สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 พ.ย. 2555

ปลัดแรงงานส่ง อสส.และกรมบัญชีกลางเคลียร์ปม สปส.ลงทุน ตปท.

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึง แผนการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนในต่างประเทศ ว่า หลังจากที่บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ

ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการลงทุนเสนอ ขออนุมัติวงเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนในต่างประเทศให้เกิดความมั่นคงกับกองทุนประกันสังคม เบื้องต้นที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เป็นบริษัทที่เข้าไปบริหารจัดการลงทุนในต่างประเทศร่วมกับบริษัทพันธมิตรชาว ต่างชาติอีก 3 แห่งในวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากตามระเบียบสัญญาจ้างของไทยระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและวางเงินค้ำ ประกัน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว โดยปกติการลงทุนที่มอบหมายให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการจะไม่ใช้เงินค้ำประกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ สปส.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้อัยการสูงสุด(อสส.)และกรมบัญชีกลางช่วยหา ทางออกในเรื่องนี้แล้ว

(ฐานเศรษฐกิจ, 4-11-2555)

 

ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบเลขาฯ ครม.ขอชะลอการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง

ก.แรงงาน 5 พ.ย. - ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบ เลขาธิการ ครม.เพื่อขอให้ชะลอการนำเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แม้จะพอใจผลการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อรวบรวมผลกระทบและหามาตรการช่วยเหลือ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการหารือกับตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท) กว่า 100 คน นำโดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.ว่า จะเดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้วและคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในวันพรุ่งนี้(6 พ.ย.) โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการร่วมกันประกอบด้วยตัวแทน ส.อ.ท. กระทรวงแรงงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เร่งศึกษาผลกระทบและหามาตรการช่วยเหลือ ทั้งนี้ เห็นว่าอาจจะมีการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือ 27 ข้อ เช่น การลดหย่อนภาษีส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า การขยายเวลาการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง ปรับหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้สินเชื่อให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากมีหลักการที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งมาตรการใดที่สามารถทำได้ก่อนก็จะดำเนินการทันที

ด้านนายธนิต กล่าวว่า จากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พอใจที่มีการตั้งคณะกรรมการร่วมซึ่งจะเร่งสรุปผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือ ภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่ในวันพรุ่งนี้ ส.อ.ท.จะเดินทางไปพบกับเลขาธิการ ครม.เพื่อขอให้ชะลอการนำเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่หากไม่สามารถชะลอได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมคือ กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ การปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือ 27 ข้อที่มีอยู่เดิมให้ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องโดยปรับหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ซึ่งควรออกเป็นมติ ครม.ควรมีการชดเชยเงินส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับขึ้น ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม

(สำนักข่าวไทย, 5-11-2555)

 

สายสามัญโอกาสเตะฝุ่นสูง ปริญญาตรีครองตำแหน่งตกงานมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานสถานการณ์การว่างงานของไทย ล่าสุด ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 224,210 คน หรือ 0.6% ของจำนวนผู้มีความสามารถในการทำงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1,740 คน โดยสามารถแบ่งผู้ว่างงานออกเป็น 2 ประเภทคือ ผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 127,520 คน และเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน แต่ขณะนี้ว่างงานทั้งสิ้น 96,690 คน

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งระดับผู้ว่างงานตามการศึกษาพบว่าระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมาก ที่สุดคือ ระดับอุดมศึกษา หรือระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 90,200 คน โดยการศึกษาในคณะที่เป็นสายวิชาการ มีผู้ว่างงานมากที่สุด 57,200 คน ขณะที่คนที่เรียนคณะที่เป็นสายวิชาชีพ มีผู้ว่างงาน 27,730 คน ส่วนผู้ที่เรียนในสายวิชาการการศึกษา ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาระบบการเรียนการสอน มีผู้ว่างงาน 5,290 คน

สำหรับระดับการศึกษาที่มีการว่างงานรองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นสายสามัญ มีผู้ว่างงานมากถึง 27,420 คน ขณะที่ผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายในสายวิชาชีพว่างงานเพียง 9,880 คน ส่วนจำนวนผู้ว่างงานที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นมีทั้งสิ้น 47,770 คน ผู้จบการศึกษาระดับประถมศึกษาว่างงานทั้งสิ้น 31,060 คน ขณะที่ผู้มีการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมศึกษามีผู้ว่างงาน 14,550 คน ขณะที่ผู้ที่ไม่มีการศึกษาเลยว่างงานเพียง 2,150 คน

ขณะที่การสำรวจคนว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนอยู่ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมใดบ้าง

พบว่าผู้ที่เคยทำงานมาก่อน และในขณะนี้ว่างงาน อันดับ 1 มาจากภาคการผลิตมากที่สุด 32,780 คน รองลงมาเป็นภาคการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมรถยนต์ และจักรยานยนต์ 17,620 คน ลำดับที่ 3 เป็นผู้ว่างงานจากภาคการเกษตร ป่าไม้ และการประมง 10,540 คน

อันดับที่ 4 เป็นธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และการบริการด้านอาหารที่มีคนว่างงานทั้งสิ้น 10,100 คน ซึ่งเป็นภาคที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานค่อนข้างมาก โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 37.5% และลำดับที่ 5 คือ ภาคก่อสร้างมีผู้ว่างงาน 9,270 คน ส่วนที่ธุรกิจทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค มีผู้ว่างงานเพียง 2,150 คน ทั้งนี้ สำหรับอาชีพที่ไม่มีผู้ว่างงาน ในเดือน ส.ค. อาทิ คนทำงานบ้าน กิจกรรมขององค์กรระหว่างประเทศ ธุรกิจด้านศิลปะ บันเทิง นันทนาการ กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ และกิจกรรมด้านการเงิน และการประกันภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการว่างงานของผู้ที่เคยมีงานทำมาก่อน ธปท.รายงานว่าเป็นผู้ว่างงานที่ลาออกเอง มากที่สุด 75,390 คน รองลงมาเป็นการว่างงานจากการหมดสัญญาจ้างแรงงาน 24,880 คน อันดับ 3 เป็นการว่างงานจากการหมดสัญญาจ้างงานของบุคคลในระดับพนักงาน 17,060 คน เลิกจ้างเนื่องจากการหยุด หรือปิดกิจการ 12,430 คน และถูกให้ออก ปลดออก ไล่ออก 9,150 คน

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมจากการสำรวจรายงานแนวโน้มธุรกิจ ธปท.พบว่าการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจยังคงขาดแคลนแรงงานทั้งมีฝีมือ แรงงานที่จบใหม่มีคุณวุฒิไม่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจหันไปจ้างงานแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และปรับตัวโดยการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและใช้เครื่องจักรทดแทนมากขึ้น ขณะที่การสำรวจแนวโน้มค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานอยู่ในระดับที่ บริหารจัดการได้.

(ไทยรัฐ, 5-11-2555)

 

"เผดิมชัย"แจงประกาศค่าจ้าง 300 บาทยังไม่เข้า ครม. เหตุรอกระทรวงอื่น

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (6 พฤศจิกายน) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง เนื่องจากมีการปรับ ครม.ในบางตำแหน่งจึงต้องรอฟังความเห็นของรัฐมนตรีคนอื่นด้วยว่าพร้อมจะนำ เข้าสู่การพิจารณาเมื่อใด แต่เชื่อว่าเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จะไม่มีปัญหา และยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้จะมีการออกมาเคลื่อนไหวของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ชะลอการปรับค่า จ้างออกไปก่อน และยืนยันว่าสาเหตุนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ไม่มีการบรรจุเรื่องการปรับค่า จ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แน่นอน

ด้านนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ร่างประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 70 จังหวัด ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. ว่าเนื่องจากมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องรอการพิจารณามาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการของแต่ละกระทรวง เพื่อนำมารวมกันและสรุปเป็นภาพรวมเสนอต่อ ครม.พร้อมกับประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ

(มติชนออนไลน์, 6-11-2555)

 

"ศุภชัย" แนะใช้มาเลเซียโมเดลอุ้มนายจ้าง กกร.ตั้งทีมศึกษาค่าแรงชงยืด 3 ปี

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะมีผลกับ 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 ม.ค.2556 ว่า เมื่อรัฐบาลยอมให้ปรับขึ้นค่าแรงต้องดูว่าทำอย่างไรที่จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ ประกอบการ โดยอยากให้รัฐบาลไทยทำแบบรัฐบาลมาเลเซียที่ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและ การฝึกอบรมแรงงาน อยากเห็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น ต้องเปิดโอกาสให้บริษัทที่ได้รับบีโอไอ หรือเอกชนอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในการฝึกอบรมแรงงาน เพราะรัฐบาลไม่ได้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมเท่ากับเอกชน ที่ผ่านมาไทยถูกจัดอันดับเรื่องนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เกิดจากการไม่ประสานงานที่ดีระหว่างรัฐบาลและเอกชน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเร่งด่วนเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานชุดพิเศษ กกร.ขึ้นมา 1 คณะ มีตัวแทนจากส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ฝ่ายละ 3 คน รวมเป็น 9 คนขึ้นมาจัดทำข้อเสนอต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 8 พ.ย.นี้

"การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศใน ช่วงต้นปีหน้าจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการ ในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป อาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน คณะทำงานชุดพิเศษจะเป็นตัวกลางรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ทั้งหมดมาสรุป และเมื่อได้ข้อเสนอทั้งหมดจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาทันที" นายพยุงศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ตัวแทนผู้ประกอบการส.อ.ท.ทั่วประเทศรวม 58 คน เข้าหารือกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อให้รัฐบาลยืดการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทออกไปก่อน 2-3 ปี โดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าโรงงานขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่ว่าจ้างแรงงานประมาณ 200 คน หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทจะส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น 25-28% และขณะนี้โรงงานขาดทุนเฉลี่ยแล้วเดือนละ 6-7 ล้านบาท ขณะที่มาตรการภาษีที่รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงนั้น ไม่ได้มีผลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้แรงงานมาก ดังนั้น หากมาตรการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทยังคงเดินหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 จะทำให้เอสเอ็มอีต้องทยอยปิดโรงงานอย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกัน องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) พร้อมคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ กว่า 30 คน นำโดยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย โดยระบุว่าหากรัฐบาลไม่ขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 คาดว่าผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศคงออกมารวมตัวกันผลักดันให้เกิดการปรับขึ้นค่า จ้างขั้นต่ำ 300 บาท

(ข่าวสด, 6-11-2555)

 

โรงงานแป้งมันโคราชลดกำลังผลิต ลอยแพพนักงานกว่า 100 ชีวิต

วันนี้ (6 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา อดีตพนักงานของบริษัท พีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ตั้งอยู่ในเขต ต.หนองหัวแรด อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมายื่นขอขึ้นทะเบียนประกันการว่างงาน หลังถูกบริษัทเลิกจ้าง เนื่องจากทางโรงงานลดกำลังการผลิต และต้องการลดการจ้างแรงงาน
      
นายจรูญ ดอนกระโทก อายุ 46 ปี อดีตพนักงานโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง บริษัท พีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ตนทำงานฝ่ายผลิตของโรงงานแห่งนี้มานานกว่า 10 ปี โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งให้คนงานทราบว่าจะมีการ เลิกจ้างงานจำนวน 120 คน เนื่องจากทางโรงงานได้ลดกำลังการผลิตลงตามออเดอร์งาน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องลดคนงานลงด้วยโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งตนเป็นหนึ่งในคนงานที่ถูกเลิกจ้าง หลังถูกเลิกจ้างคนงานทั้งหมดจึงเดินทางมาขึ้นทะเบียนประกันการว่างงานเพื่อ ขอรับเงินชดเชยต่อไป
      
ด้าน น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานในพื้นที่หลายแห่งของ จ.นครราชสีมามีการลดกำลังการผลิตลง ส่งผลให้ต้องลดจำนวนคนงานลงด้วย ซึ่งทำให้คนงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง จึงอยากเตือนให้คนงานที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้รักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วย การมาขึ้นทะเบียนประกันการว่างงานไว้เพื่อรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งกรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน
      
อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจะต้องมาขึ้นทะเบียนประกันตนกรณีว่างงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน โดยต้องเตรียมหลักฐานต่างๆ ประกอบด้วย รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการออกจากงาน สำเนาสมุดเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อผู้ประกันตน
      
โดยสามารถยื่นขอใช้สิทธิได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมา โทร. 0-4495-8115 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา โทร. 0-4435-5266-7 ได้ทุกวันในเวลาราชการ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2555)

 

"กรมศิลป์"วิกฤติหนักบุคลากรเฉพาะทางขาดอื้อ

วันนี้( 6 พ.ย.)นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของหน่วยงานต่างๆในกรม ศิลปากรว่า  เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ได้จัดสรรอัตรากำลังส่วนของพนักราชการมาให้กรมศิลปากรเพิ่มเติมอีก 57 อัตรา โดยหลังจากนี้เตรียมบรรจุพนักงานราชการที่ได้รับจัดสรรมา เพื่อบรรจุเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสำนักต่างๆ ส่วนอัตรากำลังที่เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา 20 อัตรา รวมถึงข้าราชการที่ได้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ประมาณ 20 อัตรานั้น ยังรอการอนุมัติคืนตำแหน่งจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาค รัฐ (คปร.) อย่างไรก็ตามภายในเร็วๆนี้จะเรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องการแก้ ปัญหาดังกล่าวว่ามีแนวทางใดอีกบ้างที่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรของกรม ศิลปากรได้

นายสหวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าหน่วยงานที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่อง คือ สำนักการสังคีต ขาดประมาณ 80 อัตรา และสำนักช่างสิบหมู่ ส่วนในภูมิภาคได้สำรวจเรื่องขาดอัตรากำลังของสำนักศิลปากรทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ต้องการอัตรากำลัง 250 คน เพื่อให้งานในส่วนภูมิภาคทั้ง 15 แห่งทำงานคล่องตัว เพราะทุกวันนี้แต่ละสำนักมีนักโบราณคดีแค่ 2-3 คนเท่านั้น แต่ต้องดูแลพื้นที่หลายจังหวัดทำให้ถูกมองว่าทำงานล่าช้า

“ความคืบหน้าเรื่องแนวทางขอขยายอายุเกษียณราชการให้กับผู้เชี่ยวชาญด้าน ต่างๆ จากอายุราชการ 60 ปีเป็น70 ปีนั้นได้ทำหนังสือไปหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว แต่ทางก.พ.ยังไม่ได้ตอบหนังสือกลับมาว่าจะให้กรมศิลปากรดำเนินอย่างไรต่อไป ทั้งนี้เบื้องต้นจะไม่ได้ขยายอายุให้ทุกคน แต่จะพิจารณาเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่ขาดแคลนจริงๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญของช่างสิบหมู่ที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างมาก” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว กล่าว
 
(เดลินิวส์, 6-11-2555)

 

รมว. แรงงานยันค่าแรง 300 บาท ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ทั่วปท.แน่นอน

รมว.กระทรวงแรงงาน ออกโรงยืนยันการขึ้นค่าแรง 300 บาท ในวันที่1 มกราคม 2556 ใน 70 จังวัดที่เหลือ ภายหลังตัวแทนจากกลุ่มลูกจ้าง และนายจ้าง สอท. เข้าพบ อ้างรัฐบาลมีมาตรการรองรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
      
 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวยืนยันภายหลังตัวแทนจากกลุ่มลูกจ้าง อาทิ องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และตัวแทนจากกลุ่มนายจ้าง คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เข้าพบ เพื่อหารือถึงกรณีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะเดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด ที่เหลือ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งจะไม่มีการชะลอปรับขึ้นค่าจ้างและคงจะไม่มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างและเสียงสะท้อนจากกลุ่มลูกจ้างก็ยืน ยันว่าควรปรับ เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับผู้ประกอบการที่อาจจะได้รับผลกระทบหลังปรับขึ้นค่าแรงอยู่แล้ว
      
อย่างไรก็ตาม พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และจากการหารือร่วมกับ สอท.ในครั้งนี้ จะได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันประกอบไปด้วยตัวแทนจาก กระทรวงแรงงานสอท.และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อศึกษาถึงผลกระทบและหามาตรการช่วยเหลือ โดยอาจจะมีการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือ 27 ข้อที่มีอยู่เดิม เช่น การลดหย่อนภาษีส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า การขยายเวลาการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง ปรับหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้สินเชื่อให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมาตรการใดที่สามารถทำได้ก่อนก็จะดำเนินการทันที ส่วนบางมาตรการที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น การปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี อาจจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ทำให้การเริ่มใช้มาตรการอาจจะทำได้หลังจากการปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วระหว่าง นี้หากมีกลุ่มธุรกิจใดที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้ามาพบและพูดคุยถึงปัญหาที่ เกิดขึ้น เพื่อร่วมหาแนวทางและมาตรการให้ความช่วยเหลือ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-11-2555)

 

เฮ ! ก.แรงงานไฟเขียวขึ้นค่าแรง น.ร.-นศ. เป็น 40 บ./ชม. มีผล 1 ม.ค.56

นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน เผยหลังประชุมคณะกรรมการการค่าจ้างว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับขึ้นอัตรา ค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษาอีก 10 บาท จากเดิม 30 บาทต่อชั่วโมง เป็น 40 บาทต่อชั่วโมง มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

ซึ่งการขึ้นค่าจ้างนี้เพื่อสร้างมาตรฐานทางสังคม รับมือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงดังกล่าว

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวไม่มีบทลงโทษ แต่เป็นการขอความร่วมมือ และห้ามไม่ให้นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ทำงานในสถานที่อันตราย สถานที่เล่นการพนัน สถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงาน และแต่งกายเครื่องแบบที่แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา หากแต่งแบบฟอร์มที่สถานประกอบการจัดให้ ต้องมีป้ายนสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นนักศึกษาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันยังได้กำหนดให้นายจ้างประกันรายได้ด้วยการจ้างงานไม่ต่ำกว่าวัน ละ 4 ชั่วโมง

(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 7-11-2555)

 

เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในคูเวตกว่า 100 คนไม่ได้รับค่าจ้าง-กลับไทยไม่ได้

ก.แรงงาน 7 พ.ย. - ก.แรงงาน เร่งดำเนินการช่วยเหลือแรงงานไทยในคูเวตกว่า 100 คน ที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างอีก 1 เดือน รวมถึงเงินโบนัส ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่แรงงานไทยในประเทศคูเวตกว่า 100 คน ที่ทำงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งจนครบสัญญาจ้างแล้ว แต่นายจ้างยังค้างจ่ายเงินเดือนอีก 1 เดือน รวมถึงเงินโบนัส ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ว่า ขณะนี้ประสานอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่งคำร้องทุกข์ของแรงงานไทยไปให้เร่งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่าง ซาอุดีอาระเบียกับประเทศคูเวต เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้รายงานกลับมาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากไม่มีอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ในประเทศคูเวต ซึ่งคาดว่าน่าจะทราบข้อเท็จจริงภายใน 1-2 วันนี้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่มีประวัติดี ไม่เคยมีการค้างจ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด

(สำนักข่าวไทย, 7-11-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท