Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่น: ประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนามาตรการควบคุมมลภาวะทางแสงของท้องถิ่นในอนาคต

 

[1] บทนำ

การขยายตัวของชุมชนเมืองสมัยใหม่และการเติบโตของจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปริมลฑลย่อมก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชากรในท้องถิ่นหรือชุมชนเมืองสมัยใหม่ย่อมต้องการความสะดวกสบายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเวลากลางวันตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกและเวลากลางคืนตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเวลากลางคืน แต่ประชากรในท้องถิ่นหรือชุมชนเมืองย่อมต้องอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ เพื่อให้ตนเองสามารถทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกอาคารบ้านเรือนได้เสมือนหนึ่งเป็นเวลากลางวัน นอกจากนี้ ภาครัฐและท้องถิ่นยังต้องดำเนินบริการสาธารณะด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรในท้องถิ่นและชุมชนเมือง ตัวอย่างเช่น การจัดบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนในเวลากลางคืน การออกตรวจตราของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในยามค่ำคืน และการจัดพื้นที่ประกอบกิจกรรมนันทนาการและการกีฬาให้กับประชาชนในยามค่ำคืน เป็นต้น

ดังนั้น รัฐและท้องถิ่นสมัยใหม่จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางในการให้ประชาชนประกอบกิจกรรมต่างๆ ในเวลากลางคืนได้โดยสะดวกและแนวทางให้รัฐหรือท้องถิ่นประกอบกิจกรรมบริการสาธารณะด้านต่างๆ ในเวลากลางคืนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชากรในชุมชนเมืองหรือท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นสมัยใหม่จึงได้พยายามพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับประชาชนในท้องถิ่นในยามค่ำคืน รวมไปถึงอำนวยความสะดวกในการจัดทำบริการสาธารณะในด้านอื่นๆของท้องถิ่นเอง ตัวอย่างเช่น ไฟถนน (Street lights) ไฟรักษาความปลอดภัย (Security lights) และไฟสนามกีฬาและพื้นที่ประกอบกิจกรรมนันทนาการ (Floodlights at sports and recreational areas) เป็นต้น

ในปัจจุบันท้องถิ่นของไทยไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษได้พยายามพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการเมืองปลอดภัย อุ่นใจทุกครอบครัว ของกรุงเทพมหานครที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษและโครงการติดตั้งไฟส่องสว่างของเทศบาลที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป เป็นต้น อย่างไรก็ดี การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เนื่องจากปัญหาการใช้งานแสงสว่างภายนอกอาคาร (Outdoor artificial light) จากการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะที่มีลักษณะการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟที่ไม่เหมาะสม (inappropriate) และไม่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ (eco-unfriendly) อันนำไปสู่ปัญหามลภาวะทางแสงในชุมชนเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ

 

รูปที่ 1 การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นระดับต่างๆ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมลภาวะทางแสงที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง ที่มา BBC News. (2012). Light pollution: Is there a solution?. Retrieved November 1, 2012, from http://www.bbc.co.uk/news/magazine-16470744

 

รูปที่ 2 มลภาวะทางแสงอาจมีสาเหตุมาจากการติดตั้งหรือการออกแบบหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟส่องสว่างสาธารณะที่มีลักษณะที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดแสงรุกล้ำ (light trespass) ในบริเวณทรัพยสินและบ้านเรือนของประชาชน อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพลามัยของประชาชนในระยะยาว ที่มา PTL SOLAR FZ LLC. (2012). Useful Light and Light Pollution. Retrieved November 1, 2012, from http://www.grenlite.com/research-info.html

 

 

[2] มลภาวะทางแสงคืออะไร?

การใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทต่างๆ แม้ว่าจะให้คุณอนันต์ต่อการดำเนินชีวิตของประชากรและการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในยามค่ำคืน แต่หากการใช้งานแสงสว่างที่กำเนิดมาจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่มีค่าความสว่าง (Luminance) ที่เกินไปกว่าความจำเป็นในการใช้งานในแต่ละพื้นที่ (Excessive) หรือมีทิศทางการส่องสว่างของแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เหมาะสมอันทำให้แสงนั้นรุกล้ำไปยังพื้นที่ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น (Intrusive) รวมไปถึงการใช้งานแสงสว่างในเวลาและพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ย่อมก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสง (Light pollution)

อนึ่ง การพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองและการวางผังเมืองเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องคำนึงถึงปัญหาและผลกระทบจากไฟส่องสว่างสาธารณะด้วย เพราะไฟส่องสว่างสาธารณะอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสง ที่อาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภูมิภาคของหลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหาแนวทางและวิธีการเพื่อจัดการกับปัญหามลภาวะทางแสงในอนาคต

 

[3] มลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพมนุษยอย่างไร?

แม้แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟประเภทต่างๆ ที่นำมาใช้จัดทำไฟส่องสว่างสาธารณะจะมีประโยชน์กับประชาชนพื้นที่ชุมชนเมืองของแต่ละท้องถิ่นมากสักเพียงใดก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มลภาวะทางแสงอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นกัน โดยผลกระทบของการใช้ไฟส่องสว่างสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประการแรก มลภาวะทางแสงที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ (Human health) มลภาวะทางแสงที่เกิดจากการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟส่องสว่างสาธารณะภายนอกอาคารประเภทต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการออกแบบและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เหมาะสมต่อลักษณะของการใช้งานในแต่ละพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยหรือประกอบกิจกรรมในเวลากลางคืน ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น วงจรชีวิตมนุษย์ (Human Circadian Rhythms) โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Lack of Sleep) โรคเครียด (Psychological Stresses) โรคมะเร็งในเต้านม (Breast Cancer) และการพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนด (Development of Premature Babies) เป็นต้น

สาเหตุที่มลภาวะทางแสงจากการใช้งานแสงสว่างจากไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะอาจกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นนี้ ก็เพราะ ความมืดในเวลากลางคืน (Dark Nights) กับการหลั่งสารเมลาโทนินตามปกติ (Normal Melatonin Production) มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งสารเมลาโทนินถือเป็นฮอร์โมนประเภทหนึ่งที่หลั่งออกมาจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) สารเมลาโทนินจะหลั่งได้ดีในที่มืดขณะเวลาที่มนุษย์นอนหลับตอนกลางคืนช่วง 2 นาฬิกาจนถึง 4 นาฬิกา โดยสารชนิดนี้มีส่วนช่วยในการควบคุมวงจรชีวิตมนุษย์หรือวงจรการทำงานของร่างกายมนุษย์ตามปกติ เช่น การพัฒนาระบบอวัยวะสืบพันธุ์ การนอนหลับของมนุษย์ อารมณ์ของมนุษย์และการต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น แต่หากมลภาวะทางแสงจากการใช้แสงสว่างที่มาจากไฟส่องสว่างสาธารณะเกินสมควรหรือรุกล้ำของแสงไปในสถานที่อันเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์ในเวลากลางคืน รวมไปถึงการใช้แสงสว่างในเวลาและพื้นที่ที่ไม่จำเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถของร่างกายในการผลิตสารเมลาโทนินได้ดีในเวลากลางคืน ซึ่งเมื่อร่างกายผลิตสารเมลาโทนินได้น้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตมนุษย์โดยทั่วไปด้วย ตนอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงหรืออันตรายต่อกายในอนาคต ทั้งนี้ สมาคมการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (American Medical Association) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะทางแสงและสุขภาพมนุษย์ ได้แก่ “การรุกล้ำของแสงส่งผลกระทบต่อจังหวะวงจรชีวิตมนุษย์และสัตว์และอาจเป็นสาเหตุของการลดปริมาณการหลั่งของสารเมลาโทนินที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย อันทำให้มนุษย์เผชิญกับภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งในอนาคต” ดังนั้น การรุกล้ำ (Light trespass) ของแสงสว่างจากการใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นจากการใช้งาน ออกแบบและติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้มนุษย์เผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ต่อสุขภาพด้วย

 

รูปที่ 3 แสงสว่างมีความสัมพันธ์กับการหลั่งสารเมลาโทนินจากต่อมไพเนียลในสมองมนุษย์ ที่มา Cancertruth. (2012). Magnificent Melatonin, Retrieved November 1, 2012, from http://www.cancertruth.net/magnificientmelatonin/

ประการที่สอง มลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะอาจกระทบต่อระบบนิเวศ (Ecological light pollution) กล่าวคือ การติดตั้งไฟส่องสว่างที่มีลักษณะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณรอบๆ พื้นที่ที่มีการติดตั้งไฟส่องสว่าง อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้นไม้ประเภทต่างๆ รวมไปถึงระบบนิเวศตามธรรมชาติในเวลากลางคืน (Nocturnal ecological system) ตัวอย่างเช่น ไฟส่องสว่างสาธารณะอาจก่อให้เกิดมลภาวะทางแสงที่รุกล้ำไปยังที่อยู่อาศัยของค้างคาวตามธรรมชาติ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วค้างคาวจะชอบอยู่อาศัยในพื้นที่มืดและอากาศถ่ายเทสะดวก นอกจากนี้ ไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทไฟถนนบริเวณชายหาด (Coastal roadway lighting) อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของแม่เต่าทะเลภายหลังจากฟักไข่ได้ ซึ่งแทนที่แม่เต่าทะเลจะอาศัยแสงธรรมชาติ ได้แก่ แสงจันนทร์และแสงจากดวงดาวในการนำทางเคลื่อนที่กลับเข้าสู่ท้องทะเล แต่แสงไฟถนนบริเวณชายหาดกลับทำลายบรรยากาศความมืดตามธรรมชาติในเวลากลางคืน ทำให้แทนที่แม่เต่าทะเลจะเคลื่อนที่ลงสู่ท้องทะเลไปตามธรรมชาติ แต่แม่เต่าทะเลกลับเคลื่อนที่ลึกเข้ามายังพื้นที่ชายฝั่ง โดยอาจทำให้เกิดอันตรายต่อแม่เต่าทะเล ได้แก่ ภาวะเหนื่อย (exhausting) ภาวะขาดน้ำ (dehydration) รวมไปถึงการตายจากยวดยานพาหนะที่สัญจรบนถนนชายหาด

 

รูปที่ 4 มลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะบริเวณพื้นที่ชายหาดที่อาจกระทบต่อสวัสดิภาพของเต่าทะเล ที่มา Collier County Florida. (2012). Lighting Compliance. Retrieved November 1, 2012, from http://www.colliergov.net/Index.aspx?page=446

 

[4] ไฟส่องสว่างสาธารณะสามารถยับยั้งการเกิดอาชญากรรมได้หรือไม่?

แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของหลายประเทศมีความเชื่อว่าการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไปเป็นจำนวนมากจะสามารถลดปัญหาและระดับของการก่ออาชญากรรมลงได้ แต่อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าค่าความสว่างในพื้นที่ระดับสูงจะสัมพันธ์กับการหยุดยั้งการกระทำความผิดหรือลดจำนวนอาชญากรรมแต่อย่างใด ซึ่งแท้จริงแล้วแสงสว่างจากไฟส่องสว่างกลับเอื้อประโยชน์ต่อการก่ออาชญากรรมบางประเภท เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือของเอกชนในเวลากลางคืน (Vandalism) และการวาดภาพหรือเขียนบนกำแพงในพื้นที่สาธารณะหรือทรัพย์สินของผู้อื่น (Graffiti) เป็นต้น

นอกจากนี้ แสงสว่างอาจช่วยเอื้อต่อการมองเห็นของผู้กระทำความผิดในกรณีอื่นๆอีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาเอกสาร ‘Preventing Crime: What Works, What Doesn't, What's Promising’ จัดทำโดย Lawrence W. Sherman และคณะ (1998) เพื่อเสนอต่อ รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าแสงสว่างอาจช่วยสนับสนุนผู้กระทำความผิดในการประกอบอาชญากรรมในบางกรณี โดยยกตัวอย่างกรณีผู้กระทำความผิดต้องแสงสว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการก่ออาชญากรรมในกรณีที่ต้องการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในเวลากลางคืน เช่น ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ เป็นต้น

 

[5] ความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนามาตรการควบคุมมลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นในอนาคต

จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นอาจเห็นได้ว่าไฟส่องสว่างสาธารณะอาจช่วยอำนวยความสะดวกต่อประชากรในการใช้ชีวิตในยามค่ำคืนและการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนในยามค่ำคืน แต่ไปส่องสว่างสาธารณะที่มีการติดตั้งที่ไม่เหมาะสมหรือการออกแบบที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการติดไฟส่องสว่างสาธารณะเป็นจำนวนมากจะทำให้ลดปริมาณการก่ออาชญากรรมในท้องถิ่นลงได้ ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นในหลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหามาตรการทางกฎหมายท้องถิ่นเพื่อรับมือกับปัญหามลภาวะทางแสงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะหรือการใช้งานหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟภายนอกอาคารประเภทอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น เมืองทูซอน มลรัฐเอริโซน่าได้ตรา ประมวลข้อบังคับท้องถิ่น City of Tucson/Pima County Outdoor Lighting Code 2012 โดยออกตามความในกฤษฎีกาเมืองว่าด้วยการผังเมือง City of Tucson Ordinance 2012 ที่กำหนดให้ท้องถิ่นของเมืองทูซอนต้องมีหน้าที่ในการรักษามาตรฐานการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ของประชาชนและระบบนิเวศ

สำหรับสาระสำคัญของประมวลข้อบังคับท้องถิ่น City of Tucson/Pima County Outdoor Lighting Code 2012 ได้กำหนดให้ไฟส่องสว่างสาธารณะในบริเวณถนนสาธารณะ (Lighting of public right-of-ways) ต้องมีการติดตั้งโล่ไฟ (Light shield) เพื่อควบคุมทิศทางของแสงไม่ให้แสงส่องรุกล้ำไปยังบริเวณที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานหรือส่องสว่างไปทำลายระบบนิเวศโดยรอบ นอกจากนี้ ประมวลการใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะดังกล่าวยังได้กำหนดค่าความส่องสว่างโดยเฉลี่ยขั้นสูง (maximum average illumination level) ในบริเวณพื้นที่ทางสาธารณะที่ติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถวัดระดับความส่องสว่าง (Footcandle ( fc ) 1 lumen / sq.ft) ในแต่ละพื้นที่ได้เพื่อให้ความส่องสว่างเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงกำหนดมาตรฐานของพิกัดประสิทธิภาพต่ำสุดของหลอดไฟหรือโคมไฟที่ติดตั้งสำหรับไฟส่องสว่างสาธารณะในแต่ละประเภท (Rated minimum efficacy values) อีกด้วย

 

[6] สรุปและข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย

ในปัจจุบันหลายท้องถิ่นของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษหรือท้องถิ่นทั่วไปได้พยายามพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ “เมืองปลอดภัย อุ่นใจทุกครอบครัว ของกรุงเทพมหานคร” ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษและโครงการติดตั้งไฟส่องสว่างของเทศบาลอื่นๆ ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าโครงการต่างๆ จะมีวัตถุประสงค์ดีคือเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นหรือมีความรู้สึกปลอดภัยจากอาชญากรรมประเภทต่างๆ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆของไทยต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟเป็นจำนวนมาก อาจช่วยเพียงแค่ให้แสงสว่างในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองให้สะดวกมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะเป็นจำนวนมากจะช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมได้จริง นอกจากนี้ การติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมส่องสว่าง กล่าวคือ หลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะอาจมีการติดตั้งที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริงในแต่ละพื้นที่หรืออาจมีลักษณะที่ไม่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศโดยรอบพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะ ซึ่งผลที่ตามมาอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสง ที่อาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ได้

ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นประเภทต่างๆ ของไทย จึงควรตระหนักถึงผลร้ายหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโครงการพัฒนาไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทต่างๆ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายท้องถิ่นที่กำหนดถึงมาตรฐานการติดตั้งหรือใช้งานหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ข้อบังคับท้องถิ่น เทศบัญญัติท้องถิ่น ข้อบัญญัติเมือง เป็นต้น ดังนั้น ในอนาคตก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการพัฒนาหรือติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะ ท้องถิ่นควรออกนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายท้องถิ่นเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรฐานการใช้งานและการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

Ackermann, K. & Stehle, H. J. (2006). Melatonin Synthesis in the Human Pineal Gland: Advantages, Implications, and Difficulties. Chronobiology International, 23:1-2, 369-379.

Ancoli-Israel, S. et al. (2003). The Role of Actigraphy in the Study of Sleep and Circadian Rhythms. SLEEP, 26 (3), 342-92.

BBC News. (2000). Night shifts ‘increase breast cancer risk, Retrieved November 1, 2012, from http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/1092390.stm

BBC News. (2003). Artificial light linked to breast cancer, Retrieved November 1, 2012, from http://news.bbc.co.uk/1/hi/in_depth/sci_tech/2003/denver_2003/2766161.stm

BBC News. (2006). Light ‘risk’ to premature babies, Retrieved November 1, 2012, from http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/4799445.stm

Cajochen C. (2005). High Sensitivity of Human Melatonin, Alertness, Thermoregulation, and Heart Rate to Short Wavelength Light. Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism, 90 (3), 1311-1316.

Davis, S., Mirick, D.K. & Stevens, R.G. (2001). Night shift work, light at night, and risk of breast cancer,  Journal of the National Cancer Institute, 93, 1557-1562.

Engineering Society of North America & International Dark Sky Association. (2010). JOINT IDA-IES MODEL LIGHTING ORDINANCE (MLO) with USERS GUIDE, (Arizona: International Dark Sky Association).

Gallagher, M.R. (2010). The influence of urban noise and light pollution on women’s and girls’ sleep patterns, weight and cardiovascular health, Penn-International Conference On Women’s Health Initiative 18th Congress. Philadelphia: University of Pennsylvania. .

Guardian. (2007). Lights out on Britain's bats, Retrieved November 1, 2012, from http://www.guardian.co.uk/environment/2007/jul/15/conservation.endangeredspecies

Hansen, J. (2001). Light at Night, Shiftwork, and Breast Cancer Risk. Journal of the National Cancer Institute, 93(20), 1513-1515.

Johnson C.H. (2010). Circadian clocks and cell division. Cell Cycle, 9(19), 3864–3873      .

Kerenyi, N.A., Pandula E. & Feuer G. (1990). Why the incidence of cancer is increasing: the role of `light pollution’. Med Hypotheses. 33(2), 75-78.

Kloog, I. et al. (2011). Does the Modern Urbanized Sleeping Habitat Pose a Breast Cancer Risk?. Chronobiology International, 28 (1), 76-80.

Longcore, T. & Rich, C. (2004). Ecological light pollution. Front Ecol Environ, 2(4): 191–198.

Pima County. (2012). 2012 City of Tucson/Pima County Outdoor Lighting Code Adopted by City of Tucson ordinance #10963 on February 7, 2012, Retrieved November 1, 2012, from http://cms3.tucsonaz.gov/sites/default/files/dsd/Codes-Ordinances/2012_outdoor_lighting_code_.pdf

Sherman, W. L. (1998). Preventing crime: what works, what doesn't, what's promising, (New York: U.S. Dept. of Justice, Office of Justice Programs, National Institute of Justice)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net