Skip to main content
sharethis

          ตามที่กรุงเทพมหานครได้งุบงิบลงนามในสัญญาก่อสร้างระบบเตาเผาขยะมูลฝอยขนาด 300 ตันต่อวัน วงเงิน 2,124.3 ล้านบาท โดยการว่าจ้างเอกชนให้เผาขยะตันละ 970 บาทต่อตัน สัญญาจ้าง 20 ปี ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ถนนเพชรเกษม 104 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขมกับบริษัทซีแอนด์จี เอ็นไวรอนแมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ กรุงเทพ ถนนราชดำริ ความดังทราบแล้วนั้น

          สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่โปร่งใส ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สมบูรณ์ ซึ่งถือได้ว่ากระบวนการกำจัดขยะโดยวิธีการเผา เป็นกระบวนการการบริหารจัดการขยะที่ล้าสมัย และสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปโดยใช่เหตุ อีกทั้งเป็นการสร้างมลพิษที่เป็นสารพิษที่ต้องห้ามในระดับสากลด้วย ในขณะที่ขยะของ กทม. ควรจะเป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้ให้กับ กทม. ด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการกำจัดที่ก้าวหน้า เหมาะสมกับยุคสมัย มิใช่วนอยู่แต่เทคโนโลยีการกำจัดที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษ

          ทั้งนี้เทคโนโลยีการกำจัดขยะด้วยการเผาตามการกล่าวอ้างของกรุงเทพมหานครนั้น จะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารไดออกซินและสานฟิวแรนต่อประชาชนในรัศมี 10 กิโลเมตรเป็นอย่างต่ำหรือตามกระแสลม ซึ่ง ณ วันนี้เทคโนโลยีดังกล่าวทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของสารพิษดังกล่าวได้ อีกทั้งสารพิษดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งในวงการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์กรรมพันธุ์ของประชาชนหรือผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวเป็นประจำ ซึ่งทารกแรกเกิดอาจคลอดออกมาพิการ ร่างกายไม่สมประกอบหรือครบถ้วนบริบูรณ์ได้

          ทั้งนี้ขยะในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของขยะที่มีความชื้นสูงและมีน้ำเสียปะปนมากซึ่งจะมีค่าคลอไรด์สูงทำให้ยากแก่การควบคุมอุณหภูมิในการเผา โดยเฉพาะช่วงเวลา ที่ป้อนขยะชื้นเข้าเตาอุณหภูมิของห้อง เผาจะลดต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส แม้ระบบจะออกแบบไว้ให้มีการเผาที่อุณหภูมิ 850 องศาก็ตาม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการเผาลดลง แต่จะก่อให้เกิดสารพิษไดออกซินและฟิวแรนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ ณ วันนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกนี้สามารถควบคุมหรือกำจัดสารพิษดังกล่าวได้

          ขณะเดียวกันในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่สามารถสร้างรายได้หรือมูลค่าเพิ่มให้กับขยะได้มีมากมาย เช่น การนำขยะพลาสติกมาผลิตน้ำมัน การนำขยะเก่าไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ ซึ่ง กทม.ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินจ้างให้เอกชนมารับจ้างเผาเลย ตรงกันข้ามควรเปิดโอกาสให้เอกชนมาประมูลนำขยะของ กทม.ไปสร้างมูลค่าได้ ตามที่กล่าวแล้ว ซึ่งจะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้นมามาก แทนที่ กทม.จะต้องจ่ายเงินให้เอกชนเป็นค่ากำจัดขยะ ไปเปล่า ๆ

          นอกจากนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวของ กทม. เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตรา ทั้งมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 78 มาตรา 85 มาตรา 87 รวมทั้งขัดต่อ พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งต้องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกระทรวงการคลังพิจารณาและต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อนด้วย

          สมาคมฯ จึงใคร่ขอเรียกร้องให้ กทม.ได้ทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวเสีย และแสวงหาเทคโนโลยีการกำจัดขยะแนวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ กทม. แทนที่ กทม. ต้องมาเสียเงินกำจัดขยะอีกต่อไป ทั้งนี้ หาก กทม. ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือแถลงการณ์ฉบับนี้ สมาคมฯ จะได้ร่วมกับชาวบ้านและผู้มีส่วนได้เสียในการนำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนโครงการดังกล่าวต่อไป

ประกาศ ณ วันที่  1  พฤศจิกายน พ.ศ.2555

นายศรีสุวรรณ  จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net