซ่า 5,700 คน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นคนไทยทั้งหมด กระนั้นสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสวีดิช (LO) เรียกงานเก็บเบอร์รี่ว่า “ทาสยุคใหม่” เมื่อเบอร์รี่ไม่ดก บ่อยทีเดียวที่ คนงานไม่สามารถเก็บได้มากพอคุ้มค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าอาหารและค่าที่พัก Thord Ingesson เจ้าหน้าที่ LO ที่รับผิดชอบงานด้านแรงงานต่างชาติ บ่นว่าสวีเดน “สูญเสียอำนาจการควบคุมสภาพการทำงาน เมื่อแรงงานโลกได้กลายเป็นสินค้าราคาถูก”

Economist, Foreign workers in Sweden: Berrypickers, unite!, 4 สิงหาคม 2012

อ่านต่อ http://www.economist.com/node/21559956

ปีนี้ “เสียงที่ส่งต่อกันมา” ทั้งจากสวีเดนและฟินแลนด์ที่ถูกพวกนายหน้าค้าแรงงานและเจ้าหน้าที่กระทรวง แรงงานไทยปิดกั้นจนเงียบฉี่ที่เมืองไทย คือ “ปัญหาเยอะจริงๆ”

คนงานเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนบอกว่า …

“คนเยอะมาก เป็นหมื่นคนเลย”
“สี่ห้าแคมป์ตั้งอยู่ใกล้กัน ไปไหนก็เจอกัน ใกล้ๆ ก็เอากันหมดแล้ว ต้องขับรถ 4-5 ชั่วโมงหาเบอร์รี่”
“มานอนรอเป็น 15 วัน ถึงได้เก็บ ไม่มีรถให้คนงาน”
“พอรถเสียก็ต้องหยุด 2-3 วันกว่าจะซ่อมเสร็จ”
“อาหารการกินก็แย่ (เหมือนเดิม) มีแต่ปีกไก่”
“ปีนี้ มีข่าวผู้ชายอายุ 48 ตายในป่าที่สวีเดน” (แต่ไม่มีใครมีรายละเอียดมากกว่านี้)
ฯลฯ

คนงานชาติอื่นเจอสภาพปัญหาก็มักประท้วงกันทันที

“เมื่อ คนงานชาวบัลกาเรีย 500 คน ที่ตั้งแคมป์ที่หมู่บ้าน Mehedeby ทางตอนเหนือของสต๊อกโฮลม์ ถูกคนท้องถิ่นที่โกรธแค้นต่อว่า “ละเมิดสิทธิสาธารณะที่มีมาแต่ดั่งเดิมของพวกเขา” คนเก็บเบอร์รี่ก็ไม่มีความสุขเช่นกัน ไม่มีทั้งน้ำประปาหรือห้องน้ำ และเบอร์รี่ก็ไม่ดกด้วย บางคนอยากจะกลับบ้าน แต่ก็ทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและสถานทูตบัลกาเรียที่ตื่นตระหนก รีบขนคนเก็บเบอร์รี่ขึ้นรถบัสที่เช่ามาจอดรอที่ข้างโรงเรียน เพื่อส่งกลับบ้านเกิด แต่ก็ยังมีคนเก็บเบอร์รี่ชาวบัลกาเรียที่ถูกทิ้งให้รอความช่วยเหลือที่ หน้าประตูสถานทูตอีกเป็นจำนวนมาก”

Economist, 4 สิงหาคม 2555

แต่คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยอึดกว่าชาติใดในโลก

คนเจ้าถิ่นชาว ฟินแลนด์และสวีดิช ต่างพากันฉงนงงงวยว่า คนงานไทยเอาพลังอึดมาจากไหน ถึงทำงานได้ราวกับเครื่องจักร 12-20 ชม. ทุกวันตลอด 70 วัน โดยที่ไม่เคยพัก ไม่ต้องผ่อน ไม่ต้องนอน ไม่ต้องมีวันหยุด แม้ป่วยก็ไม่พัก

กระนั้นปีนี้ คนงานเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนบอกว่า “คนงานกว่าครึ่งเก็บไม่ได้ตามเป้า และบริษัทบอกว่าจะไม่จ่ายเงินเดือนตามกฎหมาย เพราะเก็บไม่ได้ตามเป้า” ซึ่งก็หมายความว่าพวกเขาจะถือว่าทำงานฟรี เพราะเงินเดือนที่ระบุในสัญญาครอบคลุมแค่่ค่าเดินทางและกินอยู่เท่านั้น ไม่เหลือกำไรอยู่แล้ว

และจนถึงบัดนี้ คนงานหลายร้อยคนที่มาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนที่เดินทางกลับบ้านเมื่อวันที่ 29 และ  30 กันยายน ก็ยังคงรอเงินเดือนที่ระบุตามสัญญาจ้าง ที่บริษัทที่พามาเก็บเบอร์รี่ยังไม่ยอมจ่ายให้คนงาน อ้างว่ายังเคลียร์ค่าเบอร์รี่ไม่ได้

ที่ฟินแลนด์ก็มีปัญหาเยอะมากเช่นกัน แต่เสียงยิ่งเงียบฉี่กว่าสวีเดน เพราะนายหน้าและบริษัทที่นี่อ่อนไหวต่อเรื่องภาพลักษณ์และป้องกันไม่ให้คน งานประท้วงหรือร้องเรียนได้สำเร็จกว่าที่สวีเดน (คนน้อยกว่า เลยคุมได้ง่ายกว่า)

พี่แมว คนฟินแลนด์ที่พูดและเขียนภาษาไทยได้คล่อง และช่วยเป็นล่ามให้คนงาน บอกว่ามีคนป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลนับสิบวัน 2 คน และกลับบ้านในสภาพที่ต้องได้รับการดูแล พร้อมหนี้ที่ยังอยู่กว่าสี่หมื่นบาท

พวกนายหน้าคือโซ่สุดท้ายที่อันตรายต่อเกษตรกร

นายหน้าหาคนงานไปต่างประเทศ ที่ตระเวณตามหมู่บ้านทั่วภาคอีสานและกระจายไปทุกภาคตอนนี้ คือแขนขาอันสำคัญยิ่ง ที่หล่อเลี้ยงเครือข่ายป้อนแรงงานทาสชาวไทยของพวกบริษัทจัดหางานทั้งถูก กฎหมายและผิดกฎหมาย เพื่อขายแรงงานไทยให้กับต่างชาติ

ในกรณีงานเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ นายหน้าหลายคนเป็นคนเก็บเบอร์รี่เก่า ที่หารายได้จากการหาคนไปทำงาน หรือต้องการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของตัวเอง จึงหาคนเก็บใหม่เพื่อค่าหัวคิว

และหลายคนก็เป็นพวกคนที่มีอาชีพนายหน้าหาคน งานให้บริษัทจัดหางานไปประเทศ ต่างๆ ที่มีประสบการณ์ “ค้าความฝันลวง” พวกเขาจะเดินทางขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ เมื่อหมู่บ้านหนึ่งเจ๊งทั้งหมู่บ้าน ไม่ไปอีกแล้ว ก็ไปหาหมู่บ้านใหม่ เมื่ออีสานเริ่มมีบทเรียน ก็ไปภาคเหนือ หรือภาคใต้

พวกนี้จะเก่งในการโน้มน้าวให้คนไปทำงานต่าง ประเทศให้ได้ และไม่พูดความจริงหรือพูดความจริงไม่หมด ใช้คำหลอกล่อด้วยตัวเลขเงินที่จะได้ อ้างกันเป็นแสนหรือหลายแสน

นายหน้าคนหนึ่งที่แก้งค้อ หาคนเก็บเบอร์รี่มาสวีเดนเพื่อกินค่าหัวคิว ป้อนบริษัทจัดหางานได้ถึง 130 กว่าคน (ถ้าคิดตามอัตราที่รับรู้กันทั่วไปก็น่าจะได้ค่านายหน้า 5,000 บาท x 130 คน = 650,000 บาท) โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เดินทางมาดูแลคนงานด้วย

นี่คือหนึ่งในหลายสิบนายหน้า ที่ทำตัวหาคนงานมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ และกำลังจะขยายไปนอร์เวย์อีกด้วย

นายหน้าที่ทำมาหากินกับค่าหัวคิว เห็นแก่เงิน และไร้ซึ่งจิตสำนึก ไม่มีความรู้ความเข้าใจในต้นต่อปัญหา ไร้ความรับผิดชอบ และไม่มีศักยภาพใดๆ ทั้งสิ้นที่จะรองรับความเสียหาย

โซ่สายส่ง “แรงงานทาส” ของธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติ คือ ต้นต่อปัญหาที่สั่งสมมากว่า 40 ปี ที่เมืองไทย

ถ้าไปเมืองนอกแล้วรวยจริง คนอีสานต้องเป็นคนรวยมากที่สุดในประเทศไทย

นับตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน มีคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรจากอีสานรวมกันว่า 4 ล้านคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยที่ 90% เป็นการเดินทางไปกับบริษัทจัดหา(ค้า)งานเอกชนที่คิดค่าหัวคิวจากพวกคน งานอย่างโหดร้าย

เงินจำนวนมากถูกหล่อเลี้ยงธุรกิจค้าแรงงานและ สายป่านโยงใยข้าราชการและนักการเมืองตั้งแต่ระดับกรุงเทพฯ จนถึงจังหวัดเป้าหมายต่างๆ มาอย่างยาวนานที่จำเป็นต้องแก้ไขให้ได้เสียที

เพราะระบบนี้ ส่วนมากแล้วคนงานต้องทำงานฟรีตามสัญญา ถ้าสัญญา 2 เดือนเช่นเก็บเบอร์รี่ ค่าใช้จ่ายแน่ๆ คือ 160,000 บาท (เท่ากับเงินเดือน 2 เดือน)

คนตกหลุมพรางส่วนใหญ่ จะถูกทำให้เชื่อลมปากมากกว่าสัญญา (ที่พวกเขาเห็นหลังจากจ่ายเงินให้นายหน้าไปแล้วหลายงวด) กับคำพูดประเภท “ไม่ต้องสนใจเงินเดือนตามสัญญา เพราะคนงานจะได้เงินจากรายได้พิเศษและค่าล่วงเวลามากมาย”

การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างบริษัทเอกชนกับ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาโซ่ความสัมพันธ์ของธุรกิจค้าแรงงานชาว ไทย (ที่ทรหดและอดทนยิ่งกว่าควายเหล็ก) และดำรงการสนับสนุนให้บริษัทจัดส่ง โดยรัฐไม่ยอมดำเนินการจัดส่งเอง ด้วยข้ออ้างว่า “บริษัททำได้ดีกว่า” เพื่อเปิดโอกาสให้ 200-300 บริษัท ที่ได้รับอนุญาตและส่งเสริมจากกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ส่งคนงานไปต่างประเทศปีละกว่าแสนคนเพื่อเงินค่าหัวคิว (ที่ไม่เคยเก็บตามกฎหมาย) และเงินใต้โต๊ะที่หล่อเลี้ยงกันทั้งกรมกองที่เกี่ยวข้อง (ที่ตรวจจับไม่ได้)

แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐจัดส่งเอง เพื่อป้องกันการโกงและหลอกลวง กระทรวงก็ยังดื้อดึงให้บริษัทจัดหางานรับผิดชอบส่งคนงานที่ต้องผ่านกระทรวง แรงงานกว่า 90% ไปทำงานต่างประเทศ (ไม่รวมพวกพาคนเข้าเกาหลีหรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ต้องผ่านกระทรวงฯ) ทั้งนี้กระทรวงแรงงานดำเนินการจัดส่งเองตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไม่มีค่า นายหน้าเพียง 5% เท่านั้น

บริษัทเหล่านี้ ไม่มีศักยภาพ และไม่เตรียมรับผิดชอบความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับการส่งออก “แรงงานทาส สินค้ามีชีวิตราคาถูก” นับหมื่นนับแสนคนต่อปี ที่แต่ละบริษัทหลอกล่อมาเพื่อป้อนออเดอร์จากต่างประเทศ

คิดดูแล้วกันว่า เพราะเหตุใด อุตสาหกรรมเบอร์รี่นี้จึงชอบคนไทยนักหนา เพราะไม่มีคนงานชาติไหนทนกับสภาพการทำงานทาส ไร้ศักดิ์ศรี ต้องทำตัวเป็นเครื่องจักรเก็บเบอร์รี่ วันละ 12-20 ชั่วโมง ตลอด 60-70 วันไม่เคยหยุด “กินน้อย นอนน้อย ไม่หยุด ไม่ลาป่วย ไม่ต้องสนุก” เช่นคนไทยได้อีกแล้ว

ในขณะที่คนงานชาติอื่นๆ ทั้งจีน บังคลาเทศ หรือเวียดนาม ไม่สามารถทำงานได้เกิน 2 หรือ 3 อาทิตย์ก็ประท้วงกันแล้ว จนสถานทูตทั้งสองประเทศต้องปิดวีซ่าเก็บเบอร์รี่จากหลังเกิดการประท้วง

แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังเป็นที่กังขากันว่าเพราะเหตุใด คนงานไทยที่เจอปัญหา เสียหายและประท้วงกันทุกปี แต่สถานทูตที่เมืองไทยก็ยังไม่ปิดวีซาพาคนมาเก็บเบอร์รี่ ธกส. ก็ยังปล่อยเงินกู้ และกรมการจัดหางานก็ยังเดินหน้าเจรจาให้บริษัทจัดหางานอยู่เช่นเดิม และยังส่งเสริมให้คนไทยมากันมากขึ้น ราวกับแม่งเมาบินเข้ากองไฟ จนสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเช่นนี้

งานเก็บเบอร์รี่ ต้นทุนสูง เป็นงานค้าทาส ที่ไม่ควรส่งเสริมอย่างย่ิง

การส่งเสริมมาเก็บเบอร์รี่เป็นนโยบายที่ผิด พลาดของกระทรวงแรงงาน ที่ชินกับการรับเงินใต้โต๊ะจากธุรกิจเบอร์รี่และบริษัทนายหน้าค้าเบอร์รี่มา ตั้งแต่ยุคอดีต รมต. ไพฑูรย์ แก้วทอง กระทรวงแรงงานจึงยังไม่ยอมหยุดหนุนและหยุดอุ้มธุรกิจเบอร์รี่ที่ประเทศร่ำ รวย และไม่ยอมศึกษาความเสียหาย

แม้เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ตาม ก็ยังคงดาหน้าดำเนินโครงการหาเงินกู้และรับประกันเงินกู้ ธกส. ส่งคนไทยไปตายเมืองนอกกันต่อไป

กรณีเบอร์รี่เป็นหนึ่งในบทเรียนแห่งการไร้ วิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงาน ของธนาคารของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ ธกส. (รับไปเต็มๆ) ที่ปล่อยเงินกู้ไม่รู้กี่พันคนจากจำนวนนับ 10,000 คน  แทนที่จะปล่อยเงินกู้เพื่อพัฒนาเกษตรที่ไร่นาของตัวเอง

เป็นการปล่อยให้เกษตรกรไทย ขนเงินออกจากประเทศไทยปีนี้ทั้งสิ้นกว่า 700 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจากประเทศไทยคนละไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท) เพื่ออุดหนุนธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติชาวไทย และช่วยอุ้มธุรกิจเบอร์รี่ที่ประเทศร่ำรวย ที่ขยายเติบโตอย่างรวดเร็วบนน้ำพักน้ำแรง “ทาสชาวไทย”

ที่ฟินแลนด์ แรงงานไทยแค่หนึ่งในสี่ (3,000 ต่อ 12,000 คน) ของคนเดินทางเก็บเบอร์รี่จากประเทศอ่ืนๆ (โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกและยูเครน) และคนท้องถิ่น แต่สามารถเก็บเบอร์รี่ป้อนอุตสาหกรรมเบอร์รี่ในสัดส่วน 80% ของเบอร์รี่ที่เก็บขายให้บริษัทแปรรูปเบอร์รี่ทั้งหมด

แต่เกือบทุกปี คนงานเก็บเบอร์รี่จำนวนไม่น้อยไม่เหลือเงินติดตัวกลับมาบ้านเลย และส่วนใหญ่กลับพร้อมกับความรู้สึกว่าได้เงินไม่คุ้มค่าเหนื่อย

จากการพูดคุย กับหลายฝ่าย แม้ว่าอุตสาหกรรมเบอร์รี่ต้องการให้คนงานเก่ากลับมา แต่ทุกๆ ปีจะมีคนงานเก่ากลับมาแค่ 40% อีก 60% เป็นคนงานใหม่ แสดงว่าคนงาน 60% ของแต่ละปี มาครั้งเดียวแล้วก็รู้ฤทธิ์ความลำบากและการทำงานฟรี และก็ไม่มาอีก

ความโชคดีบน ความเสียหายของคนจำนวนเยอะกว่า คือ คนไม่ถึง 40% ที่เริ่มชินกับความลำบาก รู้แหล่งเบอร์รี่ดก หรือหาคนงานใหม่มาให้บริษัท (ค่านายหน้าหาคนงานให้บริษัทหัวละ 3,000-5,000 บาท) เพื่อป้อนอุตสาหกรรมแลกกับการได้ลดค่านายหน้าและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายตัวเอง

งานเก็บเบอร์รี่ เป็นงานที่ใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักร ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า จนลืมความเป็นมนุษย์ ละเลยเรื่องงานที่มีคุณค่า เรื่องสิทธิแรงงาน และเรื่องสิทธิมนุษยชน

กระทรวงแรงงานต้องหยุดส่งเสริมและหยุดให้อนุญาตนักค้าแรงงานชาวไทยพาคนงานไปทำงานทาสเช่นนี้

และต้องต่อรองกับธุรกิจเบอร์รี่ว่า ถ้าธุรกิจเบอร์รี่ต้องการคนงานไทย ก็ให้จ่ายค่าใช้จ่ายให้คนงานทั้งหมด และดูแลคนงานไทยด้วยความให้เกียรติและปฏิบัติตามหลักกฎหมายฟินแลนด์และ สวีเดน

————————-

ดูเพิ่มเติม จรรยา ยิ้มประเสริฐ: “เจาะลึกและตีแผ่ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน ฟินแลนด์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท