Skip to main content
sharethis


ภาพโดย Pakorn Lertsatienchai

มีโอกาสรู้จักและเรียนรู้จากอาจารย์ไมเคิล บูราวอย มิตรใหม่ที่อาจารย์สุริชัย หวันแก้วพามาให้รู้จักกับเมืองไทย ได้ฟังปาฐกถาและบทสนทนาหลายวง เห็นว่าเมืองไทยน่าที่จะรู้จักบูราวอยและแนวคิดของเขาให้มากขึ้น ทั้งในฐานที่เขาเป็นคนน่าสนใจและแนวคิดเขาก็ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องขยับตัว และทำให้นักวิชาการลุกขึ้นมาถกเถียงว่าความรู้ยังมีคุณค่าต่อการดำรงอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
 
 
1– บูราวอย
 
ไมเคิล บูราวอย เป็นศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ มหาวิทยาลัยระดับต้นของอเมริกาและของโลก เป็นแนวหน้าคนสำคัญของการผลักดันแนวคิดเรื่องสังคมวิทยาสาธารณะ เพื่อกระตุ้นให้สถาบันผู้ผลิตความรู้เข้ามารู้สึกรู้สากับประเด็นปัญหาทางสังคมมากขึ้น   เขาเป็นนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการจำนวนมากและมีความหลากหลาย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในสมาคมสังคมวิทยาระดับชาติและระดับโลก ปัจจุบันได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสมาคมสังคมวิทยานานาชาติ (พ.ศ. 2553-2557)
 
ประวัติส่วนตัวจากคำบอกเล่าของเขามีสีสันมากทีเดียว ครอบครัวเขาเป็นคนเชื้อสายยิวในรัสเซีย ก่อนจะอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในเยอรมัน พ่อและแม่ของเขาเรียนจบปริญญาเอกด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยไลป์ซิก และพูดภาษาต่างๆ ได้ 3-4 ภาษา ก่อนจะแต่งงานและย้ายหนีนาซีไปอยู่ที่อังกฤษ พ่อเขาเพียงคนเดียวสามารถใช้ปริญญาที่มีติดตัวสมัครงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนแม่กลับต้องใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านธรรมดาและเลี้ยงลูก 2 คน ซึ่งถ้ายังอยู่ที่เยอรมัน เธอคงเป็นดาวเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ของยุโรปยุคนั้นทีเดียว พ่อเป็นคนที่ค่อนข้างหมกมุ่นอยู่กับงานและไม่ค่อยสนใจใครเท่าไหร่นัก และเสียชีวิตในวัยเพียง 54 ปี เขาบอกว่าตัวเองคล้ายพ่อมากกว่าแม่ และแม่เป็นคนช่างพูด ฟังแล้วได้แต่ขำ เพราะสำหรับพวกเราแล้ว ตัวเขาเองเป็นคนช่างพูดช่างเจรจาเหลือเกิน
 
ช่วงเรียนป.ตรี เขาเลือกเรียนคณิตศาสตร์ที่เคมบริดจ์ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นวิชาที่ไม่ต้องท่อง ทำความเข้าใจอย่างเดียวก็พอ แต่พอเรียนไปได้ 3 ปี ก็มีโอกาสได้ไปอเมริกา และได้พบกับบรรยากาศที่ขบวนการทางสังคมกำลังเบ่งบานอยู่เต็มไปหมด เขาตื่นเต้นมาก ยิ่งกลับมาพบกับเมืองน่าเบื่อ มหาวิทยาลัยน่าเบื่อ และคณิตศาสตร์อันน่าเบื่อ เขายิ่งรู้สึกเบื่อมากขึ้น แต่โชคดีที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษมีเวลาให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะมาก เขาจึงใช้เวลานอกมหาวิทยาลัยไปกับการเรียนรู้โลกด้านนอก เขาเดินทางไปแอฟริกาโบกรถไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เหนือจดใต้

เมื่อถามว่าแนวคิดของการเป็นนักสังคมวิทยาของเขาเริ่มขึ้นอย่างไร เขาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาอายุ 18 ปี เป็นหนุ่มน้อยไร้เดียงสา เขาอยากไปอินเดียและสนใจปัญหาที่ว่า อินเดียควรจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาราชการ ซึ่งขณะนั้นถกเถียงกันว่าจะเป็นอังกฤษ ฮินดี หรือภาษาถิ่น เขาคิดว่า ไม่เห็นจะยากเลย ก็ทดลองสอนเป็นภาษาเหล่านั้นดูสิ แล้วทดสอบคนที่เรียนหลังจากสอน ถ้าเรียนเป็นภาษาไหนเข้าใจก็น่าจะใช้ภาษานั้น เขาชี้ให้เห็นว่า ตอนนั้นเขายังแก้ปัญหาจากมุมมองแบบวิศวกรอยู่มาก แต่โชคดีมีอาจารย์ที่เข้าใจ และเป็นนักวิชาการ พอเขาไปเคาะประตูบ้านและเล่าไอเดียให้ฟัง อาจารย์ก็นั่งฟังพร้อมอมยิ้มและเขียนจดหมายให้เขา 5 ฉบับสำหรับถือติดตัวไปที่อินเดีย และเขาก็ได้รับการอำนวยความสะดวกทุกประการจากทุกที่ที่ไป อาจารย์คนนั้นชื่อ เอ็ดวาร์ด ชิลส์ นักสังคมวิทยาแห่งสำนักชิคาโกนั่นเอง
 
เมื่อเขาเริ่มพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ ซึ่งมีความเห็นและข้อถกเถียงต่างๆ มากมายเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาราชการ เขาบอกว่า การเป็นนักสังคมวิทยาเกิดขึ้นตอนนี้แหละ นั่นคือ ในขณะที่มองเห็นปัญหาในเชิงเทคนิก แต่ก็มองเห็นบริบทแวดล้อมทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย การสนทนากับคนอื่นที่มีมุมมองแตกต่างก็ทำให้เห็นกระบวนการทำงานทางสังคมเด่นชัดขึ้น และถือว่าเป็นวิธีการทำงานของนักสังคมวิทยา เมื่อเขาอธิบายถึงตรงนี้จึงได้บางอ้อว่า ทำไมทุกคนก็สามารถเป็นนักสังคมวิทยาได้
 
หลังจากเรียนคณิตศาสตร์จบ เขาไปอยู่ที่แซมเบียและเรียนสังคมวิทยาที่นั่น ศึกษาชีวิตคนงานทำเหมือง และเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ จากนั้นจึงไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโกโดยศึกษาชีวิตของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม งานสำคัญในช่วงหลังของเขาเน้นเรื่องสังคมวิทยาสาธารณะ กระตุ้นให้นักวิชาการและมหาวิทยาลัยสนใจกับปัญหาสังคมมากขึ้น
 
เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงไม่เลือกเรียนมานุษยวิทยาล่ะ เขาตอบปนหัวเราะว่า ส่วนตัวเขามองว่าวิธีการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาที่นักมานุษยวิทยาใช้นั้นดูแปลกประหลาดไปสักหน่อย เพราะสนใจเป็นจุดเป็นกระหย่อม แต่ในความเป็นจริงนั้น ชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านหนึ่งย่อมไม่อาจแยกขาดจากกระบวนการทางสังคมที่กระทำการอยู่ภายนอกและส่งผลกระทบต่อวิถีของผู้คนในหมู่บ้านนั้น

ดังนั้นเอง สำหรับตัวเขาแล้ว สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไม่ได้แยกออกจากกัน ฟังถึงตรงนี้จึงเข้าใจมากขึ้นว่างานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของเขาที่เขียนร่วมกับนักศึกษาอีก 9 คน ในเล่มGlobal Ethnography: Forces, Connections and Imaginations in a Postmodern World ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์สามารถอธิบายจากชีวิตของผู้คนระดับปัจเจกขึ้นไปจนถึงระดับโครงสร้างได้อย่างไร นั้นมีที่มาจากฐานความคิดที่มองเห็นความเชื่อมโยงของทั้งสองศาสตร์นี้เอง
 
ช่วงวันที่ 24 – 28 ตุลาคม พ.ศ.2555 บูราวอยเดินทางมาเมืองไทยตามคำเชิญของอาจารย์สุริชัย หวันแก้ว เพื่อแสดงปาฐกถาและร่วมงานประชุมวิชาการหัวข้อ “โลกแห่งการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม: วิกฤติความรู้สาธารณะ และระเบียบวาระของสังคมศาสตร์ข้ามชาติในอาเซียน” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังพบปะสนทนาร่วมกับคนทำงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านสุขภาพ ตลอดจนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เขามาโดยไม่คิดค่าตัว ไม่เบิกค่าตั๋วเครื่องบิน ผู้จัดเพียงแต่เตรียมที่พักและอาหารดูแลเขา ซึ่งการดูแลนั้นไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด และทำให้ผู้จัดค่อนข้างถอนหายใจโล่งขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการจัดงานนั้นได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยค่อนข้างน้อย
 
ในวงสนทนา บูราวอยมักจะกระเซ้าเย้าแหย่คนโน้นคนนี้อยู่ตลอด ดังเช่น เรียกอาจารย์สุริชัย หวันแก้ว คนที่เขาพบเพียงครั้งเดียวและรับคำเชิญมาเมืองไทยด้วยหลายฉายานาม นักมายากลบ้างช่างเชื่อมบ้าง เรียกคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์หลังจากรับฟังเรื่องเล่าที่นำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพว่า ตัวป่วนบ้าง เรียก ด ร. สุรางค์รัตน์ จำเนียรพลว่า แม่สาวอันตราย เป็นต้น แต่เขาไม่มีการพูดในลักษณะเหน็บแนมเลย ทั้งยังร่ำรวยอารมณ์ขันยั่วล้อตัวเองและอำนาจอยู่มาก ดังเช่น เมื่อกล่าวถึงสำนักชิคาโก ในฐานะที่เป็นสำนักทางสังคมวิทยาที่ศึกษาชีวิตของเมือง เขาก็ยกย่องมากว่าเป็นการริเริ่มที่ดี ก่อนเสริมว่ามีการศึกษามากเสียจนชิคาโกกลายเป็นศูนย์กลางจักรวาลไป – การมีอารมณ์ขันนี้ ตัวเขาเองเชื่อว่าเป็นคุณสมบัติของนักสังคมวิทยาที่ดี เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะสื่อสารเรื่องยากๆ กับผู้คนทั่วไปได้
 
สำหรับการเดินทางมาเมืองไทยในครั้งนี้ สิ่งที่บูราวอยประทับใจค่อนข้างมากก็คือ วงสนทนาที่มีความหลากหลาย นอกเหนือจากงานประชุมวิชาการ 2 วันแล้ว วงสนทนากับคนทำงานสายสุขภาพซึ่งมีทั้งหมอและนักมานุษยวิทยาที่ทำงานสร้างความรู้และขับเคลื่อนนโยบาย และวงสนทนากับคนหลากวัยจากสหสาขาวิชาการ เขาเชื่อว่ามีแต่วงสนทนาระหว่างผู้คนข้ามกลุ่ม ข้ามพรมแดน ข้ามสาขาวิชา ฯลฯ และด้วยสปิริตใกล้เคียงกันระดับหนึ่ง จึงจะทำให้เกิดคุณภาพใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ และควรที่จะมีวงสนทนาลักษณะนี้ให้มากขึ้นต่อไปอีก


2 - ความรู้สาธารณะ

เนื้อหาที่น่าสนใจจากปาฐกถาของไมเคิล บูราวอย ในวันที่ 25 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 นั้นเห็นจะเป็นการเปิดบทสนทนาด้วยการแบ่งประเภทของความรู้ทางสังคมวิทยาออกเป็น 4 ด้าน นั่นคือ

(1)  สังคมวิทยาบริสุทธิ์  คือ ความรู้ที่สร้างขึ้นเพื่อศาสตร์ทางสังคมวิทยาโดยเฉพาะ
(2)  สังคมวิทยาสาธารณะ คือ ความรู้ที่นำไปสู่การสร้างบทสนทนาสาธารณะ ทำให้เกิดความเข้าใจต่อประเด็นสาธารณะนั้นลึกซึ้งขึ้น ทั้งนี้ สาธารณะนั้นหมายถึงชุมชนที่มีการสื่อสารระหว่างกัน
(3)  สังคมวิทยานโยบาย คือ ความรู้ที่ตอบโจทย์ทางนโยบาย โดยอาจจะเป็นองค์กร สถาบัน บรรษัท ฯลฯ
(4)  สังคมวิทยาวิพากษ์ คือ ความรู้เชิงวิเคราะห์วิพากษ์ต่อสังคมวิทยาบริสุทธิ์ เพื่อทำให้เกิดการยกระดับและพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

ธรรมชาติของความรู้ทั้ง 4 ด้านมีความแตกต่างกัน นั่นคือ สังคมวิทยาบริสุทธิ์และสังคมวิทยาวิพากษ์จะเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนกันในหมู่นักวิชาการกันเอง ส่วนสังคมวิทยานโยบายและสังคมวิทยาสาธารณะนั้นเป็นการสนทนานอกพรมแดนของนักวิชาการ นอกจากนี้ ความรู้ในสังคมวิทยาบริสุทธิ์และสังคมวิทยานโยบายมีลักษณะของการเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ส่วนความรู้ในสังคมวิทยาวิพากษ์และสังคมวิทยาสาธารณะมีลักษณะของการตรวจสอบทบทวนตนเอง
 
อย่างไรก็ดี ความรู้ทั้ง 4 ด้านไม่ได้แยกส่วนออกจากกัน หากสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ดังเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมวิทยาบริสุทธิ์และสังคมวิทยาสาธารณะนั้น แม้จะเป็นความรู้ที่ทำงานอยู่คนละเขตแดน แต่สังคมวิทยาบริสุทธิ์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้หากไม่มีโจทย์จากสังคมวิทยาสาธารณะ ส่วนสังคมวิทยาสาธารณะก็ไม่อาจสร้างความเข้าใจต่อประเด็นสาธารณะได้อย่างลึกซึ้งหากขาดการความเชี่ยวชาญจากสังคมวิทยาบริสุทธิ์
 
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องอันตรายมากหากความรู้ขาดความยืดหยุ่นและมีความแข็งตัวมากขึ้น เป็นต้นว่า สังคมวิทยาบริสุทธิ์ก็จะมีแนวโน้มหลงตัวเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้น สังคมวิทยาวิพากษ์ก็อาจจะมีลักษณะคล้ายพวกคลั่งศาสนาได้
 
ส่วนสถานะของความรู้ในสังคมนั้น บูราวอยแสดงผ่านโมเดลสามเหลี่ยมที่ประกอบด้วย ตลาด รัฐ และภาคประชาสังคม เขาล้อว่าคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เพียงแต่ว่าภูเขาที่เขาเห็นเป็นภูเขาไฟที่กำลังปะทุระเบิด นั่นคือ ตลาดกับรัฐจับมือกันแน่นหนาขึ้น ในขณะที่ภาคประชาสังคมกำลังอ่อนแรงลง และยิ่งแรงสนับสนุนจากภาคส่วนที่ผลิตความรู้ลดน้อยลง สถานการณ์ก็น่าวิตกยิ่งขึ้น
 
บูราวอยเสนอลักษณะความรู้ทั้ง 4 ด้านนี้ก็เพื่อยืนยันว่าความรู้ทั้ง 4 นั้นสำคัญและจำเป็นต่อกันและกันเพียงใด ทั้งยังกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเหมือนกัน นั่นคือ สังคมวิทยานโยบายกำลังเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน เพราะมหาวิทยาลัยไม่อาจพึ่งพิงงบประมาณสนับสนุนจากรัฐอีกต่อไป ความรู้จึงกลายเป็นสินค้า โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ค้า ในขณะที่สังคมวิทยาสาธารณะก็เผชิญกับวิกฤติความชอบธรรม เนื่องจากความรู้ที่ห่างไกลจากการรับรู้ของสาธารณะ ทั้งยังต้องพึ่งพาทุนส่วนตัวและค่าลงทะเบียนจากนักศึกษา ย่อมไม่อาจได้รับความสนับสนุนจากสาธารณะได้ ส่วนสังคมวิทยาวิพากษ์ก็ประสบกับวิกฤติอัตลักษณ์ ในการแสวงหาคุณค่าและความหมายในการดำรงอยู่ของตน ในภาวะที่ความรู้ได้กลายเป็นสินค้า ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ก็นำไปสู่วิกฤติในการบริหารจัดการของสังคมวิทยาบริสุทธิ์ ที่ทำให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยอึดอัดคับข้องใจกับระบบการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีความเป็นระบบราชการมากขึ้น มีการหาเงินในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
 
ประเด็นมหาวิทยาลัยในวิกฤตินี้ บูราวอยเสนอต่อประชาคมนักวิชาการและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เขาเชื่อว่าหากมองเห็นและยอมรับว่ามีโครงสร้างวิกฤติที่กดทับความรู้เหล่านี้นั้น เราน่าจะขยับและพยายามแสวงหาทางออกร่วมกันได้ด้วยแนวทางต่างๆ ที่จำเป็นต้องคิดและทำให้เกิดขึ้น ดังที่อาจารย์สุริชัย หวันแก้วเสนอว่า หากมองเห็นโครงสร้างที่กระทำการอยู่ ก็ขึ้นกับว่าตัวเราจะมองเห็นตนเองเป็นเหยื่อหรือผู้กระทำการเปลี่ยนแปลง เพราะตราบใดที่อาจารย์หรือนักวิชาการยังคงพร่ำบ่นอย่างท้อแท้ต่อโครงสร้างมหาวิทยาลัยที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการทำงานหรือไม่เป็นไปในทิศทางของมหาวิทยาลัยในอุดมคติ ก็เป็นเพียงแต่ข้ออ้างที่จะไม่กระทำการใด-ใดนั่นเอง


3- สมุหภาพ มิตรภาพ (จบ)

ในวงสนทนาหนึ่ง บูราวอยชี้ให้เห็นว่า การยืนยันว่าความรู้ทางสังคมวิทยายังมีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมนั้นจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าความรู้นั้นสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงตัวในภาวะวิกฤติ และต้องมีความเป็นสมุหภาพ (Collectivity) มากกว่าความเป็นปัจเจก
 
เขาเล่าว่า เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกาประสบเหตุภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรินา ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาคิดว่าในขณะนั้นถ้าตัวเองเป็นประธานสมาคมสังคมวิทยานานาชาติจะเรียกประชุมคณะกรรมการวิชาการทั้ง 55 คณะ เพื่อขอให้ช่วยกันเขียนงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยอาจจะให้งบประมาณสนับสนุนไปคนละ 2,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยวิธีการนี้น่าจะทำให้พลังทางวิชาการปรากฎตัวและเป็นพลังหนุนเสริมการทำงานทางสังคมได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และไม่มีการทำงานดังกล่าวเลยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากทีเดียว
 
ทั้งนี้ การกระตุ้นเร้าให้แวดวงวิชาการตื่นตัวกับวิกฤติที่สังคมประสบอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกับการสนับสนุนให้นักวิชาการปรากฏตัวพร้อมทั้งให้ความรู้และหรือความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน

ประชาคมวิชาการจำต้องคิดใคร่ครวญให้มากว่าจะทำให้ความเป็นสมุหภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งบูราวอยก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระทั่งนักวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนอยู่นั้นก็ยังไม่ยอมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกัน แต่สมุหภาพเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ปัจเจกชนไม่รู้สึกอ่อนแรงล้าพลังในการต่อสู้และรับมือกับโครงสร้างใหญ่ที่ครอบงำเราอยู่ เขาเตือนว่า พวกเรามักจะติดกับกับการบุกป่าฝ่าดงไปคนเดียว ทั้งที่มีกันอยู่จำนวนไม่มาก แถมเป็นพวกช่างวิเคราะห์วิพากษ์ ยิ่งทำให้การสร้างสมุหภาพเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง
 
เขายืนยันว่า เราต้องเชื่อว่าความรู้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ โดยการเชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาแลกเปลี่ยนสนทนากันนั้นต้องอาศัยคุณภาพภายในบางอย่าง และเราต้องเรียนรู้ที่จะแปลภาษาวิชาการให้เป็นภาษาที่คนธรรมดาทั่วไปเข้าถึงได้
 
อาจารย์สุริชัย หวันแก้วมักจะออกปากเตือนพวกเราว่าโลกไร้พรมแดนกำลังขยายตัวออกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ระดับการมองปัญหาของเราบางครั้งเป็นเพียงรัฐชาติและติดอยู่ที่เขตแดน ดังเรื่องการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งพลเมืองของเราเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนสร้างเขื่อนในลาวเพื่อส่งกระแสไฟฟ้ามาให้ประเทศไทย สถานการณ์ที่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในลาวกำลังถูกทำลาย ชาวลาวจำนวนมากต้องอพยพย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ชาวไทยจะสามารถเสพบริโภคกระแสไฟฟ้าราคาถูกโดยไม่รู้สึกร่วมกับความทุกข์ยากของพี่น้องชาว
ลาวได้อย่างไร
 
ในการสนทนากับบูราวอย อาจารย์สุริชัยฯ แสดงความเห็นว่า ในปัจจุบัน ประดาปัจเจกชนโดยมากต่างดำรงอยู่ในโลกที่แตกแยก พวกเขาปฏิเสธการสนทนาร่วมกัน เพราะจิตใจเต็มไปด้วย ตรรกะที่แข็งตัว เปรียบได้กับคนที่มองไม่เห็นคุกที่คุมขังตัวเอง แต่พวกเราไม่ใช่เหยื่อของโครงสร้างเหล่านี้ หากสามารถแหกกรงขังออกไปได้โดยไม่ต้องพร่ำบ่น ด้วยการเชื้อชวนกันตั้งคำถามว่า - อยากจะพูดคุยอะไรบางอย่างที่มีความหมายร่วมกันไหม?
 
อาจารย์สุริชัยฯ เสนอว่า เมื่อเรายอมรับว่าวิกฤติปัจจุบันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง ก็น่าจะเห็นความท้าทายร่วมกัน และถือเป็นพันธกิจร่วมกันในการคลี่คลายวิกฤติเหล่านั้น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญก็คือ “การเริ่มต้นร่วมกัน” ซึ่งไม่จำเป็นต้องมายืนด้วยกัน
 
 
การมาเยือนของบูราวอยครั้งนี้มีความหมายหลายประการ ไม่ใช่ในฐานะที่มีคนดังระดับโลกมาเยือน หากแต่เป็นไปในฐานะที่เรามีกัลยาณมิตรเพิ่มขึ้น มีการเชื่อมโยงระหว่างจิตใจอันเป็นสากล มีการเรียนรู้ที่มีความหมายมากกว่าการมีประสบการณ์ มีความท้าทายอันปราศจากอหังการและมมังการ และทั้งหมดทั้งนั้นล้วนมีพื้นฐานจากมิตรภาพเรียบง่ายของคนใจใหญ่ไม่กี่คน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net