ความอยุติธรรมทางกฎหมายต่อคนที่อยู่ร่วมกับป่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เขียน ซึ่งได้มีส่วนเข้าไปร่วมรับฟังการเสวนากรณีการตัดสินของศาลในคดีแม่อมกิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และมีระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามาเป็นเวลาช้านาน แต่รัฐเห็นว่าการใช้ที่ดินเช่นนั้น คือ การบุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายป่า ถือเป็นการขัดกฎหมายการอนุรักษ์ป่าของประเทศ จนมีชาวบ้านปาเกอะญอสองคนถูกจับ ซัดทอด และนอนคุก

คดีดังกล่าวมีการรวบรวมหลักฐาน ต่อรองกันมานาน และนำขึ้นพิจารณาในศาล หรือเป็นช่วงที่ต้องเรียกว่า ‘สู้ศาล’ แต่ทว่าคำตัดสินของศาลต่อคดีดังกล่าว อาจถือเป็นการตัดสินที่ไม่ได้สร้างความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน แต่ตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้พิจารณาถึงสิทธิชุมชน

คดีดังกล่าวเป็นที่สนใจของบรรดานักวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่สนใจการต่อสู้ดิ้นรนของชาวบ้านบนความไม่ยุติธรรมของกฎหมาย เนื่องจาก ชาวบ้านกลายเป็น ’เหยื่อ’ อธรรมทางกฎหมายเสมอมา ซึ่งนั่นทำให้ผู้เขียนตระหนักต่อความสำคัญของกฎหมายมิใช่น้อย มิใช่เพียงแค่การเป็นประชาชนคนไทยที่ต้องรู้กฎหมายเท่านั้น แต่ต้องเท่าทันกฎหมาย ตั้งคำถามกับตัวบทกฎหมายและการใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายมีลักษณะลุกลี้ลุกลน วันดีคืนดีจะเล่นงานใครก็ได้ และไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเล่นงานคนที่ไม่รู้กฎหมายแล้วทำผิดเท่านั้น แต่จะเล่นงานคนที่แตกต่างจากตน คนที่ยากจน ไม่มีทางสู้ คนที่มีอำนาจน้อยกว่า นั่นแหละคือวันที่เงื้อมเงากฎหมายจะเล่นงานเราแม้เราจะไม่มีความผิดเลยก็ตาม

ปัญหาที่ชาวบ้านที่แม่อมกิเผชิญ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่เป็นปัญหาส่วนรวมที่ประชาชนทุกคนทั้งประเทศควรตระหนักยิ่ง !!

เหตุใดปัญหาดังกล่าวจึงควรตระหนักและควรใส่ใจ ในฐานะที่เป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนรวม สำหรับผู้เขียนแล้ว ขอพิจารณาถึงผลกระทบหรือ ’ชะตาชีวิต’ ของทุกเผ่าชน ดังต่อไปนี้

ชะตาชีวิตของผู้คนที่อยู่กับป่า แต่แรกเริ่มเดิมที ชีวิตของคนอาศัยผืนป่านั้น ป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และการก่อตั้งชุมชน หมู่บ้านส่วนใหญ่มีพัฒนาการความเป็นมาจากการบุกป่า ถางดง ฉะนั้นชาวบ้านจะมีวิธีคิดและมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกับป่า ว่าจะต้องใช้ไม้ในการนำมาสร้างบ้านกี่ส่วน ภูมิปัญญาในการจัดการกับป่าจึงเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างไปในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนเมือง มีวิธีการแบ่งสัดส่วนป่า คือ ป่าใช้สอยหรือป่าส่วนรวม ป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะนิยามว่าเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์มีพิธีกรรม คือสืบชะตาป่า หรือต้นน้ำลำธารทุกปี ขณะที่ปาเกอะญอ แบ่งป่าออกเป็นป่าเดปอ หรือป่าศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดรุกล้ำเข้าไปตัดไม้ ล่าสัตว์ มีพิธีกรรมเป็นของตนเอง เช่นเดียวกับม้งที่มีพิธีดงเซ้งเพื่อรักษาป่า

ฉะนั้น หากสรุปรวมแต่ละชาติพันธุ์ มีพิธีกรรมการจัดการดูแลผืนป่าที่แตกต่างกันตามแต่ละวัฒนธรรม เฉพาะพื้นที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกกลุ่มเห็นคุณค่าของป่า และมีวิธีคิดวิธีจัดการที่จะอยู่ร่วมกับป่าทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เป็นไปไม่ได้หากจะให้คนออกจากป่า ไม่เช่นนั้น คนเหล่านี้จะอยู่ที่ใด การดึงคนออกจากป่า ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ต้องพึ่งการพัฒนาจากรัฐ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะถือเป็นการพัฒนาได้อย่างไร หากการพัฒนาคือการเพิ่มพูนเงินในบัญชีกองคลังให้มากที่สุด หรือการมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษอยู่เกลื่อนกลาดโดยกฎหมายไม่ได้เอาผิด ฤาเงินมันบังตาจนมิดหมดแล้ว จึงไม่เห็นการดิ้นรนของผู้คน

ชะตาชีวิตของผู้คนที่ทำเกษตรกรรม เป็นบทสะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรกำลังเผชิญกับความเสี่ยง ความไม่มั่นคง และเนื่องจากผลผลิตของการเกษตรไม่ได้มาจากผู้คนที่อยู่บนพื้นที่ราบเท่านั้น หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ จะพบว่า พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของรัฐ คือระบบของความสัมพันธ์ของคนบนพื้นที่สูงกับคนบนพื้นที่ราบที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน หรือแม้ในปัจจุบัน การใช้ที่ดินในที่ราบเพื่อการผลิตก็ไม่ได้ถูกจำกัดอีกต่อไป เมื่อระบบทุนได้ขยายเข้าสู่ประเทศ รัฐก็ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งเสริมการขยายตัวของเกษตรพันธะสัญญา เช่น การลงทุนด้านการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ จนพื้นที่สูงและพื้นที่ราบกลายเป็นแหล่งรองรับการผลิตดังกล่าว อีกทั้งผู้คนที่อยู่บริเวณดังกล่าวก็ต้องกลายเป็นแรงงานในไร่ของตนเอง สถานการณ์เช่นนี้ระบาดไปทั่ว ขณะที่ชาวบ้านกลับถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ ทั้งๆ ที่นายทุนพื้นที่ราบ บวกกับนโยบายรัฐต่างหากที่กฎหมายควรพิจารณาเอาผิด 

แต่การทำไร่หมุนเวียน ถือเป็นวิธีการทำลายป่า?
และการเผาป่าของชาวบ้านก็ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน?

คำถามของศาลดังกล่าว ทำให้บรรดานักวิชาการศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านต่างงงงวย เพราะเหตุใดศาลจึงพิจารณามาเช่นนั้น แล้วการทำไร่หมุนเวียนที่ศาลเข้าใจคืออะไร ที่รัฐเข้าใจคือแบบไหน ไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ ไร่เลื่อนลอย แต่ทว่ารูปแบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียนมีระบบการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นสัดเป็นส่วน ซึ่งด้วยความที่ผู้ที่เคารพ ผู้ใช้กฎหมายในการช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้นำตัวเองลงมาพิจารณาปัญหาชาวบ้านอย่างแท้จริง จึงทำให้การใช้กฎหมายไม่ได้มีผลเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านแม่อมกิ แต่กลับเป็นกรงขังอันแน่นหนาให้ชาวบ้านดิ้นออกไปไม่หลุด

ด้วยประการนี้นักวิชาการจึงเสนอพิธีการ ‘สอนศาล’ เพื่อให้ศาลเข้าใจรากฐานของประชาชนบนพื้นที่สูง ลักษณะการใช้ที่ดินในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่การทำลายป่าตามที่รัฐพยายามซัดทอด และก็ผลิตซ้ำคำกล่าวหานี้จากรุ่นสู่รุ่น เพราะแท้ที่จริง การทำไร่หมุนเวียน คือภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตของผู้คนในการจัดการใช้ที่ดินตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ซึ่งการทำไร่ในลักษณะนี้ไม่ได้ปรากฏหรือจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่เกิดกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูงซึ่งมีพื้นที่จำกัดในการทำมาหากิน

ตัวอย่างกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ จะเรียกการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตแบบหมุนเวียนนี้ว่า เร้ะ ตู เร๊ะ ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินในการเพาะปลูกข้าวไร่และพืชต่างๆโดยอาศัยความจำกัดของพื้นที่ และการคำนึงถึงระบบนิเวศที่อยู่รายล้อม การทำการผลิตเช่นนี้ จึงเป็นการอนุรักษ์ป่าไปในตัว เพราะมีการพักฟื้นดินในระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ต้นไม้โต และเสริมธาตุในดิน เป็นการต่อชีวิตให้กับสรรพสัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงกระทำกันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วอายุคน แล้วค่อยเวียนมาทำที่เดิม เช่นนี้เรื่อยๆ ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่คนบนพื้นที่สูงถูกขับไล่ให้ออกจากป่า จากที่ทำกินของตน แต่คนที่เข้าไปบุกรุกและใช้พื้นที่ป่ากลับเป็นนายทุนพื้นที่ราบ ซึ่งแปลงผืนป่าให้กลายเป็นรีสอร์ทบ้าง การปลูกพืชแบบ Plantation บ้าง ซึ่งมีลักษณะการใช้ที่ดินแบบซ้ำๆ ในระยะเวลาที่สั้น ฉะนั้นธาตุในดินจึงลดลงแถมมีสารตกค้างปนเปื้อนอีก

ด้วยเหตุนี้ คดีดังกล่าวจึงเป็นคดีที่สะท้อนภาพ ไม่เฉพาะคนที่อยู่กับป่า แต่เป็นคนที่ทำมาหากินโดยใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีโฉนดที่ดินรับรอง หากจะถูกจับ คนส่วนใหญ่ของประเทศคงต้องถูกจับเป็นระนาวแน่ แล้วจะเหลือเพียงแค่คนส่วนน้อยที่มีอำนาจอยู่ในมือที่ยังชีพด้วยข้าว น้ำ อย่างนั้นหรือ 

เหตุใดเรามักเอาเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติมาอ้าง แต่ความมั่นคงภายในประเทศ ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงที่จะประกันได้ว่า ประชาชนจะไม่อดอยาก ประชาชนจะพัฒนามาจากรากฐานของตัวเอง มีสิทธิกำหนดชีวิต ของตัวเอง แล้วอย่างนี้จะหาความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างไร เพราะชาติไม่ได้มีคนกลุ่มเดียว พรรคเดียวกุมอำนาจ แต่ฐานประกอบของความเป็นชาติ คือ ประชาชนทุกเผ่าพันธุ์ที่มีความหลากหลาย อย่าเอาแค่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไปหากิน แค่การท่องเที่ยวในการแสดงโชว์ เพื่อหารายได้เข้าประเทศเท่านั้น แต่ให้พวกเขาอยู่อย่างมีคุณค่า ตระหนักในจิตวิญญาณ 

ชะตาชีวิตของผู้คนบนเงื้อมมือของกฎหมาย
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีคดีเกี่ยวกับป่าไม้ 6,000 กว่าคดี และหากดูสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้ว มีอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผู้ที่ถูกกระทำจากความยุติกรรมทางกฎหมาย ก็คือ ชาวบ้านชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับการผลิตจากป่า เพราะเหตุใดเหล่าชาวบ้านจึงต้องเผชิญกับ ‘ความอยุติธรรม’ ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งหากพิจารณาแล้ว กฎหมายของไทยที่ผ่านมา มีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

1. กฎหมายไม่ได้มาจากประชาชน แต่กฎหมายผ่านร่างรัฐสภาซึ่งผู้ที่นั่งในสภาไม่ได้อยู่ฝักฝ่ายกับประชาชน แต่เป็นคนชั้นกลางที่ต้องการผลประโยชน์ ฉะนั้นกฎหมายจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้คนเหล่านั้นพยายามหาช่องโหว่มาควบคุม จำกัดการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน โดยการประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนทับที่ทำกินของชาวบ้าน 

2. กฎหมายไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้กับสถานการณ์จริง ข้อกฎหมายเป็นเพียงบทบัญญัติที่ตีพิมพ์อยู่ตามหน้าหนังสือ แม้จะมีบัญญัติสิทธิชุมชนจริง มีสิทธิพลเมืองจริง มีสิทธิทางวัฒนธรรมจริง แต่ทำให้เกิดการยอมรับได้น้อย 

3. ชะตากรรมของผู้คนที่ต้องเผชิญกับทัศนะของผู้ตัดสินหรือผู้พิพากษาที่ยังถูกกักขังด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นผู้พิพากษาของรัฐ ไม่ใช่ของประชาชน อคติที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของการใช้กฎหมาย ความเท่าเทียมกันของการใช้กฎหมาย คือการตระหนักรู้และเคารพวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจที่เราจะต้องเผชิญกับกฎหมายในชีวิตประจำวันของเราอย่างขาดไม่ได้ แต่เราไม่รู้ว่ามันจะกลับมาเล่นงานเราเมื่อไร จะมีสักกี่คนที่ลงไปดู ไปให้คำแนะนำ ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านรู้กฎหมาย แม้ถ้าชาวบ้านรู้กฎหมายจะทำอย่างไร เมื่อวิถีการดำรงชีพเขามาจากป่า มันไม่ใช่แค่การทำมาหากินบนผืนดินผืนป่า แต่นั้นมันเป็นจิตวิญญาณ เขาไม่ได้ทำงานบนตึกสูงระฟ้า แล้วได้เงินเดือนเป็นหอบเป็นกำเพียงนาทีเดียว แต่ชาวบ้านต้องดิ้นรน เพื่อยืนให้ได้ มีกิน มีชีวิตรอด คุณใช้คำเพียงข้อความเดียวมาตัดสินคนในเข้าคุก เหมือนคุณฆ่าเขาทั้งครอบครัว และฆ่าคนทั้งแผ่นดิน เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย มีวิถีชีวิตอยู่บนการทำกสิกรรม ไม่ใช่อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาทีหลัง เมื่อคุณผลักให้คนออกจากป่า คุณก็ผลักให้เขาเข้ามาเป็นแรงงานในระบบสายพาน มาเป็นคนขายพวงมาลัย คนเร่ร่อน อย่างนี้หรือที่เรียกว่าพัฒนา ?

เมื่อระบบไม่พัฒนา แล้วคนจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าคนไม่พัฒนา ระบบก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น หากจะพัฒนา ต้องพัฒนาคนภายในประเทศให้มีคุณภาพก่อน ทั้งคุณภาพทางใจ คุณภาพทางความคิด คือไม่มีอคติแก่กัน และคุณภาพทางการปฏิบัติ ที่มีความเป็นธรรม คำนึงถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับอย่างเสมอภาคกัน

ไม่ว่าฉันจะเป็นใคร ฉันคือ คนไทย ที่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน กรุณาอย่าเลือกปฏิบัติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท