Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

จากปรากฏการณ์มุตตา มุนินทร์ จากละครเรื่อง "แรงเงา" ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจในกระแสอันร้อนแรงของละครไทยหลังจากที่ถึงจุดอิ่มตัวจนซบเซามานาน พร้อมกับคำกล่าวหาที่ว่า "ละครไทยมีแต่เรื่องน้ำเน่า" จนต้องไล่กลับไปนั่งดูว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ มีละครเรื่องไหนที่ฮิตติดลมบนจนเป็นกระแสขึ้นมาบ้าง ไล่ตั้งแต่ มงกุฎดอกส้ม ดอกส้มสีทอง รักคุณเท่าฟ้า เรื่องทั้งหมดดูจะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ บทบาทที่เข้มข้นของตัวละครผู้หญิง ไม่เฉพาะแต่นางเอก แต่รวมถึงตัวอิจฉา และตัวประกอบผู้หญิง ที่ขับเคี่ยวห้ำหั่นกันจะเป็นจะตาย สลัดภาพนางร้ายที่เอาแต่กรี๊ดกร๊าดออกไป มีเพียงการครุ่นคิดวางแผน (อย่างแนบเนียนบ้าง ไม่แนบเนียนบ้าง) เพื่อประสบความสำเร็จในการได้เป็นเจ้าของผู้ชายสักคน ในขณะที่บทบาทของพระเอกดูจะเป็นฝ่ายรับ หรือเปรียบประดุจผู้ที่อยู่บนหิ้ง รอวันที่เหล่าผู้หญิงจะแย่งชิงและครอบครองในที่สุด

ออกจากปรากฏการณ์ของเหล่าตัวละครมาสู่ชีวิตจริง ปริมาณคลิปเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาที่เป็นข่าวโด่งดังดูจะไม่พ้นข่าวคราว (คาว) การตบตีแย่งชิงผู้ชายของบรรดานักเรียนนักศึกษาหญิง ไล่มาตั้งแต่ตบตีแย่งชิงธรรมดา ไปจนถึงขั้นให้กราบเท้าขอขมากันเลยทีเดียว ภาพเหล่านี้ คงไม่ได้เลียนแบบจากพฤติกรรมในละครอย่างเดียวเป็นแน่ แต่การได้แสดงถึงอำนาจเหนือคู่แข่งเพศเดียวกันดูจะทวีขึ้นมากไม่แพ้การยกพวกตีกันของนักศึกษาอาชีวะหรือเทคนิคที่เป็นชายอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำ การถ่ายคลิปเพื่อนำมาอัพโหลดลงอินเทอร์เน็ตและช่องทางต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาทำเป็นเรื่องที่ควรนำออกมาถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ในสังคมได้ร่วมรับรู้ หาใช่เรื่องน่าละอายในการแย่งผู้ชายแต่อย่างใด

ในอดีตที่ผ่านมาของสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน สะท้อนผ่านวรรณคดี วรรณกรรม เรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน ผู้ชาย ได้ผูกขาดพื้นที่ของความโดดเด่น รวมถึงบทบาทผู้นำ ตัวเอกที่ดำเนินเรื่อง แม้ว่าเนื้อหาภายในจะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ตัวพระตัวนางมีบทบาทมากพอกัน แต่ผู้กำหนดความเป็นไปของเนื้อเรื่องก็ยังเป็นผู้ชาย หรือแม้กระทั่งชื่อเรื่องก็ยังคงตั้งตามชื่อตัวพระ ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน พระลอ หากจะมีข้อโต้แย้งที่ว่า ผู้แต่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นผู้ชายทั้งหมด ในยุคที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับการศึกษา กรณีของอุณรุทร้อยเรื่อง และพระมะเหลเถไถ ดูจะเป็นตัวอย่างของผู้แต่งที่เป็นหญิงที่ใช้ตัวเอกเป็นผู้ชายเช่นเดิม ดังนั้นเรื่องราวส่วนใหญ่จึงไม่พ้นการรบราฆ่าฟัน ป้องกันศักดิ์ศรี หรือต่อสู้เพื่อแย่งชิงนางอันเป็นที่รักกลับคืนมา วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า นางในวรรณคดีของสยามแทบทุกคนจึงมีบทบาทจำกัดอยู่เพียงการนั่งรอวันที่ตนเองจะได้พบประสบพักตร์กับภัสดาและมีชีวิตที่เหลืออย่างสุขสันต์ หากจะมีเรื่องราวมากหน่อยก็เห็นจะเป็นนางบุษบาจากเรื่องอิเหนา ที่ต้องออกเดินทางดั้นด้นเพื่อตามหาอิเหนาผู้เป็นสามี แต่ถึงท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชายก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของเรื่องอยู่นั่นเอง

พ้นไปจากยุคของวรรณคดี สยามประเทศเปลี่ยนชื่อกลายเป็นไทย แต่งานวรรณกรรมก็ยังคงมีพระเอกเป็นตัวดำเนินเรื่อง แม้จะมีความหาญกล้าที่จะนำเอาผู้หญิงมาเป็นตัวดำเนินเรื่องบ้าง แต่ความสำคัญโดยมากก็ยังคงผูกขาดโดยผู้ชาย ทั้งงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต งานวรรณกรรมที่สะท้อนสังคม หรือในยุคที่นิยายกำลังภายในรุ่งเรือง ผู้ชายก็ยังคงเป็นแกนหลักที่สำคัญ ผู้หญิงไทยในงานวรรณกรรมจึงเป็นผู้หญิงที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยอยู่บนหิ้ง รอวันที่ผู้ชายคนไหนผ่านมาและเลือกเอาไปเป็นภรรยาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

หากจะประเมินความสำเร็จของรัฐไทยสมัยใหม่ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงยุคประชาธิปไตยแต่ในนาม การจัดการตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มคนต่างๆ ผ่านทางการนิยมและให้ความหมายว่าแต่ละคนควรจะมีหน้าที่อย่างไรต่อครอบครัว สังคมและรัฐ ผู้หญิงไทยคงจะเป็นแบบอย่างที่ดีไม่น้อยที่จะยืนยันความสำเร็จดังกล่าว บทบาทความเป็นผู้หญิงที่ดี เป็นเมีย เป็นแม่ ถูกตอกย้ำมาตลอดว่าผู้หญิงไทยจะต้องรักษาพรหมจรรย์เอาไว้จนถึงวันแต่งงาน เพื่อเป็นของขวัญอันล้ำค่าให้กับสามี (ที่อุตส่าห์เลือกเรา) เมื่อแต่งงานไปแล้วก็จะต้องประพฤติตัวอย่างดีให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของครอบครัวสามีทุกคนอย่างถ้วนทั่ว จนเมื่อมีลูกก็ยังจะต้องดูแลปกป้องลูก เลี้ยงดูให้ออกมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ หากใครทำไม่ได้ตามนั้นก็จะกลายเป็นผู้หญิงนอกแถว ต้องพบกับคำครหาไม่รู้จบ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตำราเรียน สื่อ โฆษณา นิตยสาร และอื่นๆ อีกมากมายได้ตอกย้ำเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันราวกับเป็นเพลงชาติของผู้หญิงเลยทีเดียว และที่น่าแปลกใจ ผู้หญิงอย่างเราๆ ก็รับสมาทานความคิดดังกล่าวมาได้อย่างหน้าชื่นตาบานและพร้อมจะเทิดทูนความคิดนี้เอาไว้ตราบจนชีวิตจะหาไม่

แต่การก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทยในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาทำให้บทบาทของผู้หญิงไทยเปลี่ยนไปทีละน้อยนิดมหาศาล รู้ตัวอีกครั้ง ผู้หญิงก็ออกจากบ้านมายืนอยู่ในที่สาธารณะอย่างมั่นคง มิหนำซ้ำที่ทางของพวกเธอกลับดูเยอะกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ในโลกที่สตรีนิยมทั้งแท้และเทียมกำลังมาแรง สิทธิของผู้หญิงจึงถูกเอามาเรียกร้องกันสามเวลาหลังอาหาร รู้ตัวอีกครั้ง ผู้ชายก็ได้หลบลี้หนีหน้าเข้าไปอยู่หลังม่านเสียแล้ว

หากจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้โดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัววัด การออกมาทำงานนอกบ้านของผู้หญิงทำให้ความต้องการที่จะต้องพึ่งพาสามีและพ่อแม่มีน้อยลง ยิ่งผู้หญิงใช้ต้นทุนสมองและแรงงานส่วนตัวของตนเองมาใช้ทำงานมากเท่าไหร่ ความก้าวหน้าทางการงานและการเงินก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงไม่จำเป็นจะต้องรักษาบทบาทเดิมๆ เอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่สามารถเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นไปได้เท่าที่ค่านิยมอันคับแคบของสังคมจะเอื้ออำนวย

สำหรับกรณีของนักเรียนนักศึกษา เทคโนโลยีอันสะดวกสบายและชีวิตที่กลายเป็นเมืองมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉาบฉวยและปราศจากสายตาจับผิดของคนรอบข้าง อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือทำให้การจะเริ่มและจบความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้ชายเป็นไปอย่างง่ายดายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่ง่ายสำหรับผู้หญิงขนาดนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ ชีวิตเสรีภาพที่ผู้หญิงเพิ่งจะได้เอื้อมมือออกมาสัมผัสเป็นครั้งแรก ส่วนหนึ่งก็ยังคงถูกค่านิยมเดิมกดทับเอาไว้ และอีกส่วนอาจเป็นเพราะผู้ชายดีๆ นั้นมีแต่ในนิยาย ที่มีพอจะหาได้ก็ควรจะเก็บรักษาเอาไว้กับตัวอย่างยิ่ง เพราะไม่แน่ว่าชาตินี้จะสามารถหาเอามาไว้ในอ้อมกอดได้อีกหรือไม่ ความลักลั่นดังกล่าวทำให้ผู้หญิงไทยบางส่วนตั้งแต่สาวยันแก่พบว่า การแย่งชิงทรัพยากรผู้ชาย (ที่อาจจะไม่คุ้มค่า) บางครั้งอาจจะยังดีกว่าไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใด ศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงที่ต้องรักษายิ่งชีพ ก็คือการป้องกันไม่ให้แฟนของตนเองไปนอกใจกับผู้หญิงอื่นอีก หนังสือสารพัดวิธีจับผิดผู้ชาย วิธีป้องกันการนอกใจ หรือแม้แต่คำคมออนไลน์ ตัดพ้อต่อว่าด้วยเรื่องของความรักความเชื่อใจกัน จึงผุดขึ้นยิ่งกว่าเห็ดในฤดูฝน

เพราะกลไกเดิมที่เคยทำให้ผู้หญิงและผู้ชายไทยรู้สึกมั่นคงในความรัก ว่าชาตินี้ฉันและเธอจะอยู่ด้วยกันไปตลอดกัลปาวสานได้หมดสิ้นลงพร้อมกับโลกสมัยใหม่ และเพราะกลไกเดิมของครอบครัวใหญ่จะช่วยสลายความขัดแย้งและสร้างความมั่นคงระหว่างสามีภรรยาได้มากมลายหายไป ในปัจจุบัน ผู้หญิงจึงยังคงรู้สึกว่าตนเองควรจะกระทำตนให้เป็นผู้หญิงที่ดีตามที่ครอบครัวและรัฐได้สั่งสอนมา ทั้งหมดได้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า หากจะมีใครสักคน ที่แม้จะดีไม่พอ หรือไม่พอดีสำหรับเธอ แต่ก็ควรจะรักษาและเก็บไว้ให้ดีที่สุด การจะสลัดให้หลุดจากความไม่ดีตรงนี้อาจเป็นทางเลือกของบางคน ใช่แน่ - แต่มันคงไม่ใช่ทางเลือกของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่สุดท้ายก็ยอมทนกล้ำกลืนกับอะไรบางอย่างที่อย่างน้อยก็พิสูจน์ได้ว่า เธอได้เดินมาในทางที่ถูกต้อง ถ้าเช่นนั้น ยังจะมีทางออกใดอีกสำหรับผู้หญิง นอกเหนือไปจากการแย่งชิงเอาผู้ชายของคนอื่นมา หรือตบตีเพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งที่เป็นของตน?

จึงไม่น่าแปลกใจที่บทบาททั้งในจอและนอกจอของผู้หญิงในลักษณะนี้ จะเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาแม่ยก ที่อาจจะอยากทำเช่นนี้ในชีวิตจริง แต่สถานการณ์รอบข้างไม่เอื้ออำนวยก็เป็นได้ ถึงกระนั้นจะพูดว่าผู้หญิงกำลังมีบทบาทและสถานภาพเหนือผู้ชายก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะการที่ผู้หญิงจะออกมามั่นอกมั่นใจในตัวเอง จนถึงขั้นสร้างโลกเสมือนจริงจากละครให้ตัวเองกลายเป็นตัวเองที่เป็นฝ่ายเลือกผู้ชาย หรือแสดงให้เห็นในชีวิตจริงผ่านทางการตบตีแสดงอำนาจ มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไปเท่านั้น ในสังคมที่ค่านิยมได้สร้างกรอบให้ผู้หญิงเป็นแค่เมียและแม่ที่ดี มันได้สร้างพันธนาการเอาไว้ให้กับผู้หญิงจนยากที่จะหลุดออกมาได้ง่ายๆ เพียงแต่ในตอนนี้ เราอาจกล้าที่จะแสดงออกมาถึงความต้องการที่จะสร้างชีวิตของตนเองอีกก้าวหนึ่งเท่านั้นเอง และทั้งหมดมันได้สะท้อนผ่านภาพของบทบาทของผู้หญิงในละครโทรทัศน์ รวมถึงชีวิตจริงเช่นกัน

บทความชิ้นกะทัดรัดนี้ไม่ได้ต้องการจะสนับสนุนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการตบตีกันของนักเรียนนักศึกษาเพียงเพื่อต้องการแสดงว่าตนเองครอบครองผู้ชาย หรือการไล่ล่าหาผู้ชายอย่างเอาเป็นเอาตายในละครเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งของบทบาทผู้หญิงที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค 4G แต่ระบบระเบียบที่รัดรึงเรากลับมีอายุที่เก่าแก่ย้อนไปได้เป็นร้อยปีอยู่เช่นนี้ มันช่างขัดกับความรู้สึกเสียนี่กระไร และเพราะความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่ทำให้ต่อไปเราอาจจะได้เห็นสภาวะการแย่งชิงอำนาจ อันเป็นพระเอกของการเมืองไทยที่วางอยู่บนหิ้งตลอดมา กับบรรดานางเอก ตัวอิจฉา ที่กำลังสวมบทความเป็น "ผู้หญิง" มากระแหนะกระแหนและทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ทรัพยากรชิ้นสำคัญนี้มาครอบครองก็เป็นได้ แม้ว่าในความเป็นจริง พวกเขาเหล่านั้นจะแสดงท่าทางรังเกียจจริตของ "ไพร่" แบบนี้ก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net