Skip to main content
sharethis

20 ต.ค.55 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย Thailandmirror กลุ่มสุมหัวคิด กลุ่มกวีราษฎร์ SpeedhorseTV อุทัย ซาวน์ และเครือข่ายเดือนตุลา ได้จัด นิทรรศการ เสื้อ ป้ายผ้า สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของภาคประชาชน อดีต ถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ "เหรียญตราประชาชน"

 

 

สุวรรณา ตาลเหล็ก

นิทรรศการ "เหรียญตราประชาชน" ที่มีเสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าโพกหัว เข็มกลัดและสัญญาลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ทั้งขบวนการแรงงานในไทยและสากล ขบวนการของเสื้อเหลือง เสื้อแดง ขบวนการชาวบ้าน ฯลฯ จำนวนมากที่ถูกจัดแสดงในครั้งนี้เป็นของ สุวรรณา ตาลเหล็ก หรือ ลูกตาล นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและการเมือง ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ถึงที่มาและวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้กับเธอ โดย สุวรรณา ตาลเหล็ก กล่าวว่า มีความตั้งใจมานานแล้วตั้งแต่ทำงานเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานที่มีการทำและซื้อเสื้อรณรงค์ไว้ จากการเคลื่อนไหวและการระดมทุนของผู้ใช้แรงงานในการรณรงค์ เพราะเป็นสื่ออีกอย่างที่สามารถบ่งบอกถึงเรื่องราวที่เขาต้องการ และได้สะสมไว้จึงอยากแสดงให้สาธารณะได้เห็นว่าในขบวนการต่อสู่มีสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของขบวนการต่อสู้ และยังอธิบายเรื่องราวของยุคนั้นๆได้ ว่าช่วงนั้นมีการเรียกร้องอะไร รวมทั้งสามารถบ่งบอกถึงตัวผู้สะสมด้วยว่าได้ผ่านการเคลื่อนไหวอะไรมาบ้าง

สำหรับความสำคัญของเสื้อ ผ้าโพกหัว หรือผ้าพันคอรณรงค์ นั้น ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า การรณรงค์ใช้การบอกเล่าเรื่องราวผ่านเครื่องเสียงไม่สามารถสื่อสารได้หมด แต่การที่มีประโยคอะไรสักประโยคที่อยู่กับเสื้อผ้า คนอ่านแล้วสามารถไปหาคำตอบจากที่อื่นได้ เพราะบางทีเราผ่านการเดินขบวนถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราแทบไม่รู้เลยว่าเขาพูดหรือเรียกร้องอะไร อาจได้ยินบางช่วงบางตอนจึงไม่สามารถรู้ว่าเขาต้องการอะไรชัดๆเพราะเราเพียงแค่ผ่านไป แต่เสื้อรณรงค์มีประโยคสั้นๆให้คนจำ เหมือนเราอ่านป้ายโฆษณา เราจะรู้ว่ามันคืออะไรและสามารถหาข้อมูลที่อื่นเพิ่มเติม

เสื้อนอกจากมีหน้าที่ในการสื่อสารแล้ว สุวรรณา ตาลเหล็ก อธิบายด้วยว่า ยังเป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อการเคลื่อนไหวด้วย แต่การระดมทุนก็มีรูปแบบอื่นได้ แต่การใช้เสื้อที่ต้องใส่อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วทำให้ได้ผลในแง่การรณรงค์อีกด้วย อย่างในตู้เสื้อผ้าของตัวเอง 90 % ก็เป็นเสื้อรณรงค์ ทำให้บางทีใส่ไปผิดงาน แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เนื่องจากเป็นการสะท้อนจุดยืนของตัวเองในเวลานั้นๆ

สำหรับปรากฏการณ์ที่มีเสื้อรณรงค์จำนวนมากออกมาโดยเฉพาะเวลาที่มีการชุมนุมทางการเมืองของเสื้อแดงนั้น ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย มองว่าปัจจุบันมีความหลากหลายของของเสื้อรณรงค์มาก แต่กลายเป็นว่าไปเสียดสี ซึ่งมองว่ามันไม่สามารถใช้เป็นการรณรงค์แบบมีเหตุมีผลเพื่อดึงให้คนมีคิดร่วมได้ กลายเป็นเพียงการสร้างความสะใจกับตัวเอง หรือใช้ได้กับกลุ่มตัวเอง แต่กลับไม่ได้ทำให้คนอื่นที่ไม่ได้ร่วมเหตุการณ์เข้าใจหรือฝ่ายตรงข้ามอาจจะเกลียด อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้ก็บ่งบอกถึงการเมืองในระยะเวลานั้นๆ เช่นกัน ดังนั้นการทำเสื้อรณรงค์ต้องทำให้สามารถสื่อกับคนทั่วไปเพื่อขยายแนวร่วม ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจไม่ใช่ไปสร้างอคติกับเขา

สุวรรณา ตาลเหล็ก ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงความต้องการที่จะให้เสื้อผ้าเหล่านี้ไปโชว์หรือเก็บรวบรวมเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อให้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับมัน แต่ตัวเองไม่สามารถทำได้เอง และจากที่สังเกตในวันนี้ที่มีผู้มาชมเสื้อแต่ละตัวคนที่มีประสบการณ์ร่วมเมื่อเห็นก็จะระลึกหรือสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจถึงที่มาของมันได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net