Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แน่นอนว่าคำสัญญาจะแน่แค่ไหน คงไม่มั่นคงเท่ากับหัวใจของรัฐบาล ที่จะร่วมแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจต่อประชาชน ที่รัฐบาลหลายสมัยสั่งสมมานาน คงไม่ต้องย้อนไปไกลมาก เอาปัจจุบัน ในวันที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลจนถึงวันนี้ ในเวทีสัญญาประชาคมประชาชนพบพรรคการเมือง เพื่อยื่นข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล เมื่อ 24 มิ.ย.54 ในมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น พรรคอื่นๆ ต่างดาหน้าออกมาสัญญาเป็นล่ำเป็นสัน ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนลงมาให้คำมั่นสัญญา หากพรรคฯ ชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลจะนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปบรรจุไว้เป็นนโยบายรัฐบาล ภายหลังผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ชนิดฝุ่นจางหายไปหลายเดือนก็ยังตามไม่ทัน ทว่ามันก็หายไปพร้อมกับสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

 

พีมูฟ รวมตัวหน้ารัฐสภา ยื่นนโยบายภาคประชาชนให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี หวังให้การแก้ไขปัญหาของแต่ละเครือข่ายเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
8 สิงหาคม 2554  ภาคประชาชน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ จากทั่วประเทศ กว่า 120 องค์กร เคลื่อนตัวสู่ใจกลางเมืองหลวง เพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่หน้ารัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ นำนโยบายประชาชนบรรจุไว้ในวันที่รัฐบาลแฉลงนโยบายต่อรัฐสภา ขณะเดียวกันนายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมกับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และขวัญใจพระเอกรูปหล่อของผู้เขียนในสมัยผู้เขียนยังเด็กๆ คือนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ออกหน้ามาตั้งรับข้อเรียกร้องของประชาชน พร้อมกล่าวว่าจะนำข้อเรียกร้องทั้งหมด ทั้งเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม บรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการแต่งตั้งกลไกร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน เพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ต่อมา 3 ตุลาคม 2554 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ถือเอาวันที่อยู่อาศัยสากล มาทวงสัญญาและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล และในวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรีมอบหมาย นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)เข้าร่วมประชุมหารือ รับฟังและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการเจรจานั้นสามารถบรรลุเป้าหมาย มีข้อตกลงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมระหว่างรัฐบาลกับ ปขส.เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา จากนั้นเป็นต้นมาถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ขณะที่หลายพื้นที่ประชาชนยังคงดำเนินความทุกข์ยาก รวมทั้งมีการถูกจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตามทวงสัญญานโยบายประชาชน ถึงถิ่นสาวงาม แดนล้านนาไทย
ท่ามกลางลมหนาวที่โชยมาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบ ในคืนก่อนที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) ภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ต่างตั้งแคมป์นอนค้างคืนบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ รออรุณรุ่งสาง ในเช้าวันที่ 15 มกราคม 2555 ต่างพร้อมใจกันขึ้นไปจ่อนายกรัฐมนตรีถึงหน้าตึกที่ประชุม ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เกิดการปะทะกันหลายครั้ง ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังแน่นหนา ไม่ยอมให้ประชาชนเข้าพบผู้มีอำนาจออกมาร่วมแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดการปะทะกันเรื่อยๆ ที่สุดนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) เป็นประธาน และรองประธาน ในคณะกรรมการการร่วมกันแก้ไขปัญหา

ถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ที่ชัดเจน นอกจากคำมั่น และหนังสือคำสั่งสำนักนักนายกรัฐมนตรีที่ 15/2555 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของประชาชน พร้อมกับลายเซ็นของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้มีการแต่งตั้งให้รองนายกรัฐมนตรี มานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานฯร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาแทนนายกรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์ ยึดศาลากลางลำพูน จวกพ่อเมือง หริญภุญชัย ไม่รักษาคำมั่น
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.55 ภาคประชาชน ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ร่วมกันปิดล้อมบริเวณทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวังลำพูน สืบเนื่องจาก วันที่ 5 มิ.ย.55 ด้วยทาง ขปส.ได้ยื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อให้รัฐบาลเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับ ขปส. เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งนายสุรชัย ขันอาสา พ่อเมืองลำพูน ออกมารับหนังสือ พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ที่ดี สื่อสารข้อเรียกร้องการเจรจาปัญหาชาวบ้าน ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี

ภายหลังจากที่มีการยื่นหนังสือ ขปส.ได้ปักหลักพักค้างคืนภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดพูน เพื่อรอรับทราบคำตอบจากรัฐบาลผ่านทางผู้ว่าฯ ภายในวันที่ 6 มิ.ย. 55 ก่อนเวลา 12.30 น. แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ดังนั้นในช่วงบ่ายจึงได้เข้ามาทวงคำตอบ พร้อมปิดล้อมหน้าศาลากลางอีกครั้ง จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ 2-3 ครั้ง บริเวณหน้าประตูทางเข้าอาคาร

ถึงที่สุด ประมาณ 15.30 น. นายสุรชัย ได้ออกมาพบกับผู้ชุมนุมพร้อมนำหนังสือที่ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่งแฟกซ์มายังผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องของ ขปส.ตามหนังสือที่ นร.0105/5122 ลงวันที่ 6 มิ.ย.55 ชี้แจงมาชี้แจงด้วย สำหรับหนังสือดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้ ตามที่ ขปส. ชุมนุมที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของ ขปส. และขอแต่งตั้งผู้แทนเข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาในเรื่องเร่งด่วนของ ขปส. อีกครั้งหนึ่งนั้น โดยมีกำหนดให้ผู้แทนของ ขปส.เข้าพบเพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในวันที่ 20 มิ.ย.55 เวลา13.00 น. ณ ห้องรับรองศาลาว่าการทระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร

จากวันประชุม ครม.สัญจร รวมทั้งการปิดล้อมศาลากลางลำพูน ต่อเนื่องเรื่อยมา ภาคประชาชน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ติดตามและร่วมเจรจาการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลเรื่อยมา กระทั่งรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกจำนวน 10  คณะ เพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ถึงบัดนี้ ตามที่ได้ร่วมข้อตกลง ได้ข้อสรุปการเจรจา ได้รับนโยบาย ที่คิดว่าจะเป็นรูปธรรม ด้วยความถูกต้อง ชัดเจน และเท่าเทียม เหล่านั้น กระทั่งปัจจุบันแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ‘ อีกทั้งปัญหาในหลายเรื่องก็ยังย่ำอยู่กับที่ บางเรื่องก็มีทีท่าว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไข มีทีท่าจะเตะทิ้งลงคลองน้ำเน่า ที่แสนแสบ

ร่วมแฉลงข่าว ความล้มเหลว 1 ปี รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ในการแก้ไขปัญหาภาคประชาชน
26 ก.ย.55 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว เผยถึงความล้มเหลว 1 ปีในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่ภาคประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดมาแต่ในอดีต โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้สานต่อการแก้ไขปัญหามาแล้วหลายครั้ง โดยที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้ตอบสนองข้อเรียกร้อง เพียงแค่บรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 เท่านั้น

อาทินโยบาย ข้อที่ 5.ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการสนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกัน ในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เป็นต้น

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมแฉลงข่าว ด้วยสมาชิกในพื้นที่ อ.คอนสาร ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ปืนข่มขู่ ไล่ยิงชาวบ้าน จนหายตัวเข้าไปนอนในป่า
ในวันเดียวกัน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหว ให้มีการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ ตามแนวทางโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) นั้น ได้เข้าร่วมแฉลงข่าว กรณีความเดือดร้อนเร่งด่วนในพื้นที่ และได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐสภา เพื่อให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการข่มขู่คุกคามราษฎรในพื้นที่พิพาทที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ

เนื่องมาจาก ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม อาทิ กรณีปัญหาที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ ในวันที่ 24 ก.ย.55 เจ้าหน้าที่สวนป่าคอนสาร พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าไปตรวจพื้นที่และถ่ายรูป เพื่อพยามยามหาหลักฐานมาโยนความผิดให้กับชาวบ้าน เหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำระเบิด อาวุธสงคราม ไปซุกซ่อนใต้ถุนบ้านพ่อเฒ่าวรรค โยธาธรรม แล้วดำเนินคดีแจ้งข้อหามีอาวุธสงครามครอบครอง อีกทั้งยังมีการเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านที่อาศัยทำกินในพื้นที่พิพาทอีกด้วย

และวันที่  25 ก.ย.55  กรณีปัญหาพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันและปราบปรามชัยภูมิที่ 4 (ชย.4) นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 10 นาย พร้อมอาวุธปืนครบมือ ดาหน้าเข้ามาพร้อมกระชากปืนขึ้นหมายจะลั่นไก พร้อมกับวิ่งเข้าไปจับกุมชาวบ้านที่กำลังทำกินอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านและลูกหลานตกใจ พากันวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ หายเข้าไปในป่า หลบเจ้าหน้าที่ค้างคืนอยู่ในป่าเป็นเวลาหลายชั่วโมง จากการกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหวาดผวา รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต

พีมูฟ” เคลื่อนขบวนถึงกรุงเทพฯ ค้างคืนหน้าทำเนียบ รอนัดพบนายกฯเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา
พีมูฟ เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ตามที่ได้ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 26 ก.ย.55 จากที่กว่า 1 ปีที่ผ่าน ได้พยายามติดตาม และผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมนัดหมายรวมตัวกันทวงสิทธิ์ ในวันที่อยู่อาศัยสากล 1 ต.ค.55

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ จากทั่วประเทศ เคลื่อนขบวนถึงกรุงเทพฯ ตามนัดหมายจัดชุมนุมใหญ่เพื่อทวงคืนนโยบายของคนจน ขบวน พีมูฟ หลังจัดขบวนช่วงเช้าบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนตัวมายังหน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ ก่อนขบวนมาถึงเป้าหมายหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่าย เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ พร้อมเสนอให้การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติ กระทั้งประมาณ 14.00 น. ตัวแทนทางเครือข่ายฯได้เข้าไปร่วมพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลในทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังสิ้นการเจรจา นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเข้าร่วม แต่ผลการเจรจาไม่คืบหน้า เนื่องจากตัวแทนรัฐบาลอ้างว่า ปัญหาต่างๆนั้น นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นผู้ตัดสินใจได้เพียงคนเดียว ดังนั้นจะประสานไปยังนายกฯ และขอร้องให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านไปก่อน อีก 3-4 วัน เมื่อติดต่อนายกฯ ได้แล้ว จะเชิญตัวแทนเข้ามาร่วมเจรจาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป หลังจากได้รับคำตอบ ผู้ชุมนุมต่างแสดงความไม่พอใจ และได้ให้เวลา 10 นาทีเพื่อประสานนายกฯ แต่จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. ไม่มีสัญญาณตอบกลับจากฝ่ายรัฐบาล ผู้ชุมนุมจึงลุกขึ้นมารวมตัวที่หน้าประตูเพื่อกดดันให้นายกฯ อออกมาเจรจาหรือให้คำตอบที่ชัดเจน ทำให้เกิดการผลักดันกันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 2-3 ครั้ง ที่บริเวณหน้าประตู  ภายหลังจากที่มีการปะทะกัน ทางรัฐบาลได้ส่งสัญญาณถึงแกนนำกลุ่มผู้ชุมชุม โดยมีข้อเสนอคือ ขอตัวแทนเข้าร่วมเจรจาอีกครั้ง

ผลการเจรจารอบที่สอง ตัวแทนรัฐบาลรับปากจะศึกษารายละเอียด พร้อมทั้งจะประสานให้ผู้ชุมนุมส่งตัวแทนจำนวน 15 คน ได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 ต.ค. เวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมตกลงค้างคืนกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามผลการเจรจาในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหากผลเป็นที่พอใจก็จะสลายการชุมนุม แต่หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขก็จะมีการร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการเคลื่อน ไหวต่อไป

“ยิ่งลักษณ์” พบ “พีมูฟ” รับนั่งประธานฯสางปัญหา พร้อมนัดเจรจาอีกครั้ง พ.ย.นี้
2 ต.ค.55  ประมาณ 9.00 น.ที่ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เข้าหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ธวัช บุญเฟื้อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ 

ในการที่ พีมูฟ นับพันคนรวมตัวกันและปักหลักชุมนุมปิดถนนพิษณุโลกข้างทำเนียบรัฐบาล ภายหลังปฎิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้สัญญาไว้ ไม่คืบหน้า ดังนั้นจึงมีการแฉลงข่าวเมื่อ 26 ก.ย.55 พร้อมนัดรวมพลเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง 9 กรณี ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงกลไกแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 2.การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน 3.การจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) 4.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน 5.กรณีสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านมั่นคง) 6.กรณีคนไร้บ้าน 7.กรณีการจัดทำเขตวัฒนธรรมพิเศษ (ชาวเลราไวย์) 8.กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล และ 9.กรณีเครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล นับแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง กระทั่งปักหลักค้างคืน รอนายกฯยิ่งลักษณ์ ออกมาให้สัญญา พร้อมรักษาคำมั่น ให้มีความเชื่อใจได้

ช่วงเช้าวันที่ 2 ต.ค. ราวแปดโมงเช้า ภายหลังการร่วมเจรจาผ่านไปประมาณ 20 นาที โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง และรับปากเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ พีมูฟ แต่ขอเวลาให้คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาชุดต่างๆ เร่งจัดทำข้อมูลเพื่อนำเรื่องเสนอ และจะเริ่มประชุมภายในเดือน พฤศจิกายน นี้ รวมทั้งจะเร่งรัดให้จัดการปัญหาเร่งด่วนคือ เรื่องสิทธิสถานะบุคคล ปัญหาการข่มขู่คุกความกรณีที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่า และกรณีปัญหาของคนไร้บ้าน  พร้อมยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความเดือดร้อน เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้เชื่อใจกันว่ารัฐบาลจะติดตามเร่งแก้ปัญหาให้อย่างเต็มที่

เหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงหัวใจของรัฐบาลได้หรือไม่ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆของรัฐบาลเลย ผู้ได้รับผลกระทบต่างชื่นชม ที่ท่านกล่าวว่ารัฐบาลของท่านทำเพื่อประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามาเหล่านั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลจะสามารถพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ถูกต้อง เป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร หากท่านรักประชาชนจริงๆ แน่นอนว่าการกระทำย่อมดีกว่าคำพูด นายกรัฐมนตรี ออกมาให้คำมั่นด้วยตนเองแล้วนะครับว่า ราวกลางเดือนพฤศจิกายน นี้ จะออกมาร่วมนั่งหัวโต๊ะ เป็นประธานฯในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว คำสัญญาปากเปล่า เพียงแค่ลมปากเป่า หวังโดยยิ่งว่า สิ่งที่ท่านลั่นวาจาออกมานั้น จะเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ทุกข์ยาก จะมีความสุขได้บ้างไม่มากก็น้อย ในการที่ท่านรับปากแล้วว่าจะออกมาร่วมกันแก้ไขปัญหา

แน่นอนว่าแม้ความทุกข์พวกเขาจะมีมากมายหลายเล่มเกวียน อย่างไรก็ตามพวกเขายังต้องสู้ต่อไป เพราะปัญหาที่รัฐบาลให้พวกเขาได้รับผลกระทบนั้น พวกเขาจำต้องร่วมต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรม ด้วยความที่พวกเขาเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีอันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดมานั้น ส่งผลให้พวกเขาต้องต่อสู้ทั้งชีวิต ต่อสู้กับผู้ที่เข้ามากดขี่ ด้วยอุดมการณ์ที่สานฝัน ชี้นำเป็นเปลวทางนำไฟส่องวิถีไปข้างหน้า ให้ลูกหลานได้จดจำ อย่างไม่มีที่สุดสิ้น เก่าจากไปใหม่เกิดมาตราบสิ้น เพื่อผืนดินและเพื่อลูกหลานของพวกเขาได้มีที่ยืนต่อไป อย่าปล่อยให้คำพูดของพวกท่านปล่อยให้ประชาชนเคว้งคว้าง ดังสายลมที่โชยมาเตะต้องกาย แล้วพัดหายไปเหมือนดังที่ประชาชนรอคอยมานานหลายทศวรรษแล้วอีกเลย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net