Skip to main content
sharethis

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ติดตามการบรรลุผลการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์มา 40 กว่าปี กรอบข้อตกลงที่มีการลงนามเมื่อ 15 ต.ค. ดังกล่าว กำหนดให้มีเขตปกครองตนเองใหม่ที่ชื่อว่า "บังซาโมโร" ที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ภายในปี 2559 โดยฝ่าย MILF ได้สิทธิปกครองตนเองในพื้นที่บางส่วนของเกาะมินดาเนา ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 เมือง 113 เขตเทศบาล มีประชากร 4.7 ล้านคน

คลิกที่นี่เพื่อคลิปแบบ HD

รัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) ลงนามในข้อตกลงสันติภาพเมื่อ 15 ต.ค. 55 ที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจีป ราซักเป็นสักขีพยาน (ที่มา: http://www.gov.ph/official-visit-of-malaysian-prime-minister/)

แผนที่แสดงพื้นที่ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นเขตปกครองตนเอง Bangsa Moro ตามข้อตกลงสันติภาพ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ภายในปี 2559 (ที่มา:  http://www.gov.ph/the-2012-framework-agreement-on-the-bangsamoro)

 

ทั้งนี้ดุลยภาคประเมินผลสำเร็จและผลกระทบจากกรอบข้อตกลงสันติภาพว่า ประการแรก การเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นยุทธศาสตร์การเมืองที่สำคัญของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ใครที่ทำให้ประสบความสำเร็จหรือมีรูปธรรมพอสมควรจะมีผลต่อฐานคะแนนและภาพลักษณ์ในอนาคต ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้ก็ดำเนินการเจรจา ทั้งฟิเดล มากอส และกรอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ขณะที่ในปี 2559 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่แผนสันติภาพจะถูกนำไปปฏิบัติก็เป็นปีที่ประธานาธิบดี เบนิญโน่ อาคีโน่ ดำรงตำแหน่งครบวาระพอดี นอกจากนี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์มักจะใช้ "การทูตการพัฒนา" เป็นจักรกลสำคัญเชื่อมเครือข่ายระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศไปพัฒนาในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมาดินแดนตอนใต้ของฟิลิปปินส์มีความขัดแย้งสูงเป็นระยะ ทำให้การพัฒนาไม่เต็มรูปเท่าที่ควร แต่การดันนโยบายการทูตการพัฒนาประสบความสำเร็จอยู่เป็นช่วงดีกว่าไม่มีกระบวนการผลักดันอะไรเลย

ประการที่สอง มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอาเซียน สืบเนื่องจากว่าภาคใต้ของฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจอาเซียนตะวันออก ซึ่งครอบคลุมทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียแข็งขันกับกรณีเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่ทำให้ดินแดนนี้มีสันติภาพเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุนในอาเซียน การรวมกลุ่มเหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งมีความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทะเลก็จะไม่สำเร็จ จะเห็นบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาร่วมในกระบวนการเจรจานี้ด้วย เพราะทางมาเลเซียเองมีพื้นที่ติดต่อกันบริเวณเกาะบอร์เนียวตอนเหนือก็ได้รับผลกระทบกับความขัดแย้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การค้าขายไม่สะดวก

ประการที่สาม ระยะเวลา 40 ปีของความขัดแย้ง ทั้งฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์และฝ่าย MILF ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้า สุดท้ายไม่มีอะไรจะจบได้ดีกว่าที่โต๊ะเจรจา ซึ่งมีสิ่งสำคัญคือการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งก็ยากอยู่ แต่ดีกว่าไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ฝ่ายแบ่งแยกแดกดินแดนก็พบกันครึ่งทางด้วยการขอเขตปกครองพิเศษน่าจะพอพูดคุยกันได้ ฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์สอดคล้อง เพราะพอรับกับเขตปกครองพิเศษได้

ในช่วงท้ายรายการ ยังมีการอภิปรายบทเรียนจากมินดาเนากับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปรียบเทียบกับการเจรจาสันติภาพและพื้นที่เขตปกครองตนเองในของชนกลุ่มน้อยในพม่าด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net