ราคาค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น ไม่ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น...จริงหรือ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในประเทศไทยย่าน 2.1 GHz (หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ท่ามกลางการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ประเด็นอภิปรายหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า สมควรที่จะนำมากล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ ประเด็นเรื่องราคาค่าคลื่นความถี่ (ที่จะถูกกำหนดขึ้นโดยการประมูล รวมถึงราคาตั้งต้นหรือราคาขั้นต่ำ) ว่าราคาดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (3G) ในภายหลังหรือไม่

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ราคาคลื่นความถี่ที่ต่ำเกินไปจะทำให้รัฐขาดรายได้ที่ควรจะได้รับ และเชื่อว่าแม้ราคาค่าคลื่นความถี่จะถูกกำหนดให้สูงขึ้น ก็จะไม่กระทบต่อราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อมีการให้บริการ

อันที่จริงแล้ว คำถามเรื่องนี้มีที่มาจากการที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเดิมได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ในพ.ศ.2553 (แต่ต่อมาการประมูลได้ถูกระงับไปเสียก่อน) โดยในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งได้เสนอให้ประเทศไทยใช้วิธีการอื่น เช่น การยื่นประกวดซองแทนการจัดการประมูลคลื่นความถี่ โดยให้เหตุผลว่า การประมูลคลื่นความถี่จะทำให้ผู้ประกอบการต้องชำระค่าคลื่นความถี่จำนวนมากให้แก่รัฐ อันจะทำให้ผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าบริการที่สูงขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการส่วนหนึ่งในขณะนั้น

ผู้เขียนไม่เห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวเสียทั้งหมด ผู้เขียนได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาค่าคลื่นความถี่กับราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นยังไม่อาจสรุปได้อย่างรวดเร็วหรือมีคำตอบเดียวเช่นนั้น เพราะราคาตลาดของบริการยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีกหลายประการ ดังนั้น จึงไม่ควรนำเรื่องราคาค่าคลื่นความถี่มาเป็นเหตุผลที่จะไม่ประมูลคลื่นความถี่เสียเลย อีกทั้งการประมูลยังมีข้อดีหลายประการด้วยกัน

ประการแรก นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปยอมรับว่า การประมูลเป็นวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลอย่าง Ronald H. Coase ด้วย การประมูลจะกำหนด “ราคาตลาด” ของคลื่นความถี่ได้ดีกว่าวิธีการอื่น ๆ และทำให้คลื่นความถี่ที่มี “ราคาตลาด” ดังกล่าวตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการที่ (น่าจะ) นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้[2] ดังนั้น หากการประมูลนำไปสู่การกำหนด “ราคาตลาด” และผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ที่ได้นำคลื่นความถี่ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ก็ถือว่าเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง การประมูลเป็นวิธีการจัดสรรที่โปร่งใสมากกว่าวิธีอื่น

ประการสุดท้าย ข้อเสนอที่ว่าราคาประมูลคลื่นความถี่จะทำให้ราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นข้อสรุปที่จำกัดคำตอบและเร็วเกินไป[3] ทั้งนี้เพราะราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่อมต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ยิ่งมีการแข่งขันในตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงมากเท่าใด การส่งผ่านต้นทุนค่าคลื่นความถี่ไปยังผู้บริโภคก็จะกระทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนชี้แจงว่า ความคิดเห็นของนักวิชาการในต่างประเทศฝ่ายหนึ่งถึงขนาดเชื่อกันว่า ค่าคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการชำระให้แก่รัฐนั้นเป็น “ต้นทุนจม” หรือ “Sunk Cost” กล่าวคือ นักวิชาการในต่างประเทศฝ่ายนี้ยืนยันว่า มีต้นทุนในการประกอบการบางชนิดที่ไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ผู้ประกอบการก็จะไม่อาจส่งผ่านไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภคให้ต้องรับภาระได้เลย และมีนักวิชาการในต่างประเทศหลายรายที่ได้นำทฤษฎีต้นทุนจมดังกล่าวนี้มาอธิบายว่า การชำระค่าคลื่นความถี่อันเนื่องมาจากการประมูล เป็นต้นทุนจมชนิดหนึ่งที่ไม่อาจส่งผ่านไปยังผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ กล่าวคือ ค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นจะไม่ทำให้ราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนสูงขึ้นตามไปด้วย[4]

ผู้เขียนบทความนี้ได้เคยนำเรื่องทฤษฎีต้นทุนจมดังกล่าวมาอธิบายเพื่อชี้ให้เห็นว่า ยังไม่ควรระงับการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล ทั้งนี้เพราะข้อเสนอที่ว่าค่าคลื่นความถี่จะถูกส่งผ่านไปให้ผู้ใช้บริการรับภาระ “ทั้งหมด”นั้นอาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ที่จริงแล้วในทางวิชาการ ยังมีข้อถกเถียงว่า ผู้ใช้บริการอาจจะไม่ต้องรับภาระทั้งหมด แต่อาจต้องรับภาระเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะการแข่งขันในตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และที่สำคัญ เหตุผลเรื่องการส่งผ่านภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคก็ยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนว่า คลื่นความถี่ควรได้รับการจัดสรรโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากการประมูล ทั้งนี้เพราะการประมูลยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง อีกทั้งไม่มีหลักประกันว่า หากมีการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีอื่นแล้ว (เช่น การประกวดซอง) ราคาตลาดของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกกว่า

อย่างไรก็ดี เรื่องทฤษฏีต้นทุนจมดังกล่าวได้รับการหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในคราวการประมูลที่ผ่านมา แต่ผู้หยิบยกมักจะนำมาเป็นเหตุผลเพื่อสนับสนุนให้รัฐจัดเก็บค่าคลื่นความถี่สูง ๆ จากผู้ประกอบการเพื่อเป็นรายได้แก่รัฐ

ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริง “เบื้องต้น” เกี่ยวกับทฤษฎีต้นทุนจมไว้ ทั้งนี้เพื่อให้มีการวิเคราะห์และอภิปรายต่อไป

ที่จริงแล้ว ข้อสรุปของนักวิชาการในต่างประเทศที่สนับสนุนทฤษฎีต้นทุนจมนั้น ยังเป็นข้อสรุปจากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ และนักวิชาการจำนวนมากยังเห็นว่า ข้อสรุปที่ว่าค่าคลื่นความถี่เป็นต้นทุนจมและไม่มีผลในทางใด ๆ ต่อผู้บริโภคนั้นยังไม่อาจถือเป็นทฤษฎีทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นว่าค่าคลื่นความถี่ หรือต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ (Entry Fees) ย่อมส่งผลต่อราคาตลาดของค่าบริการในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีผู้แข่งขันน้อยรายได้ (Oligopoly Pricing) (ทั้งนี้เพราะในตลาดประเภทนี้ การตั้งราคาค่าบริการจะแข่งขันกันน้อยกว่าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์) ดังนั้น ค่าคลื่นความถี่สูงๆ ก็อาจทำให้ค่าบริการสูงขึ้นได้ในตลาดที่มีสภาพเช่นนี้[5]

นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้อธิบายว่า การนำทฤษฎีต้นทุนจมมาเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า ต้นทุนค่าคลื่นความถี่จะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น จะเป็นการสรุปที่ถูกต้องก็ต่อเมื่อตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นตลาดการแข่งขันสมบูรณ์ที่ผู้ประกอบการกำหนดราคาค่าบริการเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่มเสมอ (Marginal Cost) ซึ่งหากเป็นตลาดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผู้ประกอบการก็ย่อมไม่อาจนำต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ใด ๆ ไปคิดรวมไว้ในค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้

แต่ในโลกของความจริงนั้น ไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ เพราะในตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น มีต้นทุนในการสร้างและบำรุงรักษาโครงข่ายโทรคมนาคมสูงมาก หากในการคิดค่าบริการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใดไม่คำนึงถึงต้นทุนเหล่านี้ ผู้ประกอบการรายนั้นย่อมไม่อาจประกอบการต่อไปได้

ในโลกของความเป็นจริง ราคาตลาดของบริการจึงย่อมครอบคลุมทั้งต้นทุนคงที่และต้นทุนอื่นๆ โดยต้นทุนคงที่นั้นประกอบไปด้วยต้นทุนโครงข่ายโทรคมนาคมและต้นทุนค่าใบอนุญาตต่างๆ เพื่อเริ่มธุรกิจด้วย นอกจากนี้ ต้นทุนคงที่เหล่านี้ยังอาจลดจำนวนผู้ประกอบการที่ตลาดสามารถรองรับได้อีกด้วย ยิ่งต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นเท่าใด จำนวนผู้ประกอบการที่ตลาดจะรองรับได้ก็จะน้อยลงมากเท่านั้น ดังนั้น ยิ่งราคาค่าใบอนุญาตสูงขึ้นเท่าใด จำนวนผู้ประกอบการก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น และอาจต้องมีการควบรวมกิจการมากขึ้น[6] โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกฎหมายไม่เปิดช่องให้โอนใบอนุญาตให้แก่กันได้ ซึ่งก็จะเป็นการลดการแข่งขันในตลาดลงไป

ดังนั้น ในความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนนี้ ค่าคลื่นความถี่อาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดได้และค่าบริการยังน่าจะถูกกระทบได้จากต้นทุนคลื่นความถี่และค่าใบอนุญาตต่าง ๆ และยังเห็นว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในตลาดที่ทำการศึกษาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าค่าคลื่นความถี่ไม่มีความสัมพันธ์กับราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เลย อีกทั้ง ในประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปนั้นพอจะมีข้อบ่งชี้แล้วว่าต้นทุนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตน่าจะส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปแล้ว[7]

ในเวลาต่อมานักเศรษฐศาสตร์ได้เริ่มตั้งคำถามในเชิงลึกถึงขนาดว่า หากค่าคลื่นความถี่ทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้นจริง เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ จะเป็นเพราะค่าคลื่นความถี่ที่สูงมากเป็นต้นเหตุหรือมูลเหตุจูงใจให้ผู้ประกอบการในตลาดยิ่งแข่งขันกันน้อยลง (คือ ลดแรงจูงใจในการแข่งขันกันด้านราคาค่าบริการ กล่าวคือ มีลักษณะเป็น Oligopoly Pricing) หรือว่าเหตุผลเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ผู้ประกอบการที่เข้าประมูลประสงค์จะแข่งขันกันน้อยลงอยู่แล้วและประสงค์จะกำหนดราคาตลาดของบริการสูง ๆ ดังนั้น จึงยินดีที่จะชำระค่าคลื่นความถี่สูง ๆ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือหรือเหตุผลให้ราคาตลาดของค่าบริการสูงขึ้น (Collusion-Facilitating Role of Entry Fees)[8] ซึ่งการตั้งคำถามดังกล่าวบ่งชี้ว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังเห็นว่าทฤษฎีต้นทุนจมเป็นทฤษฎีที่มีข้อจำกัดและยังไม่สามารถนำมายืนยันได้ในทุกกรณีว่าค่าคลื่นความถี่ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

นอกจากนั้น เดิมการนำทฤษฎีต้นทุนจมมาอธิบายค่าคลื่นความถี่ก็ยังไม่ได้วิเคราะห์ผลในด้านอื่น ๆ ที่ขัดขวางประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาด เช่น หากเปรียบเทียบระหว่างผู้ประกอบการ (ก) ที่จ่ายค่าคลื่นความถี่ในราคาต่ำ และ ผู้ประกอบการ (ข) ที่จ่ายค่าคลื่นความถี่ในราคาสูงกว่า หากสมมุติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง งบดุลของผู้ประกอบการ (ก) น่าจะทำให้ผู้ประกอบการ (ก) สามารถระดมทุนเพื่อประกอบกิจการได้ดีกว่า[9] ซึ่งจะทำให้ระดับประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น

ในแง่การให้บริการ ยังมีการศึกษาอีกว่าราคาใบอนุญาตที่แพงขึ้นก็อาจมีผลเป็นการลดการแข่งขันในการให้บริการได้และอาจจำกัดการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Wholesale Airtime Market)ได้ ทั้งนี้เพราะราคาค่าขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องอ้างอิงจากต้นทุนรวม (ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตด้วย) อันทำให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการน้อยลง ในบริบทของการประมูลคลื่นความถี่ 3G ในต่างประเทศ นักวิชาการในต่างประเทศบางรายยังเห็นว่าการคิดค่าคลื่นความถี่สูง ๆ น่าจะมีผลกระทบต่อการระดมทุนเพื่อสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมและการพัฒนาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังทำให้ต้องเสียเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น เช่น ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ (Fixed Line) ที่ไม่ต้องชำระค่าคลื่นความถี่สูง ๆ[10] อันเป็นการบิดเบือนการแข่งขันเพราะเกิดการแทรกแซง (ประหนึ่งการเก็บภาษีเฉพาะราย) จากภาครัฐ

โดยสรุปแล้ว ในต่างประเทศนั้น ข้อถกเถียงที่ว่าราคาค่าคลื่นความถี่จะทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นอย่างแน่นอนหรือไม่นั้น ยังเป็นข้ออภิปรายที่ยังไม่ได้ข้อสรุปทางวิชาการเป็นคำตอบเดียว และมีความเป็นไปได้ว่าราคาค่าคลื่นความถี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดลักษณะและระดับการแข่งขันในตลาดในภายหลัง รวมถึงประสิทธิภาพของตลาด และอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนการลงทุน (distort investment) และกระทบต่อระดับการให้บริการและการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และอาจทำให้ราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น (หากตลาดการให้บริการดังกล่าวเป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายหรือมีอัตราการกระจุกตัวสูง)

ดังนั้น การสรุปว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องกำหนดค่าคลื่นความถี่ให้สูงๆ เพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากที่สุด โดยให้เหตุผลว่า ผู้ใช้บริการจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย จึงเป็นข้อสรุปที่อาจจำกัดแคบและรวดเร็วเกินไป

การกำหนดราคาค่าคลื่นความถี่จึงเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องเลือกนโยบายที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจำนวนมากมักจะไม่เห็นด้วยหากรัฐจะใช้การประมูลเป็นเครื่องมือจัดเก็บรายได้เข้ารัฐแทนที่จะใช้การประมูลเป็นเครื่องมือจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มอบ (โดยคิดราคาตลาด[11]) คลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบการที่จะสามารถใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์มากที่สุด อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการโดยตรงอย่างแท้จริง

อนึ่ง ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดและแม้จะสมมุติว่าราคาค่าคลื่นความถี่มีส่วนส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะจัดสรรคลื่นความถี่โดยใช้วิธีการอื่นนอกเหนือจากวิธีการประมูล 

 

 


[1] ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน (Docteur en droit public) - เกียรตินิยมสูงสุดโดยมติเอกฉันท์ของคณาจารย์พร้อมสิทธิในการเผยแพร่งาน (มหาวิทยาลัย Strasbourg III ฝรั่งเศส), ปริญญาโท (DEA) กฎหมายประชาคมยุโรป และ Certificat des études européennes (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัย Strasbourg III, นิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญรางวัล) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทความนี้เป็นข้อเขียนทางวิชาการของผู้เขียนโดยมิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรใด ๆ และมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการอภิปรายในประเด็นของเรื่องต่อไป

[2] โปรดดู George Houpis และ James Bellis.  “Spectrum pricing policy”, Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 27, เข้าถึงได้จาก : http://www.vodafone.com/content/dam/vodafone/about/public_policy/policy_papers/public_policy_series_14 .pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) ซึ่งผู้เขียนทั้งสองท่านได้ระบุว่า “Regulators’ objectives in allocating spectrum. The main objective of most regulators when allocating spectrum is to achieve an efficient use. For example, the first objective mentioned by Ofcom is to “secure an optimal use of spectrum. This is also the case in several countries around the globe: Sweden’s telecommunications authority has recently reformed their spectrum pricing to promote efficient use of spectrum, New Zealand’s regulator wants to achieve an efficient allocation of spectrum reflecting market value…”

[3] เนื่องจากบทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงข้อดีและข้อเสียของวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ดังนั้น ข้อดีของการประมูลคลื่นความถี่จึงนำมาสรุปไว้ในที่นี้เพียงสังเขปเท่านั้น

[4] เช่น Mc Millan, J. “Why Auction the Spectrum?”, Telecommunications Policy 19(3), p.191-199, 1995, เข้าถึงได้จาก : http://faculty-gsb.stanford.edu/mcmillan/personal_page/documents/Why%20Auction%20the%20Spectrum%201.pdf (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555),  Theo Offerman และ Jan Potters. "Does Auctioning of Entry Licences Induce Collusion? An Experimental Study," Review of Economic Studies, Wiley Blackwell, vol. 73(3), pages 769-79, 2006, เข้าถึงได้จาก : http://www1.feb.uva.nl/creed/pdffiles/ doesauctioningfinal.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555)  นอกจากนี้ โปรดดู Evan Kwerel, “Spectrum Auctions Do Not Raise the Price of Wireless Services: Theory and Evidence”,FCC, Office of Plan. & Policy, 2000, เข้าถึงได้จาก : http://wireless.fcc.gov/auctions/data/papersAndStudies/SpectrumAuctionsDoNotRaisePrices .pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555)  ซึ่ง Evan Kwerl ได้ศึกษาราคาค่าบริการในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหรัฐอเมริกาและได้สรุปว่าการชำระค่าคลื่นความถี่ไม่ได้ทำให้ราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น โดยระบุว่า“Our preliminary analysis of the U.S. cellular telephone market supports the conclusion that paying for a spectrum license does not increase the prices of wireless services” 

[5] โปรดดู Cooper., R., D.V. Dejong, R.Forsythe, and T.W.Ross, “Forward Inudction in the Batter-of-the-Sexes Games”, American Economic Review 83 (5), 1303-1316, 1993. เข้าถึงได้จาก http://www.gwern.net/docs/1993-cooper.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) และโปรดดู Theo Offerman, “Does Auctioning of Entry Licenses Induce Collusion”. อ้างแล้วใน 4.  และโปรดดู Case Associates. “3G Spectrum Auctions, Richer government; Poorer consumers?”, Economics of Competition & Regulatory Issues, September 2000, เข้าถึงได้จาก : http://www.casecon.com/data/pdfs/casenote23.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) โดยได้ระบุในหน้า 2 ว่า  “Second, high licence fees will, in an oligopolistic market, greatly influence pricing decisions and competitive behaviour.”

[6] โปรดดู Case Associates. “3G Spectrum Auctions, Richer government; Poorer consumers?”, อ้างแล้วใน 5, หน้า 2 ซึ่งได้ระบุว่า “Many have claimed that high licence fees will eventually be paid for by consumers. This has been roundly rejected by those in favour of auctions as scare mongering and back to front economics. The auction price is a fixed sunk cost that will not affect future mobile tariffs, which market forces will force down to longrun (incremental) costs. That is, future mobile prices determine the bids, and not the other way around. This analysis is a simplistic response to a complex issue. The claim that the auction will not affect prices is based on the belief that prices are always set at marginal cost. While this may be the case in a perfectly competitive widget industry, it is not for network industries with high infrastructure costs. Quite simply if prices were set at marginal costs, all mobile operators would go bankrupt overnight.”

[7] ประเทศในสหภาพยุโรปที่คิดค่าคลื่นความถี่สูงสุด (มากกว่า 200 ล้านยูโรสำหรับใบอนุญาตที่สำคัญที่สุด) นั้น คือประเทศ ออสเตรีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์และไอร์แลนด์ ส่วนประเทศที่คิดค่าคลื่นความถี่ในราคาต่ำสุด (น้อยกว่า 5 ล้านยูโร) ได้แก่ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ลักเซมเบอร์กและโปรดตุเกตุ ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของค่าบริการโทรศัพท์ในสี่ประเทศแรกเท่ากับ 750 ยูโร ในขณะที่ในสี่ประเทศหลังนั้น ค่าเฉลี่ยของค่าบริการโทรศัพท์เท่ากับ 550 ยูโรเท่านั้น อย่างไรก็ดี การรนำแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน อาจยากได้ข้อสรุปเพราะมีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพบริการ ฯลฯ) (โปรดดูหน้า 4 ใน Theo Offerman, “Does Auctioning of Entry Licenses Induce Collusion”. อ้างแล้วใน 4.)  

[8] โปรดดู Theo Offerman, “Does Auctioning of Entry Licenses Induce Collusion”. อ้างแล้วใน 4. ซึ่งระบุในหน้า 3 ว่า  “Does auctioning of entry licenses lead to an increase of market prices ? And, if so, is this because the entry fee induces the players to behave more collusively, or because the auction tends to select the more collusive players?”

[9] โปรดดู Goodman, Ellen P. , “Spectrum Equity”. Journal of Telecommunications and High Technology, Vol. 4, No. 101, 2005. เข้าถึงได้จาก http://jthtl.org/content/articles/V4I1/JTHTLv4i1_Goodman.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) ซึ่งระบุในหน้า 225 ว่า “This theory of sunk costs, which is itself somewhat controversial, helps to explain why differential grants of spectrum access rights might not harm consumers in the short term. It does not deal, however, with the possibility that unearned spectrum access rights might distort investment, resulting in inefficient competitive outcomes in the longer term. If company A pays $10 million dollars for particular spectrum access rights, and company B pays $1 million dollars for the same rights, the theory of sunk costs suggests that company A cannot charge more for its service than does company B. But, all things being equal, company B will have a better balance sheet and be more attractive to capital.”

[10] โปรดดู Dr. Patrick Xavier, Licensing of Third Generation (3G) Mobile: Briefing Paper 6, Int’l Telecomm. Union, Briefing Paper, 2001, เข้าถึงได้จาก: http://www.itu.int/osg/spu/ni/3G/workshop/Briefing_paper.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) โดยระบุในหน้า 25-26 ว่า “High up-front license charges would make it more difficult for winning bidders to attract or raise funds necessary for network rollout and for service development….The barriers to entry and to effective competition resulting from high up-front license fees are exacerbated in a situation where 3G operators are required to pay high license fees for the use of spectrum, while other broadband providers, such as existing fixed line or mobile carriers or broadcasting operators, are able to offer similar services without the need to pay high prices for spectrum or for licenses.” และ โปรดดู George Houpis และ James Bellis.  “Spectrum pricing policy”, Spectrum: Renewal and pricing in Europe. อ้างแล้วใน 2. ซึ่งผู้เขียนกล่าวในหน้า 30 ว่า “ Secondly, taxing mobile operators for their use of spectrum as a way of raising revenue would also put them at a competitive disadvantage compared to fixed operators offering similar services to final consumers, where such fixed operators did not face such taxation. This would mean that the tax was not “technologically neutral””

[11] โปรดดู George Houpis และ James Bellis.  “Spectrum pricing policy”, Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 31 เข้าถึงได้จาก : http://www.vodafone.com/content/dam/vodafone/about/public_policy/policy_papers/public_policy_series_14 .pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) : “Whilst spectrum pricing can be used by regulators/governments as a way of raising immediate revenue it is not immediately clear why governments would choose to raise revenues through spectrum pricing, rather than through other forms of taxation.  In particular, using spectrum pricing as a way or raising government revenue can potentially create three longer-term distortions in the market:

·        Firstly, where governments aim to raise government revenues from taxing mobile companies, charging for spectrum, to the extent it affects the (marginal) cost of mobile operators for producing their services, would drive a higher difference between the price and cost of providing mobile services, and hence lead to a distortion

·        Secondly, taxing mobile operators for their use of spectrum as a way of raising revenue wourld also put them at a competitive disadvantage compared to fixed operators offering similar services to final consumers, where such fixed operators did not face such taxation.  This would mean that the tax was not “technologically neutral’.

·        Finally, using spectrum pricing as a form of taxation could also reduce economic efficiency if the price is set above a market level (i.e., at a level which would lead existing users to relinquish spectrum, without other potential users being willing to take up the spectrum).  That is, where spectrum pricing is used to raise revenue, prices should not be set above the market price for spectrum.”

นอกจากนี้ โปรดดู Dr. Patrick Xavier, Licensing of Third Generation (3G) Mobile: Briefing Paper 6, Int’l Telecomm. Union, Briefing Paper, 2001, เข้าถึงได้จาก: http://www.itu.int/osg/spu/ni/3G/workshop/Briefing_paper.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล: 16 ตุลาคม 2555) โดยระบุในหน้า 25 ว่า “Governments should not focus primarily on the use of the telecommunications sector to raise general revenues. This is incompatible with policies for creating conditions of competition and creating a telecommunication market that can be treated on the same basis as other industry markets. If the government wants to obtain economic rent from a scarce resource then it should let the market decide, through auctions what the appropriate value for this resource is”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท