Skip to main content
sharethis

'แรงงาน' ยันเดินหน้าค่าจ้าง 300

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 55  นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 56 นี้ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.แล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะพิจารณาได้ หลังครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตนยืนยันให้เดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ตามมติบอร์ดค่าจ้าง

รมว.แรงงาน กล่าวถึงการออกมาคัดค้านของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ชะลอปรับค่าจ้าง 300 บาทออกไปนั้น ว่า ปัญหาการคัดค้านมันเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงเรารับรู้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยที่จะมานั่งคุยหารือกันอย่างจริงจัง ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร

เพราะหลายๆ มาตรการที่ทางเราออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งของกระทรวงแรงงานเอง หรือแม้แต่มาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งร่วมมือกัน ขณะนี้ก็ยังไม่มีผลตอบกลับกลับมาเลยว่าตรงใจผู้ประกอบการหรือไม่อย่างไร จึงเป็นการออกมาตาการฝ่ายเดียวจากภาครัฐ ในฐานะหน่วยงานรัฐก็อยากรู้เหมือนกันว่าเอกชนคิดอย่างไร ตลอดจนต้องการรู้ว่ามาตรการที่ออกไปนั้นมีจุดอ่อนตรงไหน สามารถแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีได้จริงหรือไม่

"จริงๆ เรื่องค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ เราได้ทำการบ้านมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบในทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดร่วมหารือกับภาคธุรกิจในพื้นที่ อยู่แล้ว แต่เราก็อยากให้ภาคเอชนที่มีปัญหาจริงเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อจะได้แก้ให้ตรง จุด"

(คมชัดลึก, 29-10-2555)

 

พนักงาน รง.ผลิตชิ้นส่วนร้องเท้าในระยอง ร้องบริษัทฯ ปิดกิจการไม่แจ้งล่วงหน้า

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ต.ค.) กลุ่มพนักงานชาย-หญิงของบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันประท้วงที่ด้านหน้าบริษัทฯ ตั้งอยู่เลขที่ 94 หมู่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และยังขอยื่นหนังสือประท้วงต่อนายธวัชชัย จิตต์ธรรมวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กรณีประกาศปิดกิจการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และประกาศจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างเพียง 30% และขอให้บริษัทฯ ออกใบรับรองการผ่านงานให้แก่พนักงานทุกคน แต่นายธวัชชัย กลับไม่ออกมารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว นอกจากนั้น ยังขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยดำเนินการกับนายจ้าง เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 118
      
นายพรเทพ สุภาภรณ์ พนักงานฝ่ายผลิต 1 ในผู้ชุมนุมกล่าวว่า โรงงานดังกล่าวเป็นบริษัทฯ ในเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้า และมีพนักงานชาย-หญิง รวมทั้งพนักงานที่สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งสิ้น 423 คน
      
โดยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่พนักงานกำลังปฏิบัติงานได้มีผู้บริหาร ออกมาประกาศปิดกิจการ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าพร้อมกำหนดจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างเพียง 30% โดยขอให้พนักงานย้ายไปทำงานยังโรงงานที่อยู่ในเครือที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มีครอบครัวอยู่ในจังหวัดระยอง จึงไม่พร้อมที่จะย้ายที่ทำงาน
      
“ขณะนี้พนักงานทั้ง 423 คน ได้ลงชื่อเพื่อร้องเรียน และส่งตัวแทนเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง รวมทั้ง นายทิวา พรหมอินทร์ นายอำเภอบ้านค่าย และนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองแล้ว” นายพรเทพกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-10-2555)

 

ประธานอุตฯ 70 จังหวัดทั่วประเทศ นัดบุกทำเนียบวันนี้ ค้านขึ้นค่าแรง

ประธานอุตสาหกรรม 70 จังหวัด ทั่วประเทศนัดบุกทำเนียบ วันนี้ หวั่นรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เดินหน้าขึ้นค่าแรง 300 บาทต้นปีหน้า พร้อมโวย "พยุงศักดิ์" ไม่ฟังเสียงภาคเอกชน นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด ว่า ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555ประธานอุตสาหกรรมจังวัดทั้ง 70 จังหวัด ได้นัดรวมตัวเพื่อเตรีมยื่นหนังสือและขอเข้าพบนางสาวยิ่งลักษ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายการรับขึ้นค่าแรงขั้นตำ 300 บาทในวันที่ 1 มกรคม 2555 เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายดังกล่าว และไม่ได้เห็นด้วยกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

 ระบุว่าเอกชนไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง และได้ขอถอนเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้นำวาระดังกล่าวออกไปหารือนอกรอบ ทำให้วาระไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)ที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฏ์ธานี "คาดว่ากระทรวงแรงงานจะเสนอวาระการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวัที่ 30 ตุลาคม เพื่อเห็นชอบ ดังนั้นภาคเอกชนต้องขอชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อทบทวนเรื่องนี้ ทั้งนี้หากนายพยุงศักดิ์ไม่เห็นด้วยอีกต้องถามนายพยุงศักดิ์ว่า จะยังป็นผู้นำของภาคเอกชนต่อไปได้หรือไม่" นายทวีกิจกล่าว นายทวีกิจกล่าวว่า ทั้งนี้ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 จังหวัดต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบความเดือดร้อนด้วยตนเอง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-10-2555)

 

กระทรวงแรงงาน ยันเดินหน้าเสนอครม.ขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ

กระทรวงแรงงานมั่นใจว่านโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ จะเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุม ครม.ครั้งต่อไป และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ยังเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอนโยบายดังกล่าวออกไปก่อน

ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังหารือเกี่ยวกับกำหนดการยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จากเดิมที่จะขอพบเมื่อวานนี้ (30 ต.ค.) แต่ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี

โดยผู้ประกอบการเรียกร้องให้เลื่อนนโยบายนี้ออกไปก่อนและไม่ต้องการให้ ฝ่ายการเมืองนำตัวเลขค่าแรงมาใช้หาเสียงอีก แต่หากต้องขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่ม เช่น ลูกจ้างต้องมีวุฒิ ป.4 ที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่างจังหวัดที่ใช้แรงงานข้ามชาติ

ด้านนายวิชัย อัสรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือฝึกอบรมแรงงาน 10 กลุ่ม ใน 39 หลักสูตร เพื่อเพิ่มผลิตภาพและบรรเทาปัญหาการขึ้นค่าแรง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว สำหรับเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบันในสัปดาห์หน้า เพื่อผลักดันเสนอต่อรัฐบาลเช่นกัน

แม้จะมีผู้คัดค้านนโยบายนี้แต่กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท 70 จังหวัด จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า (56) อย่างแน่นอน

กระทรวงแรงงานระบุถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง 27 มาตรการ แต่มีผู้ขอรับการช่วยเหลือไม่มาก เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 10,000 ล้านบาท มีผู้ขอกู้เพียง 400 ล้านบาท การปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ก็จะคงอัตรานี้ไปจนถึงปี 58 ส่วนจังหวัดที่แม้จะปรับค่าแรงขึ้นไปร้อยละ 40 แต่ยังไม่ถึง 300 บาท ก็จะไปพิจารณาอีกครั้งในปี 56

(ข่าวสด, 2-11-2555)

 

ถกอิสราเอลลดค่าหัวแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาค การเกษตรที่ประเทศอิสราเอลว่า อิสราเอลได้ให้โควตาประเทศไทยจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานปีละ 5,000 คน ขณะนี้สามารถจัดส่งได้เพียงประมาณ 1,000 คน เนื่องจากขั้นตอนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของแรงงานไทยมีความล่าช้า

"ขณะนี้ใกล้จะครบกำหนดการทำบันทึกข้อตกลงในการจัดส่งแรงงานไทยไป อิสราเอลแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในเดือนธันวาคม ดังนั้น ก่อนครบกำหนด กระทรวงแรงงานจะเจรจากับอิสราเอลเรื่องการเซ็นสัญญาทำเอ็มโอยูจัดส่งแรงงาน ไทยไปทำงานที่อิสราเอลใหม่ รวมทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลจาก70,000 บาท ให้เหลือ 50,000 บาท อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินขากลับ" นายสง่ากล่าว

นายสง่ากล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีแรงงานไทย จำนวน 3 ราย ที่บาดเจ็บจากการถูกจรวดของปาเลสไตน์โจมตีขณะทำงานอยู่ในโมชาร์ป หรือหมู่บ้านเกษตรกรรม บริเวณใกล้กับเขตฉนวนกาซาในอิสราเอลนั้น ขณะนี้สามารถกลับบ้านได้แล้ว 2 ราย เหลือเพียง 1 ราย ที่ยังเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

(มติชน, 3-11-2555)

 

ปลัดแรงงานส่ง อสส.และกรมบัญชีกลางเคลียร์ปม สปส.ลงทุน ตปท.

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึง แผนการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนในต่างประเทศ ว่า หลังจากที่บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ

ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการลงทุนเสนอ ขออนุมัติวงเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนในต่างประเทศให้เกิดความมั่นคงกับกองทุนประกันสังคม เบื้องต้นที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เป็นบริษัทที่เข้าไปบริหารจัดการลงทุนในต่างประเทศร่วมกับบริษัทพันธมิตรชาว ต่างชาติอีก 3 แห่งในวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากตามระเบียบสัญญาจ้างของไทยระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและวางเงินค้ำ ประกัน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว โดยปกติการลงทุนที่มอบหมายให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการจะไม่ใช้เงินค้ำประกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ สปส.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้อัยการสูงสุด(อสส.)และกรมบัญชีกลางช่วยหา ทางออกในเรื่องนี้แล้ว

(ฐานเศรษฐกิจ, 4-11-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net