Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สำหรับข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ นั้นพบว่าจำนวนสมาชิกสหภาพฯลดลงเรื่อยๆ ปี 1983 สัดส่วนสมาชิกสหภาพฯ 20.1% ของแรงงานทั้งประเทศ ปี 2011 มีสมาชิกสหภาพฯ 11.8%

และจำนวนสมาชิกสหภาพฯ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐ ยังคงสูงอยู่คือ 37% ในปี 2011 แต่ในปัจจุบันกำลังถูกกดดันจากนโยบายปรับลดรายจ่ายของภาครัฐ ในปี 2011 มีสมาชิกสหภาพฯ ทั้งประเทศ 11.8% ในบริษัทเอกชนมีสมาชิกสหภาพฯ เพียง 6.9 % เท่านั้น

ทั้งนี้บรรษัทมีอิทธิพลต่อการเมืองสหรัฐมาก ซึ่งไม่เอื้อประโยชน์ต่อสหภาพฯและคนงานที่พวกเขาเป็นตัวแทน

ในปี 2010 ศาลสูงสหรัฐมีคำตัดสินสำคัญกรณีระหว่างองค์กรเอ็นจีโอชื่อ Citizen’s United (ซึ่งเป็นเอ็นจีโอสายอนุรักษ์นิยม) กับคณะกรรมการการเลือกตั้งสหรัฐ (Federal Election Commission) โดยสุดท้ายผลการตัดสินสรุปได้ว่า อนุญาตให้บรรษัทให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง ผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งได้โดยไม่จำกัด (จากที่เคยจำกัดไว้ในกฎหมาย)

ประมาณการว่าจะมีการใช้เงินสนับสนุนดังกล่าวในการเลือกตั้งครั้งนี้ราว 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเงินส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อพรรครีพับบลิกันที่ต่อต้านสหภาพแรงงานอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น ในปีนี้ พรรครีพับลิกันมีนโยบายในการออกกฎหมายที่ชื่อว่า “Right-to-Work” หรือสิทธิในการทำงาน ซึ่งถือเป็นนโยบายต่อต้านสหภาพแรงงานในเรื่องต่างๆ และกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สหภาพเคยทำมา เช่น ในเรื่องการเก็บค่าสมาชิก โดยปกติ เมื่อสหภาพได้ทำข้อตกลงกับนายจ้างแล้ว จะเป็นระบบหักค่าสมาชิกสหภาพจากเงินเดือนของคนงานโดยอัตโนมัติแล้วส่งให้สหภาพเพื่อดำเนินกิจกรรม ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะกำหนดข้อห้ามไว้ และระบุว่า ให้สหภาพเป็นตัวแทนของคนงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สมาชิกไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายค่าสมาชิก ซึ่งองค์กรสหภาพในสหรัฐเป็นปัญหาหากสหภาพต้องดำเนินการกิจกรรมให้แก่สมาชิก แต่อาจขาดงบประมาณจากค่าสมาชิกที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการที่สหภาพในสหรัฐ มองว่าริดรอนสิทธิของคนงานในการรวมกลุ่มตั้งเป็นสมาชิกสหภาพในอีกหลายเรื่อง

ทั้งนี้ แต่ละรัฐจะมีสิทธิตัดสินใจว่าจะออกกฎหมายนี้หรือไม่ ปัจจุบัน 23 รัฐได้ออกกฎหมายนี้ไปแล้ว โดยอินเดียน่า เป็นรัฐแรก และอาจจะมีการกำหนดเป็นกฎหมายระดับชาติในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้น ในมุมมองของสหภาพแรงงานในสหรัฐ พรรคริพับพลิกันเป็นพรรคที่ต่อต้านสหภาพแรงงาน และสนับสนุนบรรษัทขนาดใหญ่ ส่วนพรรคเดโมแครตมีท่าทีสนับสนุนสหภาพแรงงานมากกว่า เช่น การนัดหมายอำนวยความสะดวกให้องค์กรแรงงานมีการประชุมพบปะกับผู้พิพากษาศาลมลรัฐ ศาลสูง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ระดับชาติ กระทรวงแรงงาน

สนับสนุนกฎหมายการเลือกอย่างเสรีของพนักงาน (ในการรวมกลุ่ม) หรือ free choice act ซึ่งทำให้คนงานตั้งสหภาพในสถานที่ทำงานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในสมัยรัฐบาลโอบาม่ามีนโยบายสนับสนุนคนงาน เช่น ให้สิทธิในการตั้งสหภาพขนาดเล็กได้ ให้การศึกษาแก่คนงานโดยรับรองสิทธิของสหภาพในการติดประกาศแจ้งข้อมูลข่าวสารภายในโรงงาน พยายามทำให้การเลือกตั้งตัวแทนสหภาพมีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งนายจ้างมักจะร้องเรียนเพื่อให้การเลือกตั้งสหภาพเป็นไปอย่างล่าช้า และยังมีนโยบายที่คนงานได้ผลประโยชน์ เช่น กฎหมายการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมกับแก่ผู้หญิง (Lilly Ledbetter Law – Equal Pay for Women) กฎหมายประกันสุขภาพราคาถูก (Affordable Health Care Act 2010)

กล่าวโดยสรุปคือ นโยบายที่แตกต่างกันในเรื่องของแรงงานของสองพรรคการเมืองนี้ สหภาพแรงงานถูกนับรวมอยู่ในนโยบายการหาเสียงของของพรรคเดโมแครตมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2008 ซึ่งกล่าวว่า จะตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของคนชั้นกลางอเมริกัน และเป็นที่ยอมรับกันดีว่า สหภาพแรงงานในสหรัฐต่อสู้มายาวนาน และช่วยสร้างให้เกิดชนชั้นกลางขึ้นมาจนเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้งจากการเรียกร้องเรื่องสภาพการจ้างงาน ความมั่นคงในการทำงาน สวัสดิการทางสังคม และวันหยุดต่างๆ ในขณะที่ การลดลงของจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในสหรัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นโยบายของพรรครีพับบลิกันที่ถูกมองว่าต่อต้านสหภาพแรงงาน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางอเมริกันมีส่วนแบ่งในทางเศรษฐกิจและทางสังคมน้อยลง

อนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ รายงานที่ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งสหรัฐจนถึงเดือนกรกฎาคม 2012 เงินในมือที่พรรครีพับบลิกันมีไว้ใช้จ่ายคือ 238.4 ล้านเหรียญ ส่วนเดโมแครต 129.9 ล้านเหรียญสหรัฐ รีพับบลิกันได้เปรียบโดยมีเงินสดมากกว่า 108.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อมูลบางส่วนจากการนำเสนอของ คุณ Tyler Brown สหภาพแรงงานสากลคนทำหม้อไอน้ำ (International Brotherhood of Boilermakers) ที่เกาหลีใต้ กันยายน 2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net