"รสนา" ชี้โฆษณาการปรับขึ้นราคา LPG ของ ก.พลังงาน บิดเบือนข้อเท็จจริง

"รสนา โตสิตระกูล" สว.กทม. ชี้โฆษณาของกระทรวงพลังงาน ในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจี ในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ โดยมีการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและบิดเบือนข้อเท็จจริงกับประชาชน

วันนี้ (14 ตุลาคม 2555) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเวทีประชาเสวนา สานปัญญาสู้ปัญหาพลังงาน นางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์  เกษมศรี อนุกรรมาธิการฯ ได้เปิดแถลงข่าว กรณีที่กระทรวงพลังงานได้เผยแพร่โฆษณาชุด “รวมพลังปลดดินพอกหางหมู” ที่มีเนื้อหากล่าวหาว่ามีการใช้ก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจีผิดประเภทในกลุ่ม รถยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไปว่า โฆษณาของกระทรวงพลังงานดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและบิดเบือน กับประชาชน

หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์  เกษมศรี อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์การใช้ก๊าซแอลพีจีในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้ใช้สองกลุ่มใหญ่ คือ ภาคประชาชน ประกอบด้วย ภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมทั่วไป ทั้งนี้ ในปี 2554 ปริมาณการใช้ของทั้งสองภาคมีปริมาณใกล้เคียงกันคือ ภาคประชาชน มีสัดส่วนร้อยละ 51.8 โดยใช้รวมกัน 3.57 ล้านตัน ครัวเรือนใช้ 2.65 ล้านตัน ยานยนต์ใช้ 0.92 ล้านตัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้ร้อยละ 48.2 หรือใช้รวม 3.32 ล้านตัน ปิโตรเคมีใช้ 2.6 ล้านตัน อุตสาหกรรมทั่วไปใช้ 0.72 ล้านตัน จึงเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีครึ่งหนึ่งเกิดจากภาคอุตสาหกรรมโดย เฉพาะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ปตท ที่มีการขยายตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากภาคครัวเรือนและยานยนต์ที่มีการใช้ อย่างสิ้นเปลือง จึงเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง

นางสาวรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. ในฐานะในฐานะประธานคณะอนุ กรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้กล่าวถึงข้อเสนอที่รัฐบาลควรดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการกำหนดราคาแอลพีจีที่ เป็นธรรมต่อประชาชน คือ
 
1. รัฐควรจัดลำดับความสำคัญในการใช้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติให้ภาคประชาชนใช้ก่อน เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลพีจีมาจากแผ่นดินไทย อันเป็นทรัพยากรของประชาชน ทั้งนี้ในปี 2554 โรงแยกก๊าซฯ มีกำลังการผลิตก๊าซแอลพีจีได้ 3.60 ล้านตัน (ภาคประชาชนใช้ 3.57 ล้านตัน) โดยในปี 2555 คาดว่าจะผลิตได้ 3.88 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ของภาคประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้นก๊าซแอลพีจีส่วนที่เหลือจากการใช้ของภาคประชาชนให้จำหน่ายกับภาค อุตสาหกรรมได้ หากไม่เพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระในการนำเข้าเอง
 
2. เนื่องจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นระบบสัมปทานที่รัฐได้รับ ผลประโยชน์ตอบแทนต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้ผู้รับสัมปทานมีต้นทุนการผลิตก๊าซแอลพีจีที่ต่ำ เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ อันเป็นแหล่งใหญ่มีพื้นทีครอบคลุมถึง 5 จังหวัดได้ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ มีต้นทุนการผลิตแอลพีจีบวกกำไรของผู้รับสัมปทาน อยู่ที่ประมาณ 9 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ราคาค้าปลีกแอลพีจีที่จำหน่ายให้แก่ภาคครัวเรือน และภาคยานยนต์ ซึ่งรวมกำไรของผู้ค้าและภาษีแล้ว อยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม และ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จึงเป็นราคาที่ผู้ค้าได้กำไรมากอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่สมควรที่รัฐจะให้มีการปรับราคาแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ เพิ่มขึ้นอีก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากงบการเงินของ บมจ.ปตท.)

3. ให้เลิกนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนการใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบของ ธุรกิจปิโตรเคมี ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกประมาณร้อยละ 40 การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนให้ภาคปิโตรเคมีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่มีขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน มิใช่เพื่อไปอุดหนุนราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุน และยังเป็นการเอาเปรียบประชาชน ผู้เป็นเจ้าของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
 
4. จากข้อมูลปริมาณแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซฯ ในประเทศ ซึ่งพอเพียงต่อการใช้ของภาคประชาชน ดังที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 1 ดังนั้น ปัญหาหลักที่ต้องมีการนำเข้าแอลพีจี และมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากประชาชนเกิดจากนำเงินไปอุดหนุนธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.ปตท ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม จึงควรให้ บมจ.ปตท. ส่งคืนเงินที่ได้รับชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจีนำเข้าไปแล้วประมาณหนึ่งแสน ล้านบาทให้แก่กองทุนน้ำมันฯ โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมันฯ ที่นำไปชดเชยให้ภาคปิโตรเคมีนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
 
5. ให้ปลัดกระทรวงและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานแสดงความรับผิดชอบต่อ การนำเสนอนโยบายที่เป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร ปิโตรเลียมในความพยายามสร้างผลกำไรให้ภาคธุรกิจพลังงานเกินสมควร ด้วยการลาออกจากการเป็นกรรมการของธุรกิจพลังงานทั้งหมด เนื่องจากการรับเงินเดือน โบนัส และเบี้ยประชุมจากบริษัทพลังงานของข้าราชการเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับ ซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ จึงนำมาซึ่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น และเป็นการกระทำที่ผิดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างร้ายแรง
 
คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและประชาชน ได้จัดเวทีประชาเสวนา สานปัญญาสู้ปัญหาพลังงาน มาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2555 โดยจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์เวลาบ่ายโมงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมล่าสุดคือการเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อร่วมฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซธรรมชา ติจากปตท. มีผู้สนใจมอบอำนาจให้ทนายความอาสายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางรวมกว่า 1,000 ราย และได้มีการนัดหมายเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 5.แจ้งวัฒนะในวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2555 เวลา 11.00 น.โดยประมาณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท