ภาคภูมิ แสงกนกกุล: เมดิคัลฮับและความไม่เท่าเทียม (ตอนจบ)

นโยบายเมดิคัลฮับเมื่อปี 2546 สร้างความตื่นตัวให้โรงพยาบาลเอกชน จากเดิมที่มีโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางและขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่เป็นลักษณะโรงพยาบาลนานาชาติรับรักษาลูกค้าชาวต่างชาติและมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าที่ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ ปัจจุบันโรงพยาบาลขนาดกลาง ขนาดใหญ่และโรงพยาบาลลูกของเครือข่ายขนาดใหญ่ต่างมีแผนกรับลูกค้าต่างชาติเกือบทุกโรงพยาบาล และลูกค้าต่างชาติก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ชาวจีน อาหรับ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนรัฐบาลและขาดความต่อเนื่องของนโยบายทำให้การพัฒนาเป็นเมดิคัลฮับมีความกระจัดกระจายและไม่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ในภูมิภาคได้ ในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนมีสภาพให้การบริการการแพทย์เชิงท่องเที่ยว(medical tourism) มากกว่าการเป็นเมดิคัลฮับ (medical hub)ในความหมายของความเป็นเลิศด้านการแพทย์ทุกสาขา ได้มาตรฐานความปลอดภัยคุณภาพระดับสากล และเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์

การพัฒนาเป็นเมดิคัลฮับต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ในด้านการสร้างโครงสร้างคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อตั้งแต่สนามบินไปสู่เมดิคัลฮับ ตัวเมือง สถานที่ท่องเที่ยว และงานบริการด้านอื่นๆ เช่น งานด้านเอกสาร พาสปอร์ต ส่วนภายในศูนย์เมดิคัลฮับเป็นศูนย์รวมของการบริการทางการแพทย์ทุกสาขา ห้องแลบ และศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ภายในบริเวณใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ต้องมีการสร้างโรงแรมที่พักที่ได้มาตรฐานเพื่อรองรับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ภายในโรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการรักษา ในด้านบุคลากรสาธารณสุข ภาครัฐต้องผลิตบุคลากร ทั้งพยาบาล แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ บุคลากรสาธารณสุขทุกคนต้องพูดได้อย่างน้อยสองถึงสามภาษาอย่างชำนาญ ในปัจจุบันบริเวณที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นเมดิคัลฮับได้ทันทีคือ บริเวณตั้งแต่สามย่านติดต่อทอดยาวไปถึงอนุสาวรีย์ชัย เพราะตั้งอยู่ในใจกลางเมืองความเจริญ และที่ท่องเที่ยว มีระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อตั้งแต่สนามบิน มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ห้องแลป ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงต่างประเทศ โรงแรม ร้านอาหาร และบุคลากรที่มีความพร้อม

เนื่องจากนโยบายต้องอาศัยภาษีประชาชนในการสร้างเมดิคัลฮับเพื่อตอบสนองความต้องการการรักษาของคนรวยจากต่างประเทศ และคัดกรองเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขที่มีความสามารถสูงเข้าสู่ระบบ นโยบายเมดิคัลฮับจึงมีข้อด้อยให้วิจารณ์ว่าจะสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย คนเก่งๆจะสมองไหลไปสู่เมดิคัลฮับที่ค่าตอบแทนสูงกว่า อัตราส่วนระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่แตกต่างกันระหว่างโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นปัญหาในปัจจุบันจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก  นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบให้ราคาค่ารักษาในตลาดพุ่งสูงขึ้น ระบบสาธารณสุขภาครัฐจะล้มละลายจากการต้องทุ่มเงินเพิ่มค่าตอบแทนให้หมอเพื่อลดภาวะสมองไหล นอกจากนี้การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกสามปีข้างหน้า ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอจากการที่บุคลากรทางการแพทย์โยกย้ายไปทำงานในประเทศอื่นในอาเซียนที่มีรายได้มากกว่า และนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวอาเซียนที่ย้ายเข้ามารักษาในประเทศไทย เกิดการแย่งทรัพยากรสาธารณสุขระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ และคุณภาพการรักษาของคนไทยด้อยลง [1]

จากข้างต้นสิ่งที่จำเป็นต้องนำมาคิดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่งคือ เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเรื่องการแย่งชิงทรัพยกรสาธารณสุขระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ระหว่างภาครัฐและเอกชน และระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง
เรื่องแรก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเมดิคัลฮับเป็นนโยบายคนละเรื่องกัน นโยบายแรกเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนนโยบายที่สองเป็นนโยบายของรับบาลไทย การเกิดหรือไม่เกิดเมดิคัลฮับในไทยไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีใน 7 ประเภทแรงงานฝีมือได้แก่ วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือการแพทย์ วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรม วิชาชีพพยาบาล วิชาชีพด้านวิศวกรรม วิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม วิชาชีพเกี่ยวกับการสำรวจและนักสำรวจ และวิชาชีพบัญชี เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีแล้วบุคลากรสาธารณสุขส่วนหนึ่งย่อมสมองไหลไปสู่พื้นที่ๆเงินเดือนสูงกว่า ได้แก่ สิงคโปร์ และ บรูไน อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายแรงงานสาธารณสุขไม่น่ารุนแรงอย่างที่คิดเนื่องจากอุปสรรคความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรมและศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลามซึ่งมีกฎระเบียบการรักษาที่แตกต่างจากศาสนาพุทธ ในทางตรงกันข้ามการสร้างเมดิคัลฮับในประเทศไทยอาจส่งผลลดภาวะสมองไหลไปสู่สิงคโปร์หรือบรูไน เมื่อประเทศไทยมีเมดิคัลฮับเป็นของตนเองและสามารถแข่งขันเมดิคัลฮับในสิงคโปร์และมาเลเซีย สามารถสร้างรายได้และมีเงินเดือนสูงที่ดึงดูดให้บุคลากรสาธารณสุขเก่งๆอยู่ทำงานในประเทศไทยต่อไป

เรื่องที่สองเรื่องการแย่งทรัพยากรสาธารณสุขระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน ประเด็นนี้ต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าทุกวันนี้ในระบบสาธารณสุขไทยไม่มีการแย่งชิงทรัพยการสาธารณสุขระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ ระหว่างภาคเอกชนเลยใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ ทุกวันนี้ถึงแม้ไม่มีเมดิคัลฮับ ภาคเอกชนก็พร้อมที่จ่ายเงินเดือนสูงๆเพื่อซื้อตัวคนเก่งๆจากภาครัฐมาอยู่แล้ว ภาคเอกชนพร้อมที่จะซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาโรคราคาแพง มาพื่อแข่งขันกับภาครัฐและภาคเอกชนด้วยกันเอง นักลงทุนพร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลใหม่ๆได้ทันทีถ้าโครงการดังกล่าวให้ผลตอบแทนมหาศาล สิ่งที่อาจส่งผลกระทบภายหลังการเกิดเมดิคัลฮับคือ การแย่งทรัพยากรระหว่างคนไทยกัยคนต่างชาติ เพราะถึงแม้ลูกค้าต่างชาติจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนไทยในประเทศแต่สามรถดึงบุคลากรสาธารณสุขได้มากกว่า [2]

การวางธงคำตอบว่านโยบายเมดิคัลฮับจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขไทยจึงเปรียบเสมือนการปิดตาข้างเดียวและไม่ยอมรับว่าทุกวันนี้ระบบสาธารณสุขไทยมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว และละเลยต้นตอของความไม่เท่าเทียมกันนั้นออกไป จากตอนที่หนึ่งและสองได้สรุปสาเหตุปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขไทยไว้ 5ประการคือ 1ความไม่เท่าเทียมกันด้านชนชั้นสังคมและ 2การกระจายความมั่งคั่ง 3ความไม่เท่าเทียมกันด้านการพัฒนาระหว่างกรุงเทพฯและต่างจังหวัด 4การขาดการลงทุนจากภาครัฐ และการปราศจากกฎหมายและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพและ5ทำให้การแพทย์พาณิชย์เติบโตขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย นโยบายเมดิคัลฮับจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นหรือไม่จึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบเพราะขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายควบคุมไม่ให้ซ้ำเติมเหตุผลห้าประการข้างต้น     
แทนที่จะหวาดกลัวว่าเมดิคัลฮับจะสร้างความไม่เท่าเทียม เราควรออกแบบนโยบายสร้างเมดิคัลฮับเพื่อนำความเจริญเข้าประเทศและสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมควบคู่กันไป โดยเมดิคัลฮับสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนบริการย่อยคือ บริการด้านการรักษาพยาบาล และภาคบริการควบคู่ได้แก่ ภาคโรงแรมการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งจุดประสงค์ของความเท่าเทียมในระบบสาธารณสุขคือลดความเหลื่อมล้ำในภาคการรักษากล่าวคือ ถ้าประชาชนไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไรถ้าป่วยเหมือนกันและได้รับการรักษาที่มาตรฐานเดียวกันย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ความแตกต่างด้านภาคบริการควบคู่เช่นเรื่องโรงแรม การท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่นอกเหนือระบบสาธารณสุข ลูกค้าย่อมมีสิทธิจ่ายราคาแพงเพื่อซื้อบริการที่แตกต่างได้ เมดิคัลฮับสามารถสร้างความเท่าเทียมได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายเช่น

  •  ลดความเหลื่อมล้ำการกระจายความมั่งคั่ง เมดิคัลฮับสามารถสร้างงานให้ชนชั้นล่างได้จากการเติบโตภาคบริการ เช่น ภาคโรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว การสร้างงานให้พวกเขายังช่วยเปลี่ยนสภาพแรงงานใต้ดินให้อยู่บนดินและรัฐสามารถเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศหรืออุดหนุนประกันสังคมหรือ สามสิบบาทรักษาทุกโรค มาเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ หรือนำมาลงทุนสร้างบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มเติมเพื่อลดความขาดแคลน

นอกจากนี้ควรตั้งอัตราภาษีก้าวหน้าเพื่อกระจายความมั่งคั่งจากบุคลากรสาธารณสุขในเมดิคัลฮับและผู้ประกอบการไปสู่สังคม การตั้งอัตราภาษีควรตั้งในอัตราที่พอเหมาะเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนส่วนหนึ่งเข้ามาในระบบเมดิคัลฮับและสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้
และควรเก็บค่ารักษาราคาแพง หรือเก็บภาษีกับชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในเมดิคัลฮับโดยไม่ควรกังวลว่าจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเมดิคัลฮับต่างประเทศได้ เพราะเมดิคัลฮับแข่งขันกันด้านคุณภาพบริการซึ่งบุคลากรสาธารณสุขไทยมีความสามารถสูง

  • ลดความเหลื่อมล้ำการพัฒนาระหว่างกรุงเทพฯและภูมิภาคอื่นๆ การสร้างเมดิคัลฮับต้องทำควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อภูมิภาคใดมีเมดิคัลฮับแล้วความเจริญย่อมตามมา ดังนั้นการสร้างไม่ควรกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ควรสร้างเมดิคัลฮับไม่เกินห้าแห่งได้แก่ ภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก ภาคภลาง และภาคใต้ กระจายบุคลากรสาธารณสุข อุปทานการแพทย์ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ
  • ลดปริมาณผู้ประกอบการในตลาดบริการการรักษาในภาคเอกชน เมื่อเมดิคัลฮับเกิดขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการ โรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีคุณภาพการรักษาที่ดีพออกไปจากตลาด เมื่อปริมาณโรงพยาบาลเอกชนลดลงภาวะสมองไหลของบุคลากรสาธารณสุขจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนย่อมลดลงตาม การสั่งซื้อเครื่องมือแพทย์ราคาแพงที่ไม่จำเป็นก็ลดลง นอกจากนี้การที่เมดิคัลฮับสามารถสร้างรายได้ภาษีให้ภาครัฐมาลงทุนพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลรัฐแข่งขันแย่งคนไข้รายได้ปานกลางจากโรงพยาบาลเอกชน 

การที่สังคมให้ความสำคัญในประเด็นความไม่เท่าเทียมกันย่อมเป็นสัญญาณที่ดี แต่การมุ่งเฉพาะประเด็นเดียวโดยขาดการมองรอบด้านประเด็นอื่นอาจส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง ความไม่เท่าเทียมกันสามารถฆ่าคนได้ แต่ความยากจนเองก็สามาถฆ่าคนตายได้เช่นกัน การลดความไม่เท่าเทียมกันในสาธารณสุขโดยมุ่งเน้นแต่การจัดหาการรักษาพยาบาลที่ดีและราคาถูกแก่ประชาชนย่อมสร้างระบบประกันสุขภาพภาครัฐที่ไม่ยั่งยืน แต่ต้องมีนโยบายยกระดับรายได้ความเป็นอยู่ จัดหาอาชีพให้คนจนด้วยเพื่อให้คนจนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง มีรายได้เป็นของตนเองและสามารถจ่ายภาษีให้รัฐเพื่อให้รัฐนำเงินภาษีประชาชนมาใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขภาครัฐซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

นอกจากการสร้างเมดิคัลฮับควบคู่กับการลดความไม่เท่าเทียมแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างเมดิคัลฮับไม่ควรมุ่งเป็นการพาณิชย์มากไปจนกระทั่งละเลยประเด็นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งระบบกฎหมายจริยธรรมการแพทย์และชีวจริยศาสตร์ไม่แข็งแรงพอ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วในอนาคตเมดิคัลฮับประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดแปลงเพศ การเปลี่ยนมดลูกผู้หญิงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเด็กทารก การลักลอบปลูกถ่ายอวัยวะ การทดลองทางการแพทย์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแตกแยกกับสังคมในอนาคต

 

เชิงอรรถ

[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341307618&grpid=03&catid=&subcatid=

[2] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341307618&grpid=03&catid=&subcatid=

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท