Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ผมได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประจำปี 2012 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ในฐานะนักวิชาการ (ที่ต้องระบุว่าในฐานะนักวิชาการ ก็เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาเหมือนกรณีคณะของรัฐสภาไทยที่ไปอังกฤษเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาน่ะครับ) โดยตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ที่สำคัญๆ ผมจึงถือโอกาสเขียนถึงกระบวนการการเลือกตั้งประธานาธิบดีและข่าวสารในแง่มุมต่างๆ ต่อผู้อ่านจนกว่าจะได้รู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างโอบามากับกับมิตต์ รอมนีย์

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร แม้แต่ชาวอเมริกันเองบางคนก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน เมื่อถูกขอให้อธิบายระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขา แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คนทุกอาชีพที่สุจริต มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดี ตัวอย่างเช่น

นายแบบ-เจอร์รัลด์ ฟอร์ด ,คนเก็บขยะ-ลินดอน จอห์นสัน, นักธรณีวิทยา-เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ,คนงานบนเรือเฟอร์รี-เจมส์ การ์ฟิลด์, นักสำรวจ-จอร์จ วอชิงตัน, นักแสดง-โรนัลด์ เรแกน, ชาวไร่ชาวนา เช่น มิลเลิร์ด ฟิลมอร์ อับราฮัม ลินคอล์น ยูลิซิส เอส แกรนท์ เบนจามิน แฮริสันวอร์เรน ฮาร์ดิง แคลวิน คูลลิดจ์ แฮร์รี ทรูแมน และจิมมี คาร์เตอร์ หรือแม้กระทั่งคนผิวสีลูกครึ่งมุสลิมชาวเคนยาอย่างประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็มีโอกาสเป็นประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน

คุณสมบัติของผู้สมัครประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด (โรบินฮู้ดหรือคนไทยที่อพยพแล้วได้สัญชาติอเมริกันภายหลังนั้นหมดสิทธิ) อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาไม่น้อยกว่า 14 ปี ไม่เคยเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัยติดต่อกัน ฯลฯ

ขั้นตอนการหยั่งเสียง ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ
1) primary ซึ่งหมายถึง การจัดการเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นในมลรัฐ วิธีการแบบ primary นี้คนเสื้อแดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชียงใหม่พยายามนำเสนอต่อพรรคเพื่อไทยให้นำมาใช้ในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร แต่ก็ยังไม่เป็นผล แต่อนาคตข้างหน้าก็อาจจะเป็นจริงได้หากพรรคเพื่อไทยเห็นความจำเป็น(เพราะปัจจุบันนี้แต่ละฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนของพรรคจนชาวบ้านสับสนไปหมดแล้วว่าตกลงว่าอย่างไรกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเมืองระดับท้องถิ่น)

2) caucus คือ การประชุมกลุ่มย่อยของสมาชิกพรรคในแต่ละระดับ ตั้งแต่หน่วยเล็กสุดขึ้นมา เพื่อเสนอความคิดเห็น

3) state-covention ที่หมายถึง การประชุมใหญ่ของพรรคในระดับมลรัฐ เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดเป็นตัวแทนพรรค

จาก 1 ใน 3 วิธีข้างต้น จะทำให้ได้ผู้แทน หรือที่เรียกว่า delegates จำนวนหนึ่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค (National Convention) ให้เหลือตัวแทนพรรคเพียงคนเดียว ถ้าสามารถเลือกผู้แข่งขันได้ในครั้งแรกของการประชุมพรรค จะเรียกว่า first ballot victory

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ "วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนของปีที่มีการเลือกตั้ง"(วันอังคารแรกอย่างเดียวยังไม่ได้นะครับต้องหลังวันจันทร์แรกเท่านั้น) เป็นวันลงคะแนนเสียงสำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในเขตเลือกตั้งของตน ซึ่งครั้งนี้ตรงกับวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2555 โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็คือ มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสัญชาติอเมริกัน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ฯลฯ

สหรัฐอเมริกาไม่มี กกต.แบบบ้านเรา ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งในทุกระดับคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัยกว่า County และไม่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น ประชาชนจะต้องลงทะเบียนก่อนจึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง โดยจะลงทะเบียนในพื้นที่ที่ตนพำนักอยู่ หากย้ายที่อยู่ใหม่ก็ต้องลงทะเบียนใหม่ ในกฎหมายการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ปี 1993(National Voter Registration Act,1993)ช่วยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อออกเสียงเลือกตั้งได้ทุกครั้งที่ต่อใบอนุญาตขับขี่ที่รัฐออกให้อีกด้วย

ในสหรัฐอเมริกามีอุปกรณ์ลงคะแนนเลือกตั้งหลายแบบ และลักษณะของเทคโนโลยีการลงคะแนนก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา ปัจจุบันนี้มีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังมีการลงคะแนนเสียงด้วยการใช้บัตรกระดาษลงคะแนนที่ต้องทำเครื่องหมายกากบาทข้างชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างที่เคยทำในอดีต อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ก็ยังใช้บัตรกระดาษที่มีการระบายทึบ จากนั้นนำไปสแกนเพื่อบันทึกการลงคะแนนเสียง  ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันก็คือการใช้เครื่อง Direct Recording Electronic(DRE) ซึ่งเป็นเครื่องที่มีจอสัมผัสที่คล้ายกับเครื่องมือที่ใช้ในธนาคาร ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่ผมไปสังเกตการณ์ก็เริ่มมีการใช้บ้างแล้ว

ผลการเลือกตั้ง
จะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้นมิใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่ประชาชนจะไปเลือกผู้แทนของเขา (popular vote) เพื่อไปเลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral vote) อีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องชนะในส่วนของ electoral vote โดยคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) จะมีจำนวนเท่ากับจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกับจำนวนวุฒิสมาชิกในมลรัฐของตน ที่มีอยู่ในสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นอยู่ว่าปัจจุบันนี้การสื่อสารคมนาคมทันสมัยแล้วแต่อเมริกาก็ยังไม่ยอมเลิกวิธีการนี้

ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ใช้คณะผู้เลือกตั้งนี้ คือ กติกาที่ว่า ผู้ชนะได้ไปทั้งหมด (winner-take-all) ซึ่งหมายความว่า ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนมากจากประชาชนในมลรัฐ ก็จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ดังนั้น มลรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากๆ ก็จะเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้สมัคร เช่น แคลิฟอร์เนีย (55) เท็กซัส (34) นิวยอร์ก (31) ฟลอริดา (27) เพนซิลวาเนีย (21) เป็นต้น

ซึ่งก็มีหลายครั้งที่คนชนะ popular vote แต่ไปแพ้ electoral vote ก็อดเป็นประธานาธิบดี เช่น แอนดรู แจ็กสัน แพ้ต่อ จอห์น อดัมส์, แซมมวล ทิลเดน แพ้ต่อ รูเธอฟอร์ด เฮย์ กริฟเวอร์ คลีฟแลนด์ แพ้ต่อ เบนจามิน แฮริสัน และล่าสุดก็คือ อัล กอร์ ก็แพ้ต่ออดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช จนมีเรื่องมีราวไปถึงศาลสูง (supreme court) นั่นเอง

การรับตำแหน่ง
การรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ จะรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป โดยประธานาธิบดีคนเก่าจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเวลาเที่ยงตรงของวันที่ 20 มกราคม

ที่กล่าวมาพอสังเขปนี้คงพอทำความเข้าใจในเบื้องต้นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้บ้าง อย่างน้อยก็สามารถติดตามข่าวสารการเลือกตั้งได้อย่างมีรสชาตินะครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net