เสวนาพระปกเกล้า : ชี้ชัด 'รัฐสภาไทย' ล้มเหลวด้านการคลัง แนะสร้างที่ 'ระบบ' ไม่ยึดติดบุคคล

ถอดบทเรียนต่างประเทศ ระบุ การตรวจสอบที่เหมาะต้องมีเวลาให้รัฐสภาประมาณ 3 เดือน เพื่อแก้ไขและอภิปรายอย่างเพียงพอต่อร่างงบประมาณ นักวิชาการ 'จุฬา' ฟันธง รัฐสภาไทยล้มเหลวด้านการคลัง เพราะติดโรค 'หักหลังประชาชน' หนุนตั้ง กรรมาธิการการเงินการคลังสภาถาวร อดีต ผอ.ส.งบประมาณ เผย รัฐสภาได้ตรวจงบประมาณต่อปีเพียง 20 % จากสัดส่วนจริงทั้งหมด ชู ตั้ง 'เว็บไซต์' ตรวจสอบจากประชาชนยิงตรงถึงสภา ส.ส.ปชป.รับ ไปผลักดันในสภาต่อ

 
เมื่อวันที่  9 พ.ย. 55 สถาบันพระปกเกล้าจัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 14 เรื่อง ‘การปฏิรูปรัฐสภา : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ’ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีการเสวนา ‘บทบาทด้านงบประมาณของรัฐสภา’เป็นหัวข้อย่อย 
 
นาย Shabih Mohib จาก World Bank Organization กล่าวถึงภาพรวมที่มาของการจัดการงบประมาณในประเทศต่างๆทั่วโลกว่า งบประมาณที่รัฐจัดเก็บได้นั้น นอกจากภาษีแล้วอาจมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจ หรืออื่นๆ ซึ่งหลายประเทศมีวิธีการตรวจสอบทางนิติบัญญัติไม่เหมือนกันและไม่มีวิธี ปฏิบัติที่ดีที่สุด ส่วนใหญ่รัฐสภาจะเป็นผู้ตรวจสอบการนำไปใช้ ซึ่งรัฐสภาแต่ละประเทศก็มีวิธีการไม่เหมือนกันอีก อย่างไรก็ตาม ในแง่นิติบัญญัติ การตรวจสอบควรมีเวลาอย่างน้อน 3 เดือนในการดู สิ่งสำคัญนอกจากระยะเวลาก็คือความเพียงพอของข้อมูลที่จะมีในงบประมาณ ซึ่งไม่ใช่การให้ทุกอย่าง แต่บอกในเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะทำอะไร โดยรัฐสภาบางประเทศสามารถอนุมัติ ปฏิเสธ หรือแก้ไขเพิ่มเติมงบประมาณได้ ทั้งนี้ งบประมาณเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลมีอยู่ สามารถกำหนดทิศทางสาธารณะ และเงินก็เป็นเรื่องของอำนาจ การกำหนดทิศทางเหล่านี้จะถ่วงดุลได้อย่างไร หลายประเทศจึงสร้างทำให้เกิดงบประมาณที่ตรวจสอบได้ 
 
เขากล่าวอีกว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องความต้องการข้อมูลของรัฐสภาคือ ต้องการความครอบคลุม แม่นยำ เหมาะสม ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะจะรู้อย่างไรว่าได้มาเพียงพอ ดังนั้น เรื่องงบประมาณจึงต้องมีเวลาเพียงพอ ต้องดูว่ามีเจตนาถูกต้องหรือไม่ และมีสำนักงานที่จะตรวจสอบติดตามตรงนี้ นอกจากนั้นต้องมีรายงานที่มีความเปิดเผยต่อรัฐสภาด้วย 
 
ด้าน ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายต่อว่า รัฐสภาไทยล้มเหลวทางด้านการคลัง ซึ่งไม่ใช่ไม่มีความสามารถ แต่ที่ใดๆในโลกก็ล้มเหลวคล้ายกันหมด ซึ่งตามหลักการแล้วรัฐสภามีหน้าที่ตรวจสอบด้านการเงินการคลังและตรวจสอบฝ่าย บริหาร แต่ในประเทศประชาธิปไตยตัวแทน ระบบรัฐสภาจะมีโรคประจำตัวสองโรค ซึ่งเป็นทฤษฎีทางการคลังที่ว่ากันมานาน โรคประจำตัวแรกมาจากภาวะที่ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งจึงต้องการได้งบประมาณลงสู่เขตตัวเอง เพื่อหวังคะแนนเลือกตั้งคราวหน้า อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกลุ่มผลประโยชน์ 
 
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่อิงฐานเสียงและพลังทางการเมืองที่สนับสนุนพรรค งบประมาณจึงมักไปลงกับคนกลุ่มที่เป็นฐานเสียงมากกว่าส่วนรวม เรื่องนี้จึงชื่อมโยงระหว่าง ส.ส เขตเลือกตั้ง กลุ่มผลประโยชน์ที่ติดกัน เช่นจะมีนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับบางกลุ่ม ดังนั้น ส.ส. หรือพรรคการเมือง เมื่อถามว่าระหว่างเลือกเอื้อผลประโยชน์กับการตรวจสอบ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกเอื้อมากกว่าซึ่งเป็นธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า 'ทฤษฎีหักหลังประชาชน' คือ ตอนสมัครก็พูดว่าจะทำเพื่อประชาชน แต่พอได้แล้วก็หักหลังไปทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่ม
 
ศ.ดร.จรัส กล่าวถึงอีกโรคหนึ่งว่า คือเงินภาษีที่รัฐจัดเก็บมาได้ทั้งหมดจะกองเงินไว้ที่ส่วนรวม ทุกคนมีสิทธิ์ใช้เสมอกัน กลายเป็นว่าการที่ใครดึงเงินไปใช้ได้มากที่สุดเป็นคนเก่ง ฉะนั้น ตามธรรมชาติของ ส.ส. และพรรคการเมือง จึงไม่มีใครขัดค้านนโยบายที่มีความเสี่ยงต่อสถานะการเงินการคลังหรือนโยบาย ที่เสี่ยงจะขาดดุลการคลัง เพราะเป็นเงินส่วนรวมยกเว้นตัวเองได้ประโยชน์ ส.ส. หรือพรรคการเมืองจึงจะคัดค้านนโยบายภาษี เพราะจะทำให้เสียคะแนน จึงทำรัฐสภาไม่สามารถควบคุมวินัยทางการคลังได้ แม้แต่ประเทศที่ก้าวหนาในประชาธิปไตยมาก เช่น ญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่ารัฐสภาไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลการคลังได้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆก็จะมีปัญหานี้และมีมาก 
 
ในส่วนข้อเสนอ ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า รัฐสภาต้องมีระบบฏิบัติการที่ทำงานได้จริง มีเสถียรภาพ ไม่ขึ้นกับบุคคล ไม่ว่า ส.ส.หรือ ส.ว. ก็ตาม ทั้งนี้ ควรตั้งระบบกรรมาธิการการคลังและงบประมาณเป็นประจำสภา ไม่ใช่มีเป็นครั้งๆอย่างที่เป็นอยู่ และมีกรรมาธิการเฉพาะด้านอื่นๆทำหน้าที่วิเคราะห์งบระมาณเฉพาะด้านเป็นส่วน ประกอบ ในระบบกรรมาธิการนั้นให้ทำหน้าที่รายงานเศรษฐิจ หรือ
 
กรอบนโยบายการคลัง ซึ่งในประเทศไทยกระทรวงการคลังไม่เคยทำให้สภาดูมาก่อน ยกเว้น พ.ศ. 2542 แต่รัฐก็น่าจะไม่ได้ดู นอกจากนี้ นโยบายอย่างรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นงบประมาณประเภท Tax expenditure ในบางประเทศการใช้งบประมาณประเภทนี้ต้องผ่านสภาด้วย 
 
ประการต่อมา จะต้องมีการปฏิรูปเอกสารงบประมาณ ซึ่งไม่ค่อยมีการเสนอต่อสภา เช่น งบประมาณรัฐวิสาหกิจและกองทุนหรือประเภท Tax expenditure หรือประมาณการดุลการคลังและการเปลี่ยนแปลงสถานะทางการคลังของรัฐบาลเมื่อ สิ้นปีซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดทำ ไม่เคยบอกเป็นหนี้เท่าไหร่ ฐานะการเงินการคลังจะเป็นอย่างไร ต้องขายรัฐวิสาหกิจไปกี่แห่ง  บอกแต่เรื่องจะใช้เงินเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเป็น CEO ของบริษัทเอกชนต่างๆจะต้องทำเรื่องนี้ เพื่อให้กรรมการอนุมัติการใช้เงินต่อไป 
 
ด้าน วลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า เห็นด้วยในเรื่องความล้มเหลวของรัฐสภา แต่เป็นเรื่องของระบบไม่ใช่ตัวบุคคล รัฐสภามีเวลาดูงบประมาณรายจ่ายที่เป็นส่วนน้อยนิด และได้ดูราว 20% ของงบประมาณเท่านั้น คือประมาณ สองล้านล้านบาทต่อปี แต่ที่มักหลุดไป เช่น เงินกู้ใหญ่ๆของรัฐวิสาหกิจ หรือการกู้เงินต่างหากอื่นๆก็ไม่ได้เข้ามาสู่สภา นอกจากนี้ 
 
เงื่อนไขอีกประการหนึ่งคือ รัฐสภาพึ่งพาข้อมูลทั้งหมดจากฝ่ายบริหาร แต่ถามว่า ข้อมูลเหล่านั้นจริงแค่ไหน ยกตัวอย่างสมัยเคยเป็น ผอ. สำนักงบประมาณ อย่างกรณีน้ำท่วมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการจ่ายชดเชยเยียวยากรณีแบบนี้เป็นครั้งแรก ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ต้องจ่ายคือ 600,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นงบประมาณฉุกเฉิน ซึ่งทางนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ในสมัยนั้นได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณตรวจสอบว่าจะเบิก จ่ายอย่างไร 
 
วลัยรัตน์ กล่าวว่า กรณีนี้ได้ใช้วิธีดึงภาพจาก Google Earth มาซ้อนทับกับแผนที่หมู่บ้านโดยได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านภาพ ดาวเทียมว่าสามารถใช้เป็นข้อมูลได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าได้ และใช้วิธีการนับครัวเรือนโดยวิธีการสุ่มตรวจด้วย ผลคือ จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบหายไป 200,000 ครัวเรือน และประหยัดเงินไปได้ 2,000 ล้านบาท  
 
อีกตัวอย่างหนึ่ง วลัยรัตน์ กล่าวถึง โครงการที่มีการของบประมาณมาเพื่อตัดถนนไปประเทศเพื่อนบ้านประเทศประเทศ หนึ่ง ในโครงการบอกว่าถนนเส้นนี้ต้องเจาะภูเขามากมาย สำนักงบประมาณจึงขอพิกัดที่จุดเริ่มต้นและสิ้นสุด จากนั้นจึงไปตรวจดูจากหน้าจอคอมพิวเจอร์ พบว่า มีภูเขาจริง แต่ระหว่างงภูเขามีางราบกว้างใหญ่และมีถนนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่อนุมัติงบประมาณถนนระดับพันล้านนี้ได้
 
ทั้งนี้ วลัยรัตน์ กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบข้อมูลที่ดีที่สุดคือ การตรวจสอบได้ที่มาจากประชาชน ซึ่ง ส.ส.มาจากประชาชนหรือใกล้ชิดประชาชน จึงควรมีการสร้าง เว็บไซต์ประเภท Peaple Watch หรือ Peaple Voice ขึ้นมา เพราะอาจเป็นไปได้ว่า โครงการอย่างเช่นถนนไร้ฝุ่น ประชนอาจไม่ต้องการไร้ฝุ่นก็ได้ หรือเมื่อตรวจสอบแล้วเราก็เห็นแล้วว่า ถนนไร้ฝุ่นที่ของบประมาณมานั้นความจริงมันเป็นถนนไร้ฝุ่นอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องให้ตัวเลขเป็นผู้สร้างการกระทำของคน ดึงข้อมูลเข้ามา สร้างสถาบัน สร้างความต่อเนื่องขึ้น 
 
"เด็กมีแท็บเล็ตแล้วทำไมไม่ใช้สื่อเหล่านั้นบอกมาว่าได้รับอะไรจากรัฐบาล หรือต้องการอะไรจากรัฐ โดยไม่ต้องรอ ครม.สัญจร เพราะความเป็นจริง คือ ครม.ไม่สามารถสัญจรไปทุกจังหวัดได้หรืออย่างโครงการไทยเข้มแข็ง รัฐบอกแต่ขาลงว่าโครงการไปลงที่ไหน แต่ไม่บอกขาขึ้นกลับมาว่าเขาได้รับจริงหรือไม่" วลัยรัตน์ กล่าว   
 
นอกจากนี้ อดีต ผอ.สำนักงบประมาณยังมีความเป็นห่วงว่า หากไม่มีระบบครอบคลุมไปยังงบประมาณอื่นนอกจากเงินสองล้านล้านกว่าบาทที่เข้า สภา ก็อาจทำให้เกิดหนี้มหาศาลในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้จะต้องไม่ไว้ใจที่ตัวบุคคล แต่ต้องมีระบบตรวจสอบ
 
ในช่วงแสดงความเห็น ดร.เจริญ คันธวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  สนับสนุนความเห็นเรื่องการมีข้อมูลทางการเงินของรัฐสภาเอง แต่หากให้มีคณะกรรมาธิการถาวรคง อีกยาวนาน เพราะตัว ส.ส. ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ แต่ควรมีคณะกรรมการของสภาเองที่ทำเรื่องงบประมาณ เพราะก็มี ส.ส. ที่สงสัยเรื่องนี้เหมือนกัน ซึ่ง ส.ส.ที่สนิทกับทางสำนักงบประมาณก็อาจไปขอข้อมูลได้ แต่บางคนไม่สนิทก็ไม่กล้าไปขอ หากมีข้อมูลของสภาเองก็จะสามารถไปใช้ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนและ ส.ส.เองว่างบประมาณไปไหน หมกเม็ดหรือไม่ ประชาชนจะได้ตรวจสอบได้ บางคนเอางบประมาณไปลงพื้นที่ตัวเองมากเกินก็ไปขุดมาฟ้องประชาชนได้ 
 
นอกจากนี้ นายเจริญ ยังรับปากว่าจะไปผลักดันเรื่องการทำให้มีเว็บไซต์ เพราะเคยพบตัวอย่างที่บนดอย จังหวัดลำพูน ซึ่งมีหมู่บ้านคนกลุ่มน้อยอย่างแม้ว มูเซอ อยากเจาะน้ำบาดาล แต่บางทีเรื่องไปไม่ถึง ส.ส. ทั้งที่ใช้งบประมาณแค่ 70,000 บาท ได้ประโยชน์ 3 หมู่บ้าน ถ้าเรามีระบบแบบนี้ มีอินเตอร์เน็ทให้เด็กๆเล่น ก็ป้อนข้อมูลตรงขึ้นมาให้ตั้งงบประมาณสำหรับปีหน้าต่อได้ เป็นต้น  
 
"ตรงนี้ผมจะไปผลักดันที่สภาต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ต่อ ส.ส. และต่อประเทศชาติด้วย" นายเจริญกล่าว  
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท