'ป.ป.ช.' รับสอบ 'กสทช.' จัดประมูล 3G

วันนี้ (25 ต.ค.55) เมื่อเวลา 14.00 น. นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ออกใบอนุญาตการประมูลคลื่น 3G

โดย ป.ป.ช.ได้พิจารณาจากคำร้องหลักของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ยื่นคำร้องเข้ามาให้ทาง ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบว่าการประมูลคลื่น 3G ไม่ได้เป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และพฤติการณ์ของคณะกรรมการ กทค.ที่เร่งรัดมีมติเห็นชอบการประมูลดังกล่าว ว่าเป็นคำร้องผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 14 ซึ่งถือเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. จึงให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายภักดี โพธิศิริ และนายใจเด็ด พรไชยา 2 กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยคาดว่าจะเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้าเป็นคณะอนุกรรมการฯภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแล้วเสร็จก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว

 

'สุภิญญา' เสนอวาระเร่งด่วน ให้บอร์ดใหญ่ร่วมใช้ดุลพินิจรับรองผล 3G
(24 ต.ค.55) สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหนังสือถึง พลอากาสเอกธเรศ  ปุณศรี ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้นัดประชุม กสทช.วาระเร่งด่วนเรื่องการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz โดยเห็นว่า หลังจากผลการประมูลคลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายถึงผลการประมูลว่า ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากวุฒิสมาชิกหลายท่านที่เห็นว่า ควรมีการประชุม กสทช. อย่างเร่งด่วนเพื่อหารือถึงการรับรองผลการประชุม เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลและเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจติดตามจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 

อีกทั้งการตัดสินใจดำเนินการใดๆ ยังมีผลทางกฎหมายต่อคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะ 11 คน ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ในข้อ 18 ยังระบุว่า “ให้ประธานกรรมการเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด” ทั้งนี้ “คณะกรรมการ” ตามที่ระบุในประกาศหมายถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ดังนั้น ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ที่ลงนามโดยประธาน กสทช.  จึงถือเป็นหน้าที่ของประธาน กสทช.ในการเรียกประชุมตามที่ระบุในข้อ 18 ของประกาศฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ประกาศของ กสทช. มีทั้งที่ลงนามโดย พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ดังเช่นกรณีของประกาศ 3G, ประกาศเรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 เป็นต้น ขณะที่ประกาศบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พบว่าลงนามโดยประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธาน กสทช.

 

 

ที่มา: ส่วนหนึ่งจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท