Skip to main content
sharethis

แจงแผนระบายข้าวคิดเป็นรายได้ ส่วนขายข้าว ‘จีทูจี’ 7.3 ล้านตันหมดในไตรมาส 3 ปีหน้า ทำ MOU 3 ประเทศอีก 8 ล้านตัน ย้ำข้อมูล USDA –สถานการณ์ในอินเดีย เปิดโอกาสการค้าข้าวไทยปีหน้ารุ่ง ด้าน ‘คำนูณ’ ชี้ ‘จำนำข้าว’ ก่อหนี้สาธารณะ กระทบลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 
วันนี้ (7 พ.ย.55) เวลา 10.00 น.ห้อง 114 อาคารรัฐสภา 2 คณะอนุกรรมาธิการด้านการธนาคาร และสถาบันการเงินในตลาดเงิน ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ประชุมพิจารณานโยบายการระบายข้าว หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการระบายข้าว ผลการดำเนินการระบายข้าว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน และปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล
 
ทั้งนี้ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยแจ้งว่าติดภารกิจไม่ได้มาร่วมให้ข้อมูล ส่วนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศติดภารกิจไปเจรจาความร่วมมือการค้าข้าวที่ประเทศพม่า ส่งตัวแทนจากสำนักบริหารการค้าข้าวต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการเข้าร่วมชี้แจง โดยขอสงวนชื่อในการเผยแพร่ข่าว
 
 
รับ ‘ราคาจำหน่าย-การเก็บสต็อกข้าว’ อุปสรรค์การระบายข้าว
 
ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงว่า ในเรื่องการระบายข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวนั้น อยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยมีอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร ซึ่งมี รมว.กระทรวงพาณิชย์เป็นประธานอนุกรรมการ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นเลขานุการและกรรมการ ทำหน้าที่ในเรื่องการระบายข้าว และมีการตั้งคณะกรรมการระบายข้าวที่มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธานเพื่อดำเนินการในเรื่องเกณฑ์การค้าและการต่อรองเพื่อให้ขายในราคาที่ดีที่สุด
 
ทั้งนี้ อุปสรรค์ในการระบายข้าว คือเรื่องราคาจำหน่ายและการเก็บสต็อกข้าว ซึ่งต้องการขายในราคาที่ดีที่สุด แต่ก็อยู่กับสถานการณ์และช่วงจังหวะเวลา หากบางช่วงราคาปรับตัวดีขึ้นในตลาดโลกก็จะขายได้มากขึ้น ตรงนี้เป็นข้อจำกัดทางปัจจัยภายนอก โดยที่ผ่านมามีการขายอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ ระบายออก ส่วนปัจจัยภายในคือหากเก็บข้าวไว้นานก็จะเสื่อมคุณภาพ จึงต้องพยายามดำเนินการอย่างรอบครอบเพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์
 
สำหรับการระบายข้าว ตามที่รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบใน 5 วิธี คือ 1.การเจรจาขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) 2.เปิดประมูลขายเป็นการทั่วไปให้พ่อค้าข้าวและผู้ส่งออก 3.ซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟด) 4.ขายให้องค์กรภายในประเทศหรือนอกประเทศ และ 5.บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงถึงการดำเนินที่ผ่านมา คือมีการเปิดประมูลขายให้ผู้ประกอบการในประเทศ 5 ครั้ง รวมจำนวน 3 แสนกว่าตัน และมีการจำหน่ายให้กับหน่วยงานราชการด้วยกัน ไปแล้ว 8.3 แสนตัน
 
โดยราคาขายที่ประกาศเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศอิงกับราคาตลาด เพื่อไม่ให้ราคาต่ำเกินไป ยกตัวอย่างข้าวหอมมะลิราคาตลาดยู่ที่ ตันละ 31,000 – 32,000 บาท จะขายอยู่ที่ 29,000 – 30,000 บาท ส่วนข้าวสารขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ราคาตลาดภายในประเทศอยู่ที่ตันละ 16,500 บาท  
 
 
เผยระบายข้าว ‘จีทูจี’ 7.3 ล้านตันได้ ในไตรมาส 3 ปี 56
 
ส่วนความคืบหน้าการขายข้าวจีทูจี ขณะนี้มีการทำสัญญาซื้อขายไปแล้ว 7.3 ล้านตัน กับอินโดนีเซีย ไอวอรี่โคสต์ และจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งมอบและคาดว่าจะส่งมอบทั้งหมดได้ราวไตรมาส 3 ของปี 2556 อีกทั้งมีการทำเอ็มโอยูขายข้าวอีก 8 ล้านตัน กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ รวมแล้วเป็นตัวเลขได้ 15.3 ล้านตัน ทั้งนี้ เอ็มโอยูนั้นบางส่วนมีความจำเป็น แม้ไม่ใช่สัญญาซื้อขายข้าวแต่ในบางกรณีเป็นข้อกำหนดของผู้ซื้อที่ต้องทำก่อนจึงจะขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้
 
ทั้งนี้ ปีการผลิต 2554-2555 ผลผลิตข้าวทั้งนาปีและนาปรังรวมแล้วมี 23 ล้านตัน ใช้บริโภคในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน และมีผลผลิตค้างในสต็อกเก่าอยู่ด้วย
 
ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า การระบายข้าวในอีก 2 วิธี ที่ยังไม่มีการดำเนินการนั้น ในกรณีการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า มีความซับซ้อน อีกทั้งการแข่งขันยังไม่สมบูรณ์ ตลาดยังเป็นของผู้ซื้ออยู่ ซึ่งจะส่งผลเชิงลบในภาพรวม รวมทั้งต่อการค้าแบบจีทูจีด้วย จึงมีการชะลอออกไปก่อน ส่วนการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้นจึงไม่ได้มีการดำเนินการ
 
 
แจงแผนระบายข้าวคิดเป็นรายได้ - สิ้นปี 2556 คืนเงิน ธ.ก.ส. 2.4-2.6 แสนล้าน
 
ต่อคำถามเรื่องระยะเวลาการระบายผลผลิตข้าวของปี 2554-2555 ว่าจะหมดในเมื่อไหร่ ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศชี้แจงว่า ได้มีการจัดทำแผนการส่งมอบเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยสิ้นปีนี้จะส่งมอบเงินรวมประมาณ 75,000 – 85,000 ล้านบาท ขณะนี้คืนไปแล้ว 42,000 ล้านบาทซึ่งเป็นเฉพาะเงินจากจีทูจี ส่วนเงินที่ได้จากการค้าภายในประเทศนั้น องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส.โดยตรง
 
นอกจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2556 จะคืนเงินให้ ธ.ก.ส.รวมทั้งหมด 2.4-2.6 แสนล้านบาท เหล่านี้คือแผนของการระบายที่คิดเป็นรายได้ออกมา ซึ่งอาจบอกเป็นปริมาณได้ไม่ชัดเพราะขึ้นอยู่กับราคาในแต่ละช่วงเวลา แต่ที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน ส่วนเรื่องรายรับนั้นก็มีตรวจสอบทุกไตรมาศถึงตัวเลขที่คาดการณ์ไว้และรายรับที่เข้ามา โดยกำหนดไว้ให้ไม่เกินบวกลบ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เป็นไปตามแผนของรายได้ที่จะส่งคืน ธ.ก.ส. และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะเอาเงินทุนไปหมุนในระบบให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
 
 
ย้ำข้อมูล USDA –สถานการณ์ในอินเดีย เปิดโอกาสการค้าข้าวไทยปีหน้ารุ่ง
 
ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงต่อมาถึง การคาดการณ์แนวโน้มข้าวในตลาดโลกว่า จากตัวเลขของ กระทรวงเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture: USDA) ระบุว่า ในปีหน้าปริมาณการบริโภคข้าวจะสูง จากเดิมที่ปริมาณการผลิตสูงกว่าการบริโภค นั่นหมายความว่าการค้าขาวจะสูงขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของอินเดียประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ปีนี้ประสบภาวะฝนแล้ง ทำให้เป้าหมายการผลิตข้าว 110 ล้านตัน ลดลงเหลือ 99 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ใช้บริโภคในประเทศถึง 90 ล้านตัน ตรงนี้จะถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออก อีกทั้งในฐานะผู้ขายจะสามารถกำหนดราคาได้ดีขึ้น
 
ต่อคำถามเรื่องผลกระทบต่อผู้ส่งออก ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ระบบตลาดส่งออกนั้น ผู้ส่งออกจะรับออร์เดอร์มาซึ่งส่วนใหญ่ผู้ซื้อเป็นคนกำหนดราคา แล้วทำการจัดหาข้าวในประเทศโดยผ่านโรงสีที่ไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้ราคาข้าวจะถูกกำหนดโดยผู้ซื้อและจะกดราคาลงไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวนาลำบากเพราะต้องทนยอมรับกับราคาดังกล่าว ทั้งนี้ตามระบบดังกล่าวผู้ส่งออกจะได้รายได้มากจากการขายปริมาณที่มาก มี margin มาก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนนโยบาย มูลค่าต่อหน่วยของสินค้าเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลง ซึ่งตรงนี้ก็มีการพูดคุยและมีความพยายามในการช่วยเหลือผู้ส่งออกเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้
 
 
ชี้ ‘รับจำนำข้าว’ ไม่ได้ดัมพ์ตลาดข้าว ไม่ขัดหลักการ WTO
 
ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงต่อมาถึงกรณีโครงการรับจำนำข้าวที่อาจทำให้ไทยเข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ว่า ส่วนตัวเข้าใจว่าหลักการของ WTO นั้นกลัวว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำการอุดหนุนภายในประเทศมาก จนต้นทุนของผู้ส่งออกลดลง สามารถส่งออกสินค้าในราคาที่ต่ำ แล้วผู้ค้าในประเทศอื่นๆ จะได้รับผลกระทบเพราะแข่งขันเรื่องราคาไม่ได้ แต่ในกรณีของโครงการรับจำนำข้าวนั้นทำให้ราคาส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันราคาข้าวของเวียดนามอยู่ที่ 440 เหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 560 เหรียญสหรัฐ จากที่เคยราคาใกล้เคียงกัน ส่วนสหรัฐจากเดิมมีราคาข้าวสูงกว่าไทย 80 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบันราคาห่างกันราว 30-40 เหรียญสหรัฐ
 
ดังนั้น ในตลาดโลกคนที่ได้เปรียบคือ เวียดนาม สหรัฐ และอินเดีย เพราะราคาส่งออกข้าวของไทยสูงขึ้น และปริมาณส่งออกต่ำลง รัฐบาลไม่ได้ขายข้าวออกมาดัมพ์ราคาตลาด ตรงนี้ไม่ได้ลดประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ส่งออกประเทศอื่นๆ เราจึงหล่นมาอยู่ในอันดับ 3 ของผู้ส่งออกข้าว อย่างไรก็ตามตรงนี้อาจต้องไปชี้แจงต่อ WTO อีกครั้ง แต่หากจะคิดว่าเป็นการบิดเบือนตลาดก็เป็นการบิดเบือนตลาดภายในประเทศ ไม่ใช่ตลาดต่างประเทศ
 
 
‘คำนูณ’ ชี้ ‘จำนำข้าว’ ปัญหาทางนโยบาย ตอนนี้กระบวนการอยู่ได้เพราะความศรัทธา
 
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาแสดงความเห็นต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า ปัญหาตอนนี้คือสังคมรู้สึกไม่เชื่อรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ว่าจะได้เงินตามที่คาดการณ์ และหากดูตามมติ ครม.ถึงปีการผลิต 2555 – 2556 ธ.ก.ส.ก็จะไม่มีเงินไปดำเนินการรับจำนำต่อ เพราะมติ ครม.ให้นำเงินจากที่กระทรวงพาณิชย์คืนไปหมุนเวียนใช้ โดยรัฐบาลจะค้ำประกันเพียง 1.5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดด้วยราคาสูง โดยไม่มีกลไกจำกัดการผลิต มีการประเมินหรือไม่ว่าปีการผลิตต่อๆ ไป หากผลผลิตเกินกว่า 23 ล้านตันแล้วจะดำเนินการอย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาทางนโยบาย อีกทั้งข้าวที่เกินมาจะเป็นข้าวที่คุณภาพไม่สูงเพราะมาจากการเร่งผลิต
 
คำนูณ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เราอยู่กันได้ด้วยความศรัทธาอย่างเดียว  ถ้าเราศรัทธาต่อรัฐบาล ศรัทธาต่อกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าระบายข้าวได้ คืนเงินให้ ธ.ก.ส.ได้ มันก็หมุนไปได้เรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ก็ไม่เสี่ยง เพราะว่านโยบายใหม่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งก็คงจะต้องเป็นนโยบายของ ครม.ต่อไปก็คือ ให้แยกบัญชี ไม่เกี่ยวกับการทำงานของ ธ.ก.ส.ตามปกติ แล้วก็ให้ปิดบัญชีภายในปีงบประมาณนั้นหรือในปีงบประมาณถัดไป เงินขาดเท่าไหร่ให้สำนักงบประมาณตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
 
“ปัจจุบันนี้เราวัดกันที่ผลคือการส่งเงินคืน แต่ว่าถ้าถึงเวลาแล้วส่งเงินคืนไม่ได้จะทำอย่างไร อันนี้ไม่มีใครตอบได้ ทั้งนี้หากไม่มีการส่งเงินคืนปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้นคือชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เงินช้าลงด้วย” คำนูณกล่าว
 
 
จวกจำนำข้าว กระทบหนี้สาธารณะ-โครงการสาธารณูปโภค จี้รัฐฟัง ก.คลังท้วง
 
คำนูณ กล่าวต่อมาว่า นโยบายนี้ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลจะขาดทุนอยู่ดี แต่จะไม่เป็นภาระของ ธ.ก.ส.เพราะมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายคือ หากจะเป็นภาระก็เป็นภาระที่ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็ต้องเอาไปคิดคำนวณ แต่ที่มองเห็นคือตอนนี้หนี้สาธารณะเราเริ่มเข้าสู่จุดวิกฤติที่ 44.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 44.19 เปอร์เซ็นต์) และมีแผนที่จะก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ 2556 เพิ่มอีก 9.5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีแผนที่จะออก พ.ร.บ.กู้อีกกว่า 2 ล้านล้านบาทในเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้วย เพราะฉะนั้นหากโครงการรับจำนำข้าวหาคำตอบไม่ได้ โครงการเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลระบุว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนประเทศไทยก็อาจได้รับผลกระทบ
 
คำนูณ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรฟังข้อคิดเห็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ที่ทำหนังสือถึงเลขาธิการรัฐมนตรี 2 ฉบับ ที่ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวว่าก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณรายจ่ายค่อนข้างสูง โดยพิจารณาเฉพาะในฤดูกาลผลิต พ.ศ.2554-2555 หากระบายข้าวหมดได้ภายใน 3 ปี จะก่อให้เกิดภาระต่อการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 2.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมปีใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้าไปคาดว่าจะก่อให้เกิดภาระต่อการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ตรงนี้จะทำให้เมื่อถึงปี 2560 ภาระหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นมหาศาลจนอาจถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีได้
 
“ผมไม่ว่าหรอกถ้าเราจะต้องเสียเงินปีละ 2 - 3 แสนล้านบาท เพื่อช่วยชาวนา แต่ว่ามันมีเงื่อนไขอยู่คือ 1.เป็นการช่วยอย่างยั่งยืนหรือเปล่า 2.ช่วยถูกคนหรือเปล่า ซึ่งประเด็นนี้ก็จะมีคำถามเชิงปรัชญาตามมามากมายว่า ไอ้จินตภาพที่ว่าชาวนาคือคู่กับความจน ทุกวันนี้จริงหรือเปล่า มัยนใช่หรือเปล่า ยังมีอยู่อีกหรือเปล่าหรือว่าชาวนาที่เขาจนจริงๆ หรือที่เขาทำพอกินไป เขาก็ไม่มีปัญญาเอาข้าวมาจำนำ ตรงนี้ก็ว่ากันไป ให้นักทฤษฎีเขาเถียงกันไป” คำนูณให้ความเห็น
 
 
กมธ.สอบทุจริตฯ วุฒิสภา เตรียมเรียก อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ-อกค.แจงความโปร่งใส
 
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ย.55) คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ทำหนังสือเชิญอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ให้มาชี้แจงเอกสารการระบายข้าวในประเทศ เพื่อตรวจสอบคำสั่งที่จากต้นทางและการระบายข้าวไปยังปลายทาง หลังมีข้อร้องเรียนต่อกรรมาธิการในความไม่โปร่งใส
 
ขณะที่มีรายงานข่าวว่า นายฑิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุพร้อมเข้าชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯ ทุกชุด ส่วนการขอให้เปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือปลัดกระทรวงโดยยืนยันว่าที่ผ่านมามีการระบายข้าวอย่างโปร่งใส

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net