Skip to main content
sharethis

คปก. ชงปรับแก้ประเด็นในกฎหมาย 2 ฉบับ  ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เสนอกำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี  เพิ่มอำนาจพัฒนาศักยภาพสมาชิกฯ อีกหนึ่งปรับคุณสมบัติ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน

25 ตุลาคม 2555 –  นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นในหลายประเด็น ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการสภาสาธารณสุขชุมชน ในร่างมาตรา 13 ซึ่ง คปก.เห็นควรให้กำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนักการสาธารณสุขและจำนวนของกรรมการที่เหมาะสมสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นถัดมาคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาการสาธารณสุข ซึ่งนอกจากอำนาจในการควบคุม กำกับดูแล และกำหนดมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขแล้ว ควรมีอำนาจในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพการสาธารณสุขให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังเห็นควรให้สภาการสาธารณสุขเสนอแผนและรายงานผลการดำเนินงานของสภาการสาธารณสุขต่อสมาชิกสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

ส่วนเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้รับบริการ คปก. เห็นควรให้กำหนดอายุใบอนุญาตไว้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต เช่นเดียวกับใบประกอบวิชาชีพด้านการสาธารณสุขอื่น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้พัฒนาความรู้ มาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนผู้รับบริการ  และเนื่องจากวิชาชีพการสาธารณสุขมีหลายสาขา จึงควรแบ่งประเภทใบอนุญาต และกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการต่อใบอนุญาตให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มสาขา ซึ่งควรกำหนดเป็นข้อบังคับของสภาฯ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการสร้างภาระจนเกินควรแก่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ

ขณะเดียวกัน คปก. เห็นว่า ในประเด็นบทบัญญัติในหมวดที่ 6 (1)(2)(3) และหมวด 7 บทกำหนดโทษ ร่างมาตรา 48 อาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในเคหสถานในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข อย่างไรก็ตามการกำหนดโทษควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนั้น บทกำหนดโทษควรได้สัดส่วนกับความผิดด้วย เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำที่กฎหมายกำหนดห้าม

คปก.ยังเห็นควรให้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลที่กำหนดมาตรการรับรองบุคคลากรด้านการสาธารณสุขชุมชนที่อาจขาดคุณสมบัติในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกและขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ในระยะแรกเริ่มของการที่ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนฯ มีผลบังคับใช้ด้วย

ขณะที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ยังได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว

จากการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คปก. เห็นชอบให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบโดยเร็ว และให้แก้ไขคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่ง คปก.มีข้อสังเกตใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.  ประเด็นองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเห็นว่า การกำหนดจำนวนองค์ประกอบ และคุณสมบัติขององค์ประกอบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามร่างพ.ร.บ. ฉบับเสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ มีหลักการที่มีความเหมาะสม แต่การกำหนดคุณสมบัติในมาตรา 6 วรรคสี่ (ข) ว่า “กรรมการต้องมีคุณสมบัติเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี”  คปก.เห็นว่าควรเป็นตำแหน่งระดับศาสตราจารย์ขึ้นไป เพื่อให้เป็นไปทำนองเดียวกับคุณสมบัติขององค์ประกอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่น และสอดคล้องกับกรณีที่กำหนดตาม (ก) ว่าต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า

2. ประเด็นคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยสิทธิในการดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิพลเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่รัฐต้องมอบให้พลเมืองของรัฐทุกคนตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากการได้มาซึ่งสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 นั้น ไม่ได้มีเพียงการได้มาโดยการเกิดเท่านั้น แต่ยังมีการได้มาซึ่งสัญชาติโดยทางอื่น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ บุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะได้มาโดยการเกิดหรือได้มาโดยทางอื่น จึงควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net