Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ Mashable นำเสนอรายงานการวิจัยเรื่องการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต หรือ Cyberbullying ที่บอกว่าการรังแกกันทางเน็ตไม่ได้แพร่หลายมากเท่าที่คิด แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังเตือนว่าเป็นอันตรายได้หากไม่มีการสอดส่องดูแล

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2012 - เว็บไซต์ Mashable ได้นำเสนอข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับกรณีการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตหรือ Cyberbully ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับพ่อแม่ของเด็กโต-วัยรุ่น โดยผลการสำรวจล่าสุดเปิดเผยว่าการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้มีมากเท่าที่คิด
 
จากผลการวิจัยระดับประเทศของสมาคมจิตวิทยาสหรัฐฯ 2 งานวิจัย เปิดเผยว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของกลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ที่ถูกรังแกทางอินเตอร์เน็ต มิเชลล์ อิบาร์รา ผู้อำนวยการงานวิจัยของศูนย์วิจัยนวัตกรรมสาธารณสุขกล่าวว่า งานวิจัยในอดีตแสดงให้เห็นว่าระดับการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 30-72 ซึ่งมากกว่าผลของงานวิจัยปัจจุบันมาก
 
จากกรณีที่โด่งดังกรณีหนึ่งคือกรณีของ ไทเลอร์ คลีเมนติ ที่ฆ่าตัวตายหลังจากเพื่อนร่วมห้องของเขาใช้เว็บแคมแอบถ่ายกิจกรรมรักร่วมเพศของเขาไว้ รวมถึงกรณีเด็กถูกรังแกทางอินเตอร์เน็ตรายอื่นๆ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเชื่อว่าลูกหลานของเขาถูกรังแกทางอินเตอร์เน็ต แต่อิบาาร์รากล่าวว่าการรังแกทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้แพร่หลายมากขนาดนั้น
 
"เพราะเราพบเห็นเรื่องราวที่ดูรุนแรงมาก" อิบาร์รากล่าว "มันถึงทำให้เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นทั่วไปหมด"
 
Mashable ตั้งคำถามว่า แต่พ่อแม่ผู้ปกครองควรโล่งใจและไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้เลยหรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายังไม่ควรรีบโล่งใจในตอนนี้
 
 
Cyberbully คืออะไร?
 
ดร.โจเอล ฮาเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตกล่าวว่างานวิจัยเช่นของที่อิบาร์รานำเสนอออกมาไม่ได้สะท้อนอันตรายที่เด็กวัยรุ่นต้องเจอเวลาอยู่กับอินเตอร์เน็ต
 
ฮาเบอร์บอกว่า การรังแกกันในโลกจริงคือการที่คนๆ หนึ่งใช้อำนาจข่มเหงต่อเหยื่อซ้ำๆ ส่วนในโลกออนไลน์นั้น อำนาจที่ว่าขึ้นอยู่กับว่าเด็กวัยรุ่นคนนั้นเป็นที่นิยมมากแค่ไหนในโลกดิจิตอล ยกตัวอย่างเช่นในเฟสบุ๊ค การที่คนๆ หนึ่งมีเพื่อนมากหมายความว่าพวกเขามีสถานะที่ดีกว่า
 
คนจำนวนมาก รวมถึงเหยื่อที่โดนรังแกเองคิดว่าการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตต้องเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งถึงจะเรียกว่าเป็นการข่มเหงรังแก แต่ในบางกรณีแล้วเมื่อมันเกิดขึ้นแค่เพียงครั้งเดียวก็มีผลต่ออีโก้และความการเห็นคุณค่าในตัวเองของคนๆ หนึ่งได้
 
และการเกิดกรณีดังกล่าวก็เกิดขึ้นหลายครั้งมากกว่าที่คิด อาจเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นหรือพ่อแม่ไม่เห็นว่ามันเป็นภัยที่รุนแรงพอจะต้องแจ้งให้ทราบ ในการวิจัยชิ้นล่าสุด แม้จะมีการบอกว่ากรณีรายงานการข่มเหงทางอินเตอร์เน็ตหลายกรณีเป็นการรายงานเกินจริง แต่ก็พบว่ามีวัยรุ่นเกือบครึ่งหนึ่งรายงานว่าตนเป็นเหยื่อของการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
 
 
Cyberbully เกิดขึ้นอย่างไร?
 
การเติบโตของเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ทำให้วัยรุ่นเชื่อมต่อกันได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะเมื่อมีระบบโทรศัพท์มือถือรองรับให้พวกเขาอยู่ในโลกออนไลน์ได้แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ที่บ้าน
 
ขณะเดียวกันระบบเชื่อมต่อจากโทรศัพท์มือถือก็เป็นความฝันของเหล่าผู้ข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต เมื่อคนใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านพวกเขาต้องปักหลักอยู่ที่จุดๆ เดียวในบ้าน ซึ่งพ่อแม่อาจสามารถมองเห็นพฤติกรรมการใช้ของเด็กได้
 
นี่หมายความว่า ไม่เพียงแค่พ่อแม่ของเด็กจะสามารถปกป้องเด็กๆ จากการถูกข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต แต่พวกเขายังสามารถสอดส่องไม่ให้พวกเขากระทำไม่ดีต่อเด็กคนอื่นๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อด้วยโทรศัพท์หมายความว่าวัยรุ่นจะอยู่ในโลกออนไลน์นานขึ้น และอยู่นอกสายตาผู้ใหญ่ และถ้าหากวัยรุ่นไม่พูดเรื่องนี้กับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ไม่ได้คอยสอดส่องพฤติกรรมทางอินเตอร์เน็ตของพวกเขา บางครั้งผู้ข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตก็จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม และอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้หากยังไม่มีใครทำอะไรกับมัน
 
 
อย่างไรถึงจะเรียกว่า 'ล้ำเส้น'
 
วัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบเยาะเย้ยถากถางกันเป็นปกติอยู่แล้ว มันอาจเริ่มจากการล้อเลียน ไปเป็นการก่อกวนและลามไปเป็นการข่มเหงกันทางอินเตอร์เน็ต ฮาเบอร์กล่าวว่าสิ่งที่พูดกันบนอินเตอร์เน็ตจะถูกตีความตามตัวอักษร เนื่องจากมันปราศจากน้ำเสียงและบริบท หมายความว่าแม้กระทั่งคำที่ดูไร้เดียงสาที่สุดอาจถูกมองว่าเป็นการข่มขู่สำหรับคนที่ไม่รู้ความได้
 
"มีเด็กจำนวนมากรายงานว่าเด็กคนอื่นกล่าวคำพูดที่เลวร้ายหรือทำให้เจ็บใจบนโลกออนไลน์ หรือให้พวกเขาออกจากกลุ่มออนไลน์บางกลุ่ม" ฮาเบอร์กล่าว "แต่เพราะว่ามันไม่มีบริบท พวกเขาจึงไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่า"
 
การข่มเหงในโลกอินเตอร์เน็ตมีศูนย์กลางอยู่ที่อำนาจเช่นเดียวกับพวกชอบรังแกคนอื่นในชีวิตจริง บางครั้งการโดนต่อยสักหมัดหรือการทำให้ระบบล่มก็เพียงพอที่ทำให้คนชอบรังแกถอยห่างออกไป
 
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ตำรวจได้จับกุมตัววัยรุ่นชาวอังกฤษเพื่อตักเตือนเรื่องที่เขากล่าวรบกวนจิตใจนักดำน้ำผู้เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ทอม ดาเลย์ ก่อนจะปล่อยตัววัยรุ่นดังกล่าวไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ดาเลย์บอกว่าเขาจะคว้าเหรียญทองมาให้พ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งเนื้องอกในสมอง แต่ก็พ่ายไป จากนั้นเด็กอายุ 17 ปี จึงพิมพ์ทวิตเตอร์ว่า "คุณทำให้พ่อคุณผิดหวัง หวังว่าคุณจะรู้ตัวนะ"
 
การอยู่ในโลกออนไลน์ทำให้คนบางคนรู้สึกว่าตนมีพลังอำนาจที่ปกติแล้วไม่มี และพวกเขาก็ใช้ประโยชน์จากมัน เมื่อคุณอยู่ในโลกออนไลน์โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ไม่มีใครรู้ว่าคุณใหญ่แค่ไหน แข็งแกร่งแค่ไหน หรือว่าคุณอยู่ที่ไหน และการข่มเหงทางอินเตอร์เน็ตก็มีผลสะท้อนกลับน้อย อาจจะมีแค่การถูกไล่ออกจากเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ และวัยรุ่นแต่ละคนก็รู้ดีว่าจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างโปรไฟล์ปลอม
 
นักจิตวิทยากล่าวว่าการการกล่าวโจมตีกันมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อคนเราไม่เห็นหน้าของฝ่ายที่เรากล่าวโจมตี และความกล้าแบบหลอกๆ เช่นนี้ก็เพิ่มขึ้นเมือ่พวกเขาคิดว่าพวกเขาจะไม่ถูกจับได้
 
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การที่ในโลกออนไลน์ไม่มีอวัจนะภาษา เช่นภาษากาย และโทนเสียง จึงเป็นเรื่องง่ายที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลาย เพราะหมายความว่าการที่คนเราไม่สามารถชกกันตัวต่อตัวได้ ทำให้ฝ่ายหนึ่งไม่มีปัญหาในการกล่าวว่าร้ายคนอื่นภายใต้การปกป้องโดยแฮ็ชแท็ก (เครื่องหมาย # ของทวิตเตอร์ที่ใช้ระบุประเด็นที่ต้องการกล่าวถึง)
 
 
แล้วเราจะตอบโต้ผู้ข่มเหงทางอินเตอร์เน็ตอย่างไร?
 
แม้ว่าวัยรุ่นจะไม่รู้ตัวว่าเขากำลังถูกรังแก แต่พวกเขาก็รู้เวลามีคนก่อกวนพวกเขา และกับคนที่รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองต่ำอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ก็มีอยู่มากในกรณีของวัยรุ่น ก็ทำให้พวกที่ชอบรังแกคนอื่นทางอินเตอร์เน็ตทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยลงไปอีก บางครั้งก็ทำให้เกิดผลลัพธ์น่าเศร้าตามมา
 
และแม้ว่าจะมีรายงานว่าการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตลดลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายรวมถึงการก่อกวนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ชัดเท่าแต่ก็ยังอันตราย ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้วัยรุ่นต้องระวังให้ดีเวลาอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะกับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือ และให้มีผู้ติดต่อจำกัดอยู่แต่กับคนที่ปลอดภัยและพวกเขารู้จัก แล้วก็บล็อกคนอื่นให้หมด
 
การข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตก็เหมือนกับการรังแกกันในสนามเด็กเล่น คือมีการวางเป้าหมายรังแกเป็นคนที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้ตนมีอำนาจมากขึ้น และเมื่อวัยรุ่นพวกนั้นเริ่มบอกเรื่องถูกรังแกกับครอบครัว กับเฟสบุ๊ค และกูเกิ้ล หรือกระทั่งกับผู้นำในโรงเรียน พวกเขาก็มีโอกาสลดอำนาจของผู้รังแก
 
ถ้าเกิดอะไรแบบนี้มากขึ้นบ่อยๆ งานวิจัยในอนาคตก็จะรายงานให้ทราบความคืบหน้าล่าสุดว่าการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้ระบาดมากเท่าที่คนคิด และพวกชอบรังแกคนอื่นจะเริ่มด้อยพลังลง
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net