Skip to main content
sharethis

 

12 พ.ย.55  เว็บไซต์ไทยพับลิกา  (thaipublica.org) จัดเสวนาครั้งที่ 4 หัวข้อ “ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย?” มีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ, ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมาศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยในงานนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก

ปรีดิยาธร เทวกุล แสดงความเป็นห่วงการพุ่งขึ้นของหนี้สาธารณะว่า ข้อมูลจากคณะกรรมการติดตามผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลตั้งขึ้นมานั้น พบว่าเพียง 3 เดือนแรกของโครงการก็ขาดทุนแล้ว 3.2 หมื่นล้านบาท  หากคาดการณ์การขาดทุนจากที่ทำโครงการช่วงนาปรังปีที่แล้วและ 3 เดือนแรกของโครงการปีนี้จะอยู่ที่ราว 1.4 แสนล้านบาทจากจำนวนข้าว 21.69 ล้านตัน โดยขาดทุนจากทั้งส่วนต่างของราคาจำนำกับราคาตลาดและต้นทุนที่ต้องสูญเสียไปในระบบ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย ค่าเก็บข้าว น้ำหนักข้าวที่สูญเสียระหว่างเก็บ และหากเป็นไปตามที่รัฐบาลประกาศว่าจะเดินหน้ารับจำนำข้าวที่มีทั้งหมด 33 ล้านตัน คำนวณแล้วจะขาดทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่หนี้สาธารณะสูงมากจนน่าเป็นห่วง

อดีตผู้ว่า ธปท. กล่าวถึงการประมาณการณ์ตัวเลขหนี้สาธารณะด้วยว่า หากดูจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.55  ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 44.2% ของจีดีพี คาดว่าพอถึงสิ้นปี 55 รวมแล้วจะกลายเป็น 47.8% ของจีดีพี ทั้งนี้ไม่รวมหนี้ค้างจ่ายองค์กรอื่นๆ เช่น กบข. ธกส.และโครงการต่างๆ ถ้านับรวมสิ่งเหล่านี้ด้วย ถึงสิ้นปี 55 หนี้สาธารณะไทยจะกลายเป็น 49.9 % ของจีดีพี เมื่อดูทิศทางข้างหน้าซึ่งรัฐบาลระบุว่านโยบายอีก 5 ปีจะทำงบประมาณเท่าดุลตลอด แต่ตอนนี้ขอออกพันธบัตรกู้หนี้นอกงบประมาณก่อน เช่น กองทุนประกันภัย, โครงการบริหารจัดการน้ำ, โครงสร้างพื้นฐานเมกกะโปรเจ็กต์ ซึ่งหากนำ 3 ตัวนี้มารวมด้วยก็จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีก เมื่อถึงปี 2562 หนี้สาธารณะจะพุ่งเป็น 53.7% และเมื่อรวมกับการขาดทุน โครงการรับจำนำข้าว ปีละ 2.1 แสนล้านซึ่งมีแนวโน้มว่าต้องทำไปเรื่อยๆ ก็คำนวณได้ว่าหนี้สาธารณะไทยจะขึ้นถึง 61% ของจีดีพี ใกล้เคียงกับหลายประเทศในยุโรป ในขณะที่โลกเริ่ม sensitive เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะขึ้นมากเพราะเริ่มก่อปัญหา ทั้งนี้ตัวเลขหนี้สาธารณะ 61% ยังตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานแบบที่รัฐบาลประกาศว่างบประมาณจะไม่ขาดดุลเลย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าเป็นไปได้

“เรื่องนี้กระทบฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งเดิมเขาถือว่ามั่นคง เพราะหนี้ต่อจีดีพีมันต่ำ หลังจากนี้ไปจะขึ้นพรวด ประเทศไทยจะขึ้นพรวดอย่างเห็นได้ชัด และคาดการณ์ได้ว่าจะขึ้นอีก ความเชื่อมั่นของต่างประเทศจะลดลง และอาจกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย โรคหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไม่หยุดจะสร้างปัญหามากและเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุด”

“โครงการนี้ถ้าไม่คิดถึงผลเสียเลย ประเทศชาติจะได้รับผลกระทบรุนแรง คอรัปชั่นไม่ดีแน่ แต่อวิชชาร้ายกว่าคอรัปชั่น เพราะส่งผลเสียรุนแรง และยิ่งอวิชชาบวกคอรัปชั่นแล้วยิ่งไปกันใหญ่” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว  

นิพนธ์ พัวพงศธร กล่าวว่า  โครงการจำนำข้าวนั้นทำให้กระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ถึง 66% ของเพดานทั้งหมด 4.8 แสนล้านบาท ทำให้เหลือเม็ดเงินเพียง 3.4 หมื่นล้านบาท กระทบต่อโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐวางงบไว้ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศและตนเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี แต่กลับถูกโครงการแจกเงินอย่างโครงการจำนำข้าวเบียดบังทรัพยากรไป อีกทั้งโครงการรับจำนำยังเข้าถึงชาวนาเพียง 8 แสนกว่าราย ไม่ใช่ 1.2 ล้านรายอย่างที่มีการให้ข่าว

นิพนธ์กล่าวด้วยว่า  ตัวเลขที่นายกฯแถลงว่าขายข้าวและตัวเลขที่รัฐบาลแจ้งว่าได้โอนเงินให้ ธกส.แล้วนั้นเป็นตัวเลขที่ตรงกัน ซึ่งเมื่อคำนวณตัวเลขข้าวที่รัฐบาลเก็บไว้และข้าวในท้องตลาดทั้งหมดแล้วพบว่ายังขาดข้าวสำหรับบริโภคในประเทศอีก 2 หมื่นกว่าตัน ดังนั้นราคาขายภายในประเทศต้องสูงขึ้นด้วย แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไมราคาในประเทศไม่สูงขึ้นเลย จึงขอเรียกร้องให้มีการชี้แจงเรื่องนี้ว่าบริหารอย่างไร หรือมีการแอบขายข้าวในคลังรัฐบาลสู่ตลาดภายในประเทศ

ในส่วนของการประมาณการการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอกล่าวว่า คำนวณจาการที่กระทรวงพาณิชย์เคยแถลงว่าไตรมาส 4 ของปีนี้ และอีก 4 ไตรมาสของปีหน้าจะขายเข้าได้เท่าไร สมมติว่าขายได้หมดตามนั้น แล้วเอาราคาที่ประมูลข้าวกับราคาส่งออกของเวียดนามโดยแถมให้ประเทศไทยอีก 30 เหรียญ คำนวณแล้วก็ยังพบว่ารัฐบาลจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 1.72 แสนล้านบาท  ซึ่งส่วนที่ขาดทุนนี้ล้วนเป็นภาษีของประชาชน สำหรับเงินในโครงการก็พบว่าจะตกถึงเกษตรกรเพียง 65-70% ของงบทั้งหมด หรือ 8-9 หมื่นล้านเท่านั้น ที่เหลือเป็นเงินดอกเบี้ย 1 หมื่นกว่าล้าน ค่าข้าวเสื่อมสภาพเฉียด 1 หมื่นล้าน ค่าสีข้าวของโรงสีเกือบ 3 หมื่นล้าน ที่สำคัญ เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดเป็นชาวนาระดับปานกลางและชาวนาที่ร่ำรวยทำนารายใหญ่

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ จากสมาคมผู้ส่งออกข้าวให้ความเห็นว่า ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้นสูงจากโครงการรับจำนำข้าว จนลูกค้าส่วนใหญ่รับไม่ได้ ทำให้ตัวเลขส่งออกลดลงมากถึง 44%  แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมาแถลงว่ายังเป็นแชมป์ในเรื่องมูลค่า ก็นับเป็นข้ออ้างที่ตลกมาก เพราะแชมป์เรื่องนี้เราเป็นมานานมากแล้ว และปัญหาปริมาณการส่งออกลดลงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากเปรียบกับปีที่แล้ว ช่วง 9 เดือนแรก ไทยส่งออกข้าว 5,200 ล้านเหรียญ เวียดนามส่งออกข้าว 2,800 ล้านเหรียญ แต่มาปีนี้ช่วง 9 เดือนแรก ไทยส่งออกลดเหลือ 3,400 ล้านเหรียญ ขณะที่เวียดนามส่งออก 2,600 ล้าน ความแตกต่างน้อยมาก น่าห่วงว่าอีก 1-2 ปีเขาคงแซงเราในเรื่องตัวมูลค่าด้วย

ชูเกียรติกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ปริมาณการส่งออกลดลงส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเป็นเพราะวงการข้าวมีการแข่งขันสูงมากและ margin ของสินค้าเกษตรมีนิดเดียว ราคาข้าวที่ซื้อจากโรงสีก็นับเป็น 92% ของราคาขายแล้ว คนข้างนอกมักคิดว่าพ่อค้าร่ำรวย แต่ความเป็นจริงคือเราอยู่ได้ด้วย volume ของการส่งออก แต่ตอนนี้หลังโครงการรับจำนำที่บิดเบือนราคาตลาดมากถึง 50% ทำให้ขายไม่ได้ เมื่อก่อนมาเลเซียเป็นลูกค้าอันดับหนึ่ง ทั้งข้าวขาวและข้าวหอม ปัจจุบันไม่ซื้อข้าวขาวประเทศไทยสักเม็ดจากที่เมื่อก่อนซื้อ 2- 3 แสนตัน ข้าวหอมเกรดต่ำหน่อย ซื้อปีละประมาณ 5-6 หมื่นตัน ตอนนี้เหลือ 5-6 พันตัน แล้วหันไปซื้อกับเวียดนาม ดังนั้น บริษัทส่งออกอยู่ในภาวะอันตราย  บริษัทส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากอาจถึงขั้นปิดกิจการ ส่วนบริษัทใหญ่ก็ย้ายฐานหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะดูแนวโน้มแล้วข้าวในไทยมีแต่แพงขึ้น ต่อให้ไม่มีโครงการนี้ก็ต้นทุนก็แพงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ชูเกียรติกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เลวร้ายอีกอย่างคือการระบายข้าว ซึ่งทางสมาคมส่งเสียงมาตลอดว่า การระบายแบบลับๆ เป็นเรื่องรับไม่ได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยปลายรัฐบาลที่แล้ว ฝ่ายค้านถึงไม่ค่อยกล้าโจมตีเท่าไร การดำเนินการไม่โปร่งใสส่งผลให้เราเห็นได้ว่าบางบริษัทยอดขายพุ่งกระฉูดอย่างไร้เหตุผล อาจมีช่องทางไปซื้อข้าวได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ขณะที่เพื่อนๆ ล้มระเนระนาดกันหมด

“นี่เป็นการซ้ำเติมวงการข้าว กลายเป็นว่าคุณ create unfair competition ใครมีเครือข่ายกับฝ่ายการเมืองก็ได้เปรียบ ซื้อข้าวได้ถูก ถูกจริงๆ จนเรานึกไม่ออก เช่น ข้าวหอมกิโล 30 กว่าบาท เขาซื้อได้ 8 บาท มันอธิบายไม่ได้ ลักษณะนี้มันตรวจสอบลำบาก เพราะก็จะอ้างว่าเป็นข้าวเก่า” ชูเกียติกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปีหน้าก็ไม่มีความหวังว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไรรัฐบาลก็ต้องระบายข้าวออก  อุปทานในตลาดก็จะเพิ่มขึ้นอยู่ดี

ปรีดิยาธร เสริมว่า สื่อมวลชนควรช่วยกันจับตาดูความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น คือ การเกิดบริษัทส่งออกใหม่ๆ ขึ้นมาหลายบริษัทและชนะการประมูลเสมอ ส่วนนิพนธ์ เสริมว่า ได้ยินข่าวจากโรงสีข้าวในภาคใต้ที่ระบุว่ามีนายหน้าที่สามารถซื้อข้าวจากคลังของรัฐบาลได้ในราคาต่ำมากประมาณ 16 บาทเศษต่อกิโลกรัม

นิพนธ์กล่าวถึงทางออกว่า ในระยะสั้นไม่ว่าจะขายข้าวอย่างไรรัฐก็ขาดทุนสูง จึงควรยุติโครงการ ส่วนในระยะยาวที่ต้องต้องไปสู่ข้าวคุณภาพ ก็ต้องยุติโครงการอยู่ดี เพราะหากมีโครงการชาวนาก็จะสนใจปลูกแต่พันธ์ข้าวอายุสั้น ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีเกษตรกรมากเกินไป เกษตรกรจะต้องย้ายออกจากภาคเกษตรแล้วไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ จนกระทั่งรายได้ต่อหัวในภาคเกษตรใกล้เคียงกับนอกภาคเกษตรจึงจะแก้ปัญหาความยากจนได้

นิพนธ์กล่าวด้วยว่า การอุดหนนุภาคเกษตร ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องความเป็นธรรม แต่เวลานี้เกษตรกรเราไม่ได้ยากจน อย่าไปมองภาคเกษตรว่าจนทุกคน ต้องเริ่มแยกแยะนโยบายในเรื่องการอุดหนุนภาคการเกษตร แต่ต้องปฏิรูปที่ดิน แก้กฎหมายการเช่าที่ดิน เพราะเกษตรกรที่ยากจนจะเช่าที่ดินทำกินจนไต่เต้าได้ รบ.ผ่านกม.ธนาครที่ดินแล้ว ทำไมไม่ใช้กลไกนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดิน นี่คือการอุดหนุนที่จะช่วยให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งลืมตาอ้าปากได้ แทนที่จะอุดหนุนเรื่องการไม่เก็บภาษีสารเคมี

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าวด้วยว่า การประมาณการของทีดีอาร์ไอใช้ข้อมูลและตัวเลขจริง การวิจารณ์ของนิธิในบางเรื่องเช่นเรื่องโรงสีนั้นนิธิก็ไม่ได้มีข้อเท็จจริงรองรับ ส่วนเรื่องประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรจริง แต่มีข้อเท็จจริงว่า ประเทศพวกนี้มีเกษตรกรน้อยและเวลารัฐบาลช่วยก็จะจำกัดความช่วยเหลือตลอดเวลา เช่น ให้เงินอุดหนุนแล้วบอกว่าคุณต้องลดการเพาะปลูก   ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ การช่วยเกษตรกรทำได้ง่าย เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศผู้นำเข้า ไม่ใช่ผู้ส่งออก แค่ใช้วิธีจำกัดการนำเข้า ราคาในประเทศสูงขึ้น แต่ไทยเป็นประเทศส่งออก ราคาในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก จะให้ราคาสูงต้องใช้เงินอย่างเดียวและเราดันไม่จำกัดปริมาณการใช้เงิน นโยบายแบบนี้ทำลายกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์และโรงสีเล็กทั้งหลาย

“การให้เงินแบบนี้ทำเกษตรกรเข้มแข็งได้ไหม กองทุนหมู่บ้านทำได้เพราะไม่ได้ให้เงินอย่างเดียว มีการสร้างองค์กรขึ้นมา แต่โครงการนี้เป็นการหยิบเม็ดเงินจ่ายไปเฉยๆ แล้วไม่ทำอย่างอื่นเลย”นิพนธ์กล่าว  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net