Skip to main content
sharethis

แนะการจัดทำรายชื่อ 'บุคคลที่ถูกกำหนด' ตามมาตรา 4 สมควรมุ่งเน้นไปยังการก่อการร้ายสากล ไม่สมควรปรับใช้กับการก่อการร้ายในประเทศ เพราะยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม 

6 พฤศจิกายน 2555  นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ซึ่งปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว โดยคปก.ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อลดผลกระทบจากการจัดลำดับของ FATF ที่จะมีต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และมีความเห็นว่าประเทศไทยควรดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่การดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจักต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ

คปก. มีความเห็นที่สำคัญใน 5 ประเด็น ได้แก่ การให้นิยาม “การก่อการร้าย” ตามมาตรา 3 ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะบัญญัติให้มีความหมายรวมถึงการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะยังมีข้อโต้แย้งหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 1/1 ที่จัดทำเป็นพระราชกำหนดจึงไม่มีกระบวนการพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดเพื่อทบทวนถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเนื้อหาของบทบัญญัติที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักความชัดเจนแน่นอนซึ่งเป็นหลักประกันที่สำคัญในกฎหมายอาญา (หลัก Nullum crimen, nulla poena sine lege) ทำให้ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้นมีความหมายครอบคลุมถึงการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงควรทบทวนถึงกระบวนการตราและเนื้อหาของกฎหมายให้มีองค์ประกอบความผิดที่ชัดเจนแน่นอนสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและพิธีสารที่เกี่ยวข้องซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีก่อนที่จะกำหนดให้นิยาม “การก่อการร้าย” ครอบคลุมไปถึง ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน คปก. เห็นว่า การจัดทำรายชื่อ “บุคคลที่ถูกกำหนด” (หรือเดิม คือ “บัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้าย”) ตามมาตรา 4 สมควรมุ่งเน้นไปยังการก่อการร้ายสากลและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายสากล โดยยังไม่สมควรปรับใช้กับการก่อการร้ายในประเทศตามประมวลกฎหมายอาญาเพราะยังมีข้อโต้แย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม อันอาจเป็นช่องทางให้ใช้พ.ร.บ.นี้ไปในทางลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้  

คปก. ยังไม่เห็นพ้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และสภาผู้แทนราษฎร ที่กำหนดให้กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำรายชื่อ “บุคคลที่ถูกกำหนด” ตามมาตรา 4 ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยพนักงานอัยการและศาล เนื่องจากเกรงว่าภายใต้เงื่อนเวลาและข้อจำกัดหลายประการจะทำให้พนักงานอัยการและศาลไม่อาจพิจารณากลั่นกรองถึงความชอบด้วยกฎหมายของการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และสุดท้ายจะทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งเป็นหลักการสำคัญของหลักนิติรัฐเสียไปในที่สุด ซึ่ง คปก. เห็นว่า พนักงานอัยการและศาลควรทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เมื่อผู้ได้รับผลกระทบร้องขอน่าจะเหมาะสมกว่า และที่สำคัญกระบวนการขั้นตอนการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดและกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว ควรยึดถืออย่างเคร่งครัดต่อหลักการใช้อำนาจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แม้เป็นกรณีที่ปรากฏรายชื่อตามมติหรือประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ส่วนการกำหนดหน้าที่และความรับผิดของ “ผู้มีหน้าที่รายงาน”ตามมาตรา 5 ควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการระงับดำเนินการกับทรัพย์สินให้ชัดแจ้งและครอบคลุมทั่วถึงทุกประเภทธุรกิจ ด้านมาตรการเชิงลงโทษต่อผู้มีหน้าที่รายงาน ควรมีหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพิจารณากลั่นกรองที่เปิดเผยและให้ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสชี้แจง รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินสมควรตลอดจนคำนึงถึงความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย

ขณะเดียวกัน ประเด็นความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ในมาตรา 14 ตามร่างพ.ร.บ.แม้จะมีลักษณะเฉพาะสอดคล้องกับข้อเสนอของ FATF เรื่อง กำหนดให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญา และหลักการตามอนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ลัทธิการก่อการร้าย แต่บทบัญญัติดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาทบทวนร่วมกับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1/1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายซึ่งมีความคล้ายคลึงกันเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนและเพื่อความเป็นระบบ

นอกจากนี้ คปก. เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ได้ให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางจึงสมควรที่จะมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่จากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระถึงความสัมฤทธิ์ผลของมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายโดยรายงานอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายการเมืองมีเจตจำนงในการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างแท้จริง โดยรับประกันความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เสริมสร้างความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพ โดยเคารพหลักความเสมอภาค หลักการตรวจสอบถ่วงดุล และหลักสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net