รอบโลกแรงงานตุลาคม 2555

พบแรงงานยุโรป 7 ประเทศหยุดงานเหตุโรคซึมเศร้า

3 ต.ค. 55 - สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่ามีคนงาน 1 ใน 10 หยุดงานเนื่องจากสาเหตุโรคซึมเศร้า โดยสำรวจจากคนงาน 7,000 คน จาก 7 ประเทศในยุโรปโดยสมาคมโรคซึมเศร้ายุโรป หรือ อีดีเอ ได้ทำการสำรวจในประเทศอังกฤษ, เยอรมัน, อิตาลี, เดนมาร์ค, ตุรกี, สเปน และ ฝรั่งเศส ผลสำรวจระบุว่าคนงานในประเทศอังกฤษ, เดนมาร์ก และเยอรมัน มีการหยุดงานด้วยสาเหตุเรื่องโรคซึมเศร้ามากที่สุดผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 7,000 คน เปิดเผยว่า ร้อยละ 20 ของผู้ทำการสำรวจเคยผ่านการตรวจพบโรคซึมเศร้ามาก่อนในช่วงหนึ่งของชีวิต

ประเทศที่มีผู้ตรวจพบโรคซึมเศร้ามากที่สุดคือ อังกฤษ อยู่ที่ร้อยละ 26 ขณะที่ อิตาลี มีการตรวจพบน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 12 ในกลุ่มผู้เป็นโรคซึมเศร้า มีการสำรวจต่ออีกพบว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสหยุดงานมากที่สุดในเยอรมัน ร้อยละ 61, เดนมาร์ก ร้อยละ 60, อังกฤษ ร้อยละ 58  ขณะที่ ตุรกี มีโอกาสหยุดงานน้อยที่สุด ร้อยละ 25 ก่อนหน้านี้เคยมีการวิจัยที่ประเมินว่าโรคซึมเศร้าได้สร้างความสูญเสีย 9.2 หมื่นล้านยูโร หรือราว 3.6 ล้านล้านบาท ในปี 2010 ทั่งยุโรป จากการสูญเสียผลผลิตเพราะมีการหยุดงาน หรือ จากประสิทธิภาพการทำงานที่น้อยลง เป็นสาเหตุหลักๆ ให้เกิดการสูญเสียรายได้ในประเทศที่ได้รับการสำรวจ 1 ใน 4 ของผู้เป็นโรคซึมเศร้าบอกว่าพวกเขาไม่บอกเรื่องนี้ให้นายจ้างรับรู้ หนึ่งในสามของพวกเขาบอกว่าพวกเขากังวลเรื่องความเสี่ยงในการทำงาน โดยผู้จัดการจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนกลุ่มสำรวจ 792 คนบอกว่าพวกเขาไม่มีการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบแก่ลูกจ้างที่ประสบภาวะโรคซึมเศร้า

ชาวอินโดนีเซียกว่า 2 ล้านคนประท้วงขอขึ้นค่าแรง

3 ต.ค. 55 -  สหภาพแรงงานของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า จะมีคนงานของโรงงานต่าง ๆ มากกว่า 2 ล้านคนนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 วัน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง และต่อต้านสัญญาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า มีแรงงานหลายแสนคน ของบริษัทมากกว่า 700แห่ง จากนิคมอุตสาหกรรม 80 แห่ง เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงตามถนนหลายสายหลาย ในวันพุธนี้

นายยอริส ราเวไย ประธานของสหภาพสหพันธ์แรงงานอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า พวกแรงงานที่เข้าร่วมการประท้วง ต้องการให้รัฐบาลทบทวนกฎหมาย ที่ยอมให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ ทำสัญญาว่าจ้างแรงงานชั่วคราวแค่ 1 ปี โดยไม่มีสิทธิประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ที่นอกเหนือจากค่าแรง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยเมื่อเดือนมกราคมว่า สัญญาการจ้างงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และยังละเมิดสิทธิแรงงานอีกด้วย

มีคนงานประมาณ 23,000 คน ได้วางแผนเข้าร่วมการประท้วงในกรุงจาการ์ต้า ในช่วงบ่ายวันนี้ และคาดว่าจะมีตำรวจ 15,000 นาย เข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยของผู้เข้าร่วมการชุมนุม

สิงคโปร์ขาดแรงงาน-จ้างนักโทษ

5 ต.ค. 55 - ทางการสิงคโปร์แถลงว่า บริษัทต่างๆในสิงคโปร์ต่างหันมาจ้างอดีตนักโทษเข้าทำงานกันมากขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่มีข้อจำกัดในการจ้างแรงงานต่างชาติ

นายเฮง ชี เฮา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า บริษัทต่างๆกว่า 3,100 แห่งกำลังร่วมมือกับหน่วยงานฟื้นฟูเพื่อจ้างอดีตนักโทษ โดยเพิ่มขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วที่มีบริษัท 2,872 แห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรทส์ไทม์ส รายงานว่า แต่ละปีสิงคโปร์มีนักโทษราว 10,000 คนที่ได้รับการปล่อยตัว และหน่วยงานฟื้นฟูได้ฝึกทักษะการทำงานใหม่ๆให้แก่นักโทษราว 5,000 คนจากจำนวนดังกล่าว

นายเฮงกล่าวว่า อดีตนักโทษนับเป็นแหล่งแรงงานที่สำคัญของสิงคโปร์ในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการหลังจากมีการออกข้อจำกัดในการจ้างแรงงานต่างชาติ เนื่องจากมีการร้องเรียนจากพลเมืองเรื่องความแออัดและการสูญเสียตำแหน่งงานให้แก่คนที่ไม่ใช่พลเมืองสิงคโปร์

ซ้ำรอย! คนงานฟ็อกซ์คอนน์ผลิตไอโฟน 5 ประท้วงอีก บริษัทฯ ออกโรงปฏิเสธ

6 ต.ค. 55 - กลุ่มจับตาแรงงานจีนในนครนิวยอร์ก รายงาน (6 ต.ค.) คนงานราว 3,000 - 4,000 คน ร่วมหยุดงานประท้วง หลังจากที่ทางโรงงานฯ ยกระดับคุณภาพของผลิตผล และเรียกร้องให้คนงานทำงานในช่วงวันหยุด “สัปดาห์ทอง” (30 ก.ย. - 7 ต.ค.)

หลี่ เฉียง ผู้อำนวยการกลุ่มจับตาแรงงานจีน กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การหยุดงานประท้วงนี้ เป็นผลมาจากคนงานเหล่านี้มีแรงกดดันที่มาเหลือเกิน ตามข้อมูลจากคนงาน สายการผลิตไอโฟน 5 ในโรงงานหลายแห่ง ต้องหยุดการผลิตทั้งวันเช่นกัน (5 ต.ค.)”

ในแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่า “ฟ็อกซ์คอนน์เรียกร้องให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน แต่มิได้ให้ข้อมูลหรือจัดการฝึกใดๆ เลย รวมทั้ง ผู้ตรวจสอบควบคุมคุณภาพเกิดความขัดแย้งกับคนงาน และถูกคนงานทำร้ายร่างกายหลายครั้ง การจัดการของโรงงานกลับไม่มีการพูดถึงความขัดแย้งนี้ และไม่มีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม”

บริษัทแอปเปิลมักถูกโจมตีเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ภายในโรงงานผู้ผลิตสินค้าให้ ทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯ จัดทำข้อมูลล่าสุดแก่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและแรงงาน โดยอ้างว่าโรงงานผู้ผลิตสินค้ายินยอมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ต่อข้อเรียกร้องที่ให้ลดชั่วโมงทำงาน และควบคุมดูแลให้ดีขึ้น และจากเหตุประท้วงครั้งนี้ ทำให้หุ้นของแอปเปิลร่วงลงมา 2 เปอร์เซ็นต์ในการซื้อขายช่วงบ่ายเมื่อวานนี้

กระทั่งช่วงบ่ายวันนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ออกโรงปฏิเสธเรื่องราวทั้งหมด โดยอ้างว่าโรงงานฯ ในเจิ้งโจวไม่ได้เกิดเหตุการณ์หยุดงานหรือหยุดการผลิต จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มเล็กๆ สองครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังส่งอีเมล์ฉบับหนึ่งแจ้งว่า "รายงานข่าวใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการหยุดงาน ล้วนไม่เป็นความจริง โรงงานฯ ในเจิ้งโจวและแห่งอื่นๆ ไม่มีการหยุดงาน ยังคงดำเนินการตามปกติ

บ.แพลทินัมแอฟลิกาใต้ไล่คนงาน 1.2 หมื่นคน เซ่นประท้วงขึ้นค่าแรง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่า บริษัท 'แองโกล อเมริกัน แพลทินัม' ผู้ผลิตแพลทินัมรายใหญ่ที่สุดของโลก ในแอฟริกาใต้ ไล่คนงานจำนวน 12,000 คน ที่ก่อเหตุประท้วงหยุดงานเพื่อขอขึ้นค่าแรง ออกจากบริษัทแล้ว หลังจากการประท้วงนานกว่า 3 สัปดาห์ ทำให้บริษัทเสียหายหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลอดช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนงานเหมืองของบริษัท แองโกล อเมริกัน แพลทินัม ในเมืองรุสเตนเบิร์ก ของแอฟริกาใต้ กว่า 28,000 คน ก่อเหตุประท้วงหยุดงานเพื่อขอขึ้นค่าแรง สร้างความเสียหายมากกว่า 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 322.9 ล้านบาท) ทำให้บริษัทตัดสินใจไล่คนงาน 12,000 คนที่เชื่อว่าเป็นตัวตั้งตัวตีในการประท้วงออกจากบริษัท

อย่างไรก็ดี นี่มิใช่ครั้งแรกที่เกิดการประท้วงทำนองนี้ โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. คนงานเหมืองแพลทินัมแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ ก่อเหตุประท้วงเพื่อขอขึ้นค่าแรงเป็นสามเท่า และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีคนงานเสียชีวิต 34 คน ตำรวจเสียชีวิตอีก 10 อีกด้านหนึ่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บริษัทเหมืองทองที่ใหญ่ลำดับ 4 ของโลก 'โกลด์ฟิลด์' เพิ่งไล่คนงานออก 5,000 คน เนื่องจากเป็นผู้นำการประท้วงของกลุ่มคนงาน

ทั้งนี้ นักสถิติระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีคนงานเหมืองกว่า 75,000 ชีวิต ที่ก่อเหตุประท้วงขอขึ้นค่าแรงจากบริษัทผู้ทำเหมืองทอง หรือแพลทินัม ซึ่งส่วนใหญ่ลักลอบทำเหมืองโดยไม่มีใบอนุญาต และการปลดคนงานออกจำนวนมากอย่างนี้ จะส่งผลต่อทั้ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกา ที่ปัจจุบันมีคนอัตราว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 และภาพลักษณ์ของรัฐบาลประธานาธิบดีจาคอบ ซูมาด้วย

ว่างงาน "สหรัฐ" ดิ่งต่ำสุดในรอบ 3 ปี

7 ต.ค. 55 - กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยอัตราว่างงานของประเทศในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า อยู่ที่ระดับ 7.8% ลดลงจากระดับ 8.1% ในเดือนก่อน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2552 หรือตั้งแต่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ

ตัวเลขว่างงานดังกล่าวนับว่า ต่ำกว่าคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบที่ 3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงาน

“มีการจ้างงานในภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 31 ติดต่อกันแล้ว” อลัน ครูเกอร์ ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว กล่าว

ขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาขึ้นปราศรัยระหว่างการหาเสียงที่รัฐเวอร์จิเนีย ว่า ตัวเลขว่างงานล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังมีงานทำ

อย่างไรก็ตาม ด้าน มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ และตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกโรงโจมตีโอบามาว่า ตัวเลขว่างงานที่ลดลงไม่ได้สะท้อนการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง

“สาเหตุที่ตัวเลขว่างงานลดก็เพราะคนเริ่มถอดใจเลิกหางานนั่นเอง หากคำนวณคนเหล่านี้เข้าไปด้วยอัตราว่างงานของประเทศก็จะอยู่ที่ระดับ 11%” รอมนีย์ กล่าวระหว่างหาเสียงในรัฐเดียวกัน

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ ซึ่งชี้ว่าในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 1.14 แสนตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่ระยะเวลาที่คนว่างงานไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นเป็น 39.8 สัปดาห์

ดีน เบเคอร์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและนโยบายในสหรัฐแสดงความเห็นว่า อัตราการจ้างงานในตลาดแรงงานยังคงเชื่องช้าเกินไป เมื่อเทียบกับการขยายตัวของจำนวนแรงงาน

“หากการจ้างงานยังคงโตช้าเช่นนี้ คาดว่าอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าจะเข้าสู่ภาวะการจ้างงานอย่างเต็มที่” เบเคอร์ ระบุ
ทั้งนี้ ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดังกล่าว ราคาน้ำมันที่ตลาดนิวยอร์กปรับตัวลง โดยสัญญาน้ำมันดิบไลต์สวีตส่งมอบเดือน พ.ย. ดิ่ง 1.83 เหรียญสหรัฐ ปิดที่ 89.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ

วันเดียวกัน หนังสือพิมพ์เยอรมนีรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตรียมปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้จากเดิมที่ระดับ 3.5% เหลือ 3.3% และในปีหน้าจาก 3.9% ลดเหลือ 3.6% พร้อมเรียกร้องให้ยุโรปและสหรัฐดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ สื่อเมืองเบียร์เผยว่า ไอเอ็มเอฟเตรียมเปิดเผยรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า

ILO เผย 4 ปีคนตกงานเพิ่ม 30 ล้าน

13 ต.ค. 55 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า อัตราการว่างงานทั่วโลกในปัจจุบันยังสูงกว่าระดับเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551 ถึง 30 ล้านคน ขณะที่ยังมีหญิงชายทั่วโลกอีกถึงเกือบ 40 ล้านคน ที่เลิกคิดจะหางานทำแล้ว ซึ่งนับเป็นความกังวลล่าสุดในขณะที่หลายฝ่ายกำลังถกเถียงกันว่า มาตรการรัดเข็มขัดโดยเฉพาะในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานมากกว่าที่คาดไว้

กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการไอแอลโอ ระบุว่า ในจำนวนคนว่างงานทั่วโลกกว่า 200 ล้านคนนั้น เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มากถึงราว 1 ใน 3 ในขณะที่แต่ละปีนั้น ตลาดแรงงานทั่วโลกจะมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นราว 40 ล้านคนต่อปี
ทว่าสำหรับกลุ่มคนที่มีงานทำถึง 900 ล้านคน กลับไม่สามารถหาเงินให้พอเพียงที่จะยกระดับชีวิตตัวเองและครอบครัวให้พ้นจากเส้นความยากจนที่วันละ 2 เหรียญสหรัฐ (ราว 60 บาท)

“ผลเสียจากมาตรการรัดเข็มขัดได้ส่งผลกระทบมากกว่าที่เราเคยคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ และขณะนี้ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทบทวนกรอบเวลาของสมดุลงบประมาณ รวมถึงการวางกรอบเวลาให้ยาวขึ้นในการแก้ไขความเสียหายจากวิกฤตการณ์การเงินก่อนหน้านี้” ไรเดอร์ กล่าว

ถ้อยแถลงของผู้อำนวยการ ไอแอลโอ ในเวทีการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้สอดคล้องกับ คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ซึ่งกล่าวในวันเดียวกันว่า มาตรการรัดเข็มขัดไม่อาจเป็นทางออกเดียวในการแก้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระและผลกระทบ โดยเฉพาะการว่างงาน ซึ่งนับเป็นการย้ำทิศทางเดิมที่เรียกร้องให้ยุโรปยอมผ่อนคลายกรอบเวลามาตรการรัดเข็มขัด

อย่างไรก็ตาม วูล์ฟกัง โชเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ได้ยืนยันว่าการจะแก้วิกฤตการณ์หนี้ยุโรปนั้น ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดลดหนี้ลงเท่านั้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประเทศยูโรโซน 17 ประเทศ ซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง

โชเบิล กล่าวด้วยว่า แรงต่อต้านที่เกิดขึ้น อาทิ การต่อต้านแผนปฏิรูปแรงงานในตลาดแรงงานนั้น เป็นเรื่องปกติของโลกประชาธิปไตยที่จะเกิดการโต้เถียงและแสดงความเห็นก่อนที่จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน

ประเด็นถกเถียงเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดลดรายจ่าย เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในยุโรปนั้น ยังมีขึ้นในขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาแห่งยุโรป เปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพุ่งสูงถึง 7.9% หรืออยู่ที่ 47.8 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขการว่างงานล่าสุดในกรีซได้พุ่งสูงสุดทุบสถิติใหม่ถึง 25%

ยูบีเอสจ่อปลดพนักงานหมื่นคน

14 ต.ค. 55 - หนังสือพิมพ์ทาเกส อันไซเกอร์  รายงานว่า ยูบีเอส ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ อาจปลดพนักงาน 10,000 คนในอนาคตอันใกล้นี้ โดยอาจประกาศพร้อมกับการนำเสนอรายงานผลประกอบการรายไตรมาสในวันที่ 30 ตุลาคม
พนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกปลดคาดว่าจะอยู่ในแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างงานทั้งหมด 8,200 คน โดย 3,200 คนอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ ยูบีเอส มีพนักงานทั้งหมด 63,520 คนทั่วโลก นับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน รวมถึงพนักงาน 22,500 คนในสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม ยูบีเอส ยังไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว

โปรตุเกสประท้วงต้านแผนงบประมาณจี้รบ.ลาออก

16 ต.ค. 55 - สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่า นายวิคเตอร์ กาสปาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของโปรตุเกส ได้มีการแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงบประมาณรายจ่าย ในปี 2013 ต่อสภา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจาก 9.8% ในปี 2012 เป็น 13.2% ในปีหน้า เพื่อทำให้ประเทศมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากต้องกู้เงินมาจากสหภาพยุโรป สูงถึง 78 พันล้านยูโร ในปีนี้ และเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รัฐบาลมีเงินเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้พร้อมกันนี้ ในแผนงบประมาณดังกล่าว ยังได้มีการประกาศลดค่าใช้จ่าย 2.7 พันล้านยูโร ในปีหน้า รวมถึงจะมีการปลดพนักงานของรัฐ กว่า 600,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และมั่นใจว่า งบประมาณดังกล่าว จะช่วยให้ โปรตุเกส เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณได้ 4.5% ในปี 2013 ซึ่งจะทำให้การขาดดุลต่ำกว่าเป้าหมายที่สหภาพยุโรปตั้งไว้ แม้ว่า อัตราการว่างงาน สูงกว่า 15% และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 16.4% ในปีหน้าก็ตามขณะที่ นายอันโตนิโอ เซกูโร ผู้นำพรรคสังคมนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภา  กล่าวว่า ร่างงบประมาณดังกล่าว เปรียบเหมือนระเบิดปรมณูทางการคลัง ซึ่งจะทำให้ประเทศเกิดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นทั้งนี้ ระหว่างที่มีการเปิดเผยรายละเอียดงบประมาณ ปี 2013 ได้มีประชาชน กว่า 2 พันคน ได้รวมตัวประท้วงแผนดังกล่าวที่หน้าสภา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล ลาออก ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะก่อนหน้านี้มีการปะทะกับกลุ่มม็อบมาแล้วหลายครั้ง   

นักเรียนสเปนร่วมเดินขบวนทั่วประเทศ ต้านแผนหั่นงบประมาณการศึกษา

18 ต.ค. 55 -นักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายพันคน ร่วมเดินขบวนตามเมืองต่างๆ หลายสิบแห่งทั่วสเปนในวันพุธ (17) เพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่ตัดลดการใช้จ่ายด้านการศึกษา ที่รัฐบาลมีเป้าหมายลดการขาดดุลสาธารณะ
“เอาเงินจากพวกธนาคารนั่นแหละมาให้โรงเรียนของรัฐ” ผู้ประท้วงต่างพากันตะโกนขณะที่เดินผ่านท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงมาดริด อ้างถึงเงินจำนวนแสนล้านยูโรที่รัฐบาลอัดฉีดช่วยเหลือธนาคารต่างๆ ที่กำลังร่อแร่ แต่อีกด้านหนึ่งกลับดำเนินการตัดลดการใช้จ่ายต่างๆทางสังคม

ในบาร์เซโลนา เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของสเปน ตำรวจเปิดเผยว่ามีนักเรียนราว 3,000 คน เดินขบวนไปตามท้องถนนหลายสาย นอกจากนี้ยังพบเห็นการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมหลายพันคนทั้งในบาเลนเซียและเมืองอื่นๆ

การเดินขบวนเป็นส่วนหนึ่งของแผนประท้วง 3 วันของเหล่านักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะมีไปจนถึงวันพฤหัสบดี (18) ขณะที่มีรายงานว่าการชุมนุมในกรุงมาดริดนั้น มีเหล่าผู้ปกครองและพวกครูบาอาจารย์เข้าร่วมด้วย “โรงเรียนของฉัน มีครูถูกปลดไปแล้ว 7 คนในปีนี้ หลังจากปีที่แล้วโดนไปทั้งหมด 16 คน” ซารา ดิอาซ นักเรียนมัธยมรายหนึ่งเผยระหว่างร่วมชุมนุมในเมืองหลวง

ด้านลีโอนอร์ อันเดรส วัย 50 ปี ที่เดินทางมาร่วมชุมนุมในมาดริด พร้อมกับลูกสาววัย 14 ปี บอกว่าแผนตัดลดงบประมาณด้านการศึกษาส่งผลประทบต่อขนาดชั้นเรียนและบีบให้สถาบันการศึกษาต่างๆต้องยกเลิกกิจกรรมทั้งหลายแหล่
นอกจากนี้แล้ว ผู้ประท้วงบางส่วนยังคร่ำครวญว่าแผนลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ยังนำมาซึ่งค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย “ค่าเทอมพุ่งพรวด ปีที่แล้วฉันเสียค่าเทอมแค่ 700 ยูโร (28,000 บาท) แต่ปีนี้ขึ้นไปเป็น 1,300 ยูโร (52,000 บาท)” ลอรา รุยส์ นักศึกษาสื่อสารมวลชนวัย 21 ปีกล่าว

ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการสเปนระบุว่างบประมาณด้านการศึกษาในปีนี้ถูกปรับลดจากปี 2011 กว่า 1,000 ล้านยูโร และตามสถาบันการศึกษารัฐบาล ระหว่างปีการศึกษา 2011-12 มีการจ้างงานครูลดลงเกือบ 3,000 ตำแหน่ง

แรงงานส​เปน ​เล็งจัดประท้วงมาตร​การรัด​เข็มขัด14 พ.ย.นี้

18 ต.ค.55 - โฆษกสหภาพ​แรงงานส​เปนระบุว่า สหภาพ​แรงงานที่​ใหญ่ที่สุด​ในส​เปน 2 ​แห่ง ​เตรียมร่วมกันจัดชุมนุมประท้วงมาตร​การรัด​เข็มขัดของรัฐบาลส​เปน รวม​ถึงมาตร​การตัดลดงบประมาณรายจ่าย ​และ​การขึ้นภาษี ​ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้
ผู้นำสหภาพ​แรงงานซีซี​โอ​โอ ​และยูจีที​เตรียมจัดประชุมร่วมกัน​ในวันนี้(19 ต.ค.) ​เพื่อตัดสิน​ใจขั้นสุดท้ายว่าจะจัดชุมนุมประท้วงดังกล่าว​หรือ​ไม่ ​เธอกล่าวว่า​เป็น​ไป​ได้อย่างมากที่​การประชุม​ในวันนี้จะตัดสิน​ใจ​ให้จัด​การชุมนุมประท้วงครั้ง​ใหญ่​ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ​ซึ่งจะ​เป็น​การชุมนุมประท้วงครั้ง​ใหญ่ครั้งที่ 2 ​ในรอบน้อยกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ส​เปน​ได้จัดชุมนุมประท้วงครั้ง​ใหญ่ครั้ง​แรก​ในปีนี้​ไป​เมื่อวันที่ 29 มีนาคม จนส่งผลกระทบต่อ​การสัญจร​โดยรถยนต์​และทางอากาศของชาวส​เปน อีก​ทั้งยัง​ทำ​ให้​โรง​เรียนทั่วประ​เทศส​เปนต้องยุติ​การ​เรียน​การสอน รวม​ทั้งต้องปิด​โรงงานทั่วส​เปนด้วย

ชาวกรีซผละงานประท้วงปะทะตำรวจ

18 ต.ค.55 - การประท้วงของชาวกรีซซึ่งมีขึ้นในกรุงเอเธนส์เมื่อตอนเย็นวานนี้ ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ โดยมีผู้ออกมาชุมนุมราว 40,000 คน เพราะความไม่พอใจที่รัฐบาลกรีซยอมทำตามคำบงการของบรรดาเจ้าหนี้จนประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประหยัดงบประมาณซึ่งล่าสุดรัฐสภากรีซได้อนุมัติให้มีการลดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลลงอีก 11,500 ล้านยูโร ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องตัดค่าใช่จ่ายลงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะค่าจ้างและเงินบำนาญบำนาญต่างๆ ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน

สำหรับการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลในกรุงเอเธนส์เมื่อวานนี้ค่อนข้างรุนแรงโดยกลุ่มผู้ประท้วงมีระเบิดเพลิง,ขวดน้ำและก้อนหินเป็นอาวุธ ส่วนเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและพริกป่นในการเข้าสลายการชุมนุม โดยผู้ประท้วงซึ่งเป็๋นชายชราอายุ 65 ปีรายหนึ่งเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย และมีผู้ประท้วงบาดเจ็บอีก 3 ราย ตำรวจจับผู้ประท้วงที่ก่อเหตุรุนแรงได้ประมาณ 50 คน

การประท้วงของชาวกรีซเมื่อวานนี้ มีขึ้นในวันเดียวกับที่คนงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พากันผละงานประท้วงทั่วประเทศเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของรัฐบาลถูกปิด รวมทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล ยกเว้นแผนกฉุกเฉิน ขณะที่ถนนหนทางและสำนักงานต่างๆ ในกรุงเอเธนส์ว่างเปล่า

หมอเปรูประท้วงใหญ่ ผู้บริหาร รพ.ลาออกเกือบทั้งประเทศ

21 ต.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ว่า จากการเปิดเผยของสหพันธ์การแพทย์ของประเทศเปรู ระบุว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มแพทย์ ที่ประท้วงขอขึ้นค่าแรง เนื่องจากไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงมานาน ไม่สอดรับกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศ ที่กำลังขยายตัวขึ้น

นายซีซาร์ ปาโลมิโน ประธานสหพันธ์การแพทย์เปรูเปิดเผยว่า หากนับเฉพาะในเมืองหลวง กรุงลิมา มีผู้บริหารโรงพยาบาลลาออกแล้วกว่า 300 คน ขณะที่การประท้วงหยุดงานของแพทย์ไม่น้อยกว่า 11,000 คนทั่วประเทศ ดำเนินติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 แล้ว โดยเขากล่าวโทษว่า เหตุที่รัฐบาลไม่ยอมขึ้นค่าแรงให้แพทย์ เป็นเพราะนโยบาลทางเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยมของ นายลุยส์ มิเกล กาสติญ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนนายเฆซุส โบนิญ่า หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของสหพันธ์ฯ ระบุว่า เศรษฐกิจของเปรูกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่งบประมาณที่จ่ายให้กับภาคสาธารณะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลับลดลงอย่างมาก พวกแพทย์ไม่ได้รับการเพิ่มเงินเดือนเลยแม้แต่น้อย ทำให้อำนาจการซื้อของพวกเขาลดลง 30-40 เปอร์เซ็นต์ทีเดียง

ด้าน นางมิโดริ เด ฮาบิค รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ออกมาขู่ว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลคนได้ที่ประกาศลาออกเพราะเรื่องนี้ แต่รับโทษฐานก่ออาชญากรรม ขณะที่นายกาซติญ่าเคยออกมากล่าวเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่การประท้วงเพิ่มเริ่มขึ้นว่า การพิจารณาขึ้นเงินเดือน ขึ้นอยู่กับคุณภาพการปฏิบัติงาน และเรียกร้องให้แพทย์กลับไปทำงานอ้างว่า ผู้ที่ต้องรับเคราะห์จากเรื่องนี้ก็คือประชาชนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วย

อังกฤษ-ประท้วงนโยบายรัดเข็มขัด

21 ต.ค. 55 - ชาวอังกฤษหลายหมื่นคนรวมตัวประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดครั้งใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น และพยายามโจมตีบริษัทต่างชาติหลายแห่งบนถนนออกซ์ฟอร์ด ย่านช็อปปิ้งที่มีชื่อเสียงในกรุงลอนดอน

ร้านค้าของบริษัทต่างชาติหลายแห่งบนถนนออกซ์ฟอร์ด ตกเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้ประท้วง เนื่องจากผู้ประท้วงอ้างว่าร้านค้าเหล่านี้หลีกเลี่ยงการเสียภาษี การประท้วงเริ่มขึ้นที่ถนนรีเจนท์ จากนั้นก็มุ่งสู่ถนนออกซ์ฟอร์ด ไม่นานนักเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าระงับเหตุ และได้ทำการจับกุมผู้ประท้วงรายหนึ่ง ที่พยายามบุกเข้าไปในร้านขายเสื้อผ้า Primark (ไพร์-หมาก) ขณะที่ร้านค้าอีกหลายแห่งต้องเร่งปิดร้านให้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงภายในร้าน นอกจากนี้ยังเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ประท้วงที่ ร้าน McDonald และ Boots อีกด้วย ทั้งนี้ ตำรวจสามารถยุติเหตุประท้วงที่จตุรัสทราฟัลการ์ไราว 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 22.00 น.ตามเวลาในไทย

นอกจากนี้ยังเกิดการประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหม่ตามเมืองใหญ่ๆในอังกฤษ เช่น ที่เมืองกลาสโกว์ และ ที่กรุงเบลฟาสท์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ

"ซิงก้า" ออกมาตรการรัดเข็มขัด พร้อมปลดพนักงาน 5%

24 ต.ค. 55 - ซีอีโอซิงก้าออกมายืนยันว่าบริษัทจะใช้มาตรการรัดเข็มขัด พร้อมเลย์ออฟพนักงานออก 5 เปอร์เซนต์ พ่วงปิดสตูดิโอบอสตัน และจะลามไปปิดสตูดิโอญี่ปุ่นและอังกฤษด้วย

"มาร์ค พินคัส" ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง "ซิงก้า"(Zynga) เจ้าของเกมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คชื่อดังหลายตัว ออกมายืนยันว่าจะมีการเลย์ออฟปลดพนักงานเกิดขึ้น โดยพนักงานจำนวน 5 เปอร์เซนต์ของพนักงานทั้งหมดในสังกัดของซิงก้าจะถูกเลย์ออฟออก การลดพนักงานข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างองค์กรภายในให้เกิดความคล่องตัว เพื่อดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นในอนาคต

เอกสารบันทึกภายในที่พินคัส ส่งให้สต๊าฟระบุว่าซิงก้าจะปิดสตูดิโอบอสตัน และมีแผนที่จะปิดสตูดิโอในญี่ปุ่นและอังกฤษเพิ่มเติมด้วย นอกจากนั้นหยุดให้บริการเกมเก่า 13 เกมและจะให้ความสำคัญน้อยลงกับการลงทุนเกมในซีรีส์ The Ville
พินคัส ยืนยันอีกด้วยว่าทางซิงก้าอยู่ระหว่างลดจำนวนพนักงานที่สตูดิโอออสติน และลดจำนวนทีมพาร์ทเนอร์ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนที่ลดลงในส่วนนี้

เอกสารบันทึกจากพินคัส ระบุว่า "เรามีพนักงานผู้โชคร้ายประมาณ 5 เปอร์เซนต์ที่จะต้องออกไปจากซิงก้า การตัดสินใจครั้งนี้มันไม่ง่ายเลย เรารับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่จะต้องถูกเลย์ออฟออกไป ยังไงเราก็ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนที่ผ่านมา และเราจะคิดถึงพวกเขา"

ซีอีโอของซิงก้า เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนของบริษัท โดยจะมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายในหลายส่วน อาทิ การเช่าโฮสข้อมูล , ค่าโฆษณา และ เงินที่เกี่ยวข้องกับผู้รับเหมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นการใช้ประสิทธิภาพของงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างเกมใหม่และโปรเจกต์ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ในอนาคต

สำนักงานใหญ่ของซิงก้าตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ในแคลิฟอร์เนีย นอกจากนั้นยังมีออฟฟิศสำนักงานที่ ออสติน ในเทกซัส และเคมบริดจ์ ในแมซซาชูเซตต์ เท่านั้นยังไม่พอยังมีสาขาอีกมากมายตามเมืองในอเมริกา อาทิ บัลติมอร์ , ชิคาโก , ดัลลัส , ยูจีน , ลอสแองเจลลิส , ลอส กาโตส , แมคคินนีย์ , นิวยอร์ก , ซานดิเอโก และ ซิแอทเทิล

นอกจากมีสำนักงานในอเมริกาแล้ว ซิงก้ายังมีสำนักงานในต่างประเทศอีกด้วย อาทิ บังกาลอร์ , ดับลิน , ปักกิ่ง , ฟาร์นัม , แฟรงค์เฟิร์ต , ลักเซมเบิร์ก , สิงคโปร์ , โตเกียว และโตรอนโต

ดูปองท์กำไรหด ปลดพนักงาน 1,500 คนทั่วโลก

24 ต.ค. 55 - บริษัทดูปองท์ได้ประกาศเมื่อวานนี้ว่า ทางบริษัทจะปลดคนงานออกจำนวน 1,500 คนหรือ 2 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด 70,000 คน โดยจะครอบคลุมถึงคนงานในแผนกธุรกิจต่างๆ ของดูปองท์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก แต่ไม่ได้ระบุว่าคนงานในโซนไหนของโลกที่จะลอยแพมากที่สุด บอกแต่เพียงว่า บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลดคนงานครั้งนี้ 242 ล้านดอลลาร์

การปลดคนงานของดูปองท์มีสาเหตุมาจากยอดขายและผลกำไรของบริษัทที่ลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากพักหลังนี้สินค้าของดูปองท์ทั้งสีและแผงโซลาร์ขายไม่ค่อยออก โดยยอดขายช่วงไตรมาส 3 ของดูปองท์ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์เหลือ 7.4 พันล้านดอลลาร์ จากที่คาดกันว่าจะขายได้ราว 8.15 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ของดูปองท์ลดลงเป็น 10 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 452 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว

ยอดขายของผลิตภัณฑ์ดูปองท์ลดลงทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นยอดขายในเอเชียและยุโรป สวนหนึ่งเป็นเพราะราคาไททาเนียม ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตสี ได้ถีบตัวสูงขึ้น

ข่าวการปลดคนงานและรายได้สุทธิที่ลดลง ทำให้ราคาหุ้นของดูปองท์ซึ่งถ่วงค่าอยู่ในดัชนีอุตสาหหกรรมดาวโจนส์ในตลาดหุ้นนิวยอร์กลดลงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งแรกของการซื้อขายเมื่อคืนที่ผ่านมา

พรรคร่วมรบ.กรีซเริ่มแตกแยก ไม่เห็นด้วย ตัดลดค่าใช้จ่ายเพิ่มด้านแรงงาน ตามข้อเรียกร้อง “ทรอยกา”

25 ต.ค. 55 - แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังกรีซเผย รัฐบาลเอเธนส์จะยังคงยึดมั่นในการเดินหน้ามาตรการพิเศษเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป แม้จะยังไม่มีความแน่นอนว่า บรรดาเจ้าหนี้จะพึงพอใจและยินยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีแรงต้านจากภายในรัฐบาลกรีซเองเกิดขึ้น ต่อข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากชาติเจ้าหนี้ให้ตัดลดการใช้จ่ายด้านแรงงาน

รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวภายในกระทรวงการคลังของกรีซระบุว่า รัฐบาลเอเธนส์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราสได้ใช้ความพยายามอย่างหนักตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อหาข้อสรุปต่อมาตรการรัดเข็มขัดมูลค่า 13,500 ล้านยูโร (ราว 538,363 ล้านบาท) และนำเสนอต่อคณะผู้แทนเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย หรือ “ทรอยกา” ที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

แต่ถึงแม้มาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบในการหารือรอบล่าสุดกับทางทรอยกาแล้ว แต่ดูเหมือนทางกลุ่มเจ้าหนี้จะยังคงเรียกร้องให้กรีซเพิ่มการปฏิรูปด้านแรงงานเข้าไปอีก ซึ่งเป็นจุดยืนที่ก่อให้เกิดแรงต้านอย่างหนักจากภายใน 3 พรรคร่วมรัฐบาลของกรีซ

รายงานข่าวล่าสุดยืนยันว่าพรรคการเมืองสายกลางร่วมรัฐบาลอย่างพรรค “เดโมเครติก เลฟต์” หรือพรรค “ดิมาร์” ภายใต้การนำของนายโฟติส ฟานูริโอส คูเวลิส ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการตัดลดการใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มเติมตามการร้องขอของเจ้าหนี้กลุ่มทรอยกา โดยให้เหตุผลว่า การตัดลดดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภาคแรงงานของประเทศ และซ้ำเติมภาวะการจ้างงานของกรีซให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ขณะที่ตัวเลขการว่างงานล่าสุดของกรีซพุ่งแตะระดับร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

“เนื้อหาหลักของแพ็คเกจดังกล่าวได้ข้อยุติแล้ว เหลือเพียงประเด็นด้านแรงงานเท่านั้น และหากเราสามารถหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นการปลดล็อกเงินกู้ยืมรอบใหม่จำนวน 31,200 ล้านยูโรทันที” แหล่งข่าวเผย

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือแพร่สะพัดเมื่อวันพุธ (24) ว่า ยานนิส สตูร์นาราส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซบรรลุข้อตกลงด้านแพ็คเกจช่วยเหลือครั้งใหม่มูลค่าหลายหมื่นล้านยูโรกับเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติแล้วและยังได้รับอนุมัติขยายกรอบเวลาอีก 2 ปีจนถึงปี 2016 จากเดิมกำหนดเส้นตายไว้ในปี 2014 สำหรับลดขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3 ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่มีความจำเป็นสำหรับปลดล็อกเงินกู้ยืมรอบใหม่จากนานาชาติ

แต่ทว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียู ไอเอ็มเอฟ และอีซีบี ต่างทยอยกันออกมาปฏิเสธโดยพร้อมเพรียงในวันพฤหัสบดี (25) โดยทั้ง 3 องค์กรต่างยืนยันยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆกับทางรัฐบาลเอเธนส์ทั้งสิ้น

ฟอร์ด ประกาศปิดโรงงานในอังกฤษอีก 2 แห่ง พร้อมปลดพนักงานอีก 1,400 คน

26 ต.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ว่า บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนปิดโรงงานผลิตรถตู้ในเมืองเซาแธมป์ตัน และโรงงานขึ้นรูปในเมืองดาเกนแฮม ประเทศอังกฤษ รวมถึงปลดพนักงานของทั้งสองโรงงานรวม 1,400 ตำแหน่งภายในปี 2013

การตัดสินใจของฟอร์ดในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากประกาศปิดโรงงานในเมืองเก็ง ของประเทศเบลเยียม ภายในปี 2014 ซึ่งจะทำให้มีผู้ตกงานถึง 4,300 ตำแหน่ง เพื่อลดค่าใช้จ่าย หลังประสบปัญหาขาดทุนในยุโรปอย่างหนัก ซึ่งฟอร์ดคาดว่า ในปีนี้จะขาดทุนอย่างน้อย 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การปิดบริษัททั้ง 3 และปลดพนักงานกว่า 6,200 คน จะเป็นการลดกำลังผลิตทั้งหมดในทวีปยุโรปลง 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ฟอร์ดได้ถึง 450,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ทั้งนี้ ฟอร์ดเปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้ปริมาณความต้องการรถยนต์ตกต่ำลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2007 และยอดขายรถในยุโรปของฟอร์ด ก็ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี และคาดว่าในปี 2012 ฟอร์ดจะขาดทุนถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

พนักงานจี้แอร์ฟารนซ์ปรับโครงสร้าง

28 ต.ค. 55 - พนักงานสายการบินแอร์ฟรานซ์หลายร้อยคนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงกันในสนามบินรอยซี่ - ชาร์ล เดอ โกลล์

การชุมนุมประท้วงดังกล่าวของพนักงาน เป็นการประท้วงแผนการปรับโครงสร้างของสายการบิน
ดาวิด ริกัต โฆษกสหภาพแรงงาน บอกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความผิดพลาดทางด้านยุทธศาสตร์เกิดขึ้นภายในสายการบิน และตอนนี้ มันก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง การเสนอปรับโครงสารเป็นการกระทำของฝ่ายนายจ้าง ที่ฝ่ายพนักงานไม่สามารถรับกับเรื่องแบบนี้ได้อีก

ด้านซีอีโอ แอร์ฟรานซ์ อเล็กซองเดอร์ เดอ จูเนี๊ยค กล่าวว่า พนักงานร้อยละ 1 จากทั้งหมด 7 หมื่นคนของแอร์ฟรานซ์ สายการบินแห่งชาติฝรั่งเศส ตัดสินใจเดินหน้าการประท้วงต่อต้านแผนปรับลดพนักงานลงร้อยละ 10

การประท้วงที่มีขึ้นในช่วงที่โรงเรียนเริ่มต้นการปิดเทอมนาน 2 สัปดาห์ ทำให้เครื่องบินบางเที่ยวต้องดีเลย์ แต่ทางสายการบินบอกว่า ผลกระทบจากการประท้วงมีแค่เพียงเล็กน้อย

ขณะที่ทางสหภาพแรงงานบอกว่า จะมีพนักงานเข้าร่วมในการประท้วงอีก และพวกเขาจะประท้วงต่อในวันอาทิตย์นี้ด้วย

ส​เปนชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายปรับลดงบประมาณปี 2556

28 ต.ค. 55 - ชาวส​เปนหลายพันคนออกมาชุมนุมประท้วง​ในมาริด​เมื่อวานนี้ ​เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายปรับลดงบประมาณปี 2556 ​ซึ่งจะ​เข้าสู่ขั้นตอน​การออก​เสียงรับรอง​โดยรัฐสภาส​เปน​ในวันพุธนี้

ทั้งนี้ ​ผู้ประท้วง​ได้ตะ​โกนคำขวัญต่อต้านน​โยบายปรับลดงบประมาณ​และปรับ​เพิ่มภาษีพร้อมกับ​เรียกร้อง​ให้คณะรัฐมนตรี​ซึ่งนำ​โดยนายกรัฐมนตรีมา​เรีย​โน ราฮอย ลาอก

นอกจากนี้ กลุ่ม​ผู้ชุมนุมประท้วง​ซึ่งมีประมาณ 3 พันคนยังยืนหันหลัง​ให้กับอาคารรัฐสภา​เพื่อ​ไว้อาลัย​เป็น​เวลา 1 นาที
ก่อนหน้านี้ ตำรวจหลายร้อยนาย​ได้ชุมนุม​ในมาดริด​เพื่อประท้วงน​โยบายปรับลด​เงิน​เดือน​และสวัสดิ​การตำรวจ ​โดยระบุว่า ​เป็น​การยก​เลิก​โบนัส​ในช่วงคริสต์มาสของตำรวจ

​ในขณะ​เดียวกัน ​ผู้จัด​การประท้วงระบุว่า มีประชาชนอีกราว 50,000 คนออกมาร่วมประท้วง​ในบา​เซ​โลนา ขณะที่​เจ้าหน้าที่ระบุว่ามี​เพียง 5,000 คน สำนักข่าวซินหัวรายงาน

ชาวอิตาลีหลายหมื่นคนชุมนุมประท้วงน​โยบายรัด​เข็มขัดรัฐบาล

28 ต.ค. 55 - ชาวอิตาลีหลายหมื่นคน​ได้ออกมาชุมนุมประท้วง​ในกรุง​โรม ​เมืองหลวงของอิตาลี ​เพื่อต่อต้านน​โยบายรัด​เข็มขัดของรัฐบาล​ซึ่งประกอบ​ไปด้วย​ผู้​เชี่ยวชาญด้าน​เทคนิคของนายกรัฐมนตรีมาริ​โอ มอนติ

การประท้วง​ซึ่ง​ใช้ชื่อว่า "No Monti Day" นำ​โดยสหภาพ​แรงงาน สมาคมนักศึกษา กลุ่ม​การ​เมือง ​และ​ผู้ว่างงาน มีจุดประสงค์​เพื่อต่อต้าน​การปรับขึ้นภาษี​และลดสวัสดิ​การสังคมของรัฐบาล

ผู้จัด​การชุมนุมระบุว่า ชาวอิตาลีประมาณ 150,000 รายทั่วประ​เทศ​ได้​เดินทางมาชุมนุม​ในกรุง​โรม​เพื่อ​เรียกร้อง​ให้มี​การสร้างตำ​แหน่งงาน​เพิ่ม ​เพิ่ม​การลงทุน​ในด้าน​การศึกษา​และสุขภาพ ตลอด​ทั้งลดสิทธิพิ​เศษของนัก​การ​เมืองลง

ผู้ชุมนุมหลายราย​ได้ชูป้ายข้อ​ความ "Away Monti" ​และ "Cuts, only cuts" ​โดยกล่าวหาว่า ​ความ​เคลื่อน​ไหวของรัฐบาล​ใน​การปรับลดอัตรา​เงินกู้ลง​ในช่วงหลาย​เดือนที่ผ่านมา​ได้สร้าง​ความ​เสียหาย​ให้กับสังคม ส่งผล​ให้ภาคครัว​เรือน​และธุรกิจ​ได้รับ​ความ​เสียหาย​ในระดับที่ยอมรับ​ไม่​ได้

​ทั้งนี้ ​ผู้ชุมนุมบางราย​ได้​เผาป้ายธนาคารหลาย​แห่ง ​ในขณะที่กลุ่มนักศึกษา​ซึ่ง​ได้ปิดกั้น​การจราจรบนถนนหลายสาย​ได้มี​การปะทะกับ​เจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากนี้ ชาวอิตาลียังออกมาประท้วงที่​เมืองริวา ​เดล ​การ์ดา ​ในภาค​เหนือของอิตาลี ​ซึ่งนายมอนติกล่าวสุนทรพจน์​เนื่อง​ในวันครอบครัวว่า หาก​ไม่​ใช้น​โยบายรัด​เข็มขัด ภาคครัว​เรือนอิตาลีอาจต้อง​แบกรับภาระหนี้สินมากกว่า​ในปัจจุบัน สำนักข่าวซินหัวรายงาน

ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, เดลินิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท