Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากจะกล่าวถึงมาเลเซียในปัจจุบันแล้ว จะได้พูดถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของมะละกาคงไม่ได้ จากเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ว่า มะละกา ถือเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ มีความรุ่งเรืองทางด้านการค้า และการเมืองที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว นอกเหนือจากนั้นมะละกายังคงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น จุดเริ่มต้นของพัฒนาการของภาษามลายู จุดเริ่มต้นของการแพร่ขยายและการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพัฒนาการของคนมลายูอีกด้วย

มะละกาถือเป็นศูนย์รวมของการค้าในภูมิภาค พ่อค้ามากหน้าหลายตา ต่างเดินทางมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันในบริเวณแห่งนี้ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความเหมาะสม คือ เป็นเมืองท่า และอยู่ติดกับช่องแคบ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินเรือ และยังผลให้มะละกา ประสบความสำเร็จในด้านการค้า จากการค้านี่เองทำให้มะละกาได้สร้างอิทธิพลในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้

มะละกามีความรุ่งเรืองในหลากหลายด้าน เช่น ทำเลที่ตั้ง ซึ่งเหมาะแก่การพักสินค้า และแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าต่างๆ  การสร้างตำนาน หรือความเชื่อเกี่ยวกับเชื้อสายกษัตริย์ การวางรูปแบบการปกครองที่มีระบบ ด้วยกับการสร้างตำนานว่าราชาองค์แรกคือ ปราเมศวรสืบเชื้อสายมาจากอเล็กซานเดอร์มหาราช และการสร้างตำนานความเชื่อมโยงกับอาณาจักรศรีวิชัย ที่ได้รุ่งเรืองมาก่อนหน้านี้แล้ว การสร้างประเพณีวัฒนธรรมในราชสำนักที่เหนือกว่าดินแดนใกล้เคียง   วิสัยทัศน์ของผู้นำ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในการเป็นหลักประกันความมั่นคง และการรับศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งรัฐเพื่อดึงดูดพ่อค้ามุสลิม และการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาชาวเล (orang laut) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญต่อรัฐในภาคพื้นทะเล ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้มีบทบาทในการคุ้มครองความปลอดภัยจากกลุ่มโจรสลัดการค้าทางทะเล  (รวมถึงบางครั้งคนกลุ่มนี้เป็นโจรสลัดเสียเอง อย่างไรก็ตามหากใครใคร่มาทำการค้ากับมะละกา ก็ได้รับการปกป้องและไม่ปล้นเรือสินค้าดังกล่าว)

การเกิดขึ้นของอาณาจักรมะละกาและบทบาททางด้านการค้า

เดิมทีมะละกา เป็นหมู่บ้านของชาวประมงเล็กๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น จุดเริ่มต้นของมะละกาเริ่มที่เจ้าชายปรเมศวร (หรืออีกชื่อ ซรีตรีบัวนา) ตัดสินใจสร้างที่ประทับบนตอนบนของแม่น้ำห่างจากมะละกา ได้อพยพออกจากเมืองปาเล็มบังไปอภิเษกกับเจ้าหญิงในราชวงศ์มัชฌปาหิตมา ต่อมาเกิดขบถขึ้นในเมืองมัชฌปา จึงลี้ภัยการเมืองมาอาศัยเจ้าเมืองเทมาเส็ค แต่ภายหลัง เจ้าชายปรเมศวรได้ลอบฆ่าเจ้าเมืองเทมาเส็ก (สิงคโปร์-ปัจจุบัน) ทำให้เจ้าชายปรเมศวร ถูกขับไล่ออกไปจากเมือง จึงหนีมาตั้งเมืองมะละกาเป็นการต่อมา

สภาพทางภูมิศาสตร์ของมะละกาตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก มีความเหมาะแก่การเป็นที่แวะพักเพื่อคอยลมมรสุม  รวมไปถึงอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่ต้องการของโลก เช่น ของป่า ยางไม้ หวาย เครื่องเทศ ทองคำ ดีบุก และสินค้าทะเล และมีสินค้าจากหลากหลายพื้นที่ เช่น สินค้าจากจีน: น้ำหอม  เครื่องเคลือบ  ผ้าไหม  เครื่องประดับ  กำมะถัน  และกระสุนปืน  เป็นต้น สินค้าจากยุโรป: เหล็ก  อาวุธ  กระจก  ลูกปัด  ขนสัตว์ และไวน์   และสินค้าสำคัญที่มาจากทางมหาสมุทรอินเดีย: ผ้า  สินค้าจากเมืองท่าต่างๆใน SEA: เครื่องเทศ  ทั้งกานพลู  ลูกจันทน์เทศ  ดอกจันทน์เทศ จากหมู่เกาะโมลุกกะ  เครื่องเทศ  พริกไทย  ของป่า และไม้หอม  จากหมู่เกาะอินโดนีเซีย  ข้าว และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อัญมณี ทับทิม เงิน จากพะโค  และข้าว เกลือ ปลาแห้ง จากสยาม

มะละกากับ ศูนย์กลางในการเผยแพร่อิสลาม

แม้ปรเมศวรได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในปี ค.ศ. 1414 และเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอาหรับว่าเมกัต อิสกันดาร์ ชาร์ (Megat Iskandar Shah) แล้วก็ตาม แต่ในระยะแรก ข้าราชสำนักและประชาชนทั่วไปยังไม่ได้เปลี่ยนศาสนาตามมากนัก รวมทั้งพระราชาองค์ที่สองแห่งมะละกายังคงใช้พระนามตามแบบฮินดูคือ ศรีมหาราชา (ค.ศ. 1424-1445)

แต่การแพร่ขยายของมะละกา ได้มีความชัดเจนขึ้นในช่วงของ  ราชากาซิมขึ้นครองราชย์ในนามสุลต่านมุสซัฟฟาร์ (ค.ศ.1445-1459)  โดยในปี ค.ศ. 1450 จึงมีการประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งรัฐ  ราชสำนักและประชาชนเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกันอย่างกว้างขวาง  และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มะละกาจึงเพิ่มบทบาทในการเป็นแหล่งเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่มีอิทธิพลสำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    

ในระยะแรกที่ศาสนาอิสลามเข้ามา ยังคงปรากฏธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮินดู-พุทธ ความเชื่อดั้งเดิมหรืออาดัต (adat) และการนับถือเจ้าถือผี   ศาสนาอิสลามที่เข้ามาในระยะแรกนั้นเป็นนิกายซูฟีที่มีความเชื่อในเรื่องญาณและสิ่งลี้ลับ การเปลี่ยนมารับอิสลามของผู้คนในบริเวณหมู่เกาะเป็นผลมาจากการปฏิวัติภายใน  กล่าวคือ ความไม่พอใจต่อระบบสังคมแบบฮินดูที่มีการแบ่งแยกชนชั้นเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้คนหันไปรับอิสลามที่เน้นย้ำความเท่าเทียมกันได้ง่ายขึ้น   ศาสนาอิสลามเอื้ออำนวยต่อระบบเศรษฐกิจแบบพ่อค้าได้ดีกว่าศาสนาฮินดู-พุทธ  โดยไม่จำเป็นต้องมีพระหรือวัดในการประกอบพิธีทางศาสนาทุกคนสามารถปฏิบัติกิจทางศาสนาได้อย่างเท่าเทียมกัน 

ศาสนาอิสลามเข้ามายังอาณาจักรมะละกาพร้อมกับความรุ่งเรืองทางการค้า   ถึงแม้ว่าการขยายอิทธิพลทางดินแดนของมะละกาได้ยุติลง แต่ในขณะเดียวกันการแพร่ขยายของวัฒนธรรมะละกา-มลายู ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามได้แพร่ขยายเข้าสู่ดินแดนอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายู 

มูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากศาสนาดั้งเดิมนั่นก็คือว่า ศาสนาอิสลามไร้ซึ่งคณะสงฆ์ ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของสังคม หากรับนับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ย่อมที่จะมีความเท่าเทียมกัน ใช่ว่าจะมีการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นปกครอง ขุนนาง นักบวช และประชาชน ผู้คนในสังคมถูกรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันภายใต้หลักคำสอนของอิสลาม ด้วยเหตุที่ว่าการเผยแพร่ศาสนาเป็นหน้าที่ของผู้คนทุกคนในสังคม ศาสนาอิสลามก็ได้เริ่มซึมซับเข้าสู่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ซึ่งต่างออกไปจากศาสนาดั้งเดิมที่หน้าที่ของการเผยแพร่ศาสนาจำกัดอยู่ที่นักบวชเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มะละกาต้องเผชิญอยู่กับภาวะสงครามโดยศัตรูจากแดนอื่น นั่นก็คือโปรตุเกส ที่ยกกองทัพเรือเข้ามาปิดล้อมร่วมเดือน ก่อนที่โปรตุเกสจะตีมะละกาแตก และสร้างอำนาจการปกครองเหนือมะละกา ถือเป็นจุดจบแห่งอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของมะละกา อย่างไรก็ตามแม้นไม่มีอาณาจักรมะละกาแล้ว แต่การเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังคงอยู่ แม้จะต้องเผชิญอยู่กับศาสนาใหม่ของอาณานิคมที่มีอิทธิพลอยู่เหนือบริเวณเหล่านี้เป็นระยะเวลาหลายร้อยปี แต่ศาสนาของอาณานิคมเหล่านั้นไม่สามารถที่จะพิชิตใจผู้คนในคาบสมุทรมลายูได้

 

ที่มา: PATANI FORUM

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net