Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน ต.สะเอียบ ประกาศไม่รับผ้าห่มกันหนาว แลกลายเซ็นและเลขประจำตัว 13 หลัก หวั่นนำไปอ้างหนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมเสนอทางออกการแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ

 
 
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.55 ชาวบ้านบ้านดอนชัย หมู่ 1, ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9, ชาวบ้านบ้านแม่เต้น หมู่ 5, ชาวบ้านบ้านดอนแก้ว หมู่ 6 จัดประชุมปรึกษาหารือถึงเรื่องการแจกผ้าห่มกันหนาวประจำปี โดยในขณะนี้อากาศที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เริ่มหนาว และมีหมอกลงจัดในตอนเช้า แต่ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางและมีมติปีนี้ไม่รับผ้าห่มกันหนาวที่หน่วยงานราชการนำมาแจกเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเกรงว่าหน่วยงานที่มาแจกผ้าห่มกันหนาว อาจนำรายชื่อและลายเซ็นของตนไปอ้างเพื่อสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ชาวบ้านคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง
 
“ชาวบ้านเกรงว่าหน่วยงานที่มาแจกผ้าห่มกันหนาว จะมาหลอกเอารายชื่อและลายเซ็นของชาวบ้านไปอ้างว่าชาวบ้านสนับสนุนการสร้างเขื่อน จึงมีมติไม่รับผ้าห่มกันหนาวในปีนี้”  นายสอนชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง อายุ 62 ปี กล่าว
 
นายสอนชัย ยังกล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างเขื่อนปากมูลหน่วยงานราชการก็ไปหลอกเอารายชื่อ ลายเซ็นชาวบ้านไปอ้างสนับสนุนเขื่อน หรือกรณีของยายไฮ เขื่อนห้วยละห้า ก็ยังมีลายเซ็นยายไฮยกที่ให้สร้างเขื่อน ทั้งที่ยายไฮเขียนหนังสือไม่เป็น หน่วยงานราชการยังปลอมแปลงไปให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจผิดๆ ได้ ชาวบ้านมีบทเรียนมาแล้วไม่อยากให้เกิดขึ้นกับบ้านเรา จึงตัดไฟเสียแต่ต้นลม ประกาศไม่รับผ้าห่มกันหนาวในปีนี้ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบหลอกลวงชาวบ้านเกิดขึ้นอีก
 
นายสอนชัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในชุมชน ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะได้ประกาศไปแล้วว่า ห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนเข้าพื้นที่
 
 
ทางด้านผู้ใหญ่สุดารัตน์ ชัยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย หมู่ 1 กล่าวว่า ชาวบ้านต่อสู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ปกป้องป่าสักทองมายาวนาน ถึงแม้จะแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 เขื่อน คือเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง น้ำก็จะท่วมป่าสักทอง ท่วมที่ทำกินของชาวบ้านเกือบทั้งหมด แล้วชาวบ้านจะทำมาหากินอะไร ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีป่า ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องต่อสู้คัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด
 
กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า เมื่อมติของชาวบ้านไม่รับผ้าห่มกันหนาวประจำปีนี้ ตนเองก็จะได้แจ้งไปทาง อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกปีจะมีหน่วยงานราชการและเอกชนมาแจกผ้าห่มกันหนาวทุกปี ทั้งนี้การรับผ้าห่มกันหนาวจะต้องเซ็นชื่อรับและลงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นหลักฐาน ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าหน่วยงานอาจเอารายชื่อ ลายเซ็น ทั้งเลขประจำตัว 13 หลัก ไปใช้เป็นหลักฐานในการสนับสนุนเขื่อน ชาวบ้านจึงมีมติไม่รับผ้าห่มกันหนาวในปีนี้ และจะได้นำไปแจกให้กับชาวบ้านหมู่อื่นๆ ต่อไป
 
“เราไม่ควรเอางบประมาณแผ่นดิน 12,000 - 14,000 ล้านบาทไปผลาญกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกต่อไป อีกทั้งจุดที่สร้างเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแผ่นดินไหว 1 ใน 13 รอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมล่าง ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม เขื่อนแก่งเสือเต้น สูง 72 เมตร จากท้องน้ำแม่ยม หากเขื่อนแตก คงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่คงตายทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร” กำนันเส็ง แสดงความเห็นต่อการสร้างเขื่อนในพื้นที่
 
 
ทั้งนี้ จากการหารือกัน ชาวสะเอียบได้เสนอให้รัฐยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง แนะให้ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน พร้อมเสนอทางออกการแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ ดังนี้
 
1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอนช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ
 
2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
 
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
 
4.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
 
5.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ
 
6.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
7.ทำแก้มลิงไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
8.พัฒนาหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ
 
9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net