Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ยุโรปส่งคนไปตรวจสอบเลือกตั้งสหรัฐ แต่มี 3 รัฐคือแอริโซนา ไอโอวา และ เท็กซัส ที่ไม่อนุญาตให้ จนท. 56 คนเข้าไปในที่เลือกตั้ง และถูกขู่ว่าจะถูกจับกุม ขณะที่ผู้ต้องขังที่ "กวนตานาโม" ซึ่งถูกรัฐบาลสหรัฐกล่าวหาว่า "เป็นข้าศึกผู้ละเมิดกฎหมาย" หลายคนถูกจับโดยไม่ถูกไต่สวน ต่างติดตามชมการถ่ายทอดสดเลือกตั้งสหรัฐ และบางคนติดตามการดีเบทมาโดยตลอด

วันนี้ (6 พ.ย.) ซึ่งเป็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา จะออกไปเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะไปเลือกประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกทีหนึ่ง โดยเป็นการชิงชัยกันระหว่างผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต บารัก โอบามา และผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน มิตต์ รอมนีย์นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 1, 2)

ล่าสุด CNN เผยแพร่ความเห็นของอ้าย เหว่ย เหว่ย ศิลปินต่อต้านรัฐบาลจีน ที่บอกว่า แม้ระบอบของอเมริกาจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ชาวอเมริกันควรภาคภูมิใจกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของพวกเขา ขณะที่ชาวจีนมีเพียงระบอบพรรคการเมืองเดียวซึ่ง 'ขาดความเป็นมนุษย์'

นอกจากนี้ CNN ในทวิตเตอร์ได้สร้าง hashtag ชื่อ #CNNVotewatch เพื่อให้ผู้ไปลงคะแนนรายงานปัญหาที่พบเจอจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ในเวลา 10.13 น. ตามเวลาท้องถิ่น อัลจาซีร่ารายงานว่า มีการเปิดให้มีการลงคะแนนอย่างเป็นทางการในรัฐแคลิฟอร์เนีย, ไอดาโฮ, เนวาดา, โอเรกอน และเวอร์มอนท์

เวลา 10.37 น. ลอเรน กูด แห่งเทเลกราฟ รายงานว่ามีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นในอินสตาแกรม มีประชาชนหลายพันคนถ่ายรูปบัตรลงคะแนนของพวกเขาแล้วโพสท์มันลงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งในบางรัฐถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย

เวลา 10.43 น. อัลจาซีร่า รายงานว่า บารัค โอบาม่า กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้สมัครมิตต์ รอมนีย์ ในการที่เขา "หาเสียงได้อย่างมีชีวิตชีวา" และบอกว่าผู้สนับสนุนมิตต์ รอมนีย์ คงมีความกระตือรือร้นไม่แพ้กัน ในการปราศรัยที่วิสคอนซิล

เวลา 10.51 น. อัลจาซีร่า รายงานว่า เมืองในญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า 'โอบามะ' ในจังหวัดฟุคุอิ ซึ่งมีชื่อพ้องเสียงกับ ปธน. โอบาม่า แสดงการการสนับสนุนบารัค โอบาม่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีการขายขนมธีมบารัค โอบาม่า ด้วย

นอกจากนี้ คำว่า Who is running for President หรือ "ใครบ้างที่ลงสมัครประธานาธิบดี" กลายเป็นคำค้นหายอดฮิตในกูเกิ้ลเทรนด์

CNN รายงานด้วยว่า ปธน. บารัค โอบาม่า ใช้เวลาในวันอังคารนี้ไปกับการให้สัมภาษณ์ในชิคาโก และอาจหาเวลาขอบคุณอาสาสมัครที่มาช่วยหาเสียง รวมถึงไปเล่นบาสเก็ตบอล ส่วนรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรัฐเดลาแวร์ บ้านเกิดของเขา ก่อนที่จะบินไปชิคาโก

เวลา 11.19 น. ดี ปาวาส นักข่าว อัลจาซีร่รายงานบรรยากาศการเลือกตั้งจากรัฐโอไฮโอ บอกว่าฝูงชนที่มาใช้สิทธิดูบางตาแต่ก็มีมาต่อเนื่องในย่าน เซนท์ วิตัส เมืองคลีฟแลนด์ ซึ่งเป็นย่านชุมชนชาวโครเอเชียกับสโลวีเนีย

มีการสัมภาษณ์ผู้มาใช้สิทธิ แอน พาเวลิค อายุ 36 ปี ที่สถานีเลือกตั้งโรงเรียนเซนต์มาติน เดอ ปอร์เรส บอกว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ นี้อาจจะเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตเขาเลยก็ได้

ขณะที่อดีตทหารนาวิกโยธิน ที่ทำงานกิจการของตัวเองบอกว่าตนเลือกรอมนีย์ เพราะคิดว่าแนวคิดของโอบาม่าเก่าเกินไปและใช้ไม่ได้แล้ว

เวลา 11.30 น. เทเลกราฟ รายงานผลโพลจากฟลอริดาซึ่งสูสีมาก โอบาม่าอยู่ที่ร้อยละ 49.797 ส่วนรอมนีย์อยู่ที่ร้อยละ 49.775 คะแนน ในเวลา 11.35 น. เทเลกราฟรายงานต่อว่า โอบาม่าซึ่งดูเหนื่อยแต่ก็มีมาดนิ่งเพิ่งเสร็จจากการพูดคุยกับนักข่าวที่สำนักงานหาเสียงในชิคาโก เขาหวังว่า "พวกเราคงจะมีค่ำคืนที่ดี" และกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนเขาที่ช่วยคนละไม้ละมือในการ "เคลื่อนประเทศต่อไปข้างหน้า"

วีดิโอของสำนักข่าวเอพีใน youtube รายงานบรรยากาศการเลือกตั้งในรัฐนิวเจอร์ซี ที่ยังคงได้รับความเสียหายจากพายุแซนดี้ ทำให้ต้องลงคะแนนเสียงในรถเคลื่อนที่ Winnebago

เวลา 11.26 น. อัลจาซีร่า รายงานว่า องค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ส่งตัวแทนไปตรวจสอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แต่มีอยู่ 3 รัฐคือ แอริโซนา, ไอโอวา และ เท็กซัส ที่ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 56 คนเข้าไปในสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้ง และถูกขู่ว่าจะถูกจับกุมตัว

อัยการสูงสุดรัฐเท็กซัส เกร็ก แอบบ็อต กล่าวเตือนกลุ่ม OSCE ว่า หากทางกลุ่มต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้งของพวกเราเพื่อนำไปพัฒนา พวกเราก็ยินดีให้โอกาสในการหารือ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มคนหรือบุคคลที่อยู่ภายนอกสหรัฐฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งในเท็กซัส

เวลา 12.09 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผู้ต้องขังในค่ายกักกันอ่าวกวนตานาโมสามารถรับชมถ่ายทอดสดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ มีผู้ต้องขังบางคนติดตามชมการดีเบททั้งสามครั้งของสองผู้สมัครมาโดยตลอด ผู้ต้องขังในค่ายกักกันนี้ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่า "เป็นข้าศึกผู้ละเมิดกฏหมาย" ของสหรัฐฯ หลายคนถูกกุมขังโดยไม่ได้รับการไต่สวน โดยกระบวนการที่อ้างอิงความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net