TDRI เผยขึ้นค่าแรง 300 ทั่วปท. GDP ลด 2% เสนอขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป-มีทิศทางชัดเจน

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ยากที่ต่อไปการพัฒนาประเทศจะพึ่งค่าแรงต่ำ เสนอควรจะขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป มีทิศทางชัดเจน และขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าทางการเมือง

(25 ต.ค.55) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น” ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้กล่าวถึงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากกรณีที่จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ทั่วประเทศ 1 ม.ค.56 นี้
 

สมเกียรติ กล่าวโดยสรุปถึงผลการศึกษาว่า เป็นการยากที่ต่อไปการพัฒนาประเทศไทยจะพัฒนาโดยอาศัยค่าแรงต่ำ เพราะปัจจัยแรกโครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุจึงเริ่มขาดแคลนแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อบ้านก็ได้กลับไปเมื่อมีการเปิดประเทศ คือ กรณีของพม่า ปัจจัยต่อมาคือนโยบายของภาครัฐ เชื่อว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้การหาเสียงกับประชาชนในเรื่องการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจได้

ประธานทีดีอาร์ไอ เสนอว่า การขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้นควรจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างมีแผนมีทิศทางชัดเจน เราเสนอว่าแทนที่จะปล่อยให้ค่าแรงอยู่ในระดับต่ำมานานแล้วการกระโดดขึ้นไป ในบางจังหวัดถึง 80% ในทันที เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมากต่อธุรกิจ ทำให้ปรับตัวไม่ได้แล้วนโยบายของรัฐอาจได้รับการต่อต้าน วิธีการที่เหมาะสมกว่าคือภาครัฐควรจะกำหนดนโยบายค่าแรงในระยะยาวขึ้นมา เช่น เราเสนอว่าควรกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดูปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ประการแรกดูจากผลผลิตจากแรงงานหรือผลิตภาพแรงงาน บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาใช้ในการปรับค่าจ้างแรงงาน

สมเกียรติ กล่าวว่า ถ้ามีการส่งสัญญาณแบบนี้แต่เนิ่นๆ แล้วก็ปรับด้วยข้อมูลที่ทันสมัยทุกปีๆ ภาคธุรกิจก็จะเห็นว่าเส้นทางของค่าจ้างแรงงานในอนาคตจะขึ้นไปอย่างไร ธุรกิจก็จะสามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าจะปรับตัวไปโดยย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ หรือการเอาเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน หรือยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือทำกิจกรรมต่างได้เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้ขึ้นมาได้ผลกระทบก็จะไม่รุนแรง ภาคธุรกิจก็จะสามารถปรับตัวและยกระดับสู่อีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์และมีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการขึ้นค่าแรงงานขึ้นต่ำ 300 บาท ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 56 นั้น ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่าจะส่งผลพอสมควร คือ GDP ของไทยก็จะโตช้าลง หากไม่มีมาตรการใดๆ ในฝ่ายธุรกิจออกมา โดยการศึกษาของ TDRI พบว่าจะลดไปประมาณ 2% อย่างไรก็ตามหากมีการปรับวิธีการทำงาน ปรับผลิตภาพของภาคธุรกิจ ผลกระทบก็จะไม่รุนแรงมาก

ในส่วนข้อเสนอให้มีการนำเครื่องจักรมาใช้เพิ่มหรือทดแทนแรงงานนั้น สมเกียรติ ยืนยันว่าสำหรับประเทศไทยไม่มีความวิตกกังวลที่เราจะเอาเครื่องจักรมาใช้เพิ่ม เพราะว่าการจ้างงานในประเทศไทยเป็นการจ้างงานที่ตึงตัวอยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่าพอสำรวจอัตราการว่างงานก็มักจะต่ำว่า 1% หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่เกิน 2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมาก ในประเทศมีแรงงานไม่พอใช้เราก็มีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา เพราะฉะนั้นการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนจึงไม่เป็นปัญหา และควรจะต้องเอามาใช้เพื่อยกระดับการผลิตให้มีผลิตภาพสูงขึ้น และจะช่วยให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย

รวมทั้งการลดการจ้างงานจากที่ศึกษานั้นพบว่าจะลดจากที่ไม่มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำลดลงประมาณ 1 ล้านคน แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน เราขาดแคลนแรงงานอยู่แล้วจึงไม่ได้เป็นประเด็น ประเด็นคือการเติบโตเศรษฐกิจจะลดลง ถ้าไม่มีมาตรการอื่นมาเสริมก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมามากกว่า

สมเกียรติ มองว่า ธรรมชาติของการเมืองในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้วที่รัฐบาลควรจะต้องหาเสียงจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เกิดความสมดุลแต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจและภาควิชาการ คงต้องคุยกันและหาทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายเดินไปได้ แต่ถ้าแต่ละฝ่ายไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเดินไปคนละทางในที่สุดรัฐบาลก็คงทำตามเสียงเฉพาะผู้เลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น

“เพียงแต่ว่าเราอยากเห็นว่าต่อไปเรื่องค่าจ้างแรงงานควรจะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากขึ้น มากกว่าขึ้นกับการตัดสินใจทางการเมืองโดยพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะการตัดสินใจโดยดูจากการเมืองอย่างเดียวมักมีแนวโน้มมองระยะสั้นเกินไปและผลกระทบระยะสั้นก็จะสูงทำให้มีปัญหาต่อระยะยาว”

สมเกียรติ ย้ำด้วยว่าให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและเอกชนมองในระยะยาว เพราะการฝึกอบรมแรงงาน การยกระดับการผลิตของธุรกิจเองทำไม่ในเวลา 2-3 เดือน ต้องวางแผนกันเป็นปี 2 ปี ทำจริงๆ ทำการวิจัยและพัฒนาให้เห็นผลอาจใช้ 5 ปีขึ้นไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท

พื้นที่ประชาสัมพันธ์