ทัศนะจากชายแดนใต้ ‘หยุดวันศุกร์คือโอกาส...’

เปิดความเห็นนักวิชาการ ชี้หยุดวันศุกร์ในชายแดนใต้ เป็นโอกาสสร้างความเข้าใจวิถีมุสลิม แนะนำถกในเวทีสาธารณะสร้างมติมหาชนเอา-ไม่เอาเป็นวันหยุดราชการ กอ.รมน.ชี้ขบวนการทำเนียนป้ายสีรัฐ ไม่ต้องตามแก้แม้ชาวบ้านไม่ชอบ

หยุดวันศุกร์

เจ้าหน้าที่ระดับสูง
ในกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

การปล่อยข่าวลือข่มขู่ให้หยุดทำงานในวันศุกร์เป็นความรับผิดชอบของ ฝ่ายปฏิวัติความคิดจิตวิญญาณหรือฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีสายงานระดับกลางของขบวนการ คือกลุ่มปฏิบัติการข่าวสาร (IO) หรือปฏิบัติการจิตวิทยา ทั้งในรูปของภาพถ่าย วีดีโอ เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนทีมงานระดับล่าง ได้แก่ พวกทำใบปลิว สร้างข่าวลือ ข่มขู่ประชาชน การปล่อยข่าวลือข่มขู่ให้หยุดค้าขายในวันศุกร์ เป็นหน้าที่ของทีมงานระดับล่างของฝ่ายปฏิวัติความคิดจิตวิญญาณ จะเป็นผู้ปล่อยข่าวลือและลอบวางระเบิด เพื่อให้ประชาชนกลัวจนต้องหยุดค้าขายในศุกร์

เมื่อประชาชนหยุดขายของกันอย่างเต็มที่แล้ว ทางขบวนการก็จะปล่อยอีกชุดว่า ข่าวลือที่ขู่ให้หยุดค้าขายวันศุกร์เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ฝ่ายขนวนการทำ เพราะหากประชาชนรู้ว่าเป็นการกระทำของขบวนการ ก็จะเกิดความเสียหายแก่ขบวนการเสียเอง

ขณะเดียวกันแม้ว่าฝ่ายขบวนการเองอาจจะมองว่า การหยุดวันศุกร์ส่งผลเสียต่อคนโดยรวม ฝ่ายขบวนการก็จะไม่แก้ไขหรือแก้ข่าวเพื่อให้ประชาชนกลับมาค้าขายเหมือนเดิม จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐแก้ข่าว เพื่อประชาชนกลับมาทำการค้าขายเหมือนเดิมตามปกติ เพราะขบวนการคิดว่าถึงอย่างไรรัฐก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็เท่ากับว่าปัญหาเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขอยู่ดี

ส่วนการแก้ปัญหาการหยุดวันศุกร์นั้น รัฐต้องสร้างกระแสให้ประชาชนกลับมาค้าขายให้เร็วที่สุด และมีการค้าขายเป็นปกติ ซึ่งฝ่ายขบวนการจะไม่ออกมาข่มขู่ประชาชนอีกแล้ว เพราะฝ่ายขบวนการถือว่าผ่านบททดสอบไปแล้ว ซึ่งเหมือนกับข่าวลือให้มีการหยุดค้าขายในวันศุกร์ในช่วงปี 2549 ซึ่งสุดท้ายแล้ว ข่าวลือจะหายไปเอง โดยที่ไม่มีคนออกมาข่มขู่ประชาชนที่ออกมาค้าขายในวันศุกร์

 

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
นักวิชาการอิสระ

การหยุดวันศุกร์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ต้องเข้าใจว่า   นี่คือการเรียกร้องให้รัฐเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่นี่ เพราะเป็นวันสำคัญสำหรับมุสลิมตามอัลลอฮตรัสว่า วันศุกร์เป็นวันที่ดีที่สุดในเจ็ดวันสำหรับการทำความดี เป็นวันที่มีการละหมาดวันศุกร์และมีการเรียนการสอนศาสนา นี่คือบริบทที่เกี่ยวข้องในเรื่องศาสนา

ปัญหาคือ รัฐไม่สามารถแยกออกว่า อันไหนเป็นความต้องการของประชาชน และอันไหนเป็นแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม เมื่อรัฐไม่สามารถแยกได้รัฐก็เลยมั่ว นำเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องเป็นกับการเมือง

การหยุดวันศุกร์ เป็นการสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจอิสลาม ให้รัฐเข้าใจวิถีชีวิตของอิสลาม ซึ่งมีการพูดคุยเรื่องนี้มานานแล้ว แต่รัฐไม่เข้าใจจึงปล่อยปละละเลย ทำให้การปล่อยข่าวลือของฝ่ายตรงข้ามมีพลังมหาศาล เพราะทำให้ประชาชนมีความกลัวเกินกว่าที่รัฐจะควบคุมได้ แม้จะมีทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือจุฬาราชมนตรีออกมาบอกว่าไม่ต้องหยุดงานวันศุกร์ ประชาชนก็ยังไม่ทำตาม

ความต้องการหยุดวันศุกร์กับความจำเป็นในการหยุดวันศุกร์และความจำเป็นในการทำมาหากินในวันศุกร์เป็นคนละเรื่อง แต่ถูกเหมารวมให้หยุดทำงานไปด้วย ต่างกับประเทศซาอุดีอาระเบียที่เมื่อถึงเวลาอาซาน(การประกาศเชิญชวนให้คนละหมาด) ร้านค้าจะปิดทั้งหมด เมื่อละหมาดเสร็จร้านค้าต่างๆ ก็รีบกลับมาเปิดค้าขายต่อเหมือนเดิม เพราะอิสลามบอกว่าเสร็จละหมาดแล้วให้รีบไปหารีสกี(ปัจจัยยังชีพ)บนหน้าแผ่นดิน

ผมเห็นว่า การส่งทหารมาควบคุมพื้นที่ในวันพฤหัสกับวันศุกร์ เหมือนจะบอกว่ารัฐมีอำนาจ ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามกลัว แต่คนที่กลัวกลับเป็นประชาชน แสดงว่ารัฐยังไม่สามารถควบคุมข่าวลือได้ ยิ่งสร้างความกลัวให้ประชาชนมากขึ้น

ตั้งแต่มีข่าวลือที่ให้หยุดวันศุกร์เมื่อ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ประชาชนยังหยุดวันศุกร์มากขึ้น ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วยกับการหยุดวันศุกร์และยินดีเพราะจะได้เตรียมละหมาดวันศุกร์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดค้าขาย ต้องแยกให้ออก เมื่อมีข่าวลือขู่ให้หยุดวันศุกร์ทุกคนพร้อมใจจะหยุดอยู่แล้ว แต่รัฐยังไม่ยอมให้หยุด

ในขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นบางแห่ง พอถึงเวลา 11.00 น.ของวันศุกร์ก็ให้หยุดทำงาน เพราะความกลัว ซึ่งรัฐน่าจะใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการสอดรับความต้องการของคนในพื้นที่

การหยุดวันศุกร์เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่มานานมาแล้ว แต่รัฐยังไม่สนอง เมื่อฝ่ายตรงข้ามออกมาข่มขู่ให้หยุดวันศุกร์ รัฐก็ออกมาตอบโต้การขู่ดังกล่าว ประชาชนก็ไม่สนใจรัฐแล้ว เพราะประชาชนยังกลัวฝ่ายตรงข้ามรัฐมากกว่า จึงยังต้องหยุดวันศุกร์ ซึ่งตรงนี้ทำให้รัฐเสียหาย ยิ่งคนหยุดงานมากขึ้นรัฐก็เสียหายมากขึ้น เพราะรัฐไม่สามารถคุ้มกันประชาชนได้

ในบางอำเภอชาวบ้านปิดบ้านเงียบ ไม่กล้าออกไปไหน มีแต่ทหารถืออาวุธปืนคุ้มอยู่ แต่ฝ่ายตรงข้ามไม่ต้องวางระเบิดและใช้ปืนยิงก็สามารถให้ชาวบ้านอยู่แต่ในบ้านได้ นี่คือความสำเร็จของเขา รัฐยังไม่สามารถทำให้ชาวบ้านสบายใจได้ ทั้งๆที่มีเจ้าหน้าที่คุ้มกันถึงหน้าบ้าน

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลต้องทำตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการให้วันศุกร์เป็นหยุดราชการ ไม่ใช่ทำตามความต้องการของฝ่ายต่อต้านรัฐ เช่น ให้โรงเรียนหยุดวันศุกร์ นี่คือเรื่องสำคัญ เพราะการเอาชนะจิตใจของประชาชนไม่ต้องเอาชนะด้วยอาวุธ แต่เอาชนะด้วยการทำตามความต้องการของประชาชน

การให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ ต้องไม่ใช่เพราะมีคนมาข่มขู่ แต่หยุดเพราะเป็นความต้องการของประชาชน เรื่องนี้มีการเรียกร้องมาแล้ว 10 ปีแล้ว แต่รัฐไม่ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ปัจจุบันองศ์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร รวมทั้งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก็เคยเสนอให้รัฐบาลประกาศให้หยุดราชการในวันศุกร์ มาแล้ว

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

การข่มขู่ไม่ให้ค้าขายในวันศุกร์ เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองประเภทหนึ่งของฝ่ายขบวนการ มีเป้าหมายแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแง่วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา ภาษา ชาติพันธ์ของท้องถิ่น ซึ่งวันศุกร์เป็นเรื่องทางศาสนาที่ต้องมีการประกอบพิธีทางศาสนา มีการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งยังไม่พูดในหลักการศาสนาว่า มันควรหรือไม่ควร อีกทั้งในพื้นที่นี้เคยให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

เรื่องนี้จะเป็นตัวที่สะท้อนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บวกกับเป้าหมายทางการเมือง ในแง่ของการรุกทางการเมือง เพื่อตอบโต้การทำงานของฝ่ายรัฐในช่วงนี้ โดยเฉพาะนโยบายสานใจสู่สันติ ที่ให้คนออกมามอบตัวหรือยอมจำนน ที่ทำให้เห็นว่าขบวนการมีความอ่อนแอลง

หรือตอบโต้กรณีที่รัฐรายงานสถิติพื้นที่หรือหมู่บ้านที่มีเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีประมาณ 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ที่ไม่มีความรุนแรง ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์พบว่า คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดการค้าขายปรากฏว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกิดเหตุการณ์ แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจเชิงสัญลักษณ์ ที่แสดงให้ว่าอิทธิของขบวนการยังสามารถที่จะให้เกิดแรงกระเพื่อมทั่วทุกพื้นที่ได้ 

ตัวอย่างเช่น เหตุระเบิดที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีที่เกิดเหตุในวันศุกร์เพียงจุดเดียว แต่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกพื้นที่ได้ เป็นการแสดงสัญลักษณ์บวกกับความสามารถในการสื่อสารทางการเมืองของขบวนการด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องมีการแถลงข่าวหรือทำแถลงการณ์ เพียงแต่ใช้วิธีการพูดปากต่อปาก ก็สามารถกระจ่ายข่าวไปทั่วทุกพื้นที่ได้เร็วมาก

การสื่อสารแบบปากต่อปากหรือคนต่อคน สามารถส่งสัญลักษณ์ทางการเมืองหรือแสดงอำนาจอิทธิพลของฝ่ายขบวนการถือเป็นการเมืองแบบหนึ่งที่ทางฝ่ายขบวนการใช้ ควบคู่กับวิธีการทางทหาร การใช้ความรุนแรงบวกกับแรงขับเคลื่อนทางการเมืองและเชิงสัญลักษณ์ลักษณะนี้มีผลอย่างมาก

รัฐต้องคิดหลายชั้นในแง่ของการจัดการกับปัญหาแบบนี้  รัฐไม่สามารถจัดการปัญหาแบบชั้นเดียวหรือเพียงแค่การใช้นโยบายสันติสุขที่เอาคนมามอบตัวหรือจำนน แล้วถือว่ารัฐได้เปรียบและมองว่าขบวนการอ่อนแอ ผมคิดว่าการต่อสู้ของที่นี้มีความซับซ้อนมากกว่านั้น

การห้ามทำงานวันศุกร์คนจะยอมรับหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ขบวนการสามารถรุกทางเมืองได้ มีผลกระทบต่อวงกว้าง ฉะนั้นการจัดการกับปัญหาต้องคิดถึงเรื่องการเมือง การจัดการเชิงการเมืองที่สามารถใช้โอกาสรุกคืบ งานการทหารไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะจะให้ทหารไม่สามารถควบคุมทุกพื้นที่ในวันศุกร์ได้อย่างแน่นอน

การที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกแถลงการณ์ตอบโต้ก็เป็นความพยายามหนึ่งของฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องคิดหลายชั้นในการจัดการกับปัญหา

ความจริงแล้วการต่อสู้ทางการเมือง ไม่เพียงแค่บอกประชาชนไม่ให้กลัวอย่างเดียว เพราะจะห้ามไม่ให้ประชาชนกลัวไม่ได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ แต่การใช้เงื่อนไขทางการเมืองมาต่อสู้ คิดว่ามีความเป็นไปได้ โดยการสร้างพื้นที่ในทางการเมือง เพื่อที่จะให้มีพื้นที่ในการต่อสู้กัน

ตัวอย่างเช่น ความหมายของการหยุดวันศุกร์ ในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือศาสนา มาพูดคุยกันในเวทีสาธารณะ หรือพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ว่า มันควรตีความอย่างไร ควรหยุดหรือไม่ควรหยุด หากหยุดแล้วจะหยุดอย่างไร ต้องมาคุยกัน

เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นประเด็นในการพูดคุย โดยเอาภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนาและนักวิชาการมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันว่า จะทำอย่างไรกับการหยุดวันศุกร์เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ หรือหันกลับไปใช้นโยบายเดิมเมื่อหลายปีก่อนที่เคยหยุดราชการในวันศุกร์ ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเป็นลักษณะพิเศษของพื้นที่

แต่ขออย่างเดียวหากมีการพูดคุยกันแล้ว อย่าการทำร้ายกันหรือขุมขู่ คุกคามด้วยกลัวอย่างนี้ เพราะไม่มีความยั่งยืน ซึ่งแม้จะมีคนหยุดงานในวันศุกร์ แต่ก็หยุดเพราะความกลัว ไม่ใช่หยุดเพราะเห็นด้วยว่าควรหยุด หากพูดด้วยเหตุผล ด้วยความคิดและความเหมาะสมทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ หรือประเพณีวัฒนธรรมหรือศาสนา

หากฝ่ายรัฐรุกกลับโดยใช้วิธีทางการเมืองหรือเปิดพื้นที่สาธารณะในการพูดคุย คิดว่าจะเป็นโอกาสดีที่จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ โดยใช้เงื่อนไขที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นโอกาส เป็นการตอบโต้ในความหมายใหม่หรือสัญลักษณ์ใหม่ที่เราต้องใช้ในการพูดคุย ประเด็นนี้น่าจะให้ความสำคัญ

ส่วนแนวโน้มของเหตุไม่สงบในพื้นที่ จะเป็นลักษณะขึ้นๆลงๆอยู่อย่างนี้ เพราะตอนนี้ในทางนโยบาย ของรัฐเอง ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก สิ่งที่มีการพูดถึงในนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังไม่ได้ทำ แต่มีการพูดถึงมากขึ้น มีแนวทางใหม่เกิดขึ้น เป็นแนวทางสันติหรือการเมืองนำการทหาร การเปิดพื้นที่ในการพูดคุยสันติภาพหรือกระจายอำนาจ หรือการจัดการปกครองในรูปแบบพิเศษ

แต่หากมองในเรื่องการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวถือว่ายังน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีเพียงบางส่วนเท่านั้น รัฐยังจะต้องดำเนินการอีกหลายอย่าง แม้แต่เรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะมีศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ขึ้นมาแล้วก็ตาม

เพราะยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ตอนนี้รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์เอาชนะที่หมู่บ้าน ซึ่งก็ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีเพียงนโยบายเดียวที่มีความชัดเจนและมีการดำเนินการเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือนโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ

การปรับโครงสร้างความมั่นคงในพื้นที่ รัฐต้องทำให้เห็นก่อนว่า แนวคิดที่ให้ 2 แท่งอำนาจ คือศอ.บต.กับกอ.รมน.ภาค 4 สน.ประสานงานมากขึ้น โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นตัวประสาน

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้มีการบรูณาการกัน ต้องยอมรับว่าในทางนโยบายมีความก้าวหน้า มีพัฒนาการในเรื่องตัวหนังสือ การแสดงออกและการพูด เพราะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่กลไกทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติยังไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้จริง ทั้งที่น่าจะขับเคลื่อนได้แล้วในตอนนี้

ขณะนี้รัฐบาลได้เปลี่ยนเลขาธิการสมช.คนใหม่แล้ว คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งน่าจะสนองนโยบายที่รัฐบาลกำหนดได้หรือการประสานงานจะคล่องตัวมากขึ้น การขับเคลื่อนงานในทางปฏิบัติก็อาจจะมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องทำรีบจัดการ เพราะพื้นที่ยังว่างอยู่ ในขณะที่อีกฝ่ายยังรุกเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งทางการทหาร การเมือง ทางสัญลักษณ์ตลอดเวลา

ตอนนี้รัฐบาลมีข้อได้เปรียบมีอยู่ ทั้งในแง่การจัดการในเชิงยุทธศาสตร์หรือเชิงนโยบาย ข้อเสนอใหม่ๆที่เกิดขึ้น เกิดจากการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดการขับเคลื่อนที่ดีให้ได้หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท